“พี่ม่อน สุพพัต” สัตวแพทย์สายบริหารและการตลาด เจ้าของธุรกิจ HATO Pet Wellness Center ศูนย์ยกระดับคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยง

. . . . . . . . .

เวลาพูดถึง "สัตวแพทย์" ทุกคนนึกถึงอะไรกัน..?  ใช่ภาพของคุณหมอที่กำลังรักษาน้องหมาหรือน้องแมวในคลินิกรึเปล่า แล้วถ้าสัตวแพทย์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่รักษาสัตว์ล่ะ เอ..เขาจะทำงานอะไรนะ? คงนึกภาพออกยากใช่มั้ย

ถ้าเรียนจบสัตวแพทย์ แล้วมาทำธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง หลาย ๆ คนอาจจะเคยเห็นมาแล้ว แต่ถ้าเป็นธุรกิจสัตว์เลี้ยงครบวงจร หรือที่เรียกว่า “Pet Ecosystem” จะเป็นยังไง? วันนี้พี่พรีม SparkD ขอพาทุกคนไปพบกับเจ้าของร่วมในธุรกิจสัตว์เลี้ยงครบวงจรอย่าง HATO Pet Wellness Center และ Bangkok Heart Animal Hospital ที่ประสบความสำเร็จเป็นเบอร์ต้น ๆ ของตลาด!

แต่กว่าจะมาเป็น ‘พี่ม่อน สุพพัต’ สัตวแพทย์ที่ผันตัวมาทำธุรกิจนั้น เส้นทางของพี่ม่อนเป็นยังไง อะไรคือเคล็ดลับในการทำธุรกิจในโลกของสัตว์เลี้ยง พี่พรีม SparkD จะพาไปหาคำตอบกัน !

มาทำความรู้จัก 'พี่ม่อน สุพพัต' กัน

"พี่ม่อน สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ" เรียนจบจากคณะสัตวแพทยศาตร์ จุฬาฯ มาได้ 10 ปี ตอนนี้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารธุรกิจอยู่ทั้งหมด 4 บริษัท หลัก ๆ ทำธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ที่เหลือทำหน้าที่บอร์ดบริหารเพื่อดูภาพกว้าง

1. Hato Pet Wellness Center ศูนย์ยกระดับคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยง 

2. Bangkok Heart Animal Hospital โรงพยาบาลสัตว์โรคหัวใจ 

3. Foresta Wellness Center ศูนย์การแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยครบวงจร

4. แบรนด์เสื้อผ้า Nineties Design 

จุดเริ่มต้นของเด็กที่ไม่ได้อยากเรียนหมอสู่การเรียนสัตวแพทย์ฯ

พี่พรีม: จากงานของพี่ม่อนที่ทำอยู่ตอนนี้ สะท้อนถึงความสนใจที่มีในเรื่องธุรกิจมาก ๆ แล้วทำไมถึงเลือกเข้าคณะสัตวแพทยศาสตร์ในตอนแรก 

พี่ม่อน: พี่คิดว่าพี่ก็คงเหมือนเด็กทั่วไป เกิดในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน คุณพ่อคุณแม่อยากให้เป็นคุณหมอ พอมัธยมก็มาสอบเข้าที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เรียนไป 6 ปี ตัวเราเองก็ไม่ได้มีพื้นฐานธุรกิจอะไร ที่บ้านค้าขายธรรมดา เราไม่ได้ชอบเรียนหนังสือขนาดนั้น เราเป็นลูกคนโต อยากทำตามความฝันคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็ไม่ได้อยากเป็นหมอรักษาคน จนกระทั่งช่วง ม.6 มาอยู่หอคนเดียวเลยแอบซื้อกระต่ายมาเลี้ยง เป็นสัตว์เลี้ยงตัวแรกในชีวิตเลย แต่เลี้ยงแค่ 7 วัน น้องก็เสีย จำได้ว่าเราร้องไห้อยู่เป็นเดือน จนเกิดความคิดว่าเราอยากจะรักษาสัตว์ เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้ามาเรียนสัตวแพทย์ จุฬาฯ

