คุยกับ 'พี่อันอัน' รุ่นพี่ทุนรัฐบาล TaiwanICDF เรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในดินแดนแห่ง Freedom of Speech

สวัสดีค่าชาว Dek-D นับวัน “ไต้หวัน” จะเป็นเป้าหมายที่มาแรงมากขึ้นทุกทีๆ หลายคนอาจเคยเห็นรีวิวคนที่ไปเรียนต่อหรือเที่ยวกลับมาแล้วบอกต่อกันอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความลงตัวของสภาพแวดล้อมทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก สวัสดิการ-คุณภาพชีวิต เทคโนโลยี รวมถึงโอกาสดีๆ ทั้งเรื่องภาษาที่สาม หลักสูตรอินเตอร์ และทุนการศึกษาทั้งจากรัฐบาลและมหาวิทยาลัยโดยตรง

และทุน ICDF ก็คือหนึ่งใน 100% ของทางรัฐบาลไต้หวันที่มอบให้แบบเต็มจำนวน  วันก่อนทาง Taiwan Education Center ทำให้เรามีโอกาสได้รู้จักกับรุ่นพี่นักเรียนทุน TaiwanICDF Scholarship 2020 ที่เพิ่งเรียนจบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากไต้หวันมาสดๆ ร้อนๆ จากมหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อ (เจิ้งต้า) หรือ National Chengchi University // น่าสนใจมากกแถมยังเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษด้วยนะคะ ใครกำลังวางแผนเรียนต่อหรือขอทุนนี้ เลื่อนมาเก็บข้อมูลกันค่ะ

อ่านจบมีข้อสงสัยอยากปรึกษารุ่นพี่ตัวจริง 1:1 หรือขอคำแนะนำเรื่อง SoP ข่าวดีคือ "พี่อันอัน" ให้เกียรติตอบรับคำเชิญมาประจำบูธงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบเมษายน 2024 ด้วยนะคะ (พี่อันอันจะมาวันที่ 27 เม.ย. 2024)  เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ได้เลย! https://www.dek-d.com/studyabroadfair/ 

. . . . .

Part I : กว่าจะได้ทุนไปเรียนไต้หวัน
(การเตรียมตัว, กระบวนการ, คำแนะนำ ฯลฯ)

รู้จักกันก่อน

สวัสดีค่ะ~ ชื่อ “พี่ส้ม – อันอัน ตั้งประเสริฐพงศ์”  นะคะ เรียนจบ ป.ตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations (IR)) จากจุฬาฯ​ จบช่วงปี 2020 ที่ตรงกับช่วงโควิดพอดี แล้วตัดสินใจไปเรียนต่อ ป.โท International Master’s Program in International Studies (IMPIS) ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (國立政治大學) หรือ National Chengchi University สาขานี้จะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศค่ะ ^^

เหตุผลที่ "ไต้หวัน" ลงตัวที่สุด

เราพอมีพื้นฐานภาษาจีนอยู่บ้างเพราะจบ ม.ปลายสายศิลป์-ภาษาจีน แล้วตอนเรียนที่จุฬาฯ ก็มีไปลงวิชาเกี่ยวกับภาษาจีนอีกนิดหน่อยค่ะ ไหนๆ แล้วเลยอยากเลือกเรียนต่อในประเทศที่มีสภาพแวดล้อมที่ใช้ภาษาจีนเป็นหลักเพื่อต่อยอดในอนาคต

แต่เนื่องจากภาษาจีนเรายังไม่คล่องขนาดนั้น เลยคิดว่าไต้หวันตอบโจทย์ตรงที่มีหลักสูตรอินเตอร์เยอะมากกก แล้วถ้าจะสมัครหลักสูตรภาษาอังกฤษ ก็สามารถยื่นคะแนน TOEIC นอกเหนือจากคะแนน TOFFL หรือ IELTS ได้ด้วย 

