"Moshi Moshi" จากร้านกิฟต์ชอปในสำเพ็ง สู่อาณาจักรสินค้าไลฟ์สไตล์อันดับหนึ่งของประเทศไทย

‘Moshi Moshi’ จากร้านกิฟต์ชอปในสำเพ็ง สู่อาณาจักรสินค้าไลฟ์สไตล์ No.1 ของไทย

“Moshi Moshi” ทั้งชื่อร้านและดีไซน์สินค้าอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแบรนด์จากญี่ปุ่น แต่ความจริงเป็นแบรนด์ไทยแท้ที่สินค้าเป็นส่วนมากถูกออกแบบโดยคนไทย และมีวางขายแค่ในร้าน Moshi Moshi เท่านั้น ในวันนี้คอลัมน์ The Success การเรียนรู้สู่ความสำเร็จ ได้รับเกียรติจาก ‘พี่เอิน-พลอยนภัส บุญสงเคราะห์’ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและจัดหาผลิตภัณฑ์ ที่จะมาบอกเล่าจุดเริ่มต้นของแบรนด์ รวมถึงแนวทางการสร้างอาณาจักรสินค้าไลฟ์สไตล์ให้เติบโตได้มากกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ

"Moshi Moshi" จากร้านกิฟต์ชอปในสำเพ็ง สู่อาณาจักรสินค้าไลฟ์สไตล์อันดับหนึ่งของประเทศไทย
"Moshi Moshi" จากร้านกิฟต์ชอปในสำเพ็ง สู่อาณาจักรสินค้าไลฟ์สไตล์อันดับหนึ่งของประเทศไทย

ชีวิตวัยเรียนของทายาทรุ่น 3 Moshi Moshi

พี่เอินเกิดและเติบโตมาพร้อมกับกิจการร้านขายส่งสินค้ากิฟต์ชอป โดยคุณพ่อมักจะปลูกฝังลูกทุกคนให้ไปเรียนรู้การทำธุรกิจของครอบครัวอยู่เป็นประจำ ด้วยความที่กลัวว่าลูกจะไม่เก่ง โตไปจะทำงานไม่เป็น จึงฝึกทุกคนให้ทำงานตั้งแต่เด็ก โดยที่ส่งไปช่วยงานต่าง ๆ ที่ร้านหรือโรงงาน ไม่ว่าจะเป็น แจกใบปลิว แคชเชียร์ พนักงานแพ็กและจัดเรียงสินค้า รวมถึงไปเรียนรู้งานที่ต่างประเทศ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้ลูกทุกคนเห็นภาพเดียวกันว่า ธุรกิจของครอบครัวเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับเข้ามาทำงานจริงจะได้ไม่ต้องปรับตัวเยอะมาก แต่ในวัยเด็กของพี่เอินกลับไม่เคยมีความคิดที่อยากจะสานธุรกิจต่อจากครอบครัวเลย เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบ  

ชีวิตวัยเรียนของพี่เอินเป็นเด็กสายศิลป์-คำนวณ โรงเรียนสตรีวิทยา  ที่ชื่นชอบการทำกิจกรรมเป็นอย่างมาก  เพราะต้องการค้นหาตัวเองในช่วงวัยนั้น ทั้งเข้าค่ายจิตอาสาช่วยเหลือสังคม เข้าชมรมพยาบาล แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่ตัวเอง จนได้พบกับหนึ่งกิจกรรมที่เป็นแรงบันดาลใจทำให้พี่เอินค้นพบสิ่งที่ชอบ นั่นคือ การเล่นละครเวที นั่นจึงทำให้พี่เอินปักธงในใจจะเลือกเรียนต่อในคณะนิเทศศาสตร์ หรือคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการแสดง แต่เพราะรู้ดีว่าสุดท้ายแล้วก็หลีกหนีการกลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัวไม่ได้ พี่เอินจึงตัดสินใจเรียนนิเทศศาสตร์ แต่เป็นนิเทศฯ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ โดยเลือกเรียนที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ เอกลูกค้าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะอย่างน้อยก็ยังได้เรียนสิ่งที่ตัวเองชอบ ประกอบกับเอกที่เลือกก็สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจของครอบครัวได้เช่นกัน