พี่พรีม: เห็นบอกว่าตัวพี่ม่อนเองไม่ใช่เด็กเรียน แล้วการสอบเข้าสัตวแพทย์ จุฬาฯ เป็นยังไงบ้าง พี่ม่อนต้องเตรียมตัวสอบเข้ามากน้อยแค่ไหน

พี่ม่อน: พี่เรียนสายวิทย์ อยู่ในห้องที่กลุ่มเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่อยากเข้าแพทย์ ทันตะ วิศวะ บัญชี ทำให้ระหว่างเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เรามีกลุ่มเพื่อน ๆ ติวที่มีความตั้งใจ แต่เราเป็นเด็กที่ชอบเล่นมากกว่าเรียน ทำให้ต้องเตรียมตัวมากกว่าคนอื่น ๆ เพราะเรียกว่าแทบไม่มีความรู้ติดตัวมาเลย เหมือนมาเริ่มใหม่ช่วงเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ก็มีทั้งอ่านหนังสือเอง ติวกับเพื่อน และเรียนตามโรงเรียนกวดวิชาหลากหลายที่ เหมือนเด็กคนอื่น ๆ

พี่พรีม: แล้วเป็นยังไงพอได้เข้ามาสัมผัสคณะหลังจากสอบติด

พี่ม่อน: ณ วันนั้นคิดว่าตัวเองคิดผิดนะ คือต้องบอกก่อนว่าคนเรียนสายแพทย์ ต้องชอบชีวะ เคมี ไบโอเคมี ส่วนตัวเราชอบแค่คณิตศาสตร์ คิดว่าจริง ๆ ตัวเองอาจจะเหมาะกับบัญชีฯ เพราะฉะนั้นการเรียนสัตวแพทย์ของพี่ต้องใช้ความพยายามมาก ช่วงปี 1 ปี 2 เป็นช่วงที่ต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ เหมือนเราต้องเรียนในสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่เราก็อยู่กลุ่มเพื่อนที่ตั้งใจเรียน แล้วเราอ่านหนังสือเยอะ พอเริ่มปรับตัวได้ ประมาณปี 4 ถึงปี 6 ก็เริ่มจับทางได้ เริ่มทำคะแนนได้ดี รู้สึกชอบมากขึ้น

พี่พรีม: พี่ม่อนเล่าให้ฟังหน่อยว่าใน 6 ปี คณะนี้เรียนอะไรบ้าง

“สัตวแพทย์เป็นอาชีพที่มหัศจรรย์มาก เพราะทำงานแบบ One-stop Service สัตวแพทย์คนหนึ่งจะรักษาสัตว์ได้ทุกสปีชีส์ เราเลยต้องเรียนเกี่ยวกับสัตว์หลายชนิดมาก ๆ”

พี่ม่อน: ปี 1 เรียนแทบจะเหมือนทันตะกับแพทย์เลย เรามีเรียนฟิสิกส์ด้วยเพราะเป็นหลักสูตรเก่า 

ปี 2 ปี 3 เรียนวิชาหลักของคณะ เน้นพวกวิชาท่องจำ เพื่อปูพื้นฐานที่จะไปประยุกต์กับการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ มีเรียนพวก Anatomy (กายวิภาคศาสตร์) ของน้องหมาก็มีเรียนกับอาจารย์ใหญ่ เทอม 2 ก็จะต้องเรียนเกี่ยวกับสัตว์หลายชนิดมาก ชื่อของ Anatomy แต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน ที่ต้องเรียนก็เพราะจะได้ประกอบอาชีพได้ทั้ง 2 ฝั่ง ก็คือสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่

