Teen Coach EP.105 : เมื่อเจอความไม่ยุติธรรม จะทำใจยังไงดี?

มีใครเคยเจอกับเรื่องแบบนี้กันบ้างคะ…

  • เราขยันเรียนเครียดแทบตาย สุดท้ายได้คะแนนสอบน้อยกว่าเด็กหลังห้องที่ชิลมาก
  • เพื่อนสนิทเอาเรื่องของเราไปนินทา พอเราโวยแสดงความไม่พอใจ คนกลับเข้าข้างเพื่อน
  • แม่รักพี่ชายมากกว่าเ พราะเห็นพี่ขออะไรได้ตลอด ส่วนเราได้รับแต่คำบ่นด่าดูถูก
  • ขยันซ้อมบาสเกตบอลหลายเดือน พอวันแข่งจริงกลับท้องเสีย ไม่ได้ลงสนาม
  • ตั้งใจทำ Portfolio มีแต่คนชมว่าสวย ของเพื่อนดูธรรมดามาก ตอนประกาศผลไม่ผ่านการคัดเลือก TCAS รอบแรก แต่ของเพื่อนกลับได้แบบอิหยังวะ

โคตรแย่เลยเนอะที่ผลลัพธ์ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดไว้ จนทำให้รู้สึกว่า “ทำไมโลกนี้ไม่ยุติธรรม?”

คนที่เจอกับเรื่องผิดหวังแบบนี้น่าจะรู้โกรธ ไม่พอใจ น้อยใจ เสียใจ เศร้า สิ้นหวัง และอารมณ์ลบอื่น ๆ ที่ถาโถมเข้ามา ทำเอาเสียน้ำตาเสียความรู้สึกกันไปไม่ใช่น้อย บางคนเจ็บปวดกับเรื่องนี้จนกลายเป็นบาดแผลในใจ (traumatic events) ที่ตามหลอกหลอนไปอีกนาน นั่นสิ..ความยุติธรรมมันอยู่ที่ไหนกัน แล้วเราจะจัดรับมือกับเรื่องแย่ ๆ พวกนี้อย่างไงดี พี่หมอแมวน้ำจะมาแนะนำเคล็ดลับให้ค่าาา

ข้อเท็จจริงเรื่องความยุติธรรม

เรื่องจริงที่ฟังแล้วน่าจะเจ็บปวดใจ คือ “ (ส่วนใหญ่) โลกนี้ไม่ยุติธรรม” ไม่มีอะไรที่เราจะได้ตามที่คาดหวังเอาไว้ทั้งหมด เพราะตัวแปรที่เป็นปัจจัยต่อผลลัพธ์มีทั้งสิ่งที่คุมได้และคุมไม่ได้ สมการของความสมหวังมีความซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะไปตามแก้ ปัจจัยเดียวที่เราคุมได้เป็นเรื่องการที่เราทำทุกอย่างอย่างดีที่สุด เพื่อจะไม่ต้องมาเสียใจทีหลัง (regret) 

มีงานวิจัยพบว่า หากสมองตีความเรื่องที่เกิดขึ้นต่อหน้าว่า “มันไม่ยุติธรรม” สมองจะเปลี่ยนโหมดจากการใช้เหตุผลเป็นการใช้สัญชาตญาณทำตามอารมณ์ เพื่อต่อสู้ทวงเอาความยุติธรรมคืน บางครั้งเราเองก็ไม่รู้ตัว ในสถานการณ์นี้สมองที่มีบทบาทสำคัญ คือ อะมิกดาลา (amygdala) ที่ทำหน้าที่พื้นฐานในการเอาชีวิตรอด คือ การต่อสู้ (fight) หรือหนี (flight) จากภัยที่กำลังเกิด หากสมองตีความว่า “เรื่องนี้มันไม่ถูกต้องหรือไม่ยุติธรรม” จะเข้าสู่โหมดสู้ตาย (fight) เช่น แสดงท่าทีโกรธ ไม่พอใจ เพื่อให้อีกฝ่ายรับรู้ โหมดนี้เราทำไปโดยไม่ได้ไตร่ตรองคิดให้ดี เป็นการแสดงตามสัญชาตญาณแบบดิบ ๆ พอนึกได้อีกทีเราค่อยใช้สมองส่วนเหตุผลหาข้อมูลมาสนับสนุนการกระทำของเราให้มีความชอบธรรมขึ้นมา

เรื่อง “ความยุติธรรม” เป็นเรื่องที่นามธรรมมาก แต่ละคนจำกัดความคำนี้ไม่เหมือนกันด้วยสาเหตุหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น 

  • วัฒนธรรมความเชื่อของสังคมที่อาศัยอยู่ เช่น ระบบอำนาจนิยมทำให้คนที่อยู่ในลำดับขั้นทางสังคมที่ต่ำกว่า ต้องจำยอมต่อความอยุติธรรม เพราะเป็นกฎของสังคมนั้น
  • การเลี้ยงดูและประสบการณ์ในอดีต เช่น ครอบครัวที่สอนให้พี่ต้องเสียสละให้น้องโดยไม่ใช้เหตุผล
  • ประสบการณ์ที่เคยเจอมา เช่น เราเคยเห็นเพื่อนที่ถกเถียงครูด้วยเหตุผล แต่กลับถูกลงโทษ เราเลยเรียนรู้ว่าผู้ใหญ่พูดอะไรให้ทำตามโดยไม่ต้องคิด ไม่เช่นนั้นต้องถูกลงโทษ

วิธีการจัดการเมื่อเราคิดว่ามันไม่ยุติธรรม!!

รีบจับอารมณ์ลบ จัดการอย่างเหมาะสม : เมื่อเรากำลังรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม ต้องรีบรู้ตัว (self awareness) ให้พยายามจับอารมณ์ด้านลบของตัวเอง เช่น โกรธ หงุดหงิด พยายามสงบอารมณ์ ถอยออกมาตั้งหลักก่อน ไม่อย่างนั้นเราอาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่ได้ยั้งคิดจนส่งผลเสียตามมาได้ เช่น โกรธครูที่ให้คะแนนเพื่อนที่ชอบประจบมากกว่าเรา ทั้งที่เราตั้งใจทำการบ้าน เราเลยวีนครูต่อหน้าคนอื่น ผลที่ตามมาทำให้เราถูกทำทัณฑ์บนข้อหาก้าวร้าว

 ดูว่าเราเสียอะไรไปและควรค่าแก่การต่อสู้เพื่อทวงคืนหรือไม่ : บางเรื่องเราคิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรม หากใช้วิธีการคิดด้วยเหตุผล หรือการถามมุมมองความเห็นจากคนอื่นจะช่วยลดอารมณ์ลบที่เกิดขึ้นได้ เช่น เพื่อนที่เหมือนจะไม่ตั้งใจเรียนสอบติดคณะที่เราอยากได้ แต่เรากลับไม่ติด อาจเป็นไปได้ว่าเขาไม่ตั้งใจในห้องเรียน แต่ซุ่มไปติวและอ่านหนังสือเองอย่างหนัก ทำให้เขาได้คะแนนดี 

 

สำหรับบางเรื่องที่เราโกรธจนอยากตอบโต้ไม่ยอมเป็นผู้ถูกกระทำแต่เพียงฝ่ายเดียว เราต้องดูว่าเป็นเรื่องที่ถือว่าซีเรียสมากน้อยแค่ไหน การสู้กลับมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง หากเราประเมินแล้วว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ทำให้เจ็บจี๊ดๆ แต่ไม่ได้มีผลเสียกับเรามาก ควรปล่อยผ่านไปบ้างก็ได้ เพราะบางทีการที่เราไปโกรธแค้นหาทางเอาคืน จะเป็นการทำให้เราเสียเวลาและเสียพลังงานในชีวิต แทนที่จะเอาไปทำอย่างอื่นมากกว่า เช่น เราสอบไม่ติดคณะนี้แล้วไปก่อดราม่าในโลกออนไลน์ให้รุมด่าเพื่อนที่ติด มันคุ้มค่าหรือไม่ สิ่งที่ได้กลับมาอาจเป็นทัวร์ลงที่ถล่มเราหนักจนเกือบตาย แทนที่จะเอาเวลาไปอ่านหนังสือเตรียมสอบใหม่ แต่ถ้าสิ่งที่คนอื่นมาทำร้ายเรา เช่น บูลลี่จนเราไม่อยากไปโรงเรียน เราต้องบอกพ่อแม่ให้ไปคุยกับครู เพื่อช่วยเรื่องการเรียน และเมื่อเราเผชิญหน้ากับคนพวกนั้น เราต้องยืนหยัดเพื่อสิทธิและปกป้องตัวเองไม่ให้มันมาทำร้ายเราได้อีก

สื่อสารกับอีกฝ่ายตรงๆ (direct communication): หากการปฏิบัติแย่ๆที่คนอื่นทำมีผลให้เราเสียอะไรไปมากหรือทำร้ายจิตใจเราอย่างรุนแรงหรือเป็นคนที่เราคิดว่าพอคุยได้ ให้สื่อสารกับอีกฝ่ายตรงๆ ด้วย “I-message” ว่าเราคิดและรู้สึกอย่างไร ความต้องการของเราคืออะไร พยายามหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ แต่ให้คุยด้วยเหตุผล เพราะการโวยวาย ด่าทอ นินทา ประชดประชัน มีแต่จะยิ่งทำให้มีความขัดแย้งมากขึ้นและไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา

 หนึ่งในการแก้ปัญหาเป็นการเงียบและไม่ตอบโต้ : การแก้ปัญหาด้วยการเผชิญหน้ากันตรง ๆ บางครั้งอาจเป็นวิธีที่ดี แต่ไม่ได้ผลเสมอไป บางเรื่องแม้เราจะอยากตอบโต้คืน แต่ถ้าพิจารณาแล้วว่าการตอบโต้ไปมีแต่เรื่องจะแย่และเราซวยมากขึ้น เช่น ถูกกลุ่มเพื่อนพูดล้อสิ่งที่เป็นปมด้อยของเรา หากเราไปด่ากลับอีกฝ่ายจะยิ่งสนุก เพราะได้รับความสนใจในเชิงลบ (negative attention) เรื่องจะไม่จบ ทีหลังพวกเขาก็ทำอีก แต่ถ้าเราเพิกเฉย (ignore) จนอีกฝ่ายเรียนรู้ว่าการทำพฤติกรรมแย่ ๆ แบบนั้นไม่ได้รับความสนใจ การแกล้งจะค่อย ๆ ลดไปเอง 

ความไม่ยุติธรรมที่เกิดจากปัจจัยที่เราคุมไม่ได้ ทำให้ดีในส่วนของเรา : ปัญหาที่เรารับรู้ได้ถึงความไม่ยุติธรรม เช่น ความไม่เท่าเทียมจากวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่ ปัญหาเชิงระบบมหภาค ด้านเศรษฐกิจ การเมือง ต่อให้เรารู้วิธีและอยากลงมือเข้าไปแก้แค่ไหน มันก็ทำไม่ได้อยู่ดี เพราะเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ เราต้องทำใจ ปล่อยวาง ซึ่งต้องอาศัยการฝึกและเวลา ทำในส่วนที่เราทำได้ เช่น การโหวตแสดงความเห็น, การใช้โซเชียลมีเดียในการให้ความรู้กับคนที่ไม่รู้

พี่หมอแมวน้ำหวังว่าบทความอันนี้จะช่วยน้อง ๆ ในการต่อสู้กับเรื่องที่ไม่ยุติธรรมได้ดีมากขึ้น หากมีใครอยากแชร์หรือสงสัยอะไรถามกันเข้ามาได้เลย ที่คอมเมนต์ด้้านล่างนี้นะคะ

Referencehttps://www.psychologytoday.com/us/blog/wander-woman/201108/how-deal-unfairnesshttps://mentalspokes.com/coping-with-unfairness/https://tinybuddha.com/blog/how-to-deal-with-unfairness-and-change-the-things-you-can/

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น