ใครบอกภาษาไทยง่าย! เจอภาษาราชการเข้าไปต้องมีมึนงง

ทำไมภาษาราชการยากขนาดนั้นนะ?  

ระหว่างภาษาราชการกับภาษาทั่วไป ต่างกันยังไง?

ภาษาอังกฤษว่ายากแล้ว เจอภาษาไทยบ้านเราเข้าไปยิ่งยากกว่า ขนาดเป็นคนไทยยังมีสับสนเลย โดยเฉพาะภาษาราชการ พี่ปลิวขอยกตัวอย่างประโยค ขอรับการสนับสนุนงบประมาณได้หรือไม่ = ขอยืมเงินได้ไหม หากเจอประโยคนี้เข้าไปเชื่อว่าเพื่อนๆ ชาว Dek-D ต้องมีมึนงงและสับสนกันแน่ๆ แล้วทำไมภาษาราชการต้องยากขนาดนั้นกันนะ? ถ้าอยากรู้ไปดูกันน จะได้จดเก็บไว้ในคลังศัพท์ว่ามีคำไหนบ้างที่เขาใช้ในภาษาราชการ จะได้นำไปใช้กันให้ถูกต้อง

ภาษาราชการ VS ภาษาทั่วไป

  • ภาษาราชการ หรือ ภาษาทางการ คือ ภาษาที่มีการกำหนดให้เป็นภาษาหลักในการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานราชการ หรือใช้ติดต่อกับทางราชการ ลักษณะภาษาที่ใช้เป็นแบบทางการ รูปประโยคถูกต้องตามหลักการใช้ภาษา เน้นความชัดเจน ตรงประเด็น
  • ภาษาทั่วไป หรือ ภาษาพูด  คือ ภาษาที่เราใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน เป็นภาษาที่ไม่เป็นทางการ สามารถใช้คำพูดหรือเขียนแบบไม่เป็นทางการได้

หนังสือราชการ มี 6 ชนิด 

  1. หนังสือภายนอก คือ หนังสือติดต่อราชการที่เป็นแบบพิธี โดยใช้กระดาษตราครุฑเป็นหนังสือติดต่อระหว่างส่วนราชการ หรือส่วนราชการที่มีถึงหน่วยงานอื่น
  2. หนังสือภายใน คือ หนังสือติดต่อราชการที่เป็นแบบพิธีการน้อยกว่าหนังสือภายนอก เป็นหนังสือติดต่อภายในกระทรวง ทบวง กรม หรือจังหวัดเดียวกัน โดยใช้กระดาษบันทึกข้อความ
  3. หนังสือประทับตรา คือ หนังสือที่ใช้ประทับตราแทนการลงชื่อ
  4. หนังสือสั่งการ มี 3 ชนิด ได้แก่ คำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับ
  5. หนังสือประชาสัมพันธ์  มี 3 ชนิด ได้แก่ ประกาศ แถลงการณ์ และข่าว
  6. หนังสือที่เจ้าหน้าที่ทําขึ้นหรือรับไว้เป็นหลักฐานในราชการ คือ หนังสือที่ทางราชการทำขึ้น มี 4 ชนิด คือหนังสือรับรอง รายงานการประชุม บันทึก และหนังสืออื่น

หลักการเขียนหนังสือราชการ

  • ทำหนังสือถึงบุคคลใด เรื่องอะไร ซึ่งจะทำให้เราเลือกแบบฟอร์มหนังสือที่จะส่งได้ถูกต้อง
  • วัตถุประสงค์ของหนังสือต้องมีความชัดเจน สามารถบอกได้ว่าต้องการให้รับหนังสือเพื่อทำอะไร
  • เนื้อหาในแบบฟอร์มต้องมีความกระชับ ชัดเจน
  • ภาษาต้องมีความถูกต้อง ถ้อยคำสำนวนที่ใช้ต้องมีความเหมาะสม 
  • ไม่ใช้ภาษาพูดหรือภาษาไม่สุภาพ 

ภาษาราชการ = ภาษาทั่วไป

ประสงค์ = ต้องการ

อนุเคราะห์ = ช่วย

สิ่งใด, อันใด = อะไร

พิจารณาทบทวน = แก้ไข

มิชอบ, ไม่สมควร = ไม่ดี

มิได้, หาได้ไม่ มิอาจ...ได้ = ไม่ได้

ขอความร่วมมือ = ต้องทำ

ขอรับการสนับสนุน = ขอยืม

ขอเรียนให้ทราบว่า = ขอเตือนว่า

ยังต้องปรับปรุง = ใช้ไม่ได้

ขาดความรู้ความเข้าใจ = ไม่ฉลาด,  ปัญญาทึบ

ยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด = ยังไม่ได้ทำเลย

มีข้อขัดข้องไม่สามารถดำเนินการได้ = มีปัญหาไม่สามารถทำได้

รู้หรือไม่? การใช้ "เลขไทย - เลขอารบิก" ในหนังสือราชการ ไม่ได้มีการบังคับ! คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2543 ว่าไม่มีการบังคับให้ใช้เลขไทย ในหนังสือราชการ แต่อยู่ที่การปฏิบัติของหน่วยงาน ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งเลขไทยและอารบิก แต่ก็ขอให้ทุกหน่วยงานส่งเสริมการใช้เลขไทย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภาษาไทย ภาษาประจำชาติ และให้ใช้ พ.ศ. แทน ค.ศ.

เป็นยังไงกันบ้างคะ ทั้งหลักในการเขียนหนังสือราชการ และคำที่นำมาใช้ นี่แค่น้ำจิ้มที่พี่ยกตัวอย่างมาแค่ 10 คำเท่านั้นเองนะ แต่จริงๆ แล้ว ภาษาราชการมีมากกว่านี้อีก ที่สำคัญ การเลือกใช้คำก็ต้องดูตามความเหมาะสมด้วยนะ หากเพื่อนๆ ชาว Dek-D หยิบไปใช้กันแบบผิดๆ คนที่รับสารเราก็อาจจะงงได้ สำหรับพี่ปลิวยอมรับเลยว่าภาษาไทยบ้านเราไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลย อยากกลับไปตั้งใจเรียนภาษาไทยใหม่อีกครั้งเลยค่าา รู้ไว้อย่างนี้แล้วต้องรีบเซฟเก็บไว้และนำไปใช้ให้ถูกต้องซะแล้ว

ข้อมูลจากhttps://www.ocsc.go.th/sites/default/files/document/ocsc-2017-eb10.pdfhttps://permanent.m-culture.go.th/web-upload/migrate/permanent/download/article/article_20180227112138.pdfhttps://www.thaipbs.or.th/news/content/316043 รูปภาพจากhttps://www.freepik.com
พี่ปลิว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น