‘ต้นหลิว’ รีวิวชีวิตเด็กสถาปัตย์ 5 ปีที่ Tsinghua (#1 จีน) เรียนเข้มข้นในคลาส สัมผัสสุดยอดงานด้วยตาเนื้อ

สวัสดีค่ะชาว Dek-D #ทีมจีน ถ้าพูดถึง “ประเทศจีน” บางคนจะนึกถึงดินแดนที่สวยและรวยมากในภูมิภาคเอเชีย การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ชาติที่เก่งด้านการนำเสนอเสน่ห์วัฒนธรรมควบคู่กับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี และอีกหลายจุดเด่นที่ทำให้คนเลือกเริ่มต้นเรียนภาษาจีนเพื่อเพิ่มโอกาส และเดินทางมาศึกษาต่อเพื่อค้นหาแนวคิดเบื้องหลังการสร้างผลงานขึ้นมา

หนึ่งในนั้นคือด้าน “สถาปัตยกรรม” จีนมีหลักสูตรบางมหาวิทยาลัยที่เด่นติดอันดับโลก และเมื่อผู้เรียนออกนอกคลาส ก็จะได้เห็นตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมดีๆ ไม่เว้นแต่ละวัน!

วันนี้เรามีรีวิวจาก “พี่ต้นหลิว – พิชญานัน ศิริมหา” นักเรียนทุนรัฐบาลจีนรุ่นปี 2016 ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ Tsinghua University 清华大学 หรือ “ม.ชิงหวา” ปัจจุบันครองอันดับ 1 ของประเทศจีนจากการจัดอันดับ QS World University Rankings by Subject 2023 สาขา Architecture & Built Environment พี่ต้นหลิวจะแชร์ให้ฟังทั้งเรื่องการเรียน การปรับตัว และชีวิตในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงและที่ตั้งของมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าแห่งนี้ พร้อมแล้วไปดูกันเลยค่า~

Note: อ่านจบอยากปรึกษารุ่นพี่ ข่าวดีคือ "พี่ต้นหลิว" ให้เกียรติตอบรับคำเชิญจาก Dek-D มาประจำบูธรุ่นพี่ปรึกษาแบบ 1:1 ภายในงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบเมษายน 2024 ด้วยนะคะ (ประจำบูธวันเสาร์ที่ 27 เม.ย. 2024) เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ได้เลย! https://www.dek-d.com/studyabroadfair/ 

QS World University Rankings 2024: Top global universities
QS World University Rankings 2024: Top global universities
(อันดับเฉพาะประเทศจีน)

ชวนทักทายผู้อ่านว่าที่ #ทีมจีน กันก่อนค่า

สวัสดีค่ะ~ ชื่อ “พี่ต้นหลิว” นะคะ จบ ม.ปลาย สายวิทย์-คณิต ที่ รร.ระยองวิทยาคม ชอบวาดรูปและเรียนพิเศษภาษาจีนมาตั้งแต่ ม.ต้น (ที่บ้านอยากให้เรียนไว้เพิ่มโอกาส) ทีนี้เราก็มองต่อว่าถ้าไปเรียนถึงประเทศจีน จะเป็นโอกาสได้ฝึกใช้ภาษาเต็มๆ และประยุกต์กับอาชีพที่ชอบได้ค่ะ

เราเสิร์ชหาทุนเรื่อยๆ จนมาเจอทุนรัฐบาลจีน CSC ครอบคลุมทุกอย่าง ดูมีโอกาสแต่ก็เผื่อใจเยอะมากๆ คณะเป้าหมายตอนนั้นเราคือสถาปัตย์ฯ ตั้งใจทำ Portfolio ยื่นสมัครทั้งทุน CSC และสมัครมหาวิทยาลัยที่ไทยไว้ด้วย *ข้อแตกต่างคือรุ่นเรายังมีทุน CSC ที่สมัครผ่านสถานทูต (Embassy Track) เลือกมหาวิทยาลัยได้ 3 อันดับ เราหาข้อมูลแล้วตัดสินใจเลือกคณะสถาปัตย์ฯ หลักสูตรภาษาจีนของ Tsinghua University 清华大学 ไว้อันดับแรก และติดที่นี่ค่ะ แต่รุ่นปัจจุบันนี้ทุน CSC จะให้สมัครผ่านมหาวิทยาลัย (University Track) เท่านั้น 