นอกจากนี้แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น

  • ไต้หวันมีทุนเยอะทั้งจากรัฐบาลและมหาวิทยาลัยโดยตรง มีทั้งแบบเต็มจำนวนและทุนค่าเรียนบางส่วน
  • รัฐบาลส่งเสริมและเปิดกว้างเรื่องการวิจัย
  • สังคมมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมสูง (Multicultural Society) ผสมผสานทั้งกรอบความคิดแบบตะวันตก-ตะวันออก  รวมถึงชาวพื้นเมืองดั้งเดิมอาศัยอยู่ในเกาะไต้หวันด้วย
  • ในขณะเดียวกัน ไต้หวันเป็นดินแดนประชาธิปไตยแบบเต็มใบ  ผู้คนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Speech) ซึ่งเรามองว่าการที่เราสามารถพูดคุยประเด็นการเมืองได้อิสระ น่าจะตอบโจทย์กับการมาเรียนด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
Jiufen
Jiufen

ตัดสินใจสมัครทั้ง  2 ทุน

เราสมัครทั้งทุน MOE กับ ICDF   ทั้งคู่จะเปิดรับสมัครช่วงต้นเดือนมกราคม - กลางเดือนมีนาคมเหมือนกัน และยังเป็นช่วงเดียวกับที่มหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครด้วย แถมยังประกาศผลเกือบพร้อมๆ กัน (บางแห่งอาจมีเปิดรับสมัครรอบก่อนหน้านั้น แต่ของเราไม่มี)  ดังนั้น:

  • ตอนสมัครทุนเราต้องแนบหลักฐานว่าเราสมัครมหาวิทยาลัย
  • ตอนสมัครมหาวิทยาลัยก็ต้องแนบหลักฐานว่าเราสมัครทุน
  • รวมๆ เราเตรียมเอกสารทั้งหมด 4 ชุด เพราะ MOE และ ICDF เพื่อยื่นสมัครทั้งทางมหาวิทยาลัยและทางทุน (ทาง ICDF เลือกได้ 1 สาขา/มหาวิทยาลัย ส่วน MOE เลือกได้ 2 สาขา/มหาวิทยาลัยค่ะ เอกสารของทั้งสองทุนจะมีบางส่วนต่างกันและต้องส่งไปคนละที่นะคะ

*บางคนสงสัยว่าจะสมัครทุนเต็มจำนวน เราต้องแนบ Financial Statement อีกมั้ย? เราแนะนำให้แนบไปด้วยเพื่อความ วางใจ เพราะมหาลัยไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะได้ทุนหรือเปล่า

1. ทุน MOE (*ติดสำรองอันดับ 1 )

  • เป็นทุนรัฐบาลไต้หวัน ระดับ ป.ตรี/โท/เอก เลือกยื่นได้ สูงสุด 2 คณะ/มหาวิทยาลัยทั้งไต้หวันสำหรับประเทศไทย โควตารวมกันทุกระดับ 18 คนต่อปี
  • สนับสนุนค่าใช้จ่ายรายเดือน + ค่าเรียนเทอมละ 40,000 NTD  *กรณีที่มีส่วนต่าง (หมายถึงค่าเทอมเกิน 40,000 NTD) จะขึ้นอยู่กับว่ามหาวิทยาลัยจะออกให้ หรือเราต้องออกส่วนต่างเอง

อ่านระเบียบการรับสมัครทุน MOE ปี 2022 เป็นแนวทางการเตรียมตัวเบื้องต้นได้ที่  https://www.dek-d.com/studyabroad/57032/ 

 

 2. ทุน ICDF (*ไปเรียนด้วยทุนนี้)

  • สนับสนุนโดย “กองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไต้หวัน”  (International Cooperation and Development Fund: ICDF) มอบให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็น partners กัน ซึ่งจะรวมถึงประเทศไทย
  • สำหรับทุน ICDF คนไทยจะสมัครเรียนได้แค่ ป.โท หรือ ป.เอก และมีโควตาสำหรับคนไทย 3-7 คนต่อปี
  • ทางโครงการฯ จะมีลิสต์คณะกับมหาวิทยาลัยมาให้เลือก (เช่น คณะ…ที่มหาวิทยาลัย…เท่านั้น) เป็นคณะอินเตอร์ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นสาขาฝั่งวิทย์ (เช่น วิศวฯ, การแพทย์) แต่ก็มีสายสังคมหรือมนุษยศาสตร์ด้วย
  • ข้อดีของทุน ICDF คือ ทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายหลายอย่างมาก เช่น ค่าเล่าเรียน, ค่าหอพัก, เงินรายเดือน (ป.โท 15,000 NTD/เดือน), ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ, ค่าจิปาถะอื่นๆ เช่น ค่าทำบัตร Alien Resident Certificate (ARC), ค่าประกัน, ค่าหนังสือ (ในส่วนของค่าหนังสือจะขึ้นอยู่กับการจัดสรรของทางคณะ อย่างของเราจะมีงบประมาณสำหรับซื้อหนังสืออยู่ ปีแรกเราได้งบ 10,000 NTD ส่วนปีที่สองเราได้ 15,000 NTD)

อ่านระเบียบการรับสมัครทุน ICDF ของปี 2022 เป็นแนวทางการเตรียมตัวได้ที่  https://www.dek-d.com/studyabroad/59369/ 

แชร์คะแนน GPAX & คะแนนภาษาที่พี่อันอันใช้ยื่นสมัคร

  • เกรดเฉลี่ยรวมตอน ป.ตรี : 3.92
  • TOEIC 900 (คณะนี้กำหนด TOEIC  850 ขึ้นไป)

    *อย่าลืมตรวจสอบเงื่อนไขของหลักสูตรที่เราสนใจ ถ้ากรณีไม่ได้กำหนดให้ส่งคะแนนภาษา แนะนำว่าอย่างน้อย TOEIC 750++

SoP & Study Plan

  • Statement of Purpose (SoP) คือเรียงความที่อธิบายตัวตน เหตุผลที่อยากเรียนต่อสาขานี้ และเป้าหมายหลังเรียนจบ เทคนิคขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะวางแผนเนื้อหาแบบไหน เช่น เราสมัคร IMPIS  ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) เลยยกตัวอย่างว่าเคยเจอกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้ ผลกระทบที่เราได้รับ และเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเรียนต่อ IR  เป็นต้น 
     
  • Study Plan คือแผนการเรียน, การทำกิจกรรมหลังจากจากมหาวิทยาลัยตอบรับ และเป้าหมายหลังเรียนจบ (อาจตั้งเป็นเป้าหมายระยะสั้นและยาว) แนะนำให้ศึกษาหลักสูตร/มหาวิทยาลัยว่าเปิดสอนอะไรบ้าง ทำไมถึงสนใจวิชานี้ หรือถ้ามีหัวข้อธีสิสที่ตั้งใจทำไว้อยู่แล้ว ควรอธิบายว่า วิชานี้จะช่วยส่งเสริมการทำธีสิสของเราอย่างไร

เรากำลังสมัครหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอะไร ก็ให้เขียนเรียงความภาษานั้น และไม่จำเป็นต้องใช้ศัพท์ยากมาก  แต่เน้นเขียนสื่อตัวตนของเราได้ชัดเจน กรรมการอ่านแล้วเข้าใจ แนะนำว่าให้ลองร่างหลายๆ รอบ (เราใช้เวลาเขียน 1-2 เดือน) ตรวจทานจำนวนคำไม่ให้เกินที่โจทย์กำหนด รวมถึงตรวจไวยากรณ์ การสะกด ความลื่นไหลของประโยค เพราะสิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความใส่ใจและความตั้งใจของเรา

คะแนนภาษา

สิ่งที่ยากในข้อสอบ TOEIC สำหรับแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยรวมคือ Listening ให้ระวังอย่าสติหลุด ส่วน Reading ให้ระวังเรื่องเวลาดีๆ เราใช้วิธีโหลดข้อสอบเก่ามาฝึกทำเยอะๆ เพื่อสร้างความคุ้นชินกับเวลาและรูปแบบของข้อสอบ

จริงๆ เราไปสอบวัดระดับภาษาจีนมาด้วย แต่อยากให้ระวังสำหรับน้องๆ ที่อยากเรียนหลักสูตรภาษาจีนแล้วต้องยื่นคะแนนภาษาจีนว่าเค้าจะไม่รับ HSK แต่รับ TOCFL  (Test of Chinese as a Foreign Language Exam สอบที่สมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย) เราได้ band b level 3 ซึ่งผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของการสมัครเรียนพอดี

ถ้าเทียบ HSK กับ TOCFL เรารู้สึกความเร็วในการพูดไม่ต่างกัน แต่ที่ต่างกันชัดเจนคือ “สำเนียงการพูด” เพราะสไตล์จีนแผ่นดินใหญ่จะมีม้วนลิ้น แต่ TOCFL ของไต้หวันไม่มีม้วนลิ้น สำเนียงจึงออกแข็งกว่า แต่วิธีพูดจะซอฟต์กว่า ทั้งนี้ ถ้าใครจะสมัคร TOCFL ที่ไทย จะมีให้สอบฟังกับอ่าน โดยที่เราสามารถข้อเลือกสอบแบบ “อักษรจีนตัวย่อ” หรือ “อักษรจีนตัวเต็ม” เพราะนักเรียนที่ไทยส่วนใหญ่จะเรียนหลักสูตรตัวย่อของจีนแผ่นดินใหญ่

(*รีวิวประสบการณ์ส่วนตัว พอมาไต้หวันจริงๆ เราสังเกตว่าการออกเสียงเค้าไม่ชัดเท่ากับเทปที่เราได้ยินตอนสอบแน่นอน เค้ามักจะพูด เร็วหรือกลืนเสียงไปด้วยกัน แล้วยังมีภาษาถิ่นปะปนด้วย)

ด่านสัมภาษณ์

รุ่นเราตรงกับช่วงโควิดพอดี ก็เลยเจอสัมภาษณ์แบบออนไลน์ผ่าน Skype เค้าจะมีให้ทดลองสัญญาณก่อน 1 ครั้งก่อนสัมภาษณ์จริง (ทุน MOE ก็ระบบประมาณนี้เหมือนกันค่ะ) 

  • เราเตรียมตัวโดยการเสิร์ชหาคำถามที่เจอบ่อยตอนสัมภาษณ์ ICDF พอเจอจริงไม่ค่อยตรงที่เก็งไว้ แต่คำถามที่ทุกคนต้องเจอแน่นอนคือ ทำไมเราอยากเรียนที่นี่? คณะนี้? และที่ไต้หวัน?
  • เราเรียนจบจาก IR จุฬาฯ แล้วสมัครเรียนต่อคณะสายตรง เลยได้เจอคำถามเชิง Academic เช่น การอธิบายศัพท์เฉพาะทาง IR หรือให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สำคัญๆ ของโลกในเวลานั้น

ปรากฏว่า MOE ประกาศผลเร็วมาก แล้วแจ้งผลว่าเราติดเป็นตัวสำรองอันดับ 1 ตอนนั้นกังวลเพราะไม่มั่นใจตอนสัมภาษณ์ ICDF คิดว่าคงหลุด แต่ปรากฏว่าช่วงปลายเดือนมิถุนายน ทาง ICDF แจ้งผลว่าเราได้ทุนค่ะ ^^

ICDF TICA Cup
ICDF TICA Cup

. . . . .

Part II : รีวิวเรียนรัฐศาสตร์ที่ NCCU
(จุดเด่น, หลักสูตร, การปรับตัว)

การปรับตัว

ช่วงแรกเราต้องกักตัวก่อน 14 วัน โดยที่ทุน ICDF ช่วยค่าใช้จ่ายตอนกักตัวให้ทั้งหมดค่ะ เราใช้เวลาช่วงนั้นดู VDO มหาลัยกับสิ่งที่จะได้เรียนตอนเปิดเทอม จากนั้นก็ย้ายมาอยู่หอมหาลัย

 NCCU มีทั้งหอเก่า (11,000 NTD/เทอม)  และหอใหม่ (22,000-32,000 NTD/เทอม) ซึ่งทางหอจะมีให้กรอกข้อมูลตอนแรกเข้า เช่น เข้านอนเวลาไหน ได้ภาษาระดับไหนบ้าง ฯลฯ แล้ว เขาจะจัดรูมเมตที่เหมาะกับเรามาให้  ถ้าใครได้รูมเมตไต้หวัน ข้อดีคือเค้าจะกลับบ้านช่วงที่ไม่มีเรียน ห้องก็จะเป็นของเรา~

มาเข้าเรื่องมหาวิทยาลัยกันค่ะ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (National Chengchi University  ; NCCU)  หรือที่คนรู้จักกันในชื่อ  "เจิ้งต้า"  ตั้งอยู่ในไทเป ถึงแม้ว่าแค่ข้ามสะพานก็ถึงนิวไทเปแล้วนะคะ ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยติดเขา บรรยากาศดีมากก และอากาศบริสุทธิ์  ธรรมชาติถึงขนาดว่าบางวันเราจะได้เห็นตั๊กแตนตัวเท่าฝ่ามือเกาะที่หน้าต่างก็ได้  (รูปภาพบรรยากาศมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ส่วนหนึ่งได้รับอนุเคราะห์มาจากมิตรสหายที่เรียนที่ NCCU ด้วยกันค่ะ ขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ)

และสำหรับหลักสูตรดังของ NCCU จะเป็นฝั่งสังคมศาสตร์ เช่น นิติศาสตร์ (Law), การทูต (Diplomacy), ชาติพันธุ์วิทยา (Ethnology) และ บริหารธุรกิจ (Business Administration)

NCCU (ธรรมชาติดีมาก!)
NCCU (ธรรมชาติดีมาก!)
ห้องสมุดใหม่ของมหาลัย อลังสุดๆ
ห้องสมุดใหม่ของมหาลัย อลังสุดๆ
NCCU (ฝั่งซ้ายคือวิวจากหอ)
NCCU (ฝั่งซ้ายคือวิวจากหอ)

“IMPIS” คณะนี้เรียนประมาณไหน?

ชื่อเต็มๆ คือ International Master’s Program in International Studies ตอนแรกที่เสิร์ชเจอก็งงว่าอะไรคือ  International Studies  พอหาข้อมูลต่อก็พบว่าเป็นหลักสูตรสาขาวิชาที่เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เราเรียนสมัยป.ตรี แต่กว้างกว่าเพราะครอบคลุมไปถึงการพัฒนาระหว่างประเทศ (Development Studies) ด้วยค่ะ

เราเรียนจบสายตรงมาก็จริง พอเข้าใจคอนเซ็ปต์กับคุ้นคำศัพท์ แต่ยังมีหลายเรื่องที่ยังไม่รู้ + ต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษด้วย เทอมแรกเราใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือเยอะมากกกก แทบจะไปกลับหออย่างเดียวตลอดหลายเดือน // ถ้าใครรู้สึกสุขภาพจิตเริ่มไม่โอเค NCCU จะมีคลินิกจิตวิทยาให้เราเข้าไปคำปรึกษาได้นะคะ

รูปแบบการเรียนจะมีทั้ง Lecture, Discussion, Presentation สัดส่วนต่างกันตามแต่ละวิชา มีทั้ง Paper เดี่ยว Paper กลุ่มและข้อสอบ  ที่แน่ๆ คือด้วยความเป็นสายสังคม จะเป็นการเรียนที่ต้องเขียนเปเปอร์เยอะ เช่น Essay กลางภาค, Essay ปลายภาค หรือ  Term Paper ความยาว 10-15 หน้า นอกจากนี้ยังเน้นอ่านแล้วมาดิสคัสกันในคลาส  เช่น อภิปรายกันว่าเราคิดเห็นยังไงกับทฤษฎีนี้ และจะประยุกต์กับสถานการณ์ในโลกยุคปัจจุบันอย่างไรบ้าง

ดังนั้นเราต้องบริหารเวลาให้ดี มีทั้งการบ้านที่ต้องส่ง และสิ่งที่ต้องอ่านเตรียมมาก่อนเรียน อย่างเช่น บางวิชาให้อ่าน 4 บทความ บทความละ 20 หน้า = อ่านวิชาละ 80 หน้า แล้วอาจมีให้เขียน Response Paper สั้นๆ ด้วย

NCCU (วิวกลางคืน)
NCCU (วิวกลางคืน)
NCCU
NCCU

รีวิววิชาเด็ดในหลักสูตร IMPIS
(ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ)

ในช่วง 2 ปีการศึกษานี้ เราต้องลงเรียนทั้งหมด 30 หน่วยกิต (10 วิชา วิชาละ 3 หน่วยกิต)วิชาบังคับ 3 ตัว (รวม 9 หน่วยกิต) ได้แก่ International Relations Theory, Political Economy และ Research Methods แล้วก็จะเหลือ slot ให้ลงวิชาเลือกอีก 7 วิชา (แนะนำว่าควรลงวิชาบังคับให้หมดภายในปีแรกค่ะ)

1.  International Relations Theory  จากตอนอยู่ไทยเรียนทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประมาณสัปดาห์ละ 1 ทฤษฎี แต่พอเปิดเทอมที่ไต้หวันแล้วเราตกใจมาก เพราะเค้าเรียนคลาสละ 3 ทฤษฎี! ทั้งเทอมรวมๆ กันก็ประมาณ 10+ ทฤษฎีแล้ว ตรงนี้อาจจะยากสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน ( แต่ไม่ต้องกลัวไปค่ะ ให้เราอ่าน article ก่อนที่จะเข้าเรียน แล้วในคลาสเรียน อาจารย์ก็จะปูพื้นฐานแต่ละทฤษฎีให้ก่อน แล้วก็จะให้เราดิสคัสกับเพื่อนในห้อง)

2. Political Economy   วิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ โดยจะมีการสอบทุก ๆ 3 สัปดาห์ เท่ากับว่า เทอมนึงจึงสอบทั้งหมด 4 ครั้ง นอกจากนี้ก็มีการทำ presentation และการดิสคัสกันในห้องด้วยค่ะ  ***เรารู้สึกว่าวิชานี้ยาก  เพราะเนื้อหาเกี่ยวข้องกับทั้งเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงการสอบที่ค่อนข้างบ่อยทำให้เราต้องแอคทีฟตลอดทั้งเทอมค่ะ

3. Strategic Communication & Cultural Diplomacy  วิชานี้เรียนเกี่ยวกับการทูตทางวัฒนธรรม เช่น ในชีวิตประจำวันเราได้รับอิทธิพลจาก soft power รูปแบบไหนบ้าง (ตัวอย่าง = Korean Wave) ซึ่งเราก็ได้ใช้คอนเซ็ปต์นี้ทำ Final Project ด้วยค่ะ

ส่องหลักสูตร IMPIS ที่ NCCU

Final Project 

เท้าความก่อนว่าในระยะหลัง ไต้หวันโปรโมตการท่องเที่ยวเยอะขึ้นมากๆ เป็นผลจากนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวัน  (NEW SOUTHBOUND POLICY)  ซึ่งจะมุ่งเน้นการสานสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สำหรับประเทศไทย นโยบายนี้ก็ได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไต้หวันในด้านต่าง ๆ เช่น

  • เพิ่มโควตานักเรียนทุน MOE ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา
  • มีศูนย์ให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวไต้หวัน (Taiwan Tourism Information Center)
  • จัดแสดงวัฒนธรรมไต้หวัน
  • ฟรีวีซ่าสำหรับเที่ยวไต้หวัน **ซึ่งมีหลายคนมากที่ไปเที่ยวแล้วกลับมารีวิวด้านต่างๆ ของไต้หวัน

