Teen Coach EP.102 : 'รีวิวชีวิตตัวเองปีนี้' แล้วรู้สึกแย่ จะมูฟออนยังไง? เพื่อชีวิตปีใหม่ที่สุดปัง!

ใกล้ถึงเวลาทักทายปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง และโบกมือลาชีวิตในปี 2566 มีใครได้รีวิวชีวิตในปีที่ผ่านมากันบ้าง?

มาลองเขียนรีวิวชีวิตในรอบปีกัน! เอาเท่าที่จำได้ และเป็นเรื่องที่นึกถึงวนเวียนอยู่ตลอดนะ

  • ทำข้อสอบ TGAT/TPAT ได้คะแนนน้อย เป็นเพราะลังเลในการเลือกคณะที่จะเข้า เปลี่ยนไปมา จนอ่านหนังสือมั่วไปหมด วางแผนห่วย ถ้าเราศึกษาข้อมูลและเตรียมตัวให้พร้อม ระดับเราคะแนนคงดีกว่านี้
  • สอบ SAT มา 4 รอบ คะแนนยังไม่ถึงเกณฑ์คณะที่อยากเข้า เวลาทำสอบกังวลสติแตกจนคิดอะไรไม่ออก ทั้งที่เตรียมตัวมาดี ทั้งที่จริงเราควรสงบสติก่อนเข้าสอบ แต่กลายเป็นว่าเราเล่นเกมเพื่อไม่ให้ตื่นเต้นแทนที่จะอ่าน shortnote ที่ทำไว้
  • มีแฟนออนไลน์ 2 คน แต่ละคบกันไม่ถึงเดือน เราโดนเทแบบงงๆ จนต้องมานั่งหาใหม่เรื่อย ๆ เป็นท้อใจ อยากรู้เหมือนกันว่าเราทำอะไรผิดพลาดไป
  • รำคาญพ่อแม่ที่มาบ่นให้ทำนู่นนี่ เลยหนีไปอยู่กับเพื่อน ตอนที่พ่อเจ็บหน้าอกเราไม่ได้อยู่ช่วย เจอพ่ออีกทีที่ไอซียู อาการป่วยของพ่อโอกาสรอด 50/50 หากเราอยู่บ้านเราน่าจะช่วยพ่อได้มากกว่านี้
  • สนิทกับมิ้งมาก แต่มาทะเลาะกันตอนทำงานกลุ่ม เราว่ามิ้งช่วยงานน้อย ไม่รับผิดชอบ พอกลับมาคิดอีกที เราเสียใจที่พูดแรงไป ผ่านไป 1 เดือนมิ้งยังไม่คุยกับเราเลย ถ้าตอนนั้นเราใจเย็นไม่วีน คุยกันด้วยเหตุผล มิ้งน่าจะไปถ่ายรูปคริสต์มาสด้วยกันที่ห้าง
  • โพสต์ข้อความกาก ๆ เป็นเกรียนคีย์บอร์ด มีคนจับได้แล้วแขวนประจานทางโซเชียลมีเดีย เกือบโดนแจ้งความ ดีที่ขอโทษและมีคนไกล่เกลี่ยเลยรอดไป

พี่หมอแมวน้ำเพิ่งเขียนรีวิวชีวิตตัวเองไป มีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี หลายเรื่องที่รู้สึกแย่ เสียดาย โกรธ โทษตัวเองหลายอย่าง และคิดว่า “หากตอนนั้นเราเลือกที่จะ…” ผลลัพธ์ในชีวิตน่าจะต่างออกไป อาการที่เสียใจกับเรื่องในอดีต ทั้งสิ่งที่เลือกทำและสิ่งที่ไม่เลือกทำ เรียกว่า 'อาการ regret'  เรามาทำความรู้จักอาการนี้ และวิธีที่จะลดความรุนแรงของอาการด้วยตัวเอง 

อาการ regret คืออะไร?