ตรวจสอบข้อมูลทุนปัจจุบันที่สมัครได้ที่นี่  https://yz.tsinghua.edu.cn/en/Financial_Aid/Scholarship_Application.ht 

น้องๆ ที่อยากเรียนต่อจีน เราว่าทุนนี้มั่นคงมาก คอยเช็กช่วงเปิด-ปิดรับสมัคร เตรียมเอกสารให้ตรงเวลาก็มีลุ้นได้ทุนแล้ว ส่วนใครที่อยากหาเพื่อน นักเรียนไทยใน ม.ชิงหวา จะมีกลุ่มให้อัปเดตข้อมูลล่าสุดได้จากกรุ๊ปสมาคมนักเรียนเก่าชิงหัว ประจำประเทศไทย 泰国清华校友会

College Thai Students
College Thai Students
http://www.arch.tsinghua.edu.cn/
http://www.arch.tsinghua.edu.cn/

อยากให้แชร์เรื่องภาษาตอนไปเรียนช่วงแรกๆ 

เราเลือกคณะสถาปัตย์ฯ ภาคภาษาจีนค่ะ ตอนสมัครเรายื่นคะแนนภาษาจีน HSK 4 ซึ่งมาจากฝึกทำโจทย์ + ท่องศัพท์ แต่ไม่เคยใช้พูดจริง พอไปถึงจีนปุ๊บช็อตก่อนอย่างแรก ฟังไม่รู้เรื่องเลยค่าาา 555 แล้วปกติคนจีนก็ไม่ใช่ว่าจะคุยกันสำเนียงเป๊ะตาม Standard ที่เรียนในหนังสือ รวมๆ เราใช้เวลา 2 เดือนภาษาถึงจะเข้าที่ มีใช้ภาษามือช่วย และดีตรงเขาใช้ระบบสแกนจ่าย ทุกอย่างมีอยู่จอให้อ่านได้ ไม่ต้องพูดเยอะ (ส่งกำลังใจให้คนที่กำลังอยู่ขั้นนี้ค่ะ!)

ตอนนั้นเด็กทุนรัฐบาลจีนจะได้เรียนปรับภาษาก่อน 1 ปี (เราได้ไปที่เทียนจิน สำเนียงใกล้ปักกิ่ง) มีวิชาฟัง-พูด-อ่าน-เขียน กับวิชาพื้นฐานอย่างคณิตกับเคมี เช่น การคำนวณเบื้องต้นกับตารางธาตุ ให้เราพอคุ้นกับคำศัพท์ในหมวด

ต่อไปเจอของจริงแล้ว!! ได้เรียนประมาณไหนคะ

ในปีแรกเราจะเริ่มที่วิชาพื้นฐาน เรียนการออกแบบง่ายๆ สเกลเล็ก (เช่น ร้านกาแฟในพระราชวังฤดูร้อน) ประวัติศาสตร์ตะวันออก-ตะวันตก ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ฯลฯ เรียนการวาดรูปให้เข้าใจมิติ แสงและเงา เรียนวิชาแคลคูลัสเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งวิชานี้ขนาดเรียนแยกกับคนจีนยังยากเลยค่ะ!

การเรียนที่นี่จะได้เข้าห้องทดลองเยอะ และสนุกตรงที่ได้ไปไซต์งานจริงตั้งแต่ปีแรกพร้อมกับฟังประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้นๆ ไปด้วย ทำให้รู้ว่าต้องระวังจุดไหนเป็นพิเศษ ได้ลองเอาตัวไปเทียบสัดส่วนกับอาคาร สังเกตว่าจะมาที่ไซต์งานด้วยรถยนต์หรือขนส่งอะไรได้บ้าง เป็นต้น

หลักๆ เทอมแรกยากเพราะเราไม่รู้บริบททางประวัติศาสตร์มาก่อน และเราภาษายังไม่แข็ง แต่ต้องจำเยอะทั้งชื่อคนและสถานที่ เราใช้วิธีนั่งฟัง จดโน้ตเท่าที่ได้ อัดเสียงไว้แล้วกลับมาเติมเลกเชอร์ทีหลัง เป็นแบบนี้ไปสักพัก ช่วงก่อนสอบก็พยายามนั่งเก็งคำถามแล้วฝึกเขียนคำตอบ เผื่อจะเจอคำศัพท์ที่นึกวิธีเขียนตัวอักษรไม่ออกค่ะ 

Freshmen Activities
Freshmen Activities

ปี 2 เรียนการออกแบบอาคารที่ซับซ้อนขึ้น (เช่น พิพิธภัณฑ์) ได้คิดโจทย์และดีไซน์เอง ฝึกตีโจทย์จากคอนเซ็ปต์ว่าจะเป็นจริงได้แค่ไหน และเริ่มมีฟิสิกส์เกี่ยวกับโครงสร้าง แสง และเสียง งานในระบบอาคาร ฝึกเขียนรายละเอียดการก่อสร้าง เรียนการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบค่ะ เช่น วิชา CAAD ประยุกต์โมเดลคณิตศาสตร์มาใช้กับการออกแบบตัวอาคาร เป็นต้น

ปี 3  เป็นการออกแบบเชิง Master Plan มีวิชา Urban Design Studio เช่น กำหนดมาให้โซนนึงว่าถ้าจะพัฒนาเขตนี้ ควรมีฟังก์ชันอาคารแบบไหน มีออฟฟิศมั้ย พื้นที่สาธารณะมีอะไรบ้าง ทำยังไงให้เข้ากับบริบทธรรมชาติและวัฒนธรรม *รีเสิร์ชเยอะ

ปี 4 สำหรับวิชาเทอมนี้จะเน้นเรียนการออกแบบพัฒนาพื้นที่เขตเมืองเก่า ต้องเคารพบริบททางประวัติศาสตร์ของเขาด้วย ด้วยความที่เจอ COVID-19 ซีซันแรกในจีน เลยเป็นรุ่นที่งงๆ มีปรับหลักสูตร ปรับหัวข้อ วิธีการเรียน บางครั้งต้องเปิด Google Street มาส่องหรือให้เพื่อนช่วยถ่ายรูปส่งให้บ้างค่ะ สู้ชีวิตนิดนึง 555

ปี 5 เทอมแรกยังคงเรียนวิชา Studio (=การปฏิบัติงานจริง) เลือกลงวิชาตามความสนใจ ส่วนเทอมสุดท้ายแอบน่าตื่นเต้นอยู่เหมือนกัน เราได้ทำโปรเจ็กต์การออกแบบและพัฒนาเมืองเก่า ซึ่ง co กับอีก 5 มหาวิทยาลัยคือ Shanghai University 上海大学, Southwest University 西南大学,  Tongji University 同济大学, Tianjin University 天津大学, Chongqing University 重庆大学

ทุกที่จะมีเขตเมืองเก่าของตัวเอง ตอนพรีเซนต์เราจะเห็นชัดเจนเลยว่าแต่ละมหา’ลัยมีจุดที่โฟกัสต่างกัน ม.ชิงหวา เน้น Research & Study การวิเคราะห์พื้นที่ แสดงความเป็นไปได้ต่างๆ ในขณะที่ ม.ถงจี้ เน้นการดีไซน์แปลกตา ประมาณนี้ค่ะ

นอกจากนี้ที่นี่มี Motto ว่า “No Sports, Then No Tsinghua” เราต้องเรียนพละในช่วง 3 ปีแรก เลือกได้ว่าจะเรียนกีฬาอะไร เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล ฯลฯ และต้องสอบว่ายน้ำให้ผ่านก่อนจบด้วย!

เว็บหลักสูตรสถาปัตย์ฯ ม.ชิงหวา

รู้สึกกดดันไหม?

ส่วนตัวเราไม่ได้เจอบรรยากาศที่แข่งกันเรียนจนเครียดๆ เดือดๆ เพียงแต่สภาพแวดล้อมอาจทำให้กดดันตัวเองได้ค่ะ ลองนึกภาพว่าอาคารเรียนทั้งชั้นคือสตูดิโอ (ปีละ 1 ชั้น) แบ่งเป็นบล็อกๆ แต่ละคนมีที่นั่งของตัวเอง ได้เห็นเพื่อนที่ทำโปรเจ็กต์เดียวกันว่าใช้โปรแกรมอะไร แอดวานซ์ขนาดไหน // แม้ว่าสังคมอาจเป็นแนวต่างคนต่างอยู่ แต่เราก็ถามได้ เพื่อนไม่หวงความรู้เลยค่ะ

อาจารย์ทุกคนที่เราเรียนด้วยเป็นคนจีนหมด ขั้นต่ำทุกคนจบ ป.เอก บางคนจบจากมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง Harvard หรือ MIT เขาจะมีความหัวสมัยใหม่ ส่วนตัวรู้สึกดีมากกับวิธีคอมเมนต์ของอาจารย์ เขาใช้คำพูดที่ไม่แรง ฟังดูถนอมน้ำใจ อ่อนโยนกับใจเรามากเลยยย~ แถมชี้ให้เห็นมุมที่คาดไม่ถึงด้วย และข้อดีคือบางครั้งเราจะได้รับ assigned งานซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่อาจารย์มีในมือ เป็นโอกาสให้ได้ลองงานท้าทายหลายรูปแบบด้วยค่ะ

Tsinghua International Students
Tsinghua International Students

คิดว่าอะไรคือจุดร่วมของคนเรียนสถาปัตย์

น่าจะเป็นนิสัยช่างสังเกต ชอบดูผู้คนว่าเขาใช้ชีวิตกันยังไงบ้าง จนกลับไทยมาเราก็ยังติดนิสัยนี้ สมมติกลับไทยมาแล้วไปเดินสวนเบญจกิติ เราจะดูว่าเวลาไหนคือช่วงพีค คนชอบนั่งตรงไหน มากับใคร เพราะอะไร ฯลฯ สังเกตไปเรื่อยๆ

ในฐานะที่เรียนสถาปัตย์ เราค้นพบว่า “เมือง” มีอิทธิพลกับการเรียนยังไงบ้าง?

เล่าก่อนว่า Tsinghua University มีแคมปัสอยู่ที่ปักกิ่ง (Beijing) บรรยากาศดี สวยงามและร่มรื่นมาก ถึงเรียนมาเครียดๆ ในคลาส แต่ออกมาเจอธรรมชาติฮีลใจ คมนาคมสะดวก วางแผนชีวิตง่ายเพราะรถมาตรงเวลา

Tsinghua University
Tsinghua University
Tsinghua University
Tsinghua University

ถ้าใครอินกับอาคารเก่าๆ จะชอบปักกิ่งมาก ที่นี่เป็นเขตเมืองหลวงเก่า มีวังและวัด ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม (Traditional Architecture) ถ้าดูตามผังเมืองจะเห็นว่าพระราชวังอยู่ตรงกลาง มีถนนล้อมรอบออกมาเป็นวงแหวน ยิ่งอยู่ใกล้วังอาคารจะเตี้ยลงเรื่อยๆ พระราชวังสูงไม่เกินอาคาร 2 ชั้น และด้วยความที่เอกลักษณ์คือสีแดง โซนรอบๆ ต้องเคารพสถานที่ด้วยการใช้เฉดสีใกล้ๆ กัน

ภายในเมืองปักกิ่งเต็มไปด้วยสถานที่ทางประวัติศาสตร์ เช่น จัตุรัสเทียนอันเหมิน พระราชวังต้องห้าม กำแพงเมืองจีน ฯลฯ ถ้าสนใจงานสถาปัตย์สเกลใหญ่ๆ เช่น ออกแบบพื้นที่ทั้งผืน พื้นที่สาธารณะ ฯลฯ เราว่าที่จีนเหมาะมากเพราะสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างและงานดีไซน์ที่ช่วยจุดแรงบันดาลใจให้เราตลอดเวลา สมมติจะกลับไทยมาทำงาน จะต่างตรงที่เรามาเรียนเขตหนาวและมีความอนุรักษ์นิยมสูง ต้องปรับตัวกับตรงนี้

กำแพงเมืองจีน (The Great Wall, China)
กำแพงเมืองจีน (The Great Wall, China)
Photo by Bruce Röttgers on Unsplash
พระราชวังต้องห้าม
พระราชวังต้องห้าม
Photo by Ling Tang on Unsplash

แต่ก็มีบางโซนในปักกิ่งที่ทางการจีนอนุญาตให้สร้างตึกหรูรูปร่างเก๋แปลกตาได้ เช่น  CCTV Headquarters (China Central Television) หนึ่งในตัวอย่างงานที่น่าสนใจและสร้างเร็วมาก เป็นตึกระฟ้าสูง 51 ชั้น ความสูง 234 เมตร และพื้นที่มีความกว้าง 389,079 ตารางเมตร ควบคุมการสร้างโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วย ทั้งหมดนี้ใช้เวลาสร้างตั้งแต่ปี 2004-2012

the CCTV Headquarters in Beijing
the CCTV Headquarters in Beijing
Photo by Andrea Leopardi on Unsplash
北京银河soho (Beijing, 北京市中国)
北京银河soho (Beijing, 北京市中国)
Photo by zhang kaiyv on Unsplash

ประเทศจีนสุดจะกว้างใหญ่ คิดว่าเมืองไหนทันสมัยสุด?

“เมืองเชินเจิ้น” (Shenzhen) เขาเตรียมที่นี่เป็น Tech Hub เป็นที่ตั้งของบริษัทไฮเทคๆ หลายที่ เราเคยแวะไปส่องๆ ตึกเมืองนี้บ้างค่ะ แต่เก็บไม่หมดจริงๆ เพราะมีเยอะ  // ภาพจำเราก็ผ่านมาหลายปี ตอนนี้ไม่รู้ว่าไปไกลกว่าเดิมแค่ไหนแล้ว 5555

ชอบอะไรสุดในจีน

ระบบขนส่งสาธารณะที่จีนเขาพัฒนาตลอดเวลา ประสิทธิภาพดี ทันสมัย ราคาถูก ตรงเวลา และผังรถไฟยังไปกว้างมากๆ อยากเดินทางไปไหนก็ครอบคลุม และเทคโนโลยีสแกนจ่ายสะดวก เดลิเวอรี่ ไม่ค่อยมีผิดพลาดจาก Human Error

อยากฝากอะไรถึงคนที่กังวลเรื่องสภาพแวดล้อม

คนจีนจะติดพูดเสียงดัง เพราะคนเขาเยอะ ถ้าเกิดใครฟังภาษาจีนไม่ออกอาจจะเผลอคิดไปว่าเขากำลังพูดเราแง่ลบอยู่รึเปล่านะ  แนะนำว่าถ้ามาถึงแล้วให้เปิดใจกว้างๆ จอยๆ วัฒนธรรมคนแต่ละที่ไม่เหมือนกัน

ปิดท้ายด้วยเรื่องงานปัจจุบัน

ตอนนี้เราเป็นสถาปนิกในบริษัทไทยที่ทำงาน co กับฝั่งจีนค่ะ คิดว่าได้เปรียบตรงที่สื่อสารภาษาจีนได้ เคยทำงานร่วมกับคนจีนมาก่อน มีสกิลอ่านแบบ เขียนแบบ อาจมีได้แปลบ้างตอนได้รับมอบหมายให้สรุปสิ่งที่คนคุยภาษาจีน discuss กัน 

สิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มคือการเขียนแบบก่อสร้าง กฎหมายการออกแบบ รูปแบบอาคารที่ต่างกัน พื้นที่สาธารณะในเมืองร้อน สภาพอากาศ ฯลฯ ประมาณนี้ค่ะ

เว็บคณะสถาปัตย์ฯ ม.ชิงหวา

. . . . . . . . .

You’re Invited!

เสาร์ 27 - อาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2024
มีงานแฟร์เรียนต่อต่างประเทศ Dek-D
จัดพร้อม TCAS ฝั่งการศึกษาไทย

รอบนี้พิเศษมากก! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลียก็มาด้วยนะ!

"พี่ต้นหลิว" จะสแตนด์บายที่บูธปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2024 และห้ามพลาดไฮไลต์อีกมากมายในงานนี้ค่ะ

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น