“พี่ปัง พี่อาย” EV Girls จากสองสาวนักเล่าเรื่อง สู่การเป็นนักรีวิวรถ EV ที่ชวนติดตาม!

. . . . . . . . .

ปัจจุบัน “คอนเทนต์ ครีเอเตอร์” เป็นหนึ่งในอาชีพที่ใฝ่ฝันของใครหลาย ๆ คน และในยุคนี้มีคอนเทนต์และแพลตฟอร์มที่หลากหลายมากขึ้น วันนี้พี่ตะวัน SparkD จะพาน้อง ๆ ทุกคนมารู้จักกับ  “EV Girls” ช่องที่มีคอนเทนต์เฉพาะทางในเรื่องนวัตกรรมยานยนต์ ทำความรู้จักกับ “พี่ปัง” และ “พี่อาย” สองสาวครีเอเตอร์จากปันโปร ที่ได้มาทำช่องรีวิวรถ EV ผ่านไลฟ์สไตล์ ย่อยเรื่องยาก ๆ ให้เป็นเรื่องง่าย พร้อมไปเข้าใจว่า นักรีวิวเรื่องที่เฉพาะทาง เขาทำกันยังไง ต้องมีใจรักและอินกับเรื่องนั้น ๆ มากแค่ไหน

พี่ตะวัน: จุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็น EV Girls 

“พี่อาย” กับ “พี่ปัง” ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทปันโปรในฐานะครีเอเตอร์ “พี่ปัง” เรียนจบมาจากคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาจุลชีววิทยา เทคโนโลยีการอาหาร และตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทำงานตรงสาย จึงได้มีโอกาสเข้ามาทำกับทางปันโปร  ในส่วนของ “พี่อาย” จบมาจากคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษเพื่ออุตสาหกรรมการ ไม่ได้ทำงานตรงสายเช่นเดียวกัน แต่ในช่วงปี 4 พี่อายเริ่มตัดคลิปลง YouTube ของตัวเองทำให้เข้าถึงโลกออนไลน์มากขึ้น บวกกับสถานการณ์โควิดในช่วงเรียนจบ จึงหันมาทำงานสายออนไลน์ 

“EV Girls” จึงเริ่มมาจากการที่พี่ ๆ ทั้งสองคนเป็น “คอนเทนต์ ครีเอเตอร์” มาก่อน แล้วได้มีโอกาสไปถ่ายงานเปิดตัวรถ Ora Good Cat ที่พึ่งเข้าไทยนำมาทำเป็นคอนเทนต์ ปรากฎว่าได้รับกระแสตอบรับที่ดี ทำให้เห็นว่าคนเริ่มสนใจในรถ EV มากขึ้น บวกกับยังไม่ค่อยมีรีวิวจากคนที่ไม่ใช่กูรูและรีวิวผ่านไลฟ์สไตล์ จึงจุดประกายเป็นช่อง “EV Girls” ขึ้นมา

“จากความสนใจสู่การอินกับเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า”

พี่ปัง: ตอนไปถ่าย Ora Good cat เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับรถ EV ในเรื่องความสนใจ มีการศึกษาและดูคอนเทนต์รีวิวจากต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ไม่ได้สนใจมากขนาดนั้น จุดเริ่มต้นที่เริ่มทำให้สนใจมากขึ้นคือการได้ไปเดินงาน Motor Show เป็นงานที่ตื่นตาตื่นใจมากเพราะมีรถหลายรุ่น มีฟังก์ชั่นที่แตกต่างจากรถยนต์ที่เราเคยใช้ ทำให้เกิดความสนใจและเริ่มศึกษามากยิ่งขึ้น และในตอนแรกเราสนใจแค่ว่ารถคันนี้มีรูปทรงภายนอกสวย แต่พอได้เข้าไปศึกษาจริง ๆ มันมีอะไรมากกว่านั้น เทคโนโลยีมันไปไกล เราเลยอินเข้าไปอีกเรื่อย ๆ จนนำมาสู่การตัดสินใจในการซื้อรถประจำช่อง เป็นการเริ่มต้นจากความสนใจสู่การใช้งานรถ EV จริง 

พี่ตะวัน: ทำไมถึงตัดสินใจทำคอนเทนต์เรื่องรถ EV  

พี่ปัง: รถ EV เป็นอะไรที่ใหม่สำหรับวงการรีวิวรถในประเทศไทย หลาย ๆ คนที่รีวิวยังไม่ค่อยรีวิวรถ EV กัน เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นรถ EV คนยังไม่ค่อยรู้สึกว่ามันจับต้องได้ง่าย และดูเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ถ้าเราเป็นคนที่สามารถสื่อสารความเข้าใจยากให้คนทั่วไปที่ใช้รถแต่ไม่ได้มีความรู้อะไร สามารถเข้ามาดูแล้วเข้าใจมากขึ้นว่า รถ EV คืออะไร เราอยากเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดออกไปให้คนรู้จักรถ EV มากขึ้น บวกกับกระแสรักโลกที่กำลังมา เราจึงผูกความรักโลกเข้าไปด้วยว่า รถ EV มันจะดีกว่ารถน้ำมันยังไง บางคนเขาไม่ได้ดูสเปกรถลึกมาก เพียงแค่เขาอยากรู้รูปทรง ฟังก์ชั่นการใช้งาน เราเลยอยากเป็นตัวแทนถ้าเขาอยากจะซื้อโดยไม่ต้องไปลองเอง เพราะเราจะรีวิวให้เขาเห็นคร่าว ๆ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจซื้อ

พี่ตะวัน: จากแนวคิดเก่าอาจจะมีภาพจำว่า เรื่อง “รถยนต์” เป็นเรื่องของผู้ชาย คิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้ และ EV Girls ต้องการจะสื่อสารอะไรกับสังคมด้วยหรือเปล่าที่ให้เรื่องรถ EV ถูกถ่ายทอดผ่านผู้หญิง

 

“ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายก็สามารถเข้าถึงรถยนต์ได้”

พี่ปัง: สมัยนี้มีคนขับรถเยอะขึ้น แต่ในการรีวิวจะเห็นว่าส่วนมากจะเป็นผู้ชาย แต่ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายก็สามารถเข้าถึงรถยนต์ได้ เพราะคนซื้อรถมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย คนขับก็มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย การที่เราเป็นผู้หญิงแล้วมารีวิวรถไม่ได้ทำให้เราเป็นข้อแตกต่างหรือข้อได้เปรียบ  เราอยากให้มองว่าเราเป็นช่องรีวิวรถช่องหนึ่ง มันอาจจะมีข้อแตกต่างตรงที่เราสามารถพูดในเรื่องที่ผู้ชายเขาไม่ได้พูดกัน อาจเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่เป็นข้อได้เปรียบในเรื่องของผู้หญิง สมมติว่าเราชอบแต่งหน้าในรถ ต้องมีไฟกระจกสีขาว ถึงจะแต่งมาแล้วสมจริง ถ้าทาปากไฟส้มอาจจะไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่อง insight ของผู้หญิงที่เรารู้สึกว่าเป็นส่วนที่เราอาจจะรู้ได้ลึกกว่า แต่ในส่วนของผู้ชายเขาก็อาจจะรู้ลึกในเรื่องที่ผู้ชายชอบ แต่ถามว่าต้องการจะสื่อสารอะไรกับสังคม เราไม่ได้ตั้งใจขนาดนั้น แค่อยากให้ทุกคนมองว่าพอเป็นผู้หญิงอาจจะดูเข้าถึงง่ายมากกว่า “คุณไม่ต้องเป็นกูรูก็ได้ คุณแค่ดูช่องเราแล้วคุณเข้าใจได้”

พี่ตะวัน: อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นนักรีวิว โดยเฉพาะนักรีวิวเฉพาะทาง ทั้งคุณสมบัติ และทักษะ

 

“มีความสม่ำเสมอ  รู้จริง และพัฒนาตัวเองเสมอ ๆ” 

พี่อาย: เราต้องสะสมคลังความรู้ของเรา สมมติว่าเรากำลังจะเป็นนักรีวิวสักเรื่องหนึ่ง อย่างแรกเราต้องเก็บประสบการณ์เก็บความรู้ให้ได้เยอะ ๆ ในแต่ละคอนเทนต์ ไม่ใช่แค่รถยนต์ที่ต้องเก็บความรู้ แต่ทุกศาสตร์ที่จะนำมาเป็นคอนเทนต์ ต้องมีความรู้ และ insight กับเรื่องนั้น ๆ มากพอ ส่วนทักษะสำคัญคือ “ความสม่ำเสมอ” เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ  เริ่มทำได้แต่ถ้าไม่มีความสม่ำเสมอ ก็อาจจะยังไม่ประสบสำเร็จ

พี่ปัง: การรีวิวเรื่องรถมีความเฉพาะตัว เรายิ่งต้องทำช่องให้คนรู้สึกว่า จริง ๆ แล้วสิ่งที่ทุกคนเห็นมันเป็นแค่สิ่งที่เราถ่ายทอดออกไป แต่เบื้องลึกเบื้องหลังมีอะไรมากกว่านั้น กว่าที่จะได้คอนเทนต์ชิ้นหนึ่งออกมา ต้องผ่านการกลั่นกรองอย่างมาก ต้องมีการสะสมประสบการณ์มาเยอะพอสมควร เราจึงสามารถถ่ายทอดออกมาได้  ไม่ใช่ว่าใครอยากทำแบบเราแล้วสามารถทำได้เลย ไม่ได้หมายความว่า คนไม่สามารถทำช่องได้ แต่ว่าจะให้เหมือนเราเลยเป๊ะ ๆ เลยไม่ได้ เพราะจริง ๆ แล้วเราสะสมอะไรมาเยอะ ทั้งทักษะที่เราผ่านมา ประสบการณ์หนึ่งปี ที่ได้เรียนรู้จากวันแรกที่เราทำจนถึงวันนี้  มีการปรับคอนเทนต์กว่าจะเป็น EV Girls  ซึ่งคุณสมบัติสำคัญก็คือ ความสม่ำเสมอ และต้องรู้จริง ไม่ใช่ตัวเองยังไม่เข้าใจแล้วท่องสคริปต์ เราต้องรู้จริงเราถึงจะอธิบายให้คนเข้าใจได้

พี่ตะวัน: จุดเด่นของ EV Girls คืออะไร ในวันที่มี คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ที่มาทำรีวิวรถมากมาย  

 

“การรีวิวรถยนต์ไฟฟ้าแบบเข้าใจง่าย” 

พี่ปัง: จุดเด่นเราคือการรีวิวรถยนต์ไฟฟ้า แบบเข้าใจง่าย หลายช่องมักจะลงลึกเรื่องสเปกแต่ในบางคำศัพท์สำหรับคนที่ไม่รู้เรื่องรถจริง ๆ เขาอาจจะไม่เข้าใจ ถ้าเราเผลอพูดคำเหล่านั้นออกไป เราจะอธิบายตามหลังให้คนที่ไม่รู้เรื่องรถดูแล้วเข้าใจ แล้วเรารู้สึกว่าเป็นอะไรที่เข้าถึงง่าย การที่เรารีวิวรถเรื่องสเปกแล้ว เราจะดึงพวกฟังก์ชั่นต่าง ๆ ที่เป็นจุดที่เรารู้สึกว่าเล่าได้ และเป็นจุดที่คนอื่นอาจจะมองข้ามมาผูกกับการใช้งานจริง ๆ สามารถนำมาเล่าได้ เช่น ช่องวางแก้ว รถให้มาเล็ก แต่ถ้าเราเป็นคนใช้แก้ว ต้องดูว่าแก้วเราสามารถใส่ได้ไหม เป็นจุดที่เรามักจะพูดเสมอในแต่ละครั้งว่า รถคันไหนมีจุดไหนเป็นยังไง พูดถึงรายละเอียดเล็ก ๆ ของรถ

พี่ตะวัน: อยากให้แชร์ทริคเฉพาะตัวของ EV Girls ที่ปรุงรสเรื่องรถ EV ให้เป็นเรื่องที่อร่อย ย่อยง่าย

พี่อาย: เล่าจากความสนใจของเราเองกับรถแต่ละคัน สมมติว่าเราหาจุดเล็ก ๆ ของรถที่อาจจะไม่มีอะไร แต่ว่าเราลองนำมาผูกกับไลฟ์สไตล์ของเราจริง ๆ มันอาจจะเป็นจุดเด่นของรถคันนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่เหมือนช่องอื่น 

พี่ปัง: อีกหนึ่งทริคคือ การทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องที่ย่อยง่าย เราจะนึกถึงวันแรกที่เราเริ่มทำ วันที่เรายังไม่ได้มีความรู้เรื่องรถ ถ้าเราพูดแบบนี้ไป เราผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องรถจะงงหรือเปล่า ถ้าเรายังไม่เข้าใจ คนอื่นคงไม่เข้าใจ พยายามมองในส่วนของคนที่ไม่รู้ ว่าเขาอยากจะให้คนที่มาเล่าให้ฟังพูดให้เขาฟังยังไงถึงทำให้เขาเข้าใจ เหมือนการเป็นติวเตอร์ ถ้าเราไปเปรียบเทียบกับสิ่งต่าง ๆ ก็จะทำให้เด็กนึกภาพตามได้ พี่ปังกับพี่อายจะมีเทสการสื่อสารใกล้เคียงกัน คือ เราเข้าใจแล้วเราจะสื่อสารด้วยการเรียบเรียงคำพูดของเรา อาจจะคนละแบบ แต่เราจะเลือกใช้ภาษาที่ง่าย ๆ เหมือนกัน ไม่ใช่ทางการจนทำให้คนฟังแล้วมองเราว่ามีความรู้ หรือฟังแล้วไม่เข้าใจ 

“เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับคนดู”

พี่อาย: จากวันแรกที่เราเข้ามาทำ ทุกอย่างมันก็ยากไปหมดเหมือนกัน อย่างเช่น ตอนชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าพวกเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันมีกี่แบบ แต่เราก็เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ พอเราเข้าใจแล้วเราก็สามารถสื่อสารออกมาในแบบที่เข้าใจง่าย เหมือนกับว่าคนดูเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับเรา เราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความรู้เท่าคนดู บางอย่างเราก็มีมากกว่าเขา 

พี่ปัง: จริง ๆ ต้องขอบคุณพี่ในวงการหลายคน พอเราไปเจอพี่ ๆ สื่อช่องอื่น ๆ เขามีความรู้มากกว่าเรา บางอย่างเราไม่รู้เราก็ถามเขา เขาช่วยเราได้ดีมาก ทำให้เราได้ความรู้จากหลาย ๆ คนเยอะมากขึ้น 

พี่ตะวัน: ความท้าทายของการเป็น คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ นักรีวิวเฉพาะทาง ที่ต้องรีเสิร์ชหาข้อมูลมากมายมาทำคอนเทนต์

พี่ปัง: ความท้าทายอย่างแรก คือ บางทีเราได้สเปกรถที่พึ่งเข้าไทย ยังไม่เคยมีใครในไทยเห็นคันจริง สิ่งที่เราต้องหาคือข้อมูลจากต่างประเทศ พอไปเจอหน้างานคันที่เราขับก็เป็นคนละคันกับที่เราได้สเปกมา เป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัวและต้องตื่นตัวตลอดเวลา คอยเช็คความถูกต้องของข้อมูล เพราะความถูกต้องเป็นพื้นฐานที่เราต้องมี 

พี่อาย: ในส่วนของตัวรถบางคันอาจจะดูไม่มีอะไรโดดเด่นมาก แต่เราจะต้องสื่อสารออกมาให้ดูน่าสนใจและเราจะต้องดึงความโดดเด่นของรถเหล่านั้นออกมาว่ามันเหมาะกับใคร คนแบบไหนที่ต้องการรถแบบนี้  รถที่โดดเด่นมาก ๆ ไม่ใช่เรื่องยาก เราแค่พูดส่วนที่โดดเด่นของเขา แต่คันที่ไม่โดดเด่นและหวือหวา แต่มีข้อดีซ่อนอยู่ เราอาจจะต้องเล่า Insight หรือความเป็นมาว่าทำไมเขาถึงทำคันนี้ออกมา แล้วจุดเด่นของคันนี้มันคืออะไร นี่ก็เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง 

พี่ปัง: ความท้าทายสุดท้ายคือการไป Test drive เป็นการรีวิวรถแบบด้นสดหน้างาน เพราะไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับรถคันนั้น ๆ มาก่อน ไป Surpirse หน้างานเลย บางคันก็แจกข้อมูลหน้างานเลย 1 ชั่วโมงก่อนขับ เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการรีวิวรถ

พี่ตะวัน: เปรียบเทียบกันระหว่างนักรีวิวคอนเทนต์สาย Mainstream เช่น บิวตี้บล็อกเกอร์ รีวิวอาหาร กับคอนเทนต์ที่มีความเฉพาะทางมาก ๆ ในมุมมองของพี่ ๆ แตกต่างกันอย่างไร

พี่ปัง: บิวตี้บล็อกเกอร์ นักรีวิวอาหาร เขาก็มีความเฉพาะทางของเขาเหมือนกัน ด้วยความที่เราเคยทำปันโปรมา ต่อให้คอนเทนต์ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่จริง ๆ  แล้วทุกคนหาข้อมูล และมี Insight เฉพาะตัวของตัวเอง ซึ่งมองว่าไม่ได้แตกต่างกัน EV Girls อาจจะดูเฉพาะทางว่าคือรถยนต์ไฟฟ้า แต่คนอื่นไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ หรืออะไรตลก ๆ เขาก็มีความเฉพาะทางของเขาเหมือนกัน 

พี่อาย: บิวตี้บล็อกเกอร์ เขาก็ต้องศึกษาเหมือนกันว่าสีแบบไหนเหมาะกับใคร คือทุกอย่างล้วนมี Insight  รู้สึกว่าไม่แตกต่างแต่ว่าสิ่งที่เราต้องมีคือความสร้างสรรค์และความสม่ำเสมอ ฝึกฝนไปกับสิ่งนั้น ๆ  ถ้าเราทำอะไรอยู่เราก็ต้องหา Insight ของเรื่องนั้นให้มากที่สุด สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันที่ทำให้ดังมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะ “ทักษะการถ่ายทอดและความสม่ำเสมอ”

พี่ตะวัน: ปัจจุบันมีคอนเทนต์ ครีเอเตอร์เกิดขึ้นมากมาย มีคอนเทนต์ที่หลากหลาย รวมไปถึงแพลตฟอร์มโซเชียลที่มีหลายตัว พี่ ๆ มีการปรับตัวยังไงบ้าง

พี่ปัง: นับจากตอนเริ่มทำ  EV Girls ไม่ได้มีการปรับตัวเยอะมาก แต่ถ้านับตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่ทำคอนเทนต์เป็นโพสต์ ย้อนกลับไปประมาณ 5 ปีที่แล้วคอนเทนต์วิดีโอยังไม่เป็นที่นิยม แม้จะมี TikTok แล้ว แต่คนทั่วไปยังมองว่า TikTok ยังไม่ใช่ช่องทางหากิน ส่วนมากยังทำเป็นภาพนิ่งพร้อมเขียนคอนเทนต์ พอเริ่มมีการทำคอนเทนต์วิดีโอในช่วงโควิด ตอนนั้นก็เริ่มปรับตัวจากคนที่เขียนคอนเทนต์ยาว ๆ ถ่ายภาพให้สวย ต้องเปลี่ยนเป็นวิดีโอให้ได้ พร้อมกับพากย์เสียงหรือพูดไปขณะถ่าย เป็นการปรับมาทำคลิปสั้น

 จากตอนปันโปรมาทำ EV Girls ยังเป็นคลิปสั้นเหมือนกัน ในตอนแรกยังไม่มีคลิปยาวแนวนอน ยังเป็นคลิปแนวตั้งในช่องทาง YouTube, TikTok, Facebook ถือว่าเป็นการปรับตัวไม่มาก แค่ปรับในเรื่องของข้อมูล จากเรื่องโปรโมชันเป็นเรื่องรถ แต่ตอนที่ทำเป็นคลิปสั้น จากแนวตั้งเป็นแนวนอนในตอนเริ่มทำยูทูป มีการปรับเยอะจากคนที่พูดอะไรกระชับและสั้น เราต้องอธิบายให้มากขึ้น ทำยังไงให้คลิปยาวแต่ไม่น่าเบื่อ จากการที่เป็นคนจำอะไรสั้น ๆ กลายเป็นว่าต้องเข้าใจทั้งหมดแล้วอธิบายร้อยเรียงไปให้ได้ เป็นการปรับตัวที่ยากในช่วงแรก ๆ ในการถ่ายคลิปสั้น กลายเป็นว่าเราพูดยาวเกินเราตัดไม่ได้ใน 1 นาที นี่คือการปรับตัวในการที่มีโซเซียลหลายแพลตฟอร์ม

ปัจจุบันเราแบ่งเป็นหลักเลยว่าเรามีคลิปสั้นแนวตั้ง คลิปยาวแนวนอน แบ่งว่าฟีดไหนลงคลิปยาวได้ ฟีดไหนลงคลิปสั้นได้ พยายามเอาตัวเองไปอยู่ในทุกช่องทาง ส่วนความยากง่ายพวกเราน่าจะถนัดคลิปสั้นมากกว่า เพราะคลิปยาวเราต้องอธิบายมากขึ้นและต้องทำให้ไม่น่าเบื่อ แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละหัวข้อว่าเหมาะกับแบบไหนมากกว่ากัน และในการถ่ายคลิปสั้นกับคลิปยาวส่วนมากเราจะแยกกัน แต่ในบางครั้งก็มีการคัดจากคลิปยาวมาลงในคลิปสั้น คัดมาแต่ช่วงที่เป็นไฮไลท์

พี่ตะวัน: การเริ่มต้นเป็นนักรีวิวเฉพาะทางต้องมีใจรักหรืออินกับเรื่องนั้น ๆ แค่ไหน 

พี่ปัง: ถ้าสำหรับคนที่จะเริ่ม เราต้องรู้ใจตัวเอง สมมติว่าเราจะรีวิวเรื่องรถ เราต้องรู้ว่าเราจะต้องอยู่กับมันตลอด ไม่มีวันไหนที่เราใช้ชีวิตโดยที่ไม่มีรถเลย แม้แต่วันที่เราหยุด ทุกวันของเราคือมีรถ EV อยู่ทุกวันต่อให้เราไม่ได้ทำงาน เราก็เห็นอยู่หน้าฟีด เราต้องหาข้อมูล หาความรู้สม่ำเสมอ ต้องเตรียมใจไว้เลยว่าสิ่งที่เราจะทำเป็นคอนเทนต์ มันจะอยู่กับเราในตลอดชีวิตจนกว่าเราจะอยากทิ้งมัน ถามตัวเองว่า “อินแค่ไหนบอกไม่ได้ แค่เรารับได้ว่าจะมีมันทุกวันตลอดเวลา” 

พี่ตะวัน: การรีวิวเรื่องที่เฉพาะทาง นอกจากมีใจรักแล้วต้องมีอะไรอีกไหม

“ต้องใจสู้ ปรับตัวและต้องพัฒนาตัวเองสม่ำเสมอ”

พี่ปัง: ไม่ใช่ว่าทุกคนทำคอนเทนต์ 2 คลิปแรกแล้วจะดังเลย เราต้องปรับคอนเทนต์และมีความชัดเจนว่า ตั้งใจจริง ๆ สัก 1-3 เดือน เชื่อว่าถ้าลงสม่ำเสมอยังไงก็มีคนเห็นเราแน่นอน ถ้าเราจะทำคอนเทนต์และให้คนรู้จักช่องเรา เราต้องมองว่าสิ่งที่เราจะทำมีช่องไหนทำแล้วหรือเปล่า ถ้ามีคนทำแล้ว เราต้องมานั่งคิดว่าทำไมคนอื่นต้องมาติดตามช่องเรา ในเมื่อก็มีช่องอื่นอยู่แล้ว พยายามหาข้อแตกต่างของช่องตัวเองให้ได้ว่า จุดขายช่องเราคืออะไร  ถ้าเราไม่มีความแตกต่าง คนก็อาจจะไปดูช่องอื่น

พี่ตะวัน: กระบวนการทำงาน Production และโครงสร้างของ EV Girls เป็นยังไง อยากให้เล่าเพื่อให้น้อง ๆ เข้าใจว่าการผลิตวิดีโอคอนเทนต์ออกมา เบื้องหลังทำงานกันยังไงบ้าง

พี่ปัง: ช่องนี้เริ่มมาจากพี่ปังกับพี่อาย 2 คน กลายเป็นว่าไม่ได้มีสโคปอะไร สโคปคือพี่ทำกันเอง เราพึ่งมามี Producer เมื่อไม่กี่เดือน เพราะว่าเราอยากมีคนที่มาช่วยเรา แต่จริง ๆ ตอนแรกที่เราเริ่มทำ จะมีแค่พวกเราที่ทำ คอนเทนต์ ถ่ายทำ ตัดต่อ แต่จะมีตัวช่วยเป็นคนอื่นที่เราให้ช่วยตัดต่อ กราฟิกทำปก YouTube  ช่างภาพคือพวกเราเอง จนหลัง ๆ เริ่มมีการพัฒนา

 ส่วนโครงสร้างของการทำช่อง คือ เราจะแบ่งคอนเทนต์สามส่วนหลัก ๆ คือ คอนเทนต์ที่เป็นรีวิวรถ คอนเทนต์ให้ความรู้ และคอนเทนต์ Emotional คือสิ่งที่เป็น Insight ของคน สมมติขับรถกลางสี่แยกแล้วจะเลี้ยวตรงไหนดี เป็น 3 อย่างที่เราแบ่งไว้ว่าเราจะรีวิวรถ ให้ความรู้ในแวดวง EV และเรื่องที่จะเข้าถึงจิตใจของคน 

ส่วนขั้นตอนการทำงานก็เริ่มจากการที่เราคิดคอนเทนต์ ต่อไปก็เป็นขั้นตอนการถ่ายทำและตัดต่อ จริง ๆ ถ้าเป็นคลิปสั้นตัดแล้วก็แก้ คลิปยาวตัดเสร็จแล้วแก้ หลัก ๆ ถ้าเป็นการปฎิบัติมันก็จะเป็นคลิปถ่ายและตัด แต่ Concept การคิดเราจะแบ่งเป็น 3 พาร์ทอย่างที่กล่าวไปข้างต้น

พี่อาย: สมมติว่าเราได้รถมารีวิวหนึ่งคัน ไม่สามารถถ่ายได้เลย เราต้องมีกระบวนการคิดก่อนว่ารถคันนี้กี่บาท เหมาะกับใคร สถานที่ควรจะเป็นที่ไหน หัวข้อคลิปนี้คืออะไร และต้องมาดู Feedback ว่าเป็นยังไง ต้องรอดู Comment จากหลาย ๆ คนด้วย  และถ้าสมมติว่าเราได้รถมาหนึ่งคัน รถยังไม่มาแต่เราดีลไว้แล้ว เราก็คิดก่อนว่าเราจะทำคลิปสั้นอะไรบ้าง คลิปยาวอะไรบ้าง 

พี่ตะวัน: ฝากถึงน้อง ๆ หรือใครที่สนใจการเป็นนักรีวิวและคอนเทนต์ ครีเอเตอร์เฉพาะทาง (ถ้าน้อง ๆ ที่ยังอยู่ ม.ปลาย อยากให้น้องเข้าคณะอะไร หรือว่าจริง ๆ ก็ไม่จำเป็น เข้าคณะไหนก็ได้?)

“คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ไม่จำเป็นต้องจบตรงสาย แค่เลือกสิ่งที่เราชอบและทำได้”

  พี่อาย: เด็กยุคนี้เก่ง ทันสมัย และทุกอย่างสามารถหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น น้องๆ น่าจะมีความรอบรู้กว่าพวกเรา ณ ตอนนั้นอีก อยากให้น้อง ๆ ม.ปลายทุกคน ที่กำลังเลือกคณะ ถ้าอยากเป็น "คอนเทนต์ ครีเอเตอร์" ไม่จำเป็นจะต้องเรียนคณะใดคณะหนึ่งก็ได้ แต่แค่ให้รู้ว่าเราชอบอะไรแล้วคณะนั้นจะนำพาไปต่อยอดอะไรได้  เรียนคณะอะไรไม่สำคัญแค่เลือกให้ตอบโจทย์เรา 

พี่ปัง: ให้ความรู้ที่เราได้เรียนเป็นประโยชน์กับอนาคตของเราจริง ๆ 

ใครอยากจะดูรีวิวหรืออยากรู้เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า เปิดมาที่ช่อง EV Girls  ได้เลย มีทั้ง YouTube, Facebook, TikTok และ Instragram ถ้าอยากรู้เรื่องอะไร อยากให้ทำเรื่องไหนสามารถ Comment หรือ Inbox มาได้

. . . . . . . . .

สุดท้ายนี้พี่ตะวัน และพี่ ๆ SparkD หวังไว้อย่างยิ่งว่าเรื่องราวของ “EV Girls” จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็น “คอนเทนต์ ครีเอเตอร์” ในเรื่องที่ตัวเองสนใจ และอยากให้น้อง ๆ ทุกคนเห็นว่า ไม่ว่าจะเลือกเรียนสาขาอะไร อยู่คณะไหน ถ้ามีใจรักและอยากจะทำสิ่งนั้นจริง ๆ เราก็สามารถเป็น "คอนเทนต์ ครีเอเตอร์" ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องจบตรงสายเสมอไป สำหรับวันนี้ พี่ตะวัน พี่บอนไซ SparkD ต้องขอตัวก่อน แล้วเจอกันใหม่ EP. หน้า บั๊ยบาย สวัสดีปีใหม่จ้า

. . . . . . . . .

พี่ตะวัน SparkD เขียน/สัมภาษณ์
พี่บอนไซ SparkD ถ่ายภาพ
พี่แอลจี้ SparkD กราฟิกดีไซน์ 
พี่ฟิวส์ พี่แอลลี่ SparkD บรรณาธิการ
ขอบคุณสถานที่ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)

SparkD
SparkD - Columnist พื้นที่แรงบันดาลใจที่จะช่วยให้ Young Gen ค้นหาตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น