อาการ regret หมายถึง อาการที่หวนคิดถึงเรื่องในอดีตวนไปมา ไม่ว่าเวลาที่เกิดเรื่องจะผ่านไปนานเท่าไร เป็นอารมณ์ลบ ทำให้ไม่สบายใจ รู้สึกผิด อับอาย โกรธ โทษตัวเองกับการตัดสินใจในเรื่องที่ผ่านไปแล้ว คิดว่า “ถ้าหากตอนนั้น…” อยากกลับไปแก้ไขเพราะเชื่อว่าจะทำให้มีชีวิตในปัจจุบันที่ดีกว่านี้ การแก้ไข คือ การเลือกทางเลือกอื่นที่ทำให้ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงไป มักจะคิดว่าสิ่งที่ทำในตอนนั้นเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด

อาการ regret มีความสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยทางจิตใจ เช่น คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความคิดเป็นลบ จับจุดแต่เรื่องแย่ ๆ โทษตัวเอง ทำให้มีอาการ regret ได้ง่ายคนอื่น หรือคนที่มีบาดแผลทางใจให้ regret มาก เมื่อคิดซ้ำไปมาแต่เรื่องนี้ นำไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวลได้ 

คนที่ regret มากในระดับหนึ่ง ทำให้มีอาการทางกายเรื้อรัง บางครั้งตรวจหาสาเหตุไม่เจอ เช่น ปวดท้อง ปวดหัว หายใจไม่อิ่ม นอนหลับไม่ดี ความอยากอาหารลดลง ต้องได้รับความช่วยเหลือไม่อย่างนั้นชีวิตจะพัง

วิธีรับมือกับอาการ regret

1. ทำใจว่า regret เป็นหนึ่งในอารมณ์ลบที่ทำให้ใจเราเจ็บปวด 

อาการนี้ทุกคนมีมากน้อยต่างกัน ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่เรายังยังจมอยู่กับอดีต สำหรับแต่ละคนจะก้าวข้ามความรู้สึกนี้ในเวลาที่ไม่เท่ากัน อย่าใช้ความคิดของตัวเองไปตัดสินคนอื่นว่าเรื่องแค่นี้ ทำไมไม่มูฟออน

2. อนุญาตให้ตัวเองรู้สึก regret ได้

 ไม่ต้องฝืนหรือหลีกเลี่ยงที่จะนึกถึง เพราะจะเป็นการซุกขยะไว้ใต้พรม อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ทำให้ชีวิตแย่ (risk taking behaviors) ที่ใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไม่ให้นึกถึงเรื่องที่เจ็บปวด เช่น ดื่มเหล้า, ติดเกม, ติดพนัน, ขับรถเร็ว ต่อให้จะกักเก็บกดไว้อย่างไร สุดท้ายอารมณ์ลบนี้จะประทุออกมา ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาวได้ 

 

เมื่อ regret กำลังมาให้กำหนดรู้ตัวเองในปัจจุบัน (self awareness) ว่ากำลังคิดและมีความรู้สึกกับเรื่องในอดีตอยู่ ซึ่งการ regret นี้จะมาเยี่ยมเยือนเราเป็นระยะ เราเฝ้ามองมัน แต่สุดท้ายจะผ่านไป  (mindfulness) พยายามอย่าคิดเรื่องที่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงและทำให้ใจยิ่งเจ็บปวด เช่น “ถ้าตอนนั้นเรา…ชีวิตเราจะ…” เพราะเราย้อนอดีตไม่ได้ หากยังคิดวนมีหลายวิธีที่จะช่วยให้หลุดจากหลุมแห่งความดิ่งได้ เช่น กระตุ้นประสาทสัมผัสให้มาก (strong sensation) ด้วยการกินของเปรี้ยว ของเผ็ด แช่มือในน้ำเย็น ออกกำลังกายหนักๆ

3. เมื่อเราไปทำเรื่องแย่ ๆ กับคนอื่น หากเป็นไปได้ควรขอโทษ 

การพูดขอโทษจากใจเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำผิดไป อาจทำให้สถานการณ์ดีขึ้น อีกฝ่ายที่ถูกเราทำร้ายมีสิทธิที่จะให้อภัยหรือไม่ก็ได้ เช่น โกรธเพื่อนแล้วไปโพสต์ด่าใน IG stories พอเรารู้ตัวว่าทำสิ่งที่แย่ เรารีบไปลบ วันต่อมาซื้อขนมที่เพื่อนชอบเพื่อไปขอโทษ แต่เพื่อนมาตึงใส่ ไม่ต้องไปโกรธ ค่อย ๆ ง้อเพื่อนด้วยหลายวิธีค่อยเป็นค่อยไป

4. ให้อภัยตัวเอง (self-forgiveness)

เมื่อเราทำผิดไป สำหรับบางคนโทษคนอื่น แต่บางคนโทษตัวเองอย่างมาก (self-criticism) สมควรแล้วที่มีชีวิตแย่ๆ แบบนี้ ตีความเหมารวมจากการมองเห็นเรื่องผิดพลาดแค่เรื่องเดียว มาคิดว่าตัวเองเลวร้ายไปเสียทั้งหมด ตรงนี้ต้องใจดีให้ความเมตตากับตัวเองด้วย (self-compassionate) ต้องกลับมาย้อนดูเรื่องราวอีกที ถ้าเป็นไปได้ให้ขอความเห็นจากคนที่ไว้ใจและเชื่อถือได้ มาประเมินว่าเราเป็นคนอย่างไรกันแน่ เพราะมนุษย์มีทั้งข้อดีข้อเสีย ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ดังนั้นหากเราทำพลาดไป เราสามารถแก้ไขปรับตัวเอง และยกโทษให้ตัวเองได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก ไม่จำเป็นต้องทำได้เดี๋ยวนี้ แต่ต้องฝึก เช่น หาข้อดีของตัวเอง

5. ปรับความคิดที่มีต่อเรื่องราวในอดีตที่ทำให้ regret (reframe)

หลังจากที่เรายอมรับว่าเรา regret ขอโทษหรือไถ่โทษกับคนที่เราไปสิ่งแย่ๆ ใส่ และสงบสติอารมณ์ได้แล้ว เรามาจัดการความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะความทรงจำเป็นสิ่งที่สมองคิดขึ้นมา บางเรื่องที่เราคิดอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะมีอารมณ์และข้อมูลอื่นปะปนมาด้วย 

 

  • ทบทวนตัวตนของเรา : เรา regret กับเรื่องนี้เพราะอะไร หากเรายังมีพฤติกรรมแบบเดิมเรามีตัวตนแบบไหน เราอยาก “เป็นคนอย่างไร” ให้เขียนคุณลักษณะที่เราต้องการ เช่น เป็นคนใจเย็น คุมตัวเองได้ ไม่วีนเหวี่ยง แล้วเขียนแผนว่าเราจะพัฒนาให้ตัวเองเป็นแบบนั้นได้อย่างไร
  • คิดว่าสิ่งที่เรา regret หากเลือกทางอื่นผลลัพธ์จะดีกว่านี้จริงหรือไม่ : ทุกคนมีความคาดหวังต่างกัน บางคนที่เป็น perfectionist ต้องการความสมบูรณ์ในทุกสิ่งอย่าง ดังนั้นแม้จะทำดี 99% แต่กลับเรื่องไปมอง 1% ที่ทำไม่ได้ จนนำไปสู่การ regret ลองคิดดี ๆ อีกทีว่าถ้าเลือกที่จะทำหรือไม่ทำให้ต่างจากเดิมแล้ว ผลที่ออกมาน่าจะเป็นอย่างไร เพราะการเลือกกระทำของคนเรา มักจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่มีข้อมูลและปัจจัยรอบด้านในขณะนั้น ต่อให้ย้อนเวลากลับไปได้ เราอาจเลือกทำเหมือนเดิม
  • ทุกคนสนแต่เรื่องตัวเองมากกว่าที่จะมาคิดถึงเรื่องเรา : มีงานวิจัยที่ผลลัพธ์ออกมาว่าเรามักจะตัดสินตัวเองแย่กว่าที่คนอื่นคิด เช่น เราคิดว่าในโรงอาหารมีคนจ้องมองเราด้วยสายตาดูถูก ทำให้เรากังวล กลับมา regret คิดวนว่าเราทำอะไรผิดเรื่องอะไรบ้าง แต่พอไปถามเพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์เพื่อนกลับบอกว่าไม่ได้มีใครมาจับจ้องเรา และบรรยากาศในโรงอาหารเป็นทุก ๆ วันที่ผ่านมา

6. เขียนเรื่องราวที่ regret ออกมาให้ชัดเจนขึ้น

การเขียนเป็นหนึ่งในกระบวนที่ทำให้เราเรียงเรียงความคิด ทำความเข้าใจเรื่องที่เกิด เห็นภาพชัดเจน เราจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เราบันทึกมีประโยชน์หลายอย่า เช่น เราเขียนวิธีการจัดการปัญหาที่ทำให้ regret ในครั้งนี้ เมื่อมีปัญหาแบบเดิมมาอีก เราจะมีวิธีจัดการปัญหาที่ต่างจากเดิม หากเป็นได้ลองนำเรื่องนี้ไปคุยกับคนที่เราไว้ใจฟัง เป็นการระบาย และอาจได้มุมมองใหม่จากคนอื่นซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่นึกถึงมาก่อน เพราะคนฟังเป็นบุคคลที่สามไม่ได้คลุกวงใน จะเห็นมุมมองที่ต่างจากเรา

7. ค้นหาตัวเองผ่านกระบวนการ regret

การที่เราหวนคิดบางเรื่องซ้ำไปมาแสดงว่าเรื่องนั้นมีความสำคัญกับเรา  regret ทำให้เรารู้ว่าคุณค่าใดที่เราให้ความสำคัญ เราจะได้เรียนรู้ตัวเอง มีเป้าหมายว่าสิ่งที่อยากทำคืออะไร ต้องออกแบบชีวิตแบบไหน เช่น ที่ต่างประเทศคนที่เป็นนักศึกษาแพทย์อายุ 30 ปีไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบางคนไม่รู้ตัวเองชอบหรืออยากทำอะไร เมื่อเรียนจบ ทำงานไปสักระยะ แล้วรู้เป้าหมายของชีวิตแล้วสามารถกลับมาเรียนหรือทำสิ่งที่อยากทำได้

อาการ regret แม้จะทำให้เจ็บปวดแต่มันไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่เสมอไป หากเรานำเรื่องที่เกิดขึ้นนี้มาคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เราจะรู้ข้อผิดพลาดของตัวเอง นำมาแก้ไขไม่ให้ผิดพลาดซ้ำเดิม เพิ่มโอกาสในการมีอนาคตที่ดีขึ้น

จริงๆ แล้วการลงมือเขียนบันทึกเรื่องราวของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์หรือความคิดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ดีนะคะ เราไม่จำเป็นต้องทำทุกวันก็ได้ แค่เขียนเรื่องที่มีผลต่อจิตใจ ก็เป็นการระบาย และได้ทบทวนสิ่งที่เกิด การเขียนนี้จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการบำบัดลดอาการ regret ด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากไม่ไหวก็สามารถพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ได้นะคะ เพื่อที่จะมีชีวิตในปัจจุบันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ไม่จมกับอดีต หรือมูฟออนเป็นวงกลม

สุดท้ายนี้พี่หมอแมวน้ำขอสวัสดีปีใหม่น้องๆ ชาว Dek-D และชวนมาฝึกการจัดการกับเรื่องที่ regret เพื่อที่จะนำไปเขียนสิ่งที่อยากทำ (New Year Resolution) ชีวิตปี 2567 จะได้มีเข็มทิศ ไม่อึนมึนงงค่าาาา

 

 

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น