ปี 4 ถึงปี 6 ก็จะเรียกว่าพรีคลินิกและคลินิก คือมีการเรียนทั้งในและนอกห้องเรียน พอเข้าคลินิกก็ตามติดอาจารย์กับพี่ ๆ พอไปเจอโรคจริงมันไม่ง่าย เวลารักษาสัตว์ มันพูดไม่ได้ เจ้าของก็ไม่ได้อยู่กับสัตว์ตลอดเวลา ต่างกับ ปี 1-3 ที่เป็นการเรียน

พี่พรีม: แล้วพอเรียนจบ 6 ปี บัณฑิตคณะนี้มีทางเลือกไหนต่อบ้างในการประกอบอาชีพ

“สัตวแพทย์เรียน 6 ปีจบแล้วจะไม่มีใช้ทุนเหมือนหมออื่น ๆ สามารถประกอบอาชีพได้เลย เป็นอาชีพที่ต้องมาเรียนรู้จากการทำงานจริง (Learning by Doing) แน่นอนว่าเราเรียนเนื้อหาเยอะมาก คือจะเรียนยังไงก็ได้ให้เข้าใจพื้นฐานการรักษาโรค เป็นนักวินิจฉัย แล้วมาทำงาน เพราะต้องใช้ประสบการณ์จริงเป็นตัวสอน”

พี่ม่อน: ส่วนใหญ่เรียนจบก็จะมาทำงานเลย ซึ่งมีหลากหลายทางเลือกมาก เพราะอาชีพสายนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น มีงานให้เลือกเยอะ ไม่มีทางตกงาน เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนแต่งงานน้อยลง คนอยู่คอนโดมากขึ้น เริ่มไม่อยากมีลูก ก็อยากเลี้ยงสัตว์เยอะขึ้น สัตวแพทย์เลยเป็นที่ต้องการ รวมถึงอาชีพอื่น ๆ ด้วยที่คนเรียนจบสัตวแพทย์แล้วไปประกอบได้ อย่างในธุรกิจ Pet Shop ก็ต้องการคนจบสัตวแพทย์เพื่อที่จะขายยาได้ หรืออาชีพตัวแทนขายยา ที่ต้องการคนมีความรู้วิชาการ เอายาไปแนะนำโรงพยาบาลหรือคลินิก เพื่อนพี่บางคนก็เปิดฟาร์มเลี้ยงคอร์กี้ หรือบางคนก็อยู่ในห้องแล็บ ไปทำงานปศุสัตว์ เพราะประเทศไทยผลิตเนื้อสัตว์ ประมง และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (ไข่ นม) เยอะมาก ไปอยู่ตามฟาร์มหมู ไก่ วัว และฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่าง ๆ

บางทีประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องการสัตวแพทย์จากไทยไปดูแล มีพวกตลาดสัตว์ Exotic ด้วย คนนิยมเลี้ยงสัตว์แปลก เช่น ชินชิลลา สลาแมนเดอร์ นกแก้วมาร์คอร์ ปลาคราฟที่ราคาตัวละเป็นล้าน สัตว์พวกนี้ก็ต้องมีสัตวแพทย์ดูแล ส่วนอีกทางก็คือเรียนต่อ บางคนอยากเป็น Clinician (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ) ก็ขอไปเป็นคุณหมอประจำโรงพยาบาล บางคนก็ขอไปเรียนปริญญาโทด้านต่าง ๆ หรือบางคนเรียนต่อเพื่อทำสาธารณสุข เพื่อดูเรื่อง Zoonosis (โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน) โดยเฉพาะ

พี่ม่อน - สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ
พี่ม่อน - สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ

พี่พรีม: แล้วเป็นสัตวแพทย์มีข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากหมออื่น ๆ ไหม

พี่ม่อน: พูดตรง ๆ ข้อเสียเปรียบก็คือเรื่องการได้รับการยอมรับน้อยกว่าวิชาชีพหมออื่น ๆ แต่ทุกวันนี้เทรนด์การเลี้ยงสัตว์เปลี่ยนไปเยอะ คนมองสัตว์เป็นลูก คนก็มองว่าคุณหมอสัตว์ก็เหมือนคุณหมอคนที่ดูแลลูกเขา อีกอย่างคือ โครงสร้างรายได้ ถือว่าได้น้อยถ้าเทียบกับอาชีพที่เรียน 6 ปีเหมือนกัน

แต่ถ้าข้อได้เปรียบ ผมว่าตัวงานมันไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้เด็ก ๆ น่าจะอยากเรียนสัตวแพทย์มากขึ้นนะ เพราะค่อนข้างสบายกว่าหมออื่น ๆ ได้อยู่กับสัตว์ที่รักด้วย อย่างที่ HATO Pet Wellness Center เราพยายามวาง Service Journey เป็นแบบนั้น สัตวแพทย์ก็น่าจะความเครียดต่ำกว่า มีอิสระเสรีในการทำงาน Switch งานไปได้กว้างมาก

. . . . . . . . .

มองผ่านเลนส์หมอ สานต่อด้วยธุรกิจสัตว์เลี้ยง

พี่พรีม: ตอนที่พี่ม่อนเรียนจบมา พี่ม่อนทำอะไรต่อ เป็นสัตวแพทย์เลยหรือเปล่า

“ผมว่าผมเป็นคุณหมอที่ถนัดในงานบริหารและการตลาดมากกว่า พอเรียนจบมาเป็นตัวแทนยา ก็ได้สะสมความรู้เพิ่ม และเรามีความชอบที่จะสื่อสารกับลูกค้าเป็นจุดแข็ง”

พี่ม่อน: หลังจากเรียนจบ พี่เริ่มทำงานเป็นผู้แทนยาสัตว์สุกร ในธุรกิจยาปศุสัตว์ ทำอยู่ 5 ปี ตอนนั้นเราก็ลงทุนทำธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ไปด้วย ได้เรียนรู้จากทั้ง 2 ทาง เลยได้เห็น Pain Point ว่า “ทำไมน้องหมาน้องแมวมาเจอเราตอนที่เจ็บหนัก” ตอนนั้นทำโรงพยาบาลสัตว์ที่ชลบุรี ก็จะเห็นว่าเจ้าของจะบ่นค่ารักษาสัตว์ว่าแพงจังเลย จนเรามาเจอคำตอบว่า Know-How ในการเลี้ยงมันยังไม่ถึง เลยเป็นที่มาในการเอาไอเดียนี้มาเปิด Hato Pet Wellness Center 

หลังจากนั้น ได้ขายหุ้นธุรกิจโรงพยาบาลสัตย์ที่ชลบุรี แล้วกลับมากรุงเทพฯ ทำ Bangkok Heart Animal Hospital ซึ่งเกิดจากไอเดีย “ทำไมน้องหมาน้องแมวไม่มีคุณหมอโรคหัวใจ” โรคหัวใจเป็นโรคที่มหัศจรรย์มาก เราน่าจะได้เห็นข่าวน้องหมาน้องแมวช็อกกะทันหันจนเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง ที่จริงแล้วน้องหมาน้องแมวเป็นโรคหัวใจแต่พูดเพื่อบอกเราเป็นภาษาคนไม่ได้ มันเป็นอาการ Heart Failure (หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน) มีหมาแมวที่เป็นโรคนี้เต็มไปหมดแต่ไม่ได้รับการวินิจฉัย โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่คนนิยมเลี้ยง เราก็เลยร่วมกับคุณหมอท่านอื่น ๆ มาเปิดโรงพยาบาลนี้ พอมาทำโรงพยาบาล เราทำการประชาสัมพันธ์ ทำการสื่อสารให้ดี ผ่านการ Alert ไปยังเจ้าของ ให้เห็นความสำคัญ แต่ทำมาเป็นปี เจ้าของก็ยังบอกค่ารักษาต่าง ๆ แพง เพราะมาเจอตอนที่ป่วยหนักแล้ว ต้องจ่ายแพงมาก

. . . . . . . . .

 

พี่ม่อน - สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ
พี่ม่อน - สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ

แก้ก่อนจะสาย Prevent เจ้าตูบจากโรคร้าย ที่มาของธุรกิจ HATO 

พี่ม่อนได้รู้ว่า “การเปิดโรงพยาบาลนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ Pain Point” เพราะเมื่อคุณหมอที่โรงพยาบาลเป็น Specialist ด้านหัวใจ ก็อาจจะไม่ได้ถนัดโรคอื่น ๆ 

พี่ม่อน: นี่เลยเป็นที่มาที่เราอยากทำสิ่งใหม่ในตลาด ตลาดสัตว์เลี้ยงเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว เรามองว่ายังขาดธุรกิจประเภท ‘Wellness Preventive Medicine’ (เวชศาสตร์การป้องกัน – ศาสตร์การแพทย์ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันก่อนที่สัตว์เลี้ยงจะป่วย) ใช้หลักการหาปัญหาก่อนที่คนอื่นในตลาดจะมองเห็น ยิ่งของสัตว์เลี้ยงยิ่งมีน้อย เรานิยามคำนี้ว่า Wellness เพราะเราอยากดูแลสุขภาพองค์รวม มีหลักการ Preventive เราอยากป้องกันความเจ็บป่วย ซึ่งบริการแบบนี้ที่เราอยากทำ เป็นบริการที่ใหม่มากในประเทศเรา เราในฐานะสัตวแพทย์เราสามารถสร้างบริการที่ยกระดับน้องหมาน้องแมว เจ้าของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยง รวมถึงสัตวแพทย์ผู้รักษาน้อง ๆ ด้วย จึงเกิด HATO Pet Wellness Center สาขาแรกที่สุขุมวิท 39 ขึ้นมา

ชื่อ 'HATO' มาจาก 'Heart' เพราะเราส่งมอบบริการด้วยหัวใจ เราสร้าง Ecosystem ที่เต็มไปด้วยความรัก และการเอาใจใส่เพื่อสัตว์เลี้ยง

"เราเอาหลักการ Preventive Medicine มารวมกับสปา คนยังอยากนวดสปา ทำไมกับสัตว์เลี้ยง เราพูดแค่คำว่า ‘บิวตี้’ ร้านไหนตัดขนสวย ช่างคนไหนทำขนเก่ง เลยเกิดคำคำถามว่า 'สัตว์ไม่ได้ส่องกระจกแล้วรู้สึกตัวเองสวยนะ' เราอยากสร้างบริการที่ส่งมอบว่า เราอาจจะไม่ได้ตัดขนเก่งที่เก่งสุดในประเทศ แต่เราจะตัดขนยังไงให้ปลอดภัย ให้สัตว์ไม่เครียด แล้วส่งมอบสัตว์เลี้ยงให้มีความสุข แล้วความสุขนั้นไปถึงเจ้าของ"

