สุดปัง เขียนนิยายเดือนละเรื่องก็เป็นไปได้ แค่ทำตามนี้!

สุดปัง เขียนนิยายเดือนละเรื่องก็เป็นไปได้ แค่ทำตามนี้!

 

ถ้าความฝันของคุณคือการเขียนนิยายให้ได้เดือนละเล่ม คุณมาถูกที่แล้ว เพราะบทความนี้จะพาทุกคนไปดูแนวทางการเขียนนิยายให้จบใน 30 วัน ถึงจะฟังดูยาก แต่ก็น่าสนุกและท้าทาย ลองคิดดูสิว่ามันจะดีแค่ไหนถ้าทำได้จริง นักอ่านจะจดจำเราได้เพราะผลงานที่ออกอย่างต่อเนื่อง ส่วนเราก็ได้รายได้แบบฉ่ำๆ จากการขายนิยาย แล้วจะทำยังไงให้เขียนนิยายได้เดือนละเล่มล่ะ มาดูกันเลย

 

 

Part 1: วางแผน

หากต้องการเขียนนิยายภายให้จบภายในหนึ่งเดือน ควรเริ่มจากการวางโครงสร้างให้แน่นก่อน ไม่อย่างนั้นตอนเขียนจริงจะเสียเวลาได้ แนะนำให้วางโครงเรื่องคร่าวๆ และจัดตารางตัวเองล่วงหน้า

วางโครงคร่าวๆ

วางแพลนคร่าวๆ ถึงสิ่งที่เราจะเขียน ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร โครงเรื่อง ฉากต่างๆ รวมถึงการสร้างโลก โดยเฉพาะนิยายแนวไซไฟ แฟนตาซี หรือนิยายอิงประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะไม่ได้ร่างมันอย่างละเอียด แต่โครงร่างคร่าวๆ ก็มากเพียงพอที่จะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของนิยายที่ชัดเจนมากขึ้น

  • ตัวละครหลักของเรื่อง ให้ระบุเป้าหมายและ back story ภูมิหลังให้ชัด
  • การสร้างโลก ให้สรุประบบเวทมนตร์หรือการเมืองบางส่วนไว้ หรือทำรีเสิร์ชข้อมูลไว้รอ
  • โครงเรื่อง ให้ระดมไอเดีย ลิสต์หาประเด็นสำคัญของเรื่องราว โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เป็นจุดพีค จุดเปลี่ยน และจุดจบของเรื่อง

จัดตารางรอ

เมื่อกำหนดช่วงเวลาที่จะเริ่มเขียนนิยายได้แล้ว ให้ลองดูว่ามีวันหยุดหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่จะเกิดขึ้นในสามสิบวันดังกล่าวหรือไม่ จากนั้นตัดสินใจทันทีว่าเราต้องการเขียนในวันนั้นไหมหรือจะหยุดพัก ถ้าเลือกหยุดพัก ให้นับจำนวนคำที่เขียนของวันที่หายไป 

ไม่ว่านิยายของเราจะมีความยาวเท่าใด การเขียนนิยายในช่วงเวลาสามสิบวันต้องใช้การนับคำในแต่ละวัน และการงดเขียนหมายความว่าเราจะต้องเขียนทบในวันอื่น

 

 

Part 2: เขียน

การนั่งหน้าคอม จรดนิ้วมือลงบนคีย์บอร์ดเพื่อเขียนนิยาย คือช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะเกิดขึ้น แต่ก็เต็มไปด้วยความยากลำบากเช่นกัน เราต้องมีทั้งแรงบันดาลใจ แรงจูงใจ ไปจนถึงมีวินัยเพียงพอที่จะเข็นตัวเองไปเขียน เทคนิคต่อไปนี้อาจเป็นตัวจุดเปลี่ยนที่ช่วยให้เรามีแรงจูงใจมากขึ้นได้

สร้างกิจวัตรการเขียนของเรา

กำหนดช่วงเวลาที่จะเขียนนิยายในแต่ละวัน และเขียนในช่วงเวลานั้นซ้ำๆ ทุกวัน ร่างกายเราจะจดจำได้และทำมันอย่างคุ้นชิน ทำเหมือนกับว่านี่เป็นงานประจำที่เราต้องทำ แล้วใช้มันอย่างเต็มที่

สิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ คือกำจัดสิ่งรบกวนสมาธิของเราให้หมด โดยเฉพาะโทรศัพท์และโซเชี่ยลมีเดีย หากเป็นไปได้ให้ปิด wifi และเปิดโหมดพระจันทร์ (Do Not Disturb) ให้ถือว่าเวลาเขียนนี้เป็นของขวัญ เป็นโอกาสที่เราจะได้สร้างสรรค์ความฝัน เติมเต็มจินตนาการของตัวเอง การชัดเจนกับตารางการเขียนของตัวเองจะช่วยให้เรามีความรับผิดชอบต่องานของเรามากขึ้น

อย่าเพิ่งรีไรต์หรืออีดิท

จำไว้เลยค่ะ นิยายที่เขียนเสร็จในสามสิบวันมันไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือยอมรับว่าสิ่งที่มีอยู่เป็นเพียง “ร่างแรก” ไม่ใช่ร่างที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นมันอาจจะมีจุดผิดหรือจุดที่อิหยังวะบ้าง แต่เราก็อย่าเพิ่งแพนิคหรือตกใจไป ให้เขียนต่อไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะครบ 30 วัน ไม่มีการย้อนกลับไปแก้ไข ไม่มีการเขียนใหม่ การแก้ไขทั้งหมดจะเกิดขึ้นเมื่อเราเขียนจบครบ 30 วันแล้ว

 

 

Part 3: ถ้าตันล่ะ?

อาการตันเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการเขียนนิยาย โดยเฉพาะเมื่อมีเดดไลน์ที่รออยู่ บางคนยิ่งใกล้เดดไลน์ยิ่งรู้สึกกดดัน พอกดดันมากๆ เข้าก็ตัน เขียนไม่ออก ด้านล่างนี้คือสาเหตุที่อาจทำให้เราตันได้ และวิธีแก้ไขมัน

ตันเรื่องการใช้คำหรือดีเทลต่างๆ

บางครั้งเราอาจนึกคำที่เหมาะสมไม่ออก แถมตัวเลือกมากมายที่มีก็ไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น การมัวแต่ค้นหาคำที่ใช่จะทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะงั้นแทนที่จะหาคำที่เหมาะสม ให้ใส่ตัวยึดไว้แทน เช่น [คำ] จะหาได้ง่ายๆ ในภายหลัง

นอกจากนี้ในระหว่างที่เขียน หากติดขัดเรื่องฉาก ซีน ชุด หรือรายละเอียดยิบย่อยบางอย่าง ให้ทำสัญลักษณ์ทิ้งไว้ เหมือนประทับตรา เช่น [ใส่รายละเอียดงานพรอมศตวรรษที่ 18] พอกลับมาแก้ก็จะแก้ได้ง่าย แถมเวลาที่มีไม่โดนสูบหายไปด้วย!

ตันตอนเขียนฉาก

มีโครงร่างแล้ว แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะเริ่มต้นยังไง หรือแม้แต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปใช่ไหม? เจอแบบนี้บ่อยๆ ก็อย่าไปฝืน ข้ามไปเขียนพล็อตสำคัญหรือส่วนถัดไปแทนดีกว่า พอเขียนเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าต้องใส่อะไรลงไปในส่วนที่ขาดหายไป ทีนี้พอกลับมาเขียนใหม่ ไอเดียจะไหลลื่นเอง

หมดแรงบันดาลใจ

การเขียนนิยายเป็นงานที่ต้องอาศัยแรงบันดาลใจหลายจุด มันควรเริ่มตั้งแต่ช่วงวางแผน เพราะไอเดียแรกเริ่มของเราอาจไม่ใหญ่พอที่จะรองรับนิยายตลอดทั้งเรื่อง หรือแม้กระทั่งบางคนเริ่มเขียนไปแล้ว แต่กลับพบว่าเขียนไปเรื่อยๆ ความตื่นเต้นที่มีก็จางหายไป แรงบันดาลใจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการเขียนนิยายทั้งเรื่องอาจดูน่ากลัวจนทำให้เราไม่อยากเริ่มต้นเลยก็ได้

หากเป็นไปได้ ลองหาเวลาว่างนอกเหนือจากการเขียนเพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจ อาจดูหนัง ฟังเพลง ดูซีรี่ส์ หรือแชร์ไอเดียกับเพื่อน ลองหาสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่แรก แล้วเขียนต่อจากตรงนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ อย่าปล่อยให้การขาดแรงบันดาลใจมาหยุดเรา ลองส่องบทความเติมแรงบันดาลใจเพิ่มเติมได้ที่ How to หาแรงบันดาลใจ เขียนนิยายยังไงไม่ไห้หมดแพชชั่น 

ติดขัดเพราะกลัวรึเปล่า

ปัญหาใหญ่ของการเขียนนิยายไม่ใช่แค่การนึกคำหรือฉากไม่ออก แต่คือการจมอยู่กับความคิดของตัวเองจนปล่อยความกลัวครอบงำ หลายคนอาจเริ่มคิดไปว่าตัวเองไม่เหมาะกับการเป็นนักเขียน หรือเขียนไปก็ไม่มีใครสนใจนิยายของตัวเองอยู่ดี ถ้าปล่อยให้ความคิดเหล่านี้กัดกินจิตใจ พวกมันอาจกลายเป็นตัวทำลายแรงจูงใจ และทำให้เราเขียนนิยายไม่จบ

อย่าปล่อยให้ความกลัวมาครอบงำเรา ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่นักเขียนทุกคนต้องเผชิญไม่เว้นแม้แต่นักเขียนมืออาชีพ มองหากลุ่มคอมมูนักเขียนจะช่วยให้เรารู้สึกไม่โดดเดี่ยว ทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว

ท่องไว้ว่าเราเขียนนิยายเรื่องนี้ก็เพราะเราอยากทำมัน ไม่ว่าใครจะคิดยังไง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเรามีความสุขที่ได้เขียนมัน

…………….

 

เขียนนิยายให้จบภายในหนึ่งเดือนไม่ยาก คุณเองก็ทำได้! แค่ทำตามไกด์ไลน์ที่นำมาฝากในวันนี้ ก็มีนิยายได้เดือนละเล่มแบบฉ่ำๆ และหากสนใจเคล็ดลับการเขียนหรืออยากเป็นนักเขียนที่เก่งขึ้น สามารถกดติดตามรวมบทความเด็ดได้ที่ "เปิดคัมภีร์! ส่งต่อเคล็ดลับที่จะทำให้การเขียนนิยายของคุณกลายเป็นเรื่องง่าย!" เชื่อว่าน่าจะมีเคล็ดลับการเขียนที่ตรงใจทุกคนอยู่แน่ๆ ค่ะ

 

พี่น้ำผึ้ง : )

 

ขอบคุณภาพ unsplash.com
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด