'สุริยาหีบศพ 2499' บริษัทที่พนักงานทุกคนต้องจับศพ เพื่อความสบายใจของลูกค้า

‘สุริยาหีบศพ 2499’ บริษัทที่พนักงานทุกคนต้องจับศพ เพื่อความสบายใจของลูกค้า

‘สุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช’ ธุรกิจบริการหลังความตายที่ให้ความสำคัญกับ ‘การบริการ’ อันดับหนึ่ง เพราะโจทย์ของแบรนด์ไม่ใช่แค่การขายโลงศพ แต่ขายความสบายใจให้ลูกค้า ดังนั้น พนักงานทุกคนต้องรู้ขั้นตอนทุกอย่างเป็นอย่างดี รวมถึงต้องเคยจับศพจริง ๆ ด้วย ในวันนี้คอลัมน์ The Success การเรียนรู้สู่ความสำเร็จ ของ Dek-D ได้รับเกียรติจาก ‘คุณพ่อโกญจนาท สุริยเสนีย์’ ทายาทรุ่นที่ 2 และ ‘พี่ฟีฟ่า-คณกฤษ สุริยเสนีย์’ ทายาทรุ่นที่ 3 ที่จะมาบอกเล่าการทำงานของธุรกิจ และการเทรนพนักงานให้มีคุณภาพตามฉบับของสุริยาหีบศพ 2499 พร้อมรายละเอียดในการจัดการเมื่อเกิดการเสียชีวิตของคนใกล้ชิด และค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ ดังนี้  

‘สุริยาหีบศพ 2499’ บริษัทที่พนักงานทุกคนต้องจับศพ เพื่อความสบายใจของลูกค้า
‘สุริยาหีบศพ 2499’ บริษัทที่พนักงานทุกคนต้องจับศพ เพื่อความสบายใจของลูกค้า

จากบริการรับ-ส่งศพ สู่ธุรกิจจัดงานศพครบวงจร

สุริยาหีบศพ 2499 พรานนก-ศิริราช มีจุดเริ่มต้นมาจากอากง (คุณพรเทพ สุริยเสนีย์) ขับรถตู้รับ-ส่งศพ จากโรงพยาบาลศิริราชไปที่วัด รวมถึงมีโอกาสได้เข้าไปคลุกคลีและทำงานร่วมกับหมอที่ห้องรับศพ โดยมีหน้าที่คือ การฉีดยาศพ อากงสะสมประสบการณ์การทำงานกับศพมาเป็นระยะเวลาหลายปี ก่อนจะหันมาทำธุรกิจเริ่มประกอบหีบศพด้วยตัวเอง และเปิดร้านขายแบบจริงจัง ซึ่งนับว่าเป็นศูนย์จำหน่ายหีบศพแห่งแรกในประเทศไทย  

เมื่อกิจการขายโลงศพเติบโตขึ้นก็ได้ขยับขยายธุรกิจมาสู่บริการ One Stop Service รับจัดงานศพแบบครบวงจร ตั้งแต่การฉีดยารักษาสภาพศพ บริการเคลื่อนย้ายศพทั้งในประเทศและต่างประเทศ ออกแบบและตกแต่งหีบศพ จัดดอกไม้และพวงหรีด ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา (ไทย จีน คริสต์) ของชำร่วย และพิธีลอยอังคาร เรียกได้ว่า ครบจบที่สุริยา 2499  

หีบศพในสมัยก่อนเป็นหีบไม้สี่เหลี่ยม มีเพียงสีของไม้ และสีขาว ยุคนั้นหีบที่ถือว่าหรูหรามีราคามากที่สุดต้องยกให้หีบเทพพนม ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่กลายเป็นหีบมาตรฐานไปแล้ว เมื่อถึงคราวที่ทายาทรุ่นที่สอง อย่าง ‘คุณพ่อโกญจนาท’ เข้ามาสานต่อก็ได้มีการออกแบบหีบศพให้มีความหลากหลาย และมีความทันสมัยมากขึ้น เพิ่มสีสัน เพิ่มการประดับโลง เพื่อลดความน่ากลัว พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้แบรนด์มากขึ้น โดยการแปะสติ๊กเกอร์โลโก้แบรนด์บนรถตู้ ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือ โดยการให้ความสำคัญเรื่องเสื้อผ้า หน้าผม ของเจ้าหน้าที่บริการ อย่างพนักงานขับรถตู้และเจ้าหน้าที่ประกอบพิธีกรรม เพื่อภาพลักษณ์ที่ดูดีและการทำงานในระดับมืออาชีพมากขึ้น แต่ยังรักษาคุณภาพของการบริการที่ดีเอาไว้เช่นเดิม

ปัจจุบันธุรกิจถูกส่งต่อมายังทายาทรุ่นที่สาม อย่าง ‘พี่ฟีฟ่า’ หนุ่มการโรงแรมที่ผันตัวมาบริหารธุรกิจหลังความตายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจต่างๆ เริ่มทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น คุณพ่อเล็งเห็นว่า การให้เด็กๆ รุ่นใหม่เข้ามาบริหารและทำการตลาดน่าจะเหมาะสมกว่า จึงให้พี่ฟีฟ่าลองเข้ามาศึกษาการทำงาน และดูแลเรื่องการตลาดของสุริยาหีบศพ 2499 ด้วยตัวเองตั้งแต่ปี 2562  

เด็กการโรงแรม กับการบริหารธุรกิจความตาย

ตอนมัธยมพี่ฟีฟ่าเรียนอยู่ที่ โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง แผนการเรียน English Program ในช่วงวัยนี้มีความสนใจด้านกีฬาเป็นพิเศษ ทั้งตีกอล์ฟ ฟุตบอล เวลาว่างส่วนใหญ่ก็มักจะทุ่มเทให้กับการเล่นกีฬาเป็นหลัก และหลังจากเรียนจบ ม.6 ตัดสินใจสอบเข้าสาขาการจัดการการท่องเที่ยวและบริการ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล  

สำหรับสาขาการจัดการการท่องเที่ยวและบริการ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเน้นสอนเกี่ยวกับความรู้และทักษะที่สำคัญเกี่ยวกับการท่องเที่ยว การบริการ การจัดการกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ซึ่งนักศึกษาจะได้เลือกเอกในช่วงปี 3 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มการท่องเที่ยวและกลุ่มการโรงแรม ซึ่งพี่ฟีฟ่าเลือกเรียนเอกการโรงแรม โดยเอกนี้จะเน้นสอนความรอบรู้ทางวิชาการด้านการโรงแรม และงานบริการในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น การบริการและต้อนรับส่วนหน้า การปฏิบัติงานครัว การบริการอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงยังเน้นรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและธุรกิจ เช่น การจัดงานอีเวนต์ การเงินธุรกิจ การบัญชี และการตลาดอีกด้วย

พี่ฟีฟ่าเล่าว่า หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยก็เข้ามาทำงานที่โรงงานเลยทันที และถึงแม้ว่าจะเห็นภาพการทำงานมาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อเข้ามารับช่วงต่อกิจการแล้ว พี่ฟีฟ่าเองก็ต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด โดยโจทย์แรกที่คุณพ่อมอบให้ คือ การทำความคุ้นเคยกับศพ ด้วยการฉีดยาศพ และขับรถตู้รับ-ส่งศพ เพื่อดูว่ามีความกลัวมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเขาก็สามารถผ่านด่านแรกที่ใครหลายๆ คนถอดใจไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ ยังต้องศึกษาและเรียนรู้กระบวนการทำงานภายในโรงงานในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกไม้ การตัดไม้ การประกอบและตกแต่งหีบศพ ไปจนถึงการบริการลูกค้า ซึ่งเป็นงานที่สุริยาหีบศพ 2499 ให้ความสำคัญมากที่สุด  

บริการด้วยใจเหมือนกับคนในครอบครัว

คุณพ่อโกญจนาทได้เล่าให้ฟังถึงแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการบริการลูกค้าว่า รูปแบบหีบศพและพิธีกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่ใครก็สามารถเลียนแบบกันได้ แต่สิ่งที่เลียนแบบยากที่สุด คือ ความสามารถในการบริการ และการมีใจรักในการบริการของบุคลากร ส่วนนี้เป็นสิ่งที่เลียนแบบกันได้ยาก ดังนั้น พนักงานทุกคนจะต้องผ่านการเทรนมาอย่างดี  

สำหรับขั้นตอนการเทรนพนักงาน ถ้ามีคนมาสมัครงาน 10 คน ก็จะรับทั้งหมด ซึ่งด่านแรกที่ทุกคนต้องเจอก็คือ ต้องไปดูและจับศพก่อน ซึ่งก็มีหลายคนที่ถอดใจออกไป ส่วนคนที่ยังอยู่ก็จะเริ่มสอนฉีดยารักษาสภาพศพ การแต่งตัวให้กับศพ โดยที่จะต้องทำอย่างนุ่มนวล เพราะส่วนใหญ่ญาติผู้เสียชีวิตจะดูการทำงานอยู่ใกล้ๆ หากทำด้วยความรุนแรงก็อาจจะสร้างความไม่ไว้วางใจให้กับญาติได้ หลังจากผ่านด่านนี้ไปได้ก็จะเข้าสู่การเรียนรู้ในขั้นตอนอื่นๆ เช่น การยกหีบศพ การผลิตโลง การจัดดอกไม้ การประกอบพิธี และการบริการ  

พี่ฟีฟ่าเสริมในส่วนของการเทรนพนักงานว่า เนื่องจากงานหีบศพจะคาดคะเนออเดอร์เข้าค่อนข้างยาก สิ่งสำคัญคือต้องวนจำนวนพนักงานให้ดี ดังนั้น ทุกคนต้องทำได้ทุกหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็น การตัดไม้ ประกอบโลง ทาสี จัดดอกไม้ การประกอบพิธีกรรม หรือแม้กระทั่งการพูดคุยกับลูกค้า โดยจะคอยสังเกตว่าแต่ละคนมีความถนัดในด้านใดเป็นพิเศษ ก่อนจะแยกให้ไปทำด้านนั้นๆ ที่เขาถนัด แต่โดยพื้นฐานแล้วทุกคนจะต้องทำได้หมดทุกหน้าที่ โดยปกติเวลาออกงานแต่ละครั้ง งานไทยส่วนใหญ่จะมีเจ้าหน้าที่บริการทั้งหมด 5 คน ได้แก่ อาจารย์ประกอบพิธี 1 คน ประสานงาน 1 คน และเจ้าหน้าที่ยกหีบอีก 3 คน แต่ถ้าสเกลงานใหญ่ขึ้น ต้องมีการจัดพิธียิ่งใหญ่ก็ต้องเพิ่มจำนวนคนให้เหมาะสมกับขนาดของงาน  

คุณพ่อเสริมในส่วนของตำแหน่งประสานงานว่า ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการเทรนเป็นพิเศษเนื่องจากต้องพูดคุยและนำเสนองานกับญาติผู้สูญเสียโดยตรง ดังนั้น สีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียง จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และคอยสังเกตสถานการณ์ว่า จะนำเสนอยังไง ต้องพูดช่วงไหน ช่วงแรกคุณพ่อจะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยที่ให้เขาคอยสังเกตวิธีการพูด วิธีการเข้าหาลูกค้า หลังจากนั้นก็ให้ลงมือทำจริง โดยที่คุณพ่อจะคอยดูอยู่ห่างๆ และให้คำแนะนำทีหลังว่าตรงไหนดี ตรงไหนควรปรับ เพื่อการทำงานที่ดีในครั้งถัดไป

ในส่วนของบริการพี่ฟีฟ่าก็ได้นำทักษะที่ได้จากตอนเรียนการโรงแรมมาประยุกต์กับการทำงาน นั่นคือ การเป็นคนช่างสังเกต ตาต้องละเอียด ดูความเรียบร้อยภาพรวมว่าว่าลูกค้าหรือแขกต้องการอะไร  เช่น เห็นคนกำลังเศร้าต้องเดินเอาทิชชูกับน้ำไปให้ โดยที่เขาไม่ต้องเอ่ยปากขอ ซึ่งทักษะนี้พี่ฟีฟ่าก็ได้นำมาถ่ายทอดให้กับพนักงานด้วยเช่นกัน

สิ่งสำคัญที่สุริยา 2499 ปลูกฝังให้กับพนักงานทุกคน คือ การทำงานกับความเชื่อและความรู้สึกของคนที่สูญเสียเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน งานไม่ได้ทำให้คนตายเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้คนอยู่สบายใจขึ้น ดังนั้น เวลาที่บริการต้องทำด้วยใจ ต้องทำด้วยความรู้สึกที่ดี ราวกับว่าเราเป็นเหมือนคนในครอบครัว คอยสังเกตและทำความเข้าใจความรู้สึกของเขาเท่านั้น พี่ฟีฟ่าเล่าว่า ทุกครั้งที่ให้บริการด้วยใจ มันสามารถช่วยเซฟความรู้สึกของญาติผู้สูญเสียได้จริง ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะทักกลับมาขอบคุณที่ทำให้เขารู้สึกเบาใจขึ้นเยอะ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการจัดการงานศพ หรือแม้กระทั่งการความรู้สึก เพราะในหลายๆ ครั้งมันช่วยให้เขารู้สึกปล่อยวางได้มากขึ้น

‘คุณโกญจนาท สุริยเสนีย์’ ทายาทรุ่นที่ 2 สุริยาหีบศพ 2499
‘คุณโกญจนาท สุริยเสนีย์’ ทายาทรุ่นที่ 2 สุริยาหีบศพ 2499

กว่าจะได้ 1 หีบศพ ต้องผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง

สุริยาหีบศพ 2499  มีการพัฒนารูปแบบของโลงศพให้มีความทันสมัย และมีตัวเลือกที่หลากหลายในแบบที่เหมาะสมกับทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็น โลงศพไทย โลงศพจีน โลงศพคริสต์  

การผลิตโลงศพเริ่มต้นจากการตัดแผ่นไม้ ออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ เช่น ด้านข้าง หัวท้าย ฝาโลง และฐานตามขนาดที่กำหนด  ก่อนจะนำมาประกอบโลงโดยใช้เครื่องยิงตะปูลม แล้วนำมาทาสี ตกแต่งภายนอกให้มีความสวยงาม พร้อมบุผ้าภายใน โดยมีให้เลือกทั้งผ้านวม ผ้าต่วน ผ้าไหม ซึ่งการบุผ้าภายในนอกจากจะช่วยในเรื่องของความสวยงามแล้วก็ยังช่วยป้องกันการรั่วซึมของน้ำเหลืองได้อีกด้วย โดยขนาดมาตรฐานของโลงมีความยาวอยู่ที่ 190 เซนติเมตร ความสูง 65 เซนติเมตร และมีความกว้างให้เลือกทั้งหมด 3 ขนาด ได้แก่ 20 นิ้ว, 22 นิ้ว และ 24 นิ้ว  ซึ่งโดยปกติแล้วหีบมาตรฐานจะใช้เวลาผลิตประมาณ 1-2 ชั่วโมง

สำหรับไม้ที่ใช้ในการทำโลงศพ โดยส่วนใหญ่จะใช้ไม้ปาร์ติเกิล ซึ่งเป็นไม้อัดที่เผาไหม้ได้ง่าย นอกจากนี้ ยังมีไม้อัด MDF และไม้กันชื้น HMR ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการตกแต่งโลงศพ และไม้สักแท้ ที่ส่วนใหญ่นิยมนำมาทำเป็นหีบจำปา (หีบสำหรับคนจีน) อีกด้วย  

ปัจจุบันการผลิตโลงศพของสุริยา 2499 ก็ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากเดิมสีที่ใช้ทาโลงจะผสมทินเนอร์ กลิ่นจึงค่อนข้างมีความเหม็นฉุนรบกวนชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง  ก็ได้เปลี่ยนมาผสมน้ำแทน นอกจากนี้ ยังสร้างห้องเก็บเสียงแบ่งโซนการทำงาน เช่น ห้องประกอบโลง ห้องตกแต่งภายใน ห้องพ่นสี เพื่อลดปัญหาเรื่องของกลิ่น ฝุ่น และเสียง ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้  

ทั้งนี้ แบรนด์ยังมีกองทุนบริจาคโลงศพ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยมีการรับบริจาคมาตั้งแต่รุ่นอากง ปัจจุบันกองทุนบริจาคโลงศพ อยู่ที่กองทุนละ 1,800 บาท โดยในแต่ละเดือนมียอดผู้ที่บริจาคมากถึง 200 รายด้วยกัน ซึ่งยอดที่ได้จากการบริจาคแบรนด์ก็จะนำมาเป็นต้นทุนในการผลิตโลงศพต่อไป โดยต้นทุนในการผลิตโลงศพจะอยู่ที่ 1,200 บาท ส่วนเงินที่เหลือก็จะถูกนำไปเป็นกองทุนสำหรับค่าน้ำมันในการขนย้ายหีบศพ สำหรับผู้ที่ต้องการส่งหีบศพกลับบ้าน โลงศพที่มาจากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา นอกจากจะมอบให้ผู้ที่เข้ามาขอรับบริจาคที่บริษัทแล้ว ทางแบรนด์ก็ได้มีการส่งมอบให้กับวัด ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัดด้วยเช่นกัน  โดยหลังจากที่ส่งมอบก็จะมีการถ่ายภาพยืนยันกับผู้บริจาคว่าถึงมือผู้ต้องการใช้งานจริง

ทำการตลาดผ่านแบรนด์บริ-บุญ  

ก่อนหน้านี้ในรุ่นของอากงและคุณพ่อจะให้ความสำคัญกับเรื่องบริการกับคุณภาพพนักงานเป็นหลัก แต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์และการทำการตลาดในโซเชียลมีเดีย บวกกับเป็นธุรกิจขายโลงศพ การทำตลาดจึงค่อนข้างทำได้ยาก นั่นจึงทำให้พี่ฟีฟ่าจุดประกายไอเดียเริ่มต้นธุรกิจใหม่ นั่นคือ ‘บริ-บุญ’ แบรนด์ลูกที่จะมาช่วยทำการตลาดให้กับสุริยาหีบศพ 2499 ในระยะยาว