พี่ม่อน: เราเริ่มจากกลุ่มพรีเมียม เป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีเงื่อนไขการจ่าย เราสามารถทำทุกอย่างให้สัตว์ตัวนี้มีสุขภาพที่ดี ทุกครั้งที่ลูกค้าพาสัตว์เลี้ยงมา เราจะมีบริการตรวจโดยสัตวแพทย์ก่อน หลักการที่เราแตกต่างจากตลาดคือ มันเพิ่มความถี่ เมื่อก่อนความถี่ที่สัตว์มาพบสัตวแพทย์ คือเฉลี่ยปีละ 3 ครั้ง แต่ที่ Hato เราทำรีเสิร์ชเก็บข้อมูลว่า ลูกค้าของเรามีการพาสัตว์เลี้ยงมาหาสัตวแพทย์เฉลี่ย 70 ครั้งต่อปี ตัวเลขมากพอที่ทำให้เราเห็นปัญหา เป็นเจ้าแรกในท้องตลาด ทำให้เราได้ Alert ปัญหานี้ไปยังคุณพ่อคุณแม่เจ้าของน้อง ๆ เช่น น้องตัวนี้มีโอกาสเป็นโรคผิวหนัง ไม่ต้องรอให้ถึงวันที่เป็น เราสามารถทำ Consult ได้ก่อน หรือหมาสายพันธุ์นี้มีโอกาสเจ็บเท้า เดินลำบาก เราบอกเขาตั้งแต่วันแรกว่าสายพันธุ์นี้เสี่ยงนะ หรือโปรแกรม Wellness Package เป็นการดูแลตลอดทั้งปี คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าลืมอะไรไปบ้าง มีฉีดวัคซีนรวมประจำปี วัคซีนไข้หวัด รวมไปถึงการให้ Antiparasitic Drugs (ยาต้านปรสิต) ทุกเดือน มาเจอหมอทุกเดือน จ่ายครั้งเดียว ดูแลทั้งปี มีกิจกรรมที่ต้องทำ 20 ครั้ง

สิ่งนี้ทำให้ HATO เกิด Ecosystem ที่ได้เปรียบตลาด เกิดการหมุนเวียน ดูแลให้สัตว์แข็งแรง เป็นการ Prevent โรคร้าย และ Protect เจ้าของสัตว์ คุณหมอ รวมถึงตัวสัตว์เลี้ยงให้ไม่มีช่วงเวลาที่มีความเสี่ยง

ก้าวแรกของ HATO ในเวลาที่ใช่ บนทำเลที่ใช่ 

พี่พรีม: คอนเซปต์ของ HATO น่าสนใจมาก แต่ด้วยความที่ยังใหม่ในตลาด พี่ม่อนมีความกังวลในเรื่องการเติบโตของธุรกิจนี้ไหม

พี่ม่อน: ตอนแรกคิดว่าเราไม่มีทางได้กำไร เพราะกำลังทำสิ่งที่ตลาดไม่ทำ ปกติแล้วธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ รายได้มาจากการรักษา แต่ HATO เน้นการส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้สัตว์เลี้ยงแบบรอบด้าน วิธีคิดนี้ทำให้ได้รับการตอบรับจากปากต่อปาก บวกกับพาร์ตเนอร์ของ HATO เป็นคุณหมอที่มีชื่อเสียง มีลูกค้าเป็นดารา อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่แปลกใหม่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และที่ตั้งอยู่ที่สุขุมวิท 39 มี Community มีที่จอดรถ มี Pet Shop

เราไปในเวลาที่ใช่ ในสถานที่ที่ใช่ ทำให้เข้าตลาดมาได้เร็วในช่วงแรก บวกกับสถานการณ์ช่วง COVID-19 ที่ส่งผลกระทบเชิงบวก จากการที่คนอยู่บ้าน มีเงินเหลือ เปิดโซเชียลเจอโพสต์สัตว์เลี้ยงก็อยากเลี้ยงน้องหมาน้องแมวบ้าง จากชีวิตปกติเช้าไปนอกบ้าน เย็นถึงกลับมาเจอน้อง แต่กลายเป็น Work from Home ได้เล่นกับน้องหมาน้องแมวทุกวัน แล้วไปเจอตุ่มบ้าง ขนกระด้างบ้าง ไม่ค่อยกินอาหารบ้าง ก็พามารักษา ไปเข้าสปา ดูแลตลอด ทำให้ตลาดสัตว์เลี้ยงและ HATO เติมโตขึ้นมากช่วง COVID-19 

