Teen Coach EP.106 : เคยมั้ย? อยู่ๆ ก็นึกอะไรไม่ออก เหมือนสมองดับ Brain Fog

ใครเคยมีการแบบนี้บ้าง? อยู่ดีๆ สมองก็ดับไป นึกอะไรไม่ออก ในหัวมีแต่สีขาวโพลนเป็นหมอกที่ก่อตัวหนา  

  • ไม่มีสมาธิ จดจ่อกับสิ่งที่ทำหรือคิดอยู่ไม่ได้
  • นึกข้อมูลในสมองไม่ออก
  • ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังคิดอะไรอยู่
  • ไม่เข้าใจความรู้สึกตัวเอง
  • ไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
  • ไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไงต่อไป
  • มีแต่คำว่า “ไม่รู้” และตัวแข็งอยู่กับที่ (freezing)
  • แล้วยังไงต่อนะ…คิดไม่ออก

อาการเหล่านี้มีชื่อเล่นว่า "Brain Fog" เจอได้บ่อยเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาใกล้สอบ ที่บางคนสติแตกง่ายมาก ถ้าใครเคยเป็นหรือกำลังเป็นอยู่ พี่หมอแมวน้ำจะเล่าให้ฟังค่ะว่าสาเหตุเกิดจากอะไร หากมีอาการขึ้นมาเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรดี

 สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสมองดับ Brain Fog

 มีอารมณ์ท่วมท้นอย่างมาก (overwhelm)

เมื่อเจอสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอารมณ์ด้านบวกหรือลบอย่างมาก เช่น โกรธ เศร้า เสียใจ กังวล ตื่นเต้น ดีใจ สมองส่วนอารมณ์จะทำงานมากกว่าส่วนเหตุผล ทำให้คิดอะไรไม่ออก

 มีความกังวลหลายเรื่องพร้อมกัน (floating anxiety)

คิดกังวลหลายเรื่องมากจนจับประเด็นไม่ได้ ว่าตัวเองคิดอะไรกันแน่ เช่น มีดราม่ากับเพื่อนสนิทช่วงก่อนสอบ แถมแม่ทักว่าทำไมไม่อ่านหนังสือ งั้นเราควรจะแก้ไขเรื่องอะไรก่อนดี

เครียดเรื้อรัง (Chronic stress)

เวลาร่างกายเผชิญกับความเครียดจะมีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา ซึ่งมีผลทำให้ร่างกายทำงานต่างจากภาวะปกติ หากคอร์ติซอลหลั่งนานเกินไป เซลล์ในบริเวณต่าง ๆ ของสมองจะมีการฝ่อเหี่ยวหรือตายได้ รวมถึงสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับสมาธิและความจำ

 มีอาการทางจิตเวชอย่างมากจนส่งผลต่อความคิด (cognitive dysfunction)

โรคทางจิตเวชหลายอย่างส่งผลต่อการทำงานของสมอง เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ทำให้สมาธิแย่ ความจำไม่ดี การประมวลผลข้อมูลในสมองช้า ถ้ามีความรุนแรงของอาการมากจะคิดอะไรไม่ออกเลย

มีความรู้สึกด้านชา (numbness)

เหมือนจะไม่รู้สึกอะไร แต่มันเจ็บปวดภายในแบบอึนๆ เหมือนมีบางอย่างเก็บกดเอาไว้ แต่บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าคืออะไร เช่น ทำโจทย์เคมีซ้ำไปมาแต่ไม่ถูกเสียที ทั้งที่เหมือนจะเข้าใจแต่ไม่เข้าใจ จนอยากเทวิชานี้ไปซะ

 เหน็ดเหนื่อยอย่างมาก (exhausted)

  • ทางด้านร่างกาย (physical) เช่น นอนน้อย ไม่ได้กินอาหาร ขาดสารน้ำ สารอาหาร
  • ด้านจิตใจ (mental) เช่น มีปัญหาหลายเรื่องเข้ามาพร้อมกันต้องใช้สมองอย่างมาก อ่านหนังสืออย่างเคร่งเครียดติดต่อกันยาวนาน

การเจ็บป่วยทางกาย

มีหลายโรคทางกายหลายอย่างที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง เช่น  โรคต่อมไธรอยด์ทำงานต่ำ (Hypothyroid syndrome) รวมถึง Long COVID คือ หลังจากที่ติดเชื้อโควิดแล้ว มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่การทำงานของสมองเสียหายไปด้วย มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าผู้ป่วย Long COVID ร้อยละ 7 มีอาการ brainfog ร่วมด้วย 

วิธีการจัดการตอนที่สมองดับ (Brain fog)

1.  ตั้งสติ (awareness) ถอยออกมาตั้งหลัก (calm down) ก่อน

  • หามุมสงบ อาจอยู่คนเดียวหรืออยู่กับคนที่ทำให้เราสบายใจ
  • พยายามนึกดูดีๆ ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น อยู่ที่ไหน กับใคร สิ่งใดที่ควรทำก่อนเป็นอันดับแรกหรือช่วยจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน อาจเขียนคำที่นึกออกลงในกระดาษ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น
  • การหายใจเข้าลึกๆ ออกยาวๆ (breathing exercise) จะช่วยดึงสติกลับมาได้ง่าย
  • การตั้งสติอยู่กับปัจจุบัน (mindfulness) รับรู้ความคิดอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ไปยึดติดเก็บมาคิดวนไปมา

2. หาตัวช่วยในการทำความเข้าใจ

  • สมองเหมือนจะไม่คิดอะไรแต่จริงๆ แล้ว มีความคิดหน่วงๆติดค้างอยู่
  • พยายามเขียนบรรยายความคิดในตอนนั้น อาจเขียนเป็นคำ วลี หรือวาดเป็นภาพออกมา เอาข้อมูลที่กระจัดกระจายมาประมวลผล ทำความเข้าใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น
  • เล่าความคิดในหัวให้คนที่ไว้ใจและพร้อมที่จะรับฟังเรา คนที่เป็นผู้ฟังที่ดี (active listener) จะช่วยถามคำถาม สรุปเรื่อง สะท้อนความรู้สึก ช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น
  • ถ้ารอบตัวไม่มีคนช่วย อาจต้องพึ่งพาคนในโซเชียลมีเดีย เช่น TikTok  Facebook แต่การทำแบบนี้ต้องระมัดระวังเรื่องข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล (privacy) หรือได้รับคำแนะนำที่ต้องมาชั่งน้ำหนัก (validate) อีกทีว่าเชื่อถือได้หรือไม่

3.ระบายอารมณ์ที่คั่งค้างออกมา

  • แต่ละคนเลือกใช้วิธีไม่เหมือนกัน เช่น ร้องไห้ เขียนด่าระบาย ฉีกกระดาษ ทุบหมอน
  • ควรระบายออกด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่ทำให้ตัวเองหรือคนอื่นเดือดร้อน เช่น หมั่นไส้เพื่อนที่ทำข้อสอบทั้งย้อนหลังและข้อสอบจำลองไป 10 ชุด คะแนนก็ดี แต่ยังมาบ่นว่าอ่านไม่ทัน ต่อให้หมั่นไส้มากแค่ไหน แต่ไม่ควรโพสต์แซะในโซเชียลมีเดีย (เดี๋ยวทัวร์จะมาลง) ให้ใช้วิธีโทรไปด่าระบายกับเพื่อนสนิทจะดีกว่า

4.ให้สมองพัก

  • หากิจกรรมที่ทำแล้วผ่อนคลายลดความเครียดได้ เช่น อ่านมังงะ นั่งดูอนิเมะ ฟังเพลง ทำงานศิลปะ หรือออกไปเดินห้าง
  • ติดต่อพูดคุยกับคนอื่น พาตัวเองไปเข้าสังคมที่คิดว่าสบายใจที่จะอยู่ด้วย อย่าทิ้งตัวอยู่คนเดียวจนนานไป

5.เคลื่อนไหวร่างกาย

  • มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าการขยับร่างกาย (physical activity) อย่างการออกกำลังกายที่จริงจัง หรือแม้แต่เคลื่อนไหวเล็กน้อย เช่น แกว่งแขน เดินวนไปมาในสวน มีผลช่วยให้สมองปลอดโปร่งขึ้น

6.ดื่มกินสิ่งที่ทำให้สดชื่น

  • การกินของหวานเป็นหนึ่งในตัวช่วยของการคลายเครียดในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น ลูกอม ช็อคโกแลต น้ำหวาน ไอศกรีม หากกินในปริมาณเล็กน้อยที่ช่วยให้ชื่นใจ คิดอะไรออกมากกว่าเดิมเป็นสิ่งที่โอเค แต่ต้องระวังการติดของหวานที่ทำให้สุขภาพร่างกายแย่ เช่น เบาหวาน น้ำหนักตัวมากจนเป็นโรคอ้วน
  • เลี่ยงการใช้สารเสพติด เช่น บุหรี่ไฟฟ้า แอลกอฮอล์ กัญชา เพราะมันจะช่วยให้สุขระยะสั้น แต่มีผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว

7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

  • เรื่องเบสิคที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะในปัจจุบันเรามีอุปกรณ์หน้าจอที่ดึงดูดให้เราไปใช้มัน ก่อนนอนเรานั่งดูซีรี่ย์ที่ทำให้ติด,แชทค้างอยู่กับคนคุย หรือทำสิ่งที่กระตุ้นให้ตื่นตัว แสงจากหน้าจอจะหลอกสมองว่ายังไม่ใช่เวลานอน ดังนั้นอย่างน้อยควรหยุดการเล่นหน้าจออย่างน้อย 30-60 นาทีก่อนนอน ปรับสภาพแวดล้อมในห้องให้เหมาะ ช่วงที่เรานอนอยู่ สมองยังมีการทำงาน โดยจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็น และกำจัดของเสียออกไป การหลับที่ไม่ดี ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น อึน ๆ หัว  มีผลต่อการทำงานของสมองในช่วงระหว่างวันอย่างมาก

8. หากิจกรรมทำ

  • การนั่งหรือนอนอยู่เฉยๆ หมกตัวอยู่คนเดียว ไม่ทำอะไร อาจทำให้อาการยิ่งแย่ ดังนั้นถ้าคิดไม่ออกจริงๆว่าตัวเองกำลังคิดอะไรอยู่ ให้พยายามหากิจกรรมทำ หาคนช่วย
  • เรื่องนี้สำคัญสำหรับคนที่สมองคิดไม่ออกจากการที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า การทำกิจกรรม (behavioral activation) จะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้ เช่น การออกกำลังกาย การดูหนังฟังเพลง เพราะการทำกิจกรรมจะทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดฟินและสารเคมีที่ช่วยให้มีความสุขออกมา นอกจากนี้การได้ทำกิจกรรมจะทำให้รู้สึกตัวเองยังมีความสามารถที่จะทำสิ่งต่างๆได้ (accomplishment) ช่วยให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น (raise self esteem )
  • ถ้าคิดไม่ออกจริงๆว่าจะทำอะไรให้คนรอบข้างช่วยคิดตารางกิจกรรมและชวนกันไปทำตามตารางที่วางไว้
  • “ทำกิจกรรมตามตาราง ไม่ทำตามอารมณ์” แม้บางทีร่างกายล้า สมองเบลอ แต่ให้ฝืนตัวเองออกไปทำกิจกรรมให้ได้
  • ทำ check lists สิ่งที่จะต้องทำในวันนั้น บางอย่างที่เป็นกิจวัตร (routine) สามารถทำเป็น to do lists ได้ แม้เป็นสิ่งที่ปกติจะทำอยู่แล้ว เช่น อาบน้ำ กินข้าว ทำงานบ้าน เมื่อเราทำตาม check lists จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวเองว่า “จริงๆเราก็ทำได้นี่นา!!!”

ถ้าทำทุกวิธีแล้วสมองยังดับ อึน แนะนำให้ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยาเพื่อหาสาเหตุและรับการช่วยเหลือต่อไป

ช่วงนี้ก็ใกล้สอบ A-level น้อง ๆ น่าจะกำลังเตรียมตัวอ่านหนังสือกันอย่างเข้มข้น ท่วมท้นไปด้วยความเครียด บางคนเห็นเพื่อนโพสต์ IG stories ว่าอ่านหนังสือถึงไหน ทำเอาสติแตกว่าฉันอ่านไม่ทัน ฉันต้องสอบไม่ติดแน่ๆ ความกังวลนี้ยิ่งเพิ่มโอกาสเกิดอาการ Brain Fog ได้

พี่หมอแมวน้ำขอเป็นกำลังใจให้กับน้อง TCAS67 หรือคนอื่น ๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบ บางช่วงเราอาจมีสมองดับได้ แต่หากแก้ไขถูกวิธี สมองจะกลับมาทำงานเป็นปกติได้ค่ะ

Referencehttps://www.healthline.com/health/your-5-minute-read-on-fighting-brain-foghttps://www.nytimes.com/2022/09/13/well/mind/brain-fog-treatment.htmlhttps://www.verywellhealth.com/brain-fog-8363295

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น