เดิมทีสุริยามีการรับบริจาคโลงศพอยู่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้จึงเลือกไปบริจาคที่วัดหรือที่มูลนิธิ ทำให้คนเข้ามาบริจาคกับแบรนด์น้อย ในขณะเดียวกันนั้นก็มีคนที่เข้ามาขอรับบริจาคโลงศพกับแบรนด์อยู่เป็นประจำ นั่นจึงทำให้พี่ฟีฟ่าตั้งใจว่าจะให้บริ-บุญ เป็นตัวกระจายสะพานบุญอีกหนึ่งช่องทาง และทำให้การบริจาคเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น  

ภาพจาก Facebook : บริบุญ - Boriboon
ภาพจาก Facebook : บริบุญ - Boriboon

โดยลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะ ‘ซื้อ 1 พวงหรีด บริจาค 1 โลงศพ’ หรือ ‘บริจาค 1 โลงศพ แถม 1 พวงหรีด’  โดยที่ทั้งสองบริการนี้จ่ายในราคาเท่ากัน คือ 2,600 บาท ในกรณีที่ลูกค้าซื้อพวงหรีดเท่ากับว่าจะได้บริจาคโลงไปด้วย หรืออีกกรณีลูกค้าเลือกบริจาคโลงศพก็จะได้พวงหรีดแถมไปด้วยเช่นกัน สำหรับพวงหรีดหากลูกค้ายังไม่จำเป็นต้องใช้ก็สามารถเก็บไว้ที่ร้านก่อนได้ เมื่อต้องใช้ทางร้านก็จะนำส่งให้ถึงที่ ซึ่งพวงหรีดแต่ละพวงจะทำมาจากกระดาษลัง เพื่อให้ง่ายต่อการกำจัด และสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ ที่สำคัญแบรนด์จะออกเอกสารรับรองการบริจาค พร้อมระบุชื่อผู้บริจาค และผู้รับบริจาคให้อย่างครบถ้วน เพื่อความสบายใจและความโปร่งใส

นอกจากบริการขายพวงหรีดกับบริจาคโลงศพที่ทำหน้าที่เป็นสะพานบุญให้คนทั่วไปแล้ว ยังมีอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่สร้างขึ้นมาภายใต้แบรนด์บริ-บุญ นั่นคือ การซื้อเฟอร์นิเจอร์โต๊ะหรือเก้าอี้ 1 ตัว = บริจาคโต๊ะหรือเก้าอี้อีก 1 ตัว โดยมีรูปทรงต่างๆ ให้เลือกมากมาย เช่น เก้าอี้พี่ยีราฟ เก้าอี้น้องแมว โต๊ะเขียนหนังสือน้องหมาพันธุ์ชเนาเซอร์ โดยโต๊ะหรือเก้าอี้เหล่านี้จะถูกส่งมอบให้กับเด็กๆ ตามโรงเรียน ซึ่งทางแบรนด์มีบริการสลักชื่อหรือข้อความบนเฟอร์นิเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นที่ซื้อใช้เอง หรือชิ้นที่บริจาคให้กับน้องๆ ก็สามารถสลักได้เช่นกัน

คนอยู่จัดการได้ คนจากไปไม่เป็นภาระ

เมื่อพูดถึง ‘งานศพ’ ภาพจำที่หลายคนนึกถึงคงจะเป็นบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความเศร้า รายล้อมด้วยสิ่งของตกแต่งสีขาวดำ และผู้คนกำลังร้องไห้เสียใจ ต่างจากพี่ฟีฟ่าที่มองว่า งานศพไม่จำเป็นต้องนำเสนอความเศร้าแค่ด้านเดียวเท่านั้น เหตุผลที่ฟีฟ่ามีความคิดดังกล่าว นั่นเป็นเพราะเรียนจบทางด้านการโรงแรมมา จึงมีมุมมองที่ว่า งานศพก็มีการบริการที่คล้ายกับงานแต่งงาน มีดอกไม้ มีอาหาร สามารถร้องเพลงหรือมีวงดนตรีได้เหมือนกัน แต่มีเพียงแค่ความรู้สึกภายในงานที่มันต่างกันออกไป และการพูดถึงการตายหรือเตรียมการตาย ไม่ใช่การสาปแช่งตัวเอง แต่เป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อไม่เป็นการผลักภาระให้กับคนที่ยังอยู่

 ‘พี่ฟีฟ่า-คณกฤษ สุริยเสนีย์’ ทายาทรุ่นที่ 3 สุริยาหีบศพ 2499
 ‘พี่ฟีฟ่า-คณกฤษ สุริยเสนีย์’ ทายาทรุ่นที่ 3 สุริยาหีบศพ 2499