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ในปี 1 เทอม 1 นักศึกษาจะได้เรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกันทั้งหมด ก่อนที่เทอม 2 จะต้องเลือกเอก โดยสาขานี้มีเอกให้เลือกทั้งหมด 5 วิชาเอก ได้แก่ ภาพยนตร์, วิทยุและโทรทัศน์, วารสารและหนังสือพิมพ์, โฆษณา และลูกค้าสัมพันธ์ สำหรับเอกลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM (Customer Relationship management) เป็นการบูรณาการระหว่างการสื่อสาร การตลาด และการบริหารจัดการเข้าด้วยกัน ซึ่งนับว่าเป็นการตลาดรูปแบบหนึ่ง แต่จะเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า โดยที่จะต้องเรียนรู้ความต้องการของลูกค้า พร้อมทั้งสร้างกลยุทธ์ในการบริการที่ดึงดูดลูกค้า ทำให้ลูกค้าประทับใจกับบริษัท องค์กร หรือร้านค้า  

จากร้านกิฟต์ชอปย่านสำเพ็ง สู่แบรนด์ขึ้นห้างชั้นนำทั่วประเทศ

Moshi Moshi (โมชิ โมชิ) มีจุดกำเนิดเมื่อปี 2516 เริ่มจากอากงเปิดร้านขายปลีกสินค้าประเภทเครื่องเขียน และกิฟต์ชอป ภายใต้ชื่อร้าน ‘พร้อมภัณฑ์’ ในย่านฝั่งธนฯ  ในยุคนั้นคุณพ่อของพี่เอิน (คุณสง่า บุญสงเคราะห์) นำสินค้าไปเดินเร่ขายตามถนนหน้าโรงเรียนต่าง ๆ และย่านสำเพ็ง ต่อมาเล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ จึงเริ่มมีการออกแบบสินค้าเอง และเปลี่ยนจากร้านขายปลีกเป็นขายส่ง พร้อมทั้งเปิดร้านใหม่ที่สำเพ็ง ชื่อ ‘Gift Corner’ ส่งสินค้าไปขายตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจของครอบครัวให้เติบโตยิ่งขึ้น  

จนกระทั่งในปี 2557 ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าในชีวิตประจำวันที่มีความหลากหลายและทันสมัยมากขึ้น ทั้งยังเป็นยุคที่ร้านทุกอย่าง 20 บาทกำลังเป็นกระแส ประกอบกับทายาทรุ่นที่ 3 อย่างพี่เอิน พี่ชายของพี่เอิน และลูกพี่ลูกน้องกำลังจะเรียนจบมหาวิทยาลัยพอดี คุณพ่อจึงเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจจึงตัดสินใจมอบโจทย์นี้ให้ทายาทรุ่นที่ 3 เข้ามาศึกษาตลาดอย่างจริงจัง ใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการศึกษา โดยที่ไอเดียทุกอย่างจะต้องผ่านการนำเสนอกับสภาธุรกิจของครอบครัวก่อน หลังจากนั้นจึงเริ่มเปิดร้าน Moshi Moshi สาขาแรกที่สำเพ็ง อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2559 ก่อนที่จะเปิดที่แพลตินั่มประตูน้ำ และขยายสาขาสู่ห้างชั้นนำทั่วประเทศอย่างทุกวันนี้

เด็กนิเทศฯ กับการบริหารธุรกิจสินค้าไลฟ์สไตล์

หลังจากเรียนจบพี่เอินก็เข้ามาทำงานบริษัทในทันที โดยงานแรกที่คุณพ่อให้ทำคือ ฝ่ายพัฒนาและจัดหาผลิตภัณฑ์ แต่เนื่องจากช่วงแรกยังเป็น Family Business ประกอบกับร้าน Moshi Moshi ในตอนนั้นเติบโตค่อนข้างเร็วจึงทำให้จัดหาพนักงานไม่ทัน พี่เอินจึงต้องดูแลในฝ่าย HR และฝ่ายขายควบคู่ไปด้วย การทำงานในช่วงแรกพี่เอินมักจะได้ติดตามคุณพ่อไปทำงานอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น การสั่งซื้อสินค้า การติดต่อ Supplier เพื่อเป็นการเรียนรู้และทำความเข้าใจบทบาทการทำงานของพ่อและบริษัทมากขึ้น

แม้จะเรียนจบจากสาขานิเทศศาสตร์ แต่เอกลูกค้าสัมพันธ์ที่เลือกเรียนก็สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจได้ พี่เอินนำสิ่งที่เรียนไปปรับใช้กับฝ่ายขาย โดยจัดอบรมให้กับพนักงานสาขาในทุกระดับตั้งแต่ผู้จัดการ หัวหน้าร้าน จนถึงพนักงานขาย เกี่ยวกับการขายและการบริการให้ลูกค้าประทับใจในทุกๆ Touchpoint นับตั้งแต่เดินเข้าร้าน ระหว่างเลือกสินค้า ไปจนถึงจ่ายเงิน และเดินออกจากร้านไป ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะเสริมสร้างความรู้สึกดี ความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากการบริการ ยังมีในส่วนของการจัดหน้าร้าน และทำ work shop ต่างๆ เพื่อให้พนักงานเข้าใจและสามารถนำไปใช้งานต่อได้จริงที่สาขาของตัวเอง  

ปัจจุบันพี่เอินดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและจัดหาผลิตภัณฑ์ โดยฝ่ายกลยุทธ์จะนำเสนอข้อมูลเทรนด์แฟชั่นของสินค้าต่างๆ จากการไปสำรวจตลาดและคาดว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดี ก่อนจะนำมาให้ฝ่ายของพี่เอินทำการออกแบบและพัฒนาสินค้า เพื่อเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ให้แก่ลูกค้า ซึ่งความท้าทายของฝ่ายนี้เป็นเรื่องของผลิตสินค้าให้ออกมาตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด บวกกับเรื่องแฟชั่นที่มีการอัปเดตเทรนด์อย่างรวดเร็ว ดังนั้น การตามเทรนด์แฟชั่นจึงเป็นสิ่งที่ต้องตามให้ทัน แต่ด้วยประสบการณ์ของครอบครัวที่ทำธุรกิจกิฟต์ชอปมากว่า 36 ปี จึงทำให้แบรนด์เข้าใจความชอบ และรับรู้ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยได้เป็นอย่างดี  

กว่าจะมีสาขาในห้างทั่วประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย  

พี่เอินเล่าว่าในช่วงแรกที่ทำการสำรวจตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าดีไซน์สวยจากต่างประเทศคุณภาพดีแต่ราคาสูงเกินกว่าที่ผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อได้ จึงทำให้ Moshi Moshi นำเอาช่องว่างของตลาดในส่วนนี้มาเป็นจุดขายหลักของแบรนด์ นั่นคือ การผลิตสินค้า “คุณภาพดี ดีไซน์สวย ในราคาย่อมเยา” โดยเริ่มต้นที่ราคา 20 บาท เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าจำนวนมากอย่างรวดเร็ว

แม้ผลตอบรับในช่วงแรกของการเปิดร้าน Moshi Moshi ที่สาขาสำเพ็งและแพลตินั่มประตูน้ำ จะได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าอย่างรวดเร็ว แต่เพราะเป็นแบรนด์น้องใหม่ในตลาดที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทำให้การขยายสาขาเข้าไปในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เป็นไปได้ยาก ในตอนนั้นจึงต้องเปลี่ยนแผนใหม่ใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เมื่อเข้าห้างชั้นนำในเมืองหลวงไม่ได้ก็หันไปเปิดสาขาในห้างตามต่างจังหวัดก่อนเพื่อสร้างฐานลูกค้า ด้วยดีไซน์สินค้าที่ทันสมัย คุณภาพดี แถมมีราคาเหมาะสม ทำให้แบรนด์เป็นที่ชื่นชอบ และเกิดการบอกต่อในโซเชียลมีเดีย จนทำให้ Moshi Moshi เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น และในที่สุดก็ได้รับการติดต่อจากทางห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และได้กลับมาขยายสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi
ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi

ในระยะเวลา 7 ปี Moshi Moshi เติบโตอย่างรวดเร็วและขยายสาขาอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจุบันมีมากถึง 131 สาขา (ข้อมูล ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567) ซึ่งปัจจัยที่ทำให้แบรนด์เติบโต และได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคนั้นมาจากจุดแข็งของแบรนด์ที่มีการพัฒนาออกแบบสินค้าที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ และทันสมัยในราคาจับต้องได้ ประกอบกับมีฝ่ายจัดหาและพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง ทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงมีการทำ Visual Merchandise การจัดแสดงสินค้าภายในร้าน ที่เน้นตกแต่งร้านให้สวยงาม และจัดแผนผังร้านให้มีพื้นที่ใช้สอยสูงสุด เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการเลือกซื้อสินค้าให้กับลูกค้า ซึ่งจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้แก่สินค้าของแบรนด์ และเพิ่มโอกาสในการขายสินค้ามากขึ้น

สินค้าคุณภาพดี ดีไซน์สวย ราคาย่อมเยา

สำหรับสินค้าส่วนใหญ่ภายในร้านจะเป็นสินค้าภายใต้โลโก้ของแบรนด์ และมีการออกแบบเพื่อวางขายในร้าน Moshi Moshi โดยเฉพาะ ซึ่งสินค้าที่วางในร้านจะมีความแตกต่าง และหลากหลายจากสินค้าเดิมที่เคยมี  

สินค้าเดิมที่เคยขายในร้านกิฟต์ชอปจะเน้นขายสินค้าลิขสิทธิ์ที่มีสีสันค่อนข้างฉูดฉาดเป็นหลัก โดยโฟกัสกลุ่มลูกค้าหลักเป็นเด็ก ม.ต้น หรืออายุ 13-18 ปี ส่วนสินค้าไลฟ์สไตล์ในร้าน Moshi Moshi จะมีสีที่ซอฟต์ลง มีความมินิมอล มากขึ้น โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักศึกษาไปจนถึง First Jobber  หรืออายุ 18-25 ปี ทั้งนี้แบรนด์ก็พยายามพัฒนาและออกแบบสินค้าให้มีหลากหลายหมวดมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัย แม้กลุ่มเป้าหมายจะเปลี่ยน แต่แบรนด์ยังคงชูจุดเด่นเรื่อง “คุณภาพ การออกแบบ และราคาจับต้องได้” เอาไว้เหมือนเดิม  

ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi
ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi

สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำตลาดของร้าน Moshi Moshi คือ การออกแบบสินค้าเป็นคอลเล็กชั่น วางขายสินค้าตามเทศกาล และการเลือกใช้โทนสีที่ได้รับความนิยมในขณะนั้นเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาและจัดหาสินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีสินค้าหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากถึง 13 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องใช้ในบ้าน, กระเป๋า, เครื่องเขียน, ตุ๊กตา, แฟชั่น, อุปกรณ์เสริมความงาม, เครื่องแต่งกาย, เครื่องสำอาง, อุปกรณ์ด้านไอที, ของเล่น, ขนม, สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง และหมวดอื่นๆ เช่น หน้ากากผ้า เป็นต้น โดยมีจำนวนสินค้า รวมกว่า 22,000 SKUs (Stock Keeping Unit) ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ ซึ่งนอกจากสินค้าที่ทีมงานของแบรนด์ออกแบบเองแล้ว ยังมีสินค้าลายลิขสิทธิ์จากต่างประเทศที่ทางแบรนด์ทำมาโดยตลอด เช่น มิกกี้เมาส์, ดิสนีย์ ซูมซูม ,วีแบร์แบร์ ,วินนี่เดอะพูห์ , สนูปปี้ และฮัลโหลคิตตี้  

ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่นิยมซื้อสินค้าลายการ์ตูนต่างๆ หลายคนหันมาซื้อสินค้าสะสม เพื่อสนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบด้วย จึงทำให้แบรนด์เล็งเห็นถึงความสามารถของ Thai Designers ที่สามารถครีเอตคาแรกเตอร์ออกมาได้อย่างสวยงามไม่แพ้ต่างประเทศ จึงเกิดแนวคิดร่วมคอลแลบส์กับ Thai Designers จาก 3 แบรนด์ดัง ได้แก่ STICKWITHME4ev, SSKTMMEE และ Monsty Planet เปิดตัวคอลเลกชันพิเศษ ชูคาแรกเตอร์และลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสนันสนุนผลงานนักวาดชาวไทย และเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มสินค้าลิขสิทธิ์จากต่างประเทศใหม่ๆ เรื่อยๆ  

ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi
ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi

แนะนำ 3 ไอเทมน่าซื้อจากร้าน Moshi Moshi

เชื่อว่าเวลาไปเดินห้างสรรพสินค้า แล้วเดินผ่านหน้าร้าน Moshi Moshi ทุกคนจะต้องแวะเข้าไปเดินกันแน่นอน ถึงแม้วันนั้นจะไม่มีของที่อยากได้ก็ตาม อย่างน้อยขอแวะไปเดินดูสินค้าในร้านก็ยังดี แต่ถ้าเดินเข้าไปแล้วไม่ได้ซื้อของติดไม้ติดมือกลับมาก็คงจะน่าเสียดายแย่ วันนี้คอลัมน์ The Success มี 3 ไอเทม ที่พี่เอินพัฒนา จนใช้เองเป็นประจำ และแนะนำว่าต้องซื้อกลับบ้าน มาป้ายยาทุกคนกันค่ะ  

1. ‘แฮนด์ครีม’ ใครที่มือแห้ง นั่งเรียน นั่งทำงานในห้องแอร์นานๆ ควรมีติดตัวไว้ เพราะสารสกัดบำรุงผิวที่คัดสรรมาเพื่อมือและเล็บโดยเฉพาะ ที่สำคัญมีกลิ่นให้เลือกถึง 13 กลิ่น

ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi
ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi

2. ‘เครื่องสำอาง’ มีครบทั้งตา คิ้ว แก้ม ปาก มีเฉดสีให้เลือกหลากหลาย ใครที่เริ่มแต่งหน้าต้องลองซื้อ เพราะราคาน่ารัก สบายกระเป๋า  

ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi
ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi

3. ‘เสื้อผ้า’ มีให้เลือกหลากหลายสไตล์ ใส่ได้ทั้งชายและหญิง เช่น เสื้อ กางเกง เนื้อผ้าใส่สบาย คัดสรรมาแล้วว่าเหมาะกับอากาศประเทศไทย

ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi
ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi

สำหรับน้องๆ วัยเรียนพี่เอินแนะนำเป็นในหมวดของ ‘เครื่องเขียน’ ซึ่งมีสินค้าให้เลือกหลากหลายไม่น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ตั้งแต่ดินสอ ปากกา ยางลบ ไม้บรรทัด กระดาษโน้ต ฯลฯ ในราคาเริ่มต้นเพียง 20 บาท น้องๆ วัยเรียนเอื้อมถึงแน่นอน  

ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi
ภาพจาก : Facebook  Moshi Moshi

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ ในการทำงาน

ในช่วงปีแรกๆ ของการทำงานพี่เอินได้รับความไว้วางใจจากครอบครัวให้จัดอบรมเรื่องการขายและการบริการให้กับพนักงาน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากพอสมควรในการรวบรวมพนักงานจากทั้งหมดทั่วประเทศที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ให้มาเจอกันทุกคน แต่ผลตอบรับที่ได้จากพนักงานก็ทำให้พี่เอินรู้สึกดีมากๆ ที่ได้ทำ เพราะพนักงานทุกคนให้การตอบรับดีมาก อีกทั้งสังเกตเห็นได้ว่าทุกคนมีความสุขที่ได้ใกล้ชิดกับบริษัทมากขึ้น หลายคนเดินเข้ามาพูดคุย และขอคำปรึกษาเวลาเจอปัญหา ทำให้เขาไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะมีคนร่วมแก้ปัญหาไปกับเขา ซึ่งพี่เอินเองก็พยายามถ่ายทอดความรู้ต่างๆ  แนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาในทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อให้พนักงานเข้าใจ และสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานได้จริง

ฝากถึงน้องๆ วัยเรียน ชาว Dek-D.com

สำหรับน้องๆ วัยเรียนที่อยู่ในช่วงกำลังค้นหาความชอบของตัวเอง อยากให้ทุกคนกล้าที่จะคิด และกล้าที่จะฝัน ถ้าเกิดสนใจที่จะทำอะไรแล้ว อยากให้ลงมือทำ อย่าปล่อยเอาไว้เฉยๆ พยายามศึกษาหาข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง เพื่อให้เกิดความแน่ใจก่อนที่จะลงมือทำ เหมือนกับพี่เอินที่กว่าจะมีธุรกิจที่เติบโตอย่างทุกวันนี้ ต้องอาศัยการศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง และลงมือทำอย่างตั้งใจ บางคนแพลนเอาไว้ว่าจะทำแต่ไม่ลงมือทำ สิ่งที่ฝันหรือเป้าหมายก็คงไม่สำเร็จ ถ้าทุกคนคิดแล้วทำอย่างตั้งใจมันจะออกมาดีอย่างแน่นอน แม้ระหว่างทางจะมีอุปสรรคหรือข้อผิดพลาด แต่เราจะได้เรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น และสุดท้ายมันจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราไปได้ไกลกว่าเดิม  

จะเห็นได้ว่า เส้นทางธุรกิจของ Moshi Moshi มีการปรับเปลี่ยนพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายครั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แบรนด์ต้องปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งการเรียนรู้นั้น จะรู้แค่มุมกว้างอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องรู้ให้ลึกไปถึงแก่นแท้ด้วย สุดท้ายแล้วสำคัญที่สุด คือ การลงมือทำ และหมั่นรับฟังความคิดเห็นของลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้นกว่าเดิม

 ‘พี่เอิน-พลอยนภัส บุญสงเคราะห์’ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและจัดหาผลิตภัณฑ์ หรือทายาทรุ่นที่ 3 แบรนด์  Moshi Moshi
 ‘พี่เอิน-พลอยนภัส บุญสงเคราะห์’ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและจัดหาผลิตภัณฑ์ หรือทายาทรุ่นที่ 3 แบรนด์  Moshi Moshi
ทีมงานต้องขอขอบคุณ  ‘พี่เอิน-พลอยนภัส บุญสงเคราะห์’ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและจัดหาผลิตภัณฑ์  ที่ให้เกียรติมาสัมภาษณ์กับทาง Dek-D.com รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน สำหรับข้อมูลในบทความนี้ด้วยนะคะ

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น