เราว่าเรื่องนี้น่าสนใจมากๆ เลยเลือกทำ Final Project เกี่ยวกับการประเมินประสิทธิภาพของนโยบายข้างต้น ว่ามีอิทธิพลให้นักเรียนไทยเดินทางมาเรียนไต้หวันเยอะขึ้นหรือไม่ แล้วมีนักเรียนดังกล่าวมีทัศนคติต่อไต้หวันอย่างไรหลังจากมาเรียนที่ไต้หวันแล้ว (Evaluating the Effectiveness of the New Southbound Policy: A Case of Thai Higher Education in Taiwan) 

ซึ่งจากการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์นักเรียนไทย 30 คน ได้ผลลัพธ์ว่านโยบายนี้มีผลพอสมควรเลยค่ะ  สรุปสิ่งที่ค้นพบคร่าวๆ คือ

  1. นักเรียนส่วนมากเคยมาเที่ยวไต้หวันก่อนตัดสินใจมาเรียนต่อที่ไต้หวัน  เพราะมีนโยบายฟรีวีซ่า นอกจากนี้ตั๋วเครื่องบินไป-กลับไต้หวันมีราคาถูก สะดวกต่อการเดินทาง
  2. มีทุนเยอะ  (นอกจาก ICDF, MOE ก็ยังมีทุนเต็มจำนวน/ทุนบางส่วนของมหาวิทยาลัย)
  3. หลักๆ นักเรียนที่สัมภาษณ์จะประทับใจระบบขนส่ง  บัตร Easy Card ใช้เข้าถึงรถสาธารณะได้อย่างครอบคลุม  ตารางเวลาชัดเจน  (โดยเฉพาะในเมืองไทเป)
  4. สภาพความเป็นอยู่ดี สวนสาธารณะเยอะ อย่างรอบๆ ไทเปจะเป็นป่าเป็นภูเขา วันไหนอากาศดีๆ คนไต้หวันจะชอบออกมาปิกนิก ทำกิจกรรม ใช้ชีวิตกับธรรมชาติอย่างแท้จริง
  5. เทคโนโลยีก้าวหน้า  เช่น เป็นผู้ผลิตชิป (Micro chip/ Semiconductor) รายใหญ่ สำหรับทำโทรศัพท์หรือคอมพ์ฯ ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศยอดนิยมในการเรียนต่อสายวิศวะฯ หรือทางด้านเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
Thesis Defense
Thesis Defense
(ซ้าย) Birthday Party
(ซ้าย) Birthday Party
(ขวาบน) IMPIS Orientation
(ขวาล่าง)  Christmas Party
Cultural Sharing
Cultural Sharing

. . . . .

Part III : รีวิวไต้หวัน
(สิ่งที่ประทับใจ & อยากให้เตรียมรับมือ)

  1. ใช้ชีวิตสะดวกขึ้นเพราะ Easy Card เป็นทุกอย่างให้เราแล้ว  ใช้ได้ทั้งสแกนเข้าหอพัก ซื้อของร้านสะดวกซื้อ ขึ้นรถเมล์, MRT หรือใช้บริการระบบสาธารณะต่างๆ (มหาวิทยาลัยดำเนินการให้ เพราะใบนี้เป็นบัตรนักศึกษาในตัวด้วย)
     
  2. ร้านอาหารไทยในไต้หวันมีเกือบทุกถนน  เนื่องจากอาหารไต้หวันจะรสชาติค่อนข้างจืดและมัน ทำให้คนไทยที่กินรสจัดอย่างเราๆ อาจจะเบื่อได้ง่าย แต่ไม่เป็นไร เพราะที่ไต้หวันหาร้านอาหารไทยได้ง่ายมาก (แต่รสชาติจะถูกปากคนไทยอย่างเราไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง) 

    แต่ถ้าอยากตามหารสชาติ original ไทยแท้ แนะนำเป็นย่าน Chungli (จงลี่ , เถาหยวน) เนื่องจากที่นั่นเป็นเขตอุตสาหกรรมและมีแรงงานไทยอยู่เยอะ ทำให้มีร้านอาหารไทยอยู่มาก รวมถึงป้ายต่างๆ เป็นภาษาไทยด้วยค่ะ
     
  3. เตรียมรับมือกับอากาศที่ไทเป  เพราะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขา ทำให้ไทเปเป็นจุดที่อากาศชื้น ฤดูเปลี่ยนผ่านจะมีฝนตกตลอดเวลาและทั้งวันทั้งคืน ซึ่งอาจติอต่อยาวนานเป็นเดือนก็ได้ แต่ระบบระบายน้ำที่นี่ดีมากๆ ทำให้น้ำไม่ท่วม 

    อย่างไรก็ตาม อากาศหม่นๆ แบบไม่มีแสงแดดอาจทำให้เรารู้สึกเศร้าได้ง่าย พอฝนตกตลอด ทำให้อากาศที่นี่ชื้นมาก ถึงขนาดต้องมีเครื่องดูดความชื้นแบบจริงจังติดห้อง เพราะราอาจจะขึ้นในห้องได้ ถ้าจะไปไหนมาไหน พกร่มและสวมรองเท้ากันน้ำไว้อุ่นใจที่สุด

    ส่วนในฤดูร้อนจะยิ่งกว่าไทย  ถ้าอธิบายให้เห็นภาพก็คือร้อนแบบร้อนจัด ร้อนอบอ้าว ร้อนชื้น ร้อนหายใจไม่ออก ร้อนเหนียวเหนอะหนะ ร้อนแบบไม่มีลม!  แนะนำให้พกครีมกันแดดที่มี SPF สูง ๆ นอกจากนี้ ช่วงฤดูร้อน ละแวกมหาวิทยาลัยก็ชอบมีแมลงที่ชื่อว่า 小黑蚊 มาดูดเลือดเราบ่อย ๆ ซึ่งเวลาโดนกัดจะคันมากๆๆๆ ยิ่งกว่ายุงบ้านเราเสียอีก แถมเวลาตุ่มหายแล้วก็ทิ้งรอยแผลเป็นไว้ เพราะฉะนั้น สิ่งจำเป็นอีกอย่างคือสเปรย์ฉีดป้องกันเจ้าตัวนี้โดนเฉพาะ หาซื้อได้ตาม watson หรือ cosmed ได้เลย     

    (*อันนี้คือกรณีไทเป แต่ถ้าเป็นทางตอนใต้ก็จะปรับตัวง่ายกว่าเพราะร้อนคล้ายไทยและรสชาติอาหารก็เข้มข้นกว่าด้วย)
Sun Moon Lake
Sun Moon Lake
Taroko National Park
Taroko National Park
(ซ้าย) Xiangshan 
(ซ้าย) Xiangshan 
(ขวา) Tainan

“การได้ไปเรียนที่ไต้หวันช่วงสั้นๆ แค่ 2 ปี กลับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตเราเลยค่ะ เราไปเรียนแบบแทบไม่เสียเงิน แต่ได้ฝึกทักษะการใช้ชีวิต เปลี่ยนตัวเองให้เข้าสังคมเก่งขึ้น พร้อมกับรู้จักวัฒนธรรม อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และผู้คนใหม่ๆ ซึ่งเกินคุ้มกับที่พยายามขอทุนและสมัครจนได้มาเรียนที่นี่"

 

. . . . . . . . .

You’re Invited!
อยากปรึกษา 1:1 กับพี่อันอันตัวจริง
พบกันที่ไบเทคบางนา 27 เม.ย. 2024
 

รอบนี้พิเศษมากก!! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลียด้วย

“พี่อันอัน” จะสแตนด์บายที่บูธปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันที่ 27 เมษายน 2024  เคลียร์คิวไว้พบกับไฮไลต์อีกมากมายในงาน จัดพร้อมงานแฟร์การศีกษาฝั่งไทย เข้าร่วมฟรี

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น