เมื่อถามถึงการออกแบบงานศพตัวเอง พี่ฟีฟ่าเล่าว่า มีคนให้ความสนใจเรื่องการออกแบบงานศพมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงานที่เริ่มมาปรึกษาและวางแผนงานศพของตัวเอง โดยสิ่งที่ต้องคุยจะเป็นภาพรวมของงานว่าลูกค้าอยากได้ธีมงานแบบไหน โทนสีอะไร ใช้ดอกไม้ชนิดไหนประดับตกแต่ง หรือความต้องการส่วนอื่นๆ เช่น เปิดเพลงวงที่ชอบ มีแบ็คดรอปถ่ายภาพ ฯลฯ เพราะบางทีคนรอบข้างเขาก็อาจไม่รู้ว่าความต้องการลึกๆ หรือความชอบของเรานั้นคืออะไร อย่างน้อยถ้าเตรียมพร้อมไว้ก่อน คนที่อยู่ก็สามารถจัดการได้ง่ายขึ้น  โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับการปรึกษาได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย 

ฝากถึงน้องๆ วัยเรียนชาว Dek-D.com

พี่ฟีฟ่าเป็นแทนฝากข้อคิดในการค้นหาตัวเองและการใช้ชีวิตกับน้องๆ ชาว Dek-D.com ไว้ว่า สำหรับน้องๆ วัยเรียน อยากทำอะไร ให้ลงมือลองทำได้เลย  เราจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเราอยากเป็นอะไรหรือว่าชอบอะไร บางอย่างเราต้องลองด้วยตัวเอง ถึงรู้ว่ามันใช่หรือไม่ใช่ เมื่อเจอแล้วก็อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง เพื่อให้เราเป็นคนที่เก่งกว่าเดิม และอีกหนึ่งสิ่งที่อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญ คือ ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราทุกคน อยากให้นึกถึงเรื่องนี้ให้มากๆ เพราะมันจะทำให้เราอยู่กับปัจจุบันได้ดีขึ้น และควรใช้เวลาที่ยังมีอยู่ให้มีค่า ไม่ควรมองข้ามความรู้สึกของใคร  หมั่นใส่ใจและให้ความสำคัญกับคนที่เรารักมากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าเวลาไหนจะเป็นเวลาสุดท้ายระหว่างเรากับเขา

จากการพูดคุยกับคุณพ่อและพี่ฟีฟ่า ทำให้เห็นมุมมองการทำงานของคนที่คลุกคลีกับความตายว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใครก็สามารถทำได้ เพราะนอกจากต้องทำงานกับศพแล้ว เขายังต้องจัดการความรู้สึกของคนที่ยังอยู่ให้สบายใจขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนอาศัยประสบการณ์ และการทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นมืออาชีพที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต่างก็ไว้วางใจ  

เมื่อเกิดการเสียชีวิตของคนใกล้ชิด ต้องทำอย่างไรบ้าง?  

การตายเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว และเวลาที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิต ญาติมักจะทำตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เนื่องจากอาจจะกำลังอยู่ในอารมณ์เศร้า วันนี้คอลัมน์ The Success การเรียนรู้สู่ความสำเร็จ ได้สรุปรายละเอียดขั้นตอนการการแจ้งตาย ขั้นตอนการจัดงานศพ และค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ สำหรับผู้ที่สนใจไว้ดังนี้

ขั้นตอนการแจ้งตาย  

โดยการแจ้งตาย แบ่งออกเป็น  3 กรณีหลัก  ได้แก่

1) กรณีเสียชีวิตในโรงพยาบาล หลังจากที่ผู้ป่วยเสียชีวิต แพทย์จะออกหนังสือรับรองการตาย (ใบ ท.ร.4/1) ให้แก่ญาติ เพื่อนำไปรวมกับเอกสารอื่น ๆ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งตาย, บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตาย (ถ้ามี) และสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อคนตาย (ถ้ามี) เพื่อนำไปยื่นให้กับนายทะเบียน ณ ที่ทำการอำเภอหรือท้องถิ่น ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากตาย เพื่อออกใบมรณบัตร โดยจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 200 บาท

2) กรณีตายนอกสถานพยาบาล แบ่งออกเป็น 2 กรณีย่อย คือ

  • 2.1) กรณีตายในบ้าน เช่น บ้านผู้ตาย บ้านญาติพี่น้อง หรือสถานประกอบการต่าง ๆ ผู้แจ้งตาย ซึ่งอาจเป็นเจ้าบ้านที่มีคนตาย ผู้พบศพ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้แจ้งการตาย จะต้องแจ้งการตายภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ตาย หรือพบศพ
  • 2.2) กรณีตายนอกบ้าน เช่น บนรถยนต์ ทุ่งนา ป่าเขา ผู้แจ้งตายหรือผู้พบศพ ต้องรีบแจ้งตายภายใน 24 ชั่วโมงหลังพบศพ แต่ถ้าหากพื้นที่ที่พบมีการเดินทางยากลำบาก หรือมีระยะทางยาวไกล ทางการจะยืดหยุ่นระยะเวลาให้สามารถแจ้งตายได้ภายใน 7 วัน หากเกินกว่านี้จะต้องถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท

สำหรับวิธีการแจ้งตายในของทั้งกรณีที่ 2 ดังกล่าว ผู้แจ้งตายต้องแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกใบรับรองแจ้งการตาย (ท.ร.4 ตอนหน้า) มาให้ หลังจากนั้น ต้องนำเอกสารดังกล่าว พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งตาย บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตาย (ถ้ามี) และสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อคนตาย (ถ้ามี) ไปยื่นแก่นายทะเบียน เพื่อให้นายทะเบียนออกใบมรณบัตรให้

3) กรณีตายผิดธรรมชาติ ไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้าน เช่น ฆ่าตัวตาย ถูกฆาตกรรม อุบัติเหตุ ถูกสัตว์ฆ่า ตายไม่ทราบสาเหตุ จะต้องมีหลักฐานการชันสูตรศพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนยื่นต่อนายทะเบียน

โดยหลังจากที่ผู้แจ้งตายยื่นหลักฐานต่อนายทะเบียนแล้ว นายทะเบียนจะทำการจำหน่ายชื่อผู้ตายออกจากทะเบียนบ้าน โดยจะประทับคำว่า “ตาย” เป็นสีแดงไว้หน้ารายการคนตายของทะเบียนบ้าน ก่อนที่จะออกใบมรณบัตร และคืนเอกสารทั้งหมดให้กับผู้แจ้งตาย ก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการแจ้งตายค่ะ

6 ขั้นตอนควรรู้ในการจัดงานศพแบบศาสนาพุทธ

1. ดำเนินการแจ้งตายและขอใบมรณบัตร ญาติ ผู้พบเห็นศพ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้แจ้งตาย จะต้องทำการแจ้งตายภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้นายทะเบียนออกใบมรณบัตรให้ และนำมาจัดงานศพ

2. ติดต่อวัด เพื่อเคลื่อนย้ายศพไปทำพิธีกรรมทางศาสนา โดยสามารถติดต่อกับวัด โรงพยาบาล หรือธุรกิจบริการจัดงานศพ เพื่อให้ดำเนินการหารถเคลื่อนย้ายศพให้ ในการเคลื่อนขบวนศพ ควรมีญาติของผู้เสียชีวิตถือกระถางธูป และรูปของผู้เสียชีวิตนำหน้า และควรนิมนต์พระสงฆ์ อย่างน้อย 1 รูป ถือสายสิญจน์ที่โยงออกมาหน้าโลงศพ เพื่อชักศพและนำทางดวงวิญญาณมายังที่วัด

3. ทำพิธีรดน้ำศพ และบรรจุร่างผู้เสียชีวิตในโลงศพ ส่วนมากจะนิยมตั้งเตียงไว้ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย จัดวางผู้ล่วงลับนอนหงาย โดยนำผ้าขาวปิดลำตัวผู้ล่วงลับไว้ให้เหลือแต่หน้า และมือขวาเท่านั้น  เพื่อรับการรดน้ำศพจากญาติ และผู้ที่มาแสดงความไว้อาลัย หลังจากนั้นก็บรรจุร่างใส่โลงศพและทำพิธีในขั้นตอนต่อไป

4. พิธีสวดอภิธรรมศพ จุดมุ่งหมายของพิธีคือการที่ทำให้เจ้าภาพ ครอบครัว เครือญาติ และแขกผู้มีเกียรติ ได้ระลึกและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่เสียชีวิต โดยเจ้าภาพสามารถตกลงกับทางวัดได้ว่าต้องการที่สวดอภิธรรมศพกี่วัน ส่วนใหญ่มักจะนิยมสวดกัน 1 คืน 3 คืน 5 คืน และ 7 คืน เป็นต้น

5. พิธีฌาปนกิจ จะมีการเดินขบวนแห่ศพเวียนรอบเมรุ โดยเริ่มจากบันไดหน้าเมรุไปทางซ้ายทั้งหมด 3 รอบ เมื่อแห่ครบแล้วเจ้าหน้าที่จะนำโลงศพตั้งไว้หน้าเมรุ เพื่อให้กล่าวอำลาแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย เมื่ออำลาโดยการวางดอกไม้จันทน์ครบทุกคนถึงเข้าสู่พิธีการเผา

6. พิธีลอยอังคาร หลังจากจบพิธีฌาปนกิจศพ ญาติจะเก็บอัฐิจากร่างของผู้ล่วงลับ 6 ชิ้น ได้แก่ ศีรษะ แขนทั้งสองข้าง ขาทั้งสองข้าง ซี่โครงหน้าอก เอาไว้ และส่วนที่เหลือนิยมบรรจุใส่หีบไม้ นำผ้าขาวห่อเก็บไว้เพื่อนำไปลอยแม่น้ำต่อไป  

***หมายเหตุ : สำหรับพิธีการจัดงานศพตามประเพณีของจีนและคริสต์ จะมีขั้นตอนและพิธีกรรมที่ต่างจากประเพณีไทย***

ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ  

ต้องบอกก่อนว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของแต่ละเคส จะมีค่าใช้จ่ายน้อยมากแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับจำนวนวัน และรายละเอียดในการจัดงาน โดยส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายพื้นฐานดังต่อไปนี้

1.การแจ้งการเสียชีวิต : มีค่าธรรมเนียมในการจัดทำใบมรณบัตรอยู่ที่ 200 บาท

2.การเคลื่อนย้ายศพ : ในส่วนนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายศพไปที่วัด ขึ้นอยู่กับระยะทางจากโรงพยาบาลหรือบ้าน ไปยังวัด โดยประมาณ 2,500 บาท

3.การอาบน้ำศพ : บางโรงพยาบาลจะมีบริการอาบน้ำและแต่งตัวให้ร่างผู้เสียชีวิต พร้อมกับฉีดฟอร์มาลีน เพื่อป้องกันการเน่าเสียของศพ หากต้องการฝากร่างผู้เสียชีวิตในห้องเก็บศพก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม  

  • ค่าบริการอาบน้ำและแต่งตัวศพ 300 – 500 บาท
  • ค่าฉีดฟอร์มาลีน 900 บาท
  • ค่าฝากร่างผู้เสียชีวิต 300 – 1,500 บาทต่อวัน

4.พิธีรดน้ำศพ และพิธีสวดอภิธรรมศพ : จะมีการสวดแบบ 1 คืน , 3 คืน , 5 คืน และ 7 คืน จะมีค่าใช้จ่ายต่อ 1 คืน ดังนี้

  • ค่าหีบศพ 3,000 – 200,000 บาท
  • ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 3,000 – 5,000 บาทต่อคืน (หากเจ้าภาพจัดทำเองอาจจะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้)
  • ค่าของถวายพระสงฆ์ เช่น ดอกไม้ เครื่องไทยธรรม และของที่จัดงานอื่น ๆ เพิ่มเติม 1,000 บาทต่อคืน
  • ค่าเช่าศาลา 500 บาท ขึ้นไป ต่อหนึ่งคืน (ขึ้นอยู่กับขนาด และสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ละวัดจะมีเกณฑ์ไม่เหมือนกัน)
  • ปัจจัยถวายพระ รูปละ 500 บาทขึ้นไป หรือแล้วแต่ศรัทธา

5.พิธีฌาปนกิจศพ  

  • ค่าเมรุ 2,500 – 3,000 บาท
  • ค่าดอกไม้จันทน์ 200 บาท
  • ค่าของชำร่วย 4,000 – 6,000 บาท
  • ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 3,000 – 5,000 บาท
  • ค่าพนักงานยกโลงศพ, ผ้าบังสุกุล, ผ้าไตรเต็ม 4,000 บาท
  • ค่าบำรุงเมรุ และค่าน้ำมันเผา 2,500 – 5,000 บาท

6.พิธีลอยอังคาร  

  • ค่าเรือ พร้อมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในพิธี หรือ ค่าเก็บอัฐิ ค่าโกศ ค่าผ้าขาว ค่าดอกไม้ 2,500 – 20,000 บาท

ทุกคนจะเห็นได้ว่าการจัดงานศพ 1 ครั้ง มีขั้นตอนและรายละเอียดที่ค่อนข้างเยอะ และบางทีการสูญเสียก็มักจะมาในแบบที่เราไม่ทันตั้งตัว การเตรียมงานศพให้ตัวเองจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องลองจัดการสักครั้งหนึ่งในชีวิต ชอบอะไร อยากให้ตัดพิธีไหน ก็สามารถออกแบบได้ตามที่ต้องการ เพราะหลังจากที่ตายไปแล้ว เราอาจจะไม่ได้มีงานศพในแบบที่เราต้องการก็ได้ อย่างน้อยถ้าเตรียมความพร้อม จัดแจงรายละเอียดเอาไว้ คนที่ยังอยู่ก็จะสามารถจัดการได้ง่าย และสบายใจมากขึ้น  

ทีมงานต้องขอขอบคุณ คุณพ่อโกญจนาท สุริยเสนีย์ และพี่ฟีฟ่า คณกฤษ สุริยเสนีย์ ที่ให้เกียรติมาสัมภาษณ์กับทาง Dek-D.com รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน สำหรับข้อมูลในบทความนี้ด้วยนะคะ

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด