จากเด็กลาดกระบัง สู่การเป็น 'นักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลี' เรียนต่อ KAIST ด้านธุรกิจไอที!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ช่วงนี้ก็เรียกว่าใกล้ฤดูกาลเปิดรับสมัครทุนรัฐบาลเกาหลีใต้ (GKS) ระดับปริญญาโทเข้ามาทุกทีแล้ว (ปกติจะเปิดรับสมัครเดือนกุมภาพันธ์) ถ้าใครกำลังอยากเก็บข้อมูลหรือหารีวิวไว้เป็น reference ประกอบการเตรียมตัว วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์จาก ‘พี่มีน - พิชญานิน ชูติพัฒนะ’ คนไทยที่คว้าทุนนี้ไปเรียนต่อ ป.โท สาขา Business and Technology Management (BTM) ที่ Korea Advanced Institute of Science & Technology (KAIST) นอกจากจะเป็นอันดับ 2 ของประเทศแล้ว ยังเด่นเทคโนโลยีจนขึ้นชื่อว่าเป็น MIT ของเกาหลีใต้เลยค่ะ 

ในบทสัมภาษณ์นี้พี่มีนจะมาแชร์โพรไฟล์ คะแนนที่ใช้ยื่น การเตรียมตัวขอทุน การเลือกคณะ คำแนะนำการเขียน Personal Statement และ SoP รวมถึงรีวิวการเรียนปรับภาษาด้วย ทีมเกาหลีห้ามพลาดค่า :)

ขอบคุณรูปภาพจากเจ้าของเรื่อง IG: @meenmeenstories

อ่านจบมีข้อสงสัยอยากปรึกษารุ่นพี่ตัวจริง 1:1 ข่าวดีคือ "พี่มีน" ให้เกียรติตอบรับคำเชิญมาประจำบูธงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบเมษายน 2024 ด้วยนะคะ (พี่มีนจะมาวันที่ 28 เม.ย. 2024)  เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ได้เลย! https://www.dek-d.com/studyabroadfair/ 

Cr. @KAIST.official   (FB)
Cr. @KAIST.official   (FB)

ศึกษาระเบียบการ GKS ป.โท ของปีก่อนไว้เตรียมตัว

https://www.dek-d.com/studyabroad/57248/ 

. . . . . . 

เหตุผลที่ตัดสินใจสมัครทุนนี้

มีนได้ยินชื่อทุนรัฐบาลเกาหลีครั้งแรกตอน ม.6 และเคยสมัครของระดับ ป.ตรีค่ะ เพียงแต่ตอนนั้นไม่ผ่านการคัดเลือก เลยตั้งใจเรียนต่อมหาวิทยาลัยในไทยจนจบ แล้วลองสมัคร ป.โทอีกครั้ง คราวนี้สมหวังแล้ว แถมยังได้เรียน KAIST ที่อยากเข้ามาตั้งแต่ ม.ปลายด้วยค่ะ ^^

แต่ทั้งนี้คือมีนผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์กับทางสถานทูตแล้วติดตัวสำรอง หลังจากนั้นทางสถานทูตจะส่งรายชื่อและประวัติของผู้สมัครทั้งตัวจริงและตัวสำรองไปยัง National Institute for International Education (NIIED) ที่เกาหลี 

ตอนนั้นเราก็ยังมีความหวังอยู่นะ พยายามไปนั่งเสิร์ชจริงจังว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเคยมีตัวสำรองจะมีโอกาสขึ้นมาเป็นตัวจริงมั้ย ปรากฏว่ามีตัวสำรองชาวไทยเกือบครึ่งเลยที่ได้รับเลือกจาก NIIED ให้เป็น “ผู้ผ่านการคัดเลือก” (ทุกคนที่มีรายชื่อในประกาศคือตัวจริงค่ะ ไม่มีตัวสำรองเเล้วในรอบนี้) ในการประกาศผลรอบถัดมา เราคิดในใจว่า “เฮ้ยยย เรายังมีโอกาส เราอาจเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้”

ผลออกมาว่าเราได้เป็น “ผู้ผ่านการคัดเลือก” จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัย 3 เเห่งตามปกติ ซึ่งมหาวิทยาลัยที่เราเลือกไว้ ไม่มีเรียกสัมภาษณ์เพิ่มเเล้วค่ะ คัดเลือกจากprofileล้วนๆเลย สรุปคือ หลังจากส่งใบสมัครเราได้สัมภาษณ์เพียงครั้งเดียว คือสัมภาษณ์กับสถานทูตเกาหลี ทางออนไลน์ค่ะ

. . . . . . 

โพรไฟล์และคะแนนตอนสมัคร

  • เรียนจบ ป.ตรี สาขา Business Information Technology (International Program) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง
  • เกรดเฉลี่ย ป.ตรี 3.78 (ใช้เกรด 7 เทอมเพราะยื่นสมัครทุนตอนเรียนปี 4 เทอม 2)
  • คะแนนวัดระดับภาษาอังกฤษ TOEIC Listening & Reading Test 950 

มีนไม่ได้ยื่นคะแนนภาษาเกาหลีเลยค่ะ แต่ถ้าย้อนเวลาไปได้คงไม่กล้าทำแบบนั้นแล้ว เพราะถ้าเรามีคะแนน TOPIK เกิน 3 จะได้คะแนนพิเศษเพิ่มประมาณ 10% ด้วยนะคะ

. . . . . . 

หลักสูตรและมหาวิทยาลัยที่ยื่น

เนื่องจากสมัคร Embassy Track จะเลือกได้ 3 อันดับ มีนเรียนจบ Business IT และสนใจด้านนี้จริงจัง เลยเลือกมหาวิทยาลัยที่สอนสาขาที่ตอบโจทย์เรา และทุกที่ล้วนแต่ส่งเสริม Start Up ในแคมปัสด้วยค่ะ

อันดับ 1 Business and Technology Management (BTM) ที่ KAIST เพราะเป็นความฝันของมีนตั้งแต่ ม.ปลายแล้ว พยายามหาข้อมูลของ KAIST กับหลักสูตร BTM มาตลอด แล้วยังเคยเข้างาน Open House แบบออนไลน์ของ KAIST ด้วย

อันดับ 2 Technology Management ที่ Hanyang University ตรงสายที่เราสนใจเป๊ะๆ เรียนเป็นภาษาเกาหลี แต่ไม่ require คะแนน TOPIK 

อันดับ 3 Business Administration ที่ Kumoh National Institute of Technology เรียนภาษาอังกฤษล้วน และ Kumoh มีวิชา Technology Management ที่เราสนใจก็เลยเลือก (อันดับ 3 คือมหาวิทยาลัยท้องถิ่นตามรายชื่อใน Type B) 

Cr. @KAIST.official
Cr. @KAIST.official 
Cr. @kaistBTM
Cr. @kaistBTM

ช่องทางหลักของ KAIST

https://www.facebook.com/KAIST.official 

BTM KAIST 

https://www.facebook.com/kaistBTM

 

Note:

  • กรณีสมัครผ่านสถานทูตหรือ Embassy Track สามารถเลือกได้ 3 คณะ แบ่งเป็นกลุ่ม Type A, B ซึ่งจะบังคับให้เลือก B 1 แห่ง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้คว้าโอกาสติดมหาวิทยาลัยมากขึ้น โดยกลุ่ม B จะค่อนข้างไปทางนอกเมืองหน่อยแต่มีชื่อเสียงและศักยภาพดีเหมือนกัน
     
  • กรณีสมัครผ่านมหาวิทยาลัย หรือ University Track เราสามารถพุ่งเป้าหมายไปยังคณะที่จะสมัครได้เลย เขาจะได้เห็นถึงความตั้งใจว่าอยากเรียนที่นี่จริงๆ (ขั้นตอนน้อยกว่า แต่ก็เลือกอันดับได้น้อยกว่า)

. . . . . . 

คำแนะนำการเขียนเรียงความสมัครทุน

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้สมัครต้องเขียนก่อน ซึ่งทางทุนรัฐบาลเกาหลีกำหนดไกด์ไลน์หัวข้อที่เค้าอยากอ่านมาแล้ว เราควรตอบให้ครอบคลุมทุกประเด็น

นอกจากนี้ควรใช้ระดับภาษาที่คำนึงถึงผู้อ่าน เช่น มีนเป็นผู้สมัครรอบ Embassy Track ก็จะมีกรรมการของสถานทูตเกาหลีประจำประเทศไทย เจ้าหน้าที่ NIIED ที่เกาหลี และ Admission Staff ของมหาวิทยาลัยที่เราจะสมัครเรียน เราต้องเล่าเรื่อง field ที่เรียนให้คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้ ภาษากระชับได้ใจความและไม่อ่านยากจนเกินไป เพราะเรากำลังเขียนเพื่อให้ผู้อ่านรู้จักเรามากขึ้นในประเด็นที่ทุนกำหนด 

Personal Statement

  • ใน 1 Paragraph มีนจะเขียนแค่ 1 เรื่องเพื่อให้อ่านง่าย โดยประโยคแรกของทุก Paragraph ควรทำให้ผู้อ่านรู้ว่าเค้ากำลังจะอ่านอะไรในย่อหน้านั้น (อ่านเพิ่มเติม) ส่วน Paragraph สุดท้ายควรเป็นการสรุปทุกย่อหน้าด้านบน 
     
  • อย่ายึดพวก theme การเขียนเรียงความที่คนเขียนกันเยอะๆ เพราะจะทำให้ Personal Statement ของเราไม่โดดเด่น พูดง่ายๆ คือเลี่ยงการเขียนสิ่งที่คนอื่นก็อาจเขียนได้เหมือนกัน 
     
  • ในทางกลับกันเราควรเขียนสิ่งที่เป็นเรื่องของเราจริงๆ แล้วอธิบายรายละเอียดให้ชัดเจนแต่ไม่เยิ่นเย้อ (อ่านเพิ่มเติม) 
     
  • เขียนโดยลำดับเวลาและเหตุการณ์ของเรื่องที่เล่า จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น มีนเล่าเรื่องกิจกรรมและผลงานที่ผ่านมาว่า เราได้ทำกิจกรรม A และได้เรียนรู้บางอย่างมา จากนั้นก็นำไปใช้ทำกิจกรรม B และ C ต่อได้ ส่วนกิจกรรม รางวัล และความสำเร็จ แนะนำให้เขียนว่า ก่อนหน้านี้เคยเป็นยังไง ได้ทำอะไร แล้วได้เรียนรู้ทักษะอะไรใหม่ๆ บ้าง โดยเขียนโฟกัสที่ตัวเราเป็นหลัก
     
  • ถ้าไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรดี ลองถามตัวเองว่า “ผู้อ่านคือใคร” “ผู้อ่านอยากอ่านอะไร” “เราได้เขียนทุกอย่างที่ผู้อ่านอยากอ่านรึยัง” 
     
  • อย่าสะกดผิด อย่าเขียนผิดหลักไวยากรณ์ เพราะอาจแสดงถึงความไม่ตั้งใจได้

Statement of Purpose (SoP)

มีนจะขออธิบายแยกเป็น 3 ส่วนที่ทุนกำหนด

1. Language Study Plan ส่วนตัวมีนเลือกเขียนเป็นข้อๆ (bullet) เพราะคิดว่าอ่านง่ายที่สุดแล้ว และดูเป็นข้อที่ไม่จำเป็นต้องบรรยาย (มีนลองเขียนบรรยายแล้วพบว่า อ่านยาก) ถ้าใครอยากศึกษาเพิ่มเติม สามารถพิมพ์ค้นหาใน google ว่า “How to write bullet journal” // ด้านล่างนี้คือตัวอย่างรูปแบบการเขียน แต่ไม่ใช่ข้อความที่มีนเขียนลงใน SoP นะคะ

 

March - July 2021

  • Listen to English podcasts based on my interests: Technology, Business, and Philosophy

2. Goal of the study และ Future Plan

เนื่องจากเรากำลังขอทุนอยู่ ควรเขียนว่าสิ่งที่เรา “จะทำ” และ “อยากทำ” จะส่งผลลัพธ์และสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวกต่อประเทศไทยและเกาหลีอย่างไรบ้าง **สิ่งที่ตอบจะต้องเป็น plan และ goal ของเรา แต่ก็ควรคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย 

ส่วนตัวมีนสนุกกับการนั่งค้นหาข้อมูลมาใช้ประกอบการเขียน Personal Statement และ SoP มากๆ ค่ะ โดยจะมีเขียนโครงร่าง (Outline) ก่อนเพื่อไม่ให้หลุดประเด็น จากนั้นพักไว้แล้วค่อยกลับมาแก้ไขเรื่อยๆ นอกจากนี้ก็มีนำไปให้ Advisor เพื่อน กับครอบครัวช่วยอ่าน เพื่อให้เราได้ความคิดเห็นจากหลายมุมมองด้วย

**โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านนะคะ สำหรับเราๆ ได้ศึกษามาว่าหลักการเหล่านี้น่าจะเหมาะกับมหาวิทยาลัย สาขา Track และทุนที่เราสมัคร ดังนั้นถ้าใครต้องการสมัครอะไรก็ควรศึกษาสาขาและมหาวิทยาลัยนั้นให้ดี เพื่อมาใช้วางแผนการเขียน

กิจกรรมที่นำเสนอในเรียงความ

มีนมีอธิบายกิจกรรมและผลงานที่เคยทำไปทั้งใน SoP, Personal Statement รวมถึงแนบ CV และประกาศนียบัตรที่มีไปด้วย มีนจะขอเล่าเรียงลำดับเวลานะคะ เช่น

  • Full Scholarship (2017-2021) ได้รับการยกเว้นค่าเทอมตลอด 4 ปี จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ลาดกระบัง ซึ่งคัดเลือกจากคะแนนตอนสอบเข้าเรียนที่นั่น
     
  • ทุนเรียนดี ลาดกระบัง (2017-2020) จากการได้เกรดเฉลี่ยสูงสุดของสาขาในแต่ละปีค่ะ 
     
  • เคยทำหน้าที่เป็นพิธีกรภาษาอังกฤษ ในงาน The 11th International Conference on Information Technology and Electrical Engineering (2019) มีผู้ร่วมงานกว่าร้อยคน จาก สจล. และ Universitas Gadjah Mada Yogyakarta ประเทศอินโดนีเซีย ที่มานำเสนอผลงานวิชาการค่ะ
     
  • เคยได้รับเกียรติบัตรนักกิจกรรมดีเด่น สจล. (2019) จากการรับหน้าที่พิธีกรภาษาอังกฤษ ในงานมอบเนคไทและเข็มพระมหามงกุฎ เป็นงานที่สเกลใหญ่มากๆ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 5,000 คน ทั้งตื่นเต้นเเละท้าทายเลยค่ะ เราได้ฝึกทักษะการเป็นพิธีกร ทักษะการสื่อสารกับผู้ฟัง เเละทักษะการพูด
     
  • เคยเป็นรองประธาน ค่ายไอทีสานสัมพันธ์ (เมษายน 2018) ซึ่งเป็นงานจัดค่ายสเกลใหญ่ครั้งแรก มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน ทีมงานอีกร่วมร้อยคน (เพื่อนๆ ที่ช่วยกันจัดงานนี้ขึ้น) ได้เรียนรู้ทักษะการจัดการ การหาแผนสำรอง และรู้จักเอาใจใส่กับรายละเอียดเล็กๆ มากขึ้นค่ะ
     
  • มีนสมัครทำงานอาสาให้กับ United Nations Volunteers (ธันวาคม 2020 - ปัจจุบัน) เนื่องจากช่วงนั้นทำ thesis ปริญญาตรีร่วมด้วย จึงสมัคร scope เล็กๆ 2 งาน งานแรกเราช่วยแปลใบสมัครของผู้สมัครโครงการ Youth Innovation for Human Mobility Challenge เป็นภาษาอังกฤษ และอีกงานเราช่วยแปลใบปลิวเป็นภาษาไทย ให้กับ UNV Asia and the Pacific ค่ะ
     
  • นอกจากนั้นก็เคยเข้าร่วมกิจกรรม เช่น Workshop LINE Chatbots และอื่นๆ อีกหลายกิจกรรม

(อ่านต่อ) รีวิวขอทุน & สัมภาษณ์ โดยพี่มีน

. . . . . . 

แชร์ประสบการณ์ช่วงเรียนปรับภาษา 
(เริ่มเกาหลีกึบ 1)

มีนได้ไปเรียนสถาบันภาษาแห่งหนึ่งที่กรุงโซล แต่เป็นตอนเหนือๆ เขตชานเมืองเลยค่ะ ใช้หนังสือแบบเรียนของ ม.โซล (Seoul National University) แต่ละบทจะมีครบ 4 พาร์ตทั้งฟัง-พูด-อ่าน-เขียน มีครบทั้งไวยากรณ์ คำศัพท์ เราจะได้ฝึกฟัง ต่อบทสนทนา อ่านบทความสั้นๆ ซึ่งมีนเองไปเริ่มที่กึบ 1 ได้ฝึกเขียนประโยคสั้นๆ มีการบ้านทุกวัน วันละ 10-15 หน้า หรือบางครั้งก็มีให้พรีเซนต์หรือ Writing ส่วนการสอบจะมีแบ่งเป็นมิดเทอมและไฟนอลค่ะ

เราเคยคิดว่าจะชิลล์ แต่จริงๆ คือภาพลวงตาชัดๆ 5555 จริงๆ แล้วเนื้อหาเลเวลนี้ยังไม่ยากมาก เพียงแต่ทุกอย่างใหม่หมดสำหรับเรา และช็อกกับการผัน verb ที่มีรายละเอียดเยอะ ที่สำคัญคืออัดแน่น ถ้าให้เทียบกับความเข้มข้นสมัยเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนรัฐบาล เล่มนึงใช้เวลาเรียน 1 เทอม แต่พอมาที่นี่เรียนเทอมละ 2 เล่ม ซึ่ง 1 เทอม = 2 เดือน เรียนสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 4 ชั่วโมง (ตอนนี้กำลังเรียนกึบ 2 และมีช่วงติว TOPIK ตั้งแต่บ่าย 2 ถึง 5 โมงเย็นด้วย)

คัดลายมือได้ที่ 1 ของกึบ 1 เทอมที่แล้ว
คัดลายมือได้ที่ 1 ของกึบ 1 เทอมที่แล้ว

ความรู้สึกหลังจากเรียนมาถึงกึบ 2 เอาแบบไม่เทียบกับคนอื่นนะ ตอนแรกเราพื้นฐานภาษาเกาหลีน้อยมาก แต่ตอนนี้เรามาไกล สั่งข้าวกินได้แล้ว~ แค่นี้ก็รู้สึกคอมพลีทมากๆ สำหรับเราแล้วค่ะ ><

แล้วข้อดีคือสถาบันภาษาจะมีจัดกิจกรรมให้เยอะ (ยกเว้นช่วงโควิดจะยังทำอะไรไม่ค่อยได้) รวมถึงมีจัดบัดดี้ชาวเกาหลีให้ ถ้ามีปัญหาอะไรสามารถขอความช่วยเหลือได้ และทำให้ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันไปในตัว

บรรยากาศหอพัก (เรียนภาษา)
บรรยากาศหอพัก (เรียนภาษา)
วิวโซลจาก Lotte World
วิวโซลจาก Lotte World

. . . . . . 

รีวิวสั้นๆ 3 ความประทับใจที่เกาหลี

  1. Cashless Society แม้แต่ร้านเล็กๆ ก็ยังรับบัตร และมักจะเจอตู้ Kiosk Machine สั่งอาหารอัตโนมัติจะจ่ายบัตรหรือเงินสดก็ได้ สะดวกมากๆ
     
  2. มาตรการตรวจโควิด มีจุดตรวจทั่วประเทศให้เราเลือกไปได้ตามที่สะดวก ตรวจฟรีไม่มีเงื่อนไข รอผลทาง SMS รู้ผลได้ใน 1 วัน
     
  3. ระบบขนส่งสาธารณะ เท่าที่ไปเที่ยวมา จะเห็นว่าในกรุงโซลและเมืองรอบๆ สามารถนั่ง Metro เข้าถึงได้ทุกที่จริงๆ หรือถ้าไกลออกไปหน่อยก็มีรถบัส ไม่จำเป็นต้องนั่งแท็กซี่ต่อ // ใช้ App ดูเวลารถที่มาถึงได้แบบ real-time บางป้ายรถเมล์ที่มีคนขึ้นเยอะๆ จะมีจอบอกเวลาว่าอีกกี่นาทีจะมาถึง ช่วยให้วางแผนชีวิตง่ายมาก
ภาพถ่ายตอนแวะไป KAIST ค่ะ
ภาพถ่ายตอนแวะไป KAIST ค่ะ
ตอนไปเที่ยววังคยองบกกุง
ตอนไปเที่ยววังคยองบกกุง

. . . . . . . .  .

You’re Invited!
อยากปรึกษา 1:1 กับพี่มีนตัวจริง
พบกันที่ไบเทคบางนา 28 เม.ย. 2024

รอบนี้พิเศษมากก!! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลียก็มาด้วยนะ!

"พี่มีน" จะสแตนด์บายที่บูธปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันที่ 28 เมษายน 2024 และห้ามพลาดไฮไลต์อีกมากมายในงานนี้ค่ะ

เข้าสู่เว็บไซต์งานแฟร์ต่อนอก
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น