รู้ยัง? โบราณคดีก็มีเรียนภาษา! ตอบ 5 ข้อสงสัยเกี่ยวกับเอกภาษา โบราณคดี ที่ควรรู้ก่อนลงเรียน

สวัสดีค่ะน้องๆ ถ้าพูดถึงคณะโบราณคดี เราคงคุ้นเคยกับภาพการขุดหาโบราณวัตถุ หรือการศึกษาประวัติศาสตร์แบบเจาะลึก อย่างที่เห็นกันมาจาก 'เกศสุรางค์’ นางเอกละครดังอย่าง ‘บุพเพสันนิวาส’ ผู้สร้างปรากฏการณ์ที่นักเรียนทั่วประเทศพากันยื่นเข้าคณะนี้อย่างล้นหลาม เรียกว่าเป็นกระแสโบราณคดีฟีเวอร์ในช่วงปี 61 เลยล่ะค่ะ

แต่เอ๊ะ สาขาวิชาในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรก็มีตั้งมาก ไม่ได้มีแค่เอกทางโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์ซะหน่อย ยังมีเอกภาษาไทย อังกฤษ และฝรั่งเศสด้วยนี่นา แล้วเอกภาษาเขาเรียนอะไรกันบ้างนะ จะต่างจากคณะทางภาษาแค่ไหน? มีต้องไปออกฟิลด์หรือเปล่า? เรามาไขข้อข้องใจไปกับบทความนี้กันเลยดีกว่าค่ะ

รู้ยัง? โบราณคดีก็มีเรียนภาษา! ตอบ 5 ข้อสงสัยเกี่ยวกับเอกภาษา โบราณคดี ที่ควรรู้ก่อนลงเรียน
รู้ยัง? โบราณคดีก็มีเรียนภาษา! ตอบ 5 ข้อสงสัยเกี่ยวกับเอกภาษา โบราณคดี ที่ควรรู้ก่อนลงเรียน

ตอบ 5 ข้อสงสัยเกี่ยวกับเอกภาษา คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

1.  เลือกเอกตอนไหน?

ไม่ใช่แค่เอกภาษา แต่ทุกสาขาในคณะโบราณคดีจะรับนักศึกษาแยกกันตั้งแต่ขั้นตอนสอบเข้าค่ะ ต่างจากคณะสายภาษาในหลายๆ มหาวิทยาลัยที่มักจะให้นักศึกษาเรียนเอกรวมไปก่อน แล้วค่อยเลือกสาขาวิชาในชั้นปีที่สูงขึ้น ดังนั้น ถ้าเราอยากเรียนต่อด้านภาษาไทย อังกฤษ หรือฝรั่งเศสในคณะโบราณคดี ก็ต้องตัดสินใจเลือกสาขาให้ได้ตั้งแต่แรก อย่าลืมดูเกณฑ์การคิดคะแนนด้วยนะ เพราะแต่ละสาขากำหนดวิชาที่ใช้คิดคะแนนและสัดส่วนแตกต่างกันค่ะ

ที่สำคัญ สำหรับน้องๆ ที่สนใจสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส จะต้องศึกษารายวิชาภาษาฝรั่งเศสมาในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมถึงเลือกสอบวิชา 77 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส (PAT 7.1) เท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ยื่นคะแนน ส่วนสาขาวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะค่ะ

2.  ได้วุฒิอะไร?

เมื่อจบการศึกษาไป น้องๆ จะได้รับวุฒิ ‘ศิลปศาสตรบัณฑิต’ ตามด้วยชื่อสาขาวิชาที่เราจบมา ทั้งนี้ การเรียนการสอนของเอกภาษาในคณะโบราณคดีโดยรวมแล้ว จะคล้ายคลึงกับคณะศิลปศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้เรียนเจาะรากลึกภาษาหรือวิเคราะห์วรรณคดีสักเท่าไร แต่จะเน้นเรียนภาษาเพื่อนำไปใช้ในชีวิตการทำงานมากกว่าค่ะ

กล่าวคือ ถึงชื่อจะเป็นโบราณคดี ก็ไม่ใช่ว่าต้องเรียนโบราณคดีเสมอไปค่ะ ถ้าเลือกเข้าเอกภาษา ก็จะได้เรียนภาษาแบบจุใจ ไม่แพ้คณะสายภาษาโดยตรงแน่นอน 

ชื่อโบราณคดี แต่เอกภาษาก็เรียนภาษานะ !
ชื่อโบราณคดี แต่เอกภาษาก็เรียนภาษานะ !

3.  เรียนเป็นวิชาเอกเดี่ยว หรือเอกโท?

คณะโบราณคดี ศิลปากรในปีก่อนๆ ทุกสาขาจะเรียนแบบเอก-โท แต่เมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรเกิดขึ้นค่ะ นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป ทุกสาขาของโบราณคดีจะเรียนเป็นเอกเดี่ยวทั้งหมด โดยมีวิชาสหสาขามาแทนในส่วนของวิชาโท ทั้งนี้ นักศึกษาจะต้องเรียนวิชาสหสาขาไม่น้อยกว่า 15 หน่วยกิตตามข้อกำหนดของหลักสูตรค่ะ

วิชาสหศึกษาแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่กลุ่มวิชาวัฒนธรรม และกลุ่มวิชาภาษา น้องๆ จะเลือกเรียนทั้งสองหมวดคละกัน หรือเลือกหมวดใดหมวดหนึ่งไปเลยก็ได้ค่ะ จัดไปตามความสนใจของเราเลย

4.  ต้องออกภาคสนามไหม?

“พี่คะ แล้วถ้าเรียนโบราณคดีเอกภาษา ต้องออกฟิลด์ไหมคะ?” นี่คงเป็นอีกประเด็นที่หลายคนสงสัย เพราะเมื่อพูดถึงคณะโบราณคดี เราก็มักติดภาพจำว่าต้องออกภาคสนาม ได้ลงมือขุดหาโบราณวัตถุจริงๆ แต่สำหรับเอกภาษาแล้ว ไม่มีการบังคับออกฟิลด์ค่ะ อาจมีวิชาเลือกบางตัวที่ได้ไปนอกสถานที่บ้าง แต่ก็ไปในเชิงทัศนศึกษา เรียนรู้เกี่ยวกับด้านการท่องเที่ยวเสียมากกว่า ไม่ใช่กิจกรรมลงมือขุดค้นที่ต้องนอนฟิลด์เป็นสัปดาห์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ถ้าน้องๆ อยากเก็บประสบการณ์ออกภาคสนามจริงๆ ก็สามารถไปลงวิชาของสาขาอื่นๆ ที่ต้องออกฟิลด์ได้ค่ะ ใช่ว่าเรียนเอกภาษาแล้วจะอดไปเลยน้า

การออกนอกสถานที่ของเอกภาษาส่วนใหญ่จะไปตามสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่า ไม่ต้องขุดค้น หรือนอนค้างนานๆ
การออกนอกสถานที่ของเอกภาษาส่วนใหญ่จะไปตามสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่า ไม่ต้องขุดค้น หรือนอนค้างนานๆ 

5.  เอกภาษา โบราณคดี เหมาะกับใคร?

นอกจากเอกภาษาของโบราณคดีจะเน้นเรียนภาษาเพื่อใช้งานจริงแล้ว ยังมีความโดดเด่นตรงวิชาเลือกที่น่าสนใจด้วยค่ะ สำหรับเอกอังกฤษและฝรั่งเศส จะมีวิชาเลือกที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการโรงแรมโดยเฉพาะ เช่น French For Airline Business and Service ที่เรียนครอบคลุมทุกอย่างเกี่ยวกับการสายการบินเป็นภาษาฝรั่งเศส หรือ English Communication for Niche Tourism ที่เรียนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ถือว่าตอบโจทย์สำหรับคนที่อยากเป็นไกด์ให้ชาวต่างชาติ หรืออยากทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากทีเดียว

ส่วนเอกไทยจะมีความแตกต่างไปสักหน่อย อาจไม่เน้นท่องเที่ยวแบบเอกภาษาตะวันตก แต่เราจะได้เรียนภาษาเขมรและบาลีสันสกฤตเป็นวิชาบังคับ รวมไปถึงการเรียนอักษรโบราณ เช่น อักษรธรรมอีสาน อักษรธรรมล้านนา เพื่อปูพื้นฐานสำหรับการอ่านจารึกโบราณด้วยค่ะ ถ้าใครสนใจรากเหง้าของภาษาไทย อยากเรียนรู้การอ่านจารึกโบราณ ที่นี่เป็นอีกตัวเลือกที่ไม่ควรพลาดเลยค่ะ

ใครอยากเป็นไกด์ในเมืองไทยให้ชาวต่างชาติ เอกภาษาตะวันตกของที่นี่ตอบโจทย์ดีทีเดียว
ใครอยากเป็นไกด์ในเมืองไทยให้ชาวต่างชาติ เอกภาษาตะวันตกของที่นี่ตอบโจทย์ดีทีเดียว

 

ก็จบกันไปแล้วนะคะสำหรับการไข 5 ข้อข้องใจเกี่ยวกับเอกภาษา คณะโบราณคดี หวังว่าบทความนี้จะช่วยตอบข้อสงสัยของน้องๆ ได้นะคะ ^^ คราวหน้าพี่หลิงจะเอาเรื่องน่ารู้ของคณะ/สาขาไหนมาฝาก ต้องรอติดตามกันนะคะ แล้วเจอกันใหม่บทความหน้าค่า

พี่หลิง
พี่หลิง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น