6 สเต็ปเขียนคำอุทิศให้นักอ่านประทับใจ!

6 สเต็ปเขียนคำอุทิศให้นักอ่านประทับใจ!

 

 

ยากกว่าเขียนนิยายให้จบก็คือการเขียนคำอุทิศหนังสือ ฟังดูตลกใช่มั้ยคะ แต่นั่นเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับพี่ และคิดว่านักเขียนบางคนคงจะเป็นเหมือนกัน

ถ้าให้นิยาม คำอุทิศหนังสือคือบันทึกส่วนตัวจากนักเขียนถึงบุคคลสำคัญ และมันไม่ควรเกินสองคำ
 

แด่ [ชื่อบุคคล/สิ่งที่เราจะอุทิศ]


แต่บางครั้งคำอุทิศหนังสือก็มีความหมายมากกว่านั้น มันอาจหมายถึงสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ดำเนินไปจนจบ คำอุทิศเป็นมากกว่าแค่ชื่อ แต่มันก็สามารถเป็นไอเดียได้

และถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเขียนคำอุทิศอย่างไร วันนี้พี่นำเคล็ดลับดีๆ มาฝากค่ะ

 

 

จุดเริ่มต้นของคำอุทิศ

คำอุทิศถูกนำมาใช้ครั้งแรกในสมัยคลาสสิก ตอนนั้นหนังสือและงานวรรณกรรมอื่นๆ มักได้รับทุนสนับสนุนจากผู้อุปถัมภ์ งานบางชิ้นได้รับมอบหมายจากราชินีแห่งอังกฤษด้วยซ้ำ อย่างเช่นเชคสเปียร์ได้รับมอบหมายจากราชินีให้เขียนเรื่องพระเจ้าเฮนรีที่ 8 รวมถึงนักเขียนบางคนยังได้รับของขวัญให้กำลังใจจากผู้อุปถัมภ์ ดังนั้นเพื่อตอบรับทุกแรงซัพพอร์ต นักเขียนได้กล่าวขอบคุณผู้อุปถัมภ์ผ่านคำอุทิศ 

ด้วยเหตุนี้คำอุทิศจึงมักมีถ้อยคำที่ซับซ้อนและสละสลวย

 

คำอุทิศคืออะไร?

การอุทิศหนังสือเป็นอีกช่องทางนึงของนักเขียนในการให้เกียรติบุคคล (หรือคนกลุ่มเล็กๆ) ที่พวกเขาต้องการยกย่องหรือทำให้โดดเด่น นั่นรวมไปถึงการอุทิศให้แก่สิ่งของหรือสถานที่ที่นักเขียนให้ความสำคัญด้วย สำหรับบางคนก็ใช้โอกาสนี้เพื่อแสดงรสนิยมส่วนตัว หรือทำให้สังคมตกใจด้วยคำพูดที่แสนกล้าหาญ

โดยการอุทิศยุคใหม่ นักเขียนมักเขียนข้อความที่ผสมผสานระหว่างการแสดงความขอบคุณ ความรัก ความคิดเห็นทางการเมือง ความหวัง และอารมณ์ขัน เข้าไว้ด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น งานเขียน Beloved ของโทนี่ มอร์ริสัน อุทิศให้แก่หกสิบล้านคนและมากกว่านั้น นี่เป็นการอ้างอิงถึงจำนวนทาสที่เสียชีวิตจากการค้าทาส

วิธีง่ายๆ ในการดูว่าเราควรเขียนคำอุทิศอย่างไร ให้พิจารณาบุคลิกภาพของตัวเราและความหมายของงานนี้ที่มีต่อเรา การเขียนส่วนนี้คือการแสดงถึงตัวตนของเราในฐานะนักเขียน และสิ่งที่เราต้องการให้โลกรู้เกี่ยวกับตัวเราก่อนที่จะเริ่มอ่านหนังสือ

คำอุทิศมักอยู่ในหน้าการอุทิศ ซึ่งอยู่ด้านหน้าสุดของหนังสือ หลังหน้าชื่อเรื่องนั่นเอง

 

เริ่มเขียนคำอุทิศกัน

สเต็ป 1 – เลือกก่อนเลยว่าจะโฟกัสที่ใคร

ทำลิสต์รายชื่อคนที่เรา (อาจ) ต้องการรวมไว้ในคำอุทิศ

ลองนึกดูว่าใครคือคนที่เราต้องการอุทิศงานนี้ให้ ใครคือบุคคลสำคัญที่สุด ใครมีอิทธิพลต่องานชิ้นนี้มากๆ คนที่คุณห่วงใยมากที่สุดหรือเปล่า หรือใครที่เป็นแรงผลักดันในการสร้างผลงานของเรา อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราเขียนก็ได้ ทำลิสต์รายชื่อบุคคลเหล่านี้ หากมีใครสักคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละครหลักหรือตัวละครอื่นๆ ในหนังสือ ให้รวมพวกเขาไว้ในรายชื่อด้วย

นอกจากนี้ เราอาจลองดูว่าเราอยากอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้กับคนที่เรารู้จักเป็นการส่วนตัว หรือกับคนที่เราไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวแต่เป็นคนที่เราชื่นชม อย่ากลัวที่จะใส่ทุกคนในลิสต์นี้ ณ จุดนี้ เราสามารถจำกัดลิสต์ของเราให้แคบลงได้ในภายหลังหากต้องการ

 

สเต็ป 2 – จดชื่อคนที่เราไม่ต้องการใส่ในคำอุทิศ

เมื่อจดลิสต์สเต็ปแรกเสร็จแล้ว ลองทำลิสต์ที่สองของคนที่เราคิดว่าไม่เหมาะสำหรับคำอุทิศครั้งนี้ วิธีนี้จะช่วยให้เราจำกัดลิสต์แรกให้แคบลง หรืออาจช่วยให้เรามีสมาธิกับสเต็ปถัดไปมากขึ้น เช่น แม้เราอาจคิดว่าเราต้องการอุทิศให้แก่ลูกสาวแรกเกิดของเรา แต่หากหนังสือเล่มนี้เป็นนิยายรักโรแมนติกสำหรับผู้ใหญ่ ก็อาจไม่เหมาะที่จะอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้กับเธอ

 

สเต็ป 3 — ลิสต์ธีมหลักของหนังสือเล่มนี้

เช็กธีมเรื่องที่เรานำเสนอตลอดทั้งเล่ม เขียนลิสต์ธีมต่างๆ เหล่านั้น ลองดูว่าในชีวิตของเรามีคนที่อาจเป็นตัวแทนของธีมเหล่านั้น หรือคนที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับธีมต่างๆ ทั้งโดยรู้ตัวก็ดีหรือไม่รู้ตัวก็ดี ถ้าไม่มีคนเหล่านั้น เราก็คงจะไม่มีเรื่องราวดีๆ ที่มาเล่าในเรื่อง

เช่น หากเราเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเอาชนะความทุกข์ และในที่สุดก็ทำได้ เราอาจนึกถึงคนที่ทำให้เราต้องเผชิญกับความทุกข์ หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ เราอาจไม่มีมุมมองหรือความต้องการที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้

 

สเต็ป 4 — ทำไมถึงต้องการอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้พวกเขา?

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าต้องการอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้ใคร สิ่งสำคัญคือต้องทราