Teen Coach EP.103 : "ยัยคนนี้ร้าย ผู้หญิงด้วยกันดูออก!" ดูออกจริงๆ หรือ อคติ เหยียดผู้หญิงด้วยกันเอง

"ผู้หญิงด้วยกันดูออก คนนี้มันร้าย"

"ฉันไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่นนะ เป็นผู้หญิงแมนๆ ลุยๆ"

"ชอบมีเพื่อนผู้ชาย สบายใจกว่าคบผู้หญิงด้วยกัน"

หลาย ๆ ครั้งเราก็เคยได้ยินวาทกรรมเหล่านี้ จากกระแสข่าว สังคม โซเชียล หรือบางครั้งเราอาจจะเผลอคิดแบบนี้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเวลาเจอผู้หญิงที่มีความแบ๊ว น่ารัก อ่อนหวาน มากกว่าผู้หญิงทั่วไปจนเราเผลออคติไปว่า เป็นภาพจำบางอย่างที่ดูไม่จริงใจ และทำให้เผลอตั้งแง่ไปโดยไม่รู้ต้ว

 Internalized Misogyny  ผู้หญิงที่มีความคิดที่เป็นอคติต่อผู้หญิงด้วยกันเอง 

โดยปกติแล้ว ผู้หญิงที่มีความน่ารัก อ่อนหวาน หรือความเป็นผู้หญิง (Femininity) จะถูกสังคมมองว่าเป็นภาพที่สร้างขึ้นมาเพราะหวังบางอย่าง ผ่านมุมมองที่มีอคติ และมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ เราเรียกอคติที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังเหล่านี้ว่า Internalized Misogyny ซึ่งก็หมายถึง ผู้หญิงที่มีความคิดที่เป็นอคติต่อผู้หญิงด้วยกันเอง 

แนวคิดแบบ Misogyny เป็นแนวคิดที่ฝังอยู่ในสังคมมาหลายยุคสมัย และมักจะถูกแสดงออกผ่านสื่อ สังคม สภาพแวดล้อม บางครั้งมันก็หล่อหลอมให้หลายๆ คน รับอคติเหล่านั้นมาโดยไม่รู้ตัว

เพียงแค่เราหันไปมองทีวี ละคร ซีรีส์ หรือแม้แต่ข่าวบันเทิงทุกวันนี้

  • "ผู้หญิงแบ๊ว ผู้ชายมักจะชอบ"
  • "ยัยคนนี้เปลี่ยนแฟนบ่อย สวยแค่หน้าจริงๆ"

หลายๆ ครั้งที่ทั้งข่าว ทั้งสังคม โจมตีกับบุคคลเหล่านี้โดยอคติ หากเทียบกับผู้หญิงที่ดูเรียบร้อย หรือแม้แต่ในสถานการณ์เดียวกัน แต่บุคคลนั้นเป็นเพศชาย ก็มักจะได้รับการทรีตที่แตกต่างออกไป

มากกว่าไม่ชอบ นินทา แต่เป็นการเกลียดชังที่เกิดจากการตัดสินโดยมีอคติ

การเหยียดผู้หญิง หรือ Internalized Misogyny จึงไม่ใช่แค่เพียงแค่การไม่ชอบใครสักคน การนินทา การกลั่นแกล้ง แต่มันเป็นอคติที่เกิดจากความเกลียดชัง และการรับรู้ผ่านภาพที่เห็น โดยที่คนเรามักจะตัดสินบุคคลเหล่านั้นไปแล้ว ทั้งที่ไม่ได้รู้จักนิสัยส่วนตัว 

 

การตัดสินคนจากความรู้สึกส่วนตัว เป็นการสร้างความรับรู้พื้นฐานแบบผิดๆ เป็นการสร้างอคติให้เขาไปแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งมันไม่ใช่แค่การไม่ชอบ นินทาติฉิน แต่มันอาจจะสร้างผลกระทบเป็นวงใหญ่ในสังคมได้

 

การมีอคติ หรือแนวความคิดที่เหยียดผู้หญิงด้วยกันเอง (Misogyny) มักจะเป็นแนวความคิดที่ได้รับการหล่อหลอมและสั่งสมมาจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งแนวความคิดเหล่านี้จะส่งผลต่อตัวผู้ถูกกระทำและผู้ถูกกระทำได้ การเหยียดคนอื่น การตัดสินคนอื่นโดยที่ไม่ได้รู้จักบุคคลนั้นไปก่อนไม่ใช่เรื่องที่ดี และส่งผลให้เกิดความคิดอีกรูปแบบที่มักจะมองว่า ตัวฉันดีกว่าคนอื่นๆ เหล่านี้ได้

การเหยียดมักจะพบได้บ่อยผ่านโซเชียลมีเดีย จนเกิดคำศัพท์แสลงว่า pick-me girl หมายถึง ผู้หญิงที่คิดและมองว่า "ฉันไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่น" ‘I’m not like the other girls’ และ มองว่าความคิดเหล่านี้วิเศษกว่าคนอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ฉันไม่แต่งหน้า ฉันแต่งตัวแมนๆ ลุยๆ ฉันชอบดูบอล เป็นต้น 

หลายๆ ครั้งแนวความคิดเหล่านี้มักจะถูกหล่อหลอมมาจากสังคมชายเป็นใหญ่ หรือ ปิตาธิปไตย (Patriachy) มองว่า การแตกต่างจากผู้หญิงทั่วไปเป็นเรื่องที่ดี ไม่เหมือนใคร ทั้งที่ความจริงแล้ว อคติเหล่านี้ก็นับเป็นการเหยียดเพศอีกรูปแบบหนึ่ง (sexism)

การเหยียดนี้สามารถสร้างบาดแผล ทำร้ายจิตใจกับผู้ที่ถูกกระทำได้ ทั้งที่ตัวเขานั้นไม่ได้มีความผิดอะไร แต่กลับถูกสังคมตีตราว่าเป็นคนแบบใด เพียงแค่ลักษณะบางอย่างที่แสดงออก ไม่ได้สอดคล้องตามมาตรฐานของสังคม

การแก้ปัญหา Internalized Misogyny 

  • ปรับค่านิยมที่มองผู้หญิงแบบผิดๆ
  • ลดคติที่เกิดขึ้น
  • สร้างความมั่นใจ
  • ตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น

ยังรวมไปถึงการสร้างความเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นในแบบที่อยากเป็น ไม่จำมีลักษณะนิสัยแบบไหน ชอบทำกิจกรรมอะไร แต่งหน้า แต่งตัว หรือแสดงออกแบบใด ทุกอย่างก็คือตัวเรา 

ย้ำอีกครั้งนะคะว่า เราไม่สามารถตัดสินใครจากภาพลักษณ์ภายนอกได้ โดยที่ยังไม่รู้จักนิสัยส่วนตัว  และการเคารพความแตกต่างคือสิ่งสำคัญ ชาว Dek-D คนไหนเคยโดนตัดสินแบบนี้ หรือ เคยเจอประสบการณ์แบบนี้บ้าง? มาคอมเมนต์คุยกันได้นะ 

ข้อมูลจากhttps://www.britannica.com/topic/misogynyhttps://www.glamourmagazine.co.uk/article/internalised-misogyny
โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น