และด้วย Pet Lifetime Value เราเลี้ยงเขาวันนึง เราเลี้ยงตลอดไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดสัตว์เลี้ยงเป็นเทรนด์ขาขึ้นอยู่ ตอนนี้คนเข้ามาในธุรกิจนี้เยอะ เป็นผลดีกับผู้บริโภค ที่มีตัวเลือกเยอะ และราคาถูกลง 

ตอนนี้หลายธุรกิจมองว่าตัวเองต้องเป็น Pet Community หรือ Pet Friendly พวกห้าง คอนโด ทุกคนคิดว่า Spending (ยอดการใช้จ่าย) ที่สูงมาจาก Pet Lover วันนี้ทุกคนก็คิดถึงสัตว์เลี้ยงก่อน เลยเป็นที่มาของที่ทุกภาคส่วนอยากมาร่วมทำกับธุรกิจกับเรา

 

พี่ม่อน - สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ
พี่ม่อน - สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ

. . . . . . . . .

จับจุดธุรกิจ พิชิตตลาดแฟชั่นวัยรุ่น

พี่พรีม: นอกจากธุรกิจสัตว์เลี้ยง พี่ม่อนก็มีแบรนด์เสื้อด้วย ที่มาที่ไปของแบรนด์นี้เป็นยังไง

พี่ม่อน: ช่วงเป็นพนักงานประจำ เรามีความสนุกในการทำธุรกิจ เราทำงานหลายอย่างในช่วงนั้น แบรนด์ Nineties เรามองว่าอยากผลิตเสื้อยืดคุณภาพที่ไม่แพงมาก อยากขายให้วัยรุ่น ชื่อนี้มาจากยุคที่เราเกิด แล้วคนใส่เสื้อยืดเยอะ คู่กับกางเกงยีนส์ เราอยากพายุคนั้นกลับมา เลยตั้งชื่อแบรนด์นี้ หลักการคือ ‘Lifestyle of Teenager’ คือเราอยากสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ สำหรับวัยรุ่น เพราะแบรนด์ในท้องตลาดตอนนั้นวิ่งไปหา Working Woman กันหมด เราเลยเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่เข้ามาในท้องตลาด แล้วขยายสาขา ตอนนี้มีประมาณ 40 สาขา จริง ๆ ในบริษัทเราก็มีแบรนด์เสื้อผ้าอื่นที่ไม่ใช่แค่ Nineties ด้วย สำหรับแบรนด์อื่น ๆ ก็มีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป

“พอทำเป็นธุรกิจออฟไลน์ เป็นการพาคนมาจับเสื้อของจริง ก็ได้มีประสบการณ์ซื้อเสื้ออีกแบบ ต่างจากการซื้อเสื้อผ้าผ่านออนไลน์ เลยเป็นที่มาของ Nineties Design” 

. . . . . . . . .

 

เคล็ดไม่ลับฉบับคนทำธุรกิจที่อยากพิชิตใจสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ

พี่ม่อน: พี่คิดว่ามันคือการคิดแบบเป็นระบบ ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งที่ได้ทำธุรกิจได้หลากหลาย คือเรามองภาพกว้างก่อน สมัยก่อนคนใช้ Passion ในการขับเคลื่อนสิ่งที่อยากทำ แต่ว่าตอนนี้ ถ้าจะทำ Start-up ต้องมีการทำ Execution (แผนกลยุทธ์) ด้วย มีแผนการยังไง กำไรขาดทุนเท่าไหร่ หรือถ้าจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ ควรทำ Feasibility (การศึกษาความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ) ก่อนจะเริ่มทำธุรกิจ การวางแผนเงินละเอียด การคำนวน Cash Flow (กระแสเงินสด) ให้ละเอียด เราจะคุ้มทุนคืนทุนเมื่อไหร่ คิดค่าบริการยังไง เราจะวาง Brand Positioning ว่าแบรนด์เราอยู่ตรงไหน Customer Persona (การกำหนดบุคลิกของลูกค้า) หน้าตาเป็นยังไง สำคัญสุด Customer Lifetime Value ถ้าเขาเป็นลูกค้าประจำ เขาจะเป็นลูกค้าเราตลอดไป อย่างธุรกิจสัตว์เลี้ยง หมาแมวตัวนึงเรา สามารถมาใช้บริการของธุรกิจเราได้ทั้งหมดเลย

“เรามองภาพใหญ่ ทำ Execution (นำแผนกลยุทธ์ไปทำให้เกิดขึ้นจริง) ทุกอย่างมีตัวเลขมาจับ และทำ Customer Database (ถังข้อมูลลูกค้า) ใช้ต่อยอดในการทำธุรกิจใหม่ ๆ เป็น Key Success ของการเริ่มต้นของการทำธุรกิจ”

พี่ม่อน: เรากำลังอยู่ในธุรกิจที่เราไม่ได้เห็นทุกมิติอย่างละเอียด มันมีโรคซ่อนเร้นเต็มไปหมด อย่างธุรกิจอาบน้ำ เราไม่มีทางรู้ว่าน้องป่วยก่อนหรือหลังมาหาเรา ความยากคือการสื่อสารกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง เขามาหาเราด้วยความรักที่มีต่อสัตว์ ความยากที่สุดคือ เราจะตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุดยังไง หมอเก่งอยู่แล้วแหละ แต่เราจะมีวิธีการสื่อสารกับคุณแม่ยังไง การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นหลักการที่สำคัญในการเป็นสัตวแพทย์ที่ดี

พี่พรีม: สุดท้ายแล้ว พี่ม่อนช่วยฝากข้อความถึงน้อง ๆ ที่สนใจคณะนี้หรืออยากประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับสัตว์หน่อย

พี่ม่อน: สัตวแพทย์เป็นอาชีพที่มีเสน่ห์ ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ตลาดสัตว์เลี้ยงโตขึ้นมาก น้อง ๆ ที่ยังลังเลอยู่ อาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งอะไรเลย ผมว่าการเป็นสัตวแพทย์ แค่มี Intention (เจตนารมณ์) หลัก ๆ คือรักสัตว์ แล้วชอบอยู่กับสัตว์ ก็น่าจะแข็งแรงมากพอที่จะมาเรียนสัตวแพทย์ และมั่นใจได้ว่าคุณจะมีอาชีพที่มั่นคงครับ

พี่ม่อน - สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ
พี่ม่อน - สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ

. . . . . . . . .

เรียกได้ว่าโอกาสทางการทำงานของคนที่เรียนจบคณะสัตวแพทยศาสตร์ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามตลาดสัตว์เลี้ยงที่กำลังเติบโต แม้จะเรียนถึง 6 ปี แต่นอกจากโอกาสทางอาชีพแล้ว ก็ยังมีรูปแบบงานและทางเลือกที่หลากหลาย ถ้าน้อง ๆ คนไหนที่มีใจรักสัตว์และอยากต่อยอดในอนาคต พี่พรีมเชื่อว่าการเรียนคณะสัตวแพทยศาสตร์น่าจะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีเลยล่ะ สำหรับวันนี้พี่พรีม SparkD ต้องขอตัวลาไปก่อน Episode หน้าจะเป็นใคร อย่าลืมติดตามกันนะ :-D

. . . . . . . . .

พี่พรีม SparkD เขียน/สัมภาษณ์
พี่พิซซ่า SparkD ถ่ายภาพ
พี่อิ๋ว SparkD กราฟิกดีไซน์ 
พี่ฟิวส์ พี่แอลลี่ SparkD บรรณาธิการ
ขอบคุณสถานที่  HATO Pet Wellness Center สาขาเจริญนคร โครงการ OURS ซอยเจริญนคร 10

 

 

SparkD
SparkD - Columnist พื้นที่แรงบันดาลใจที่จะช่วยให้ Young Gen ค้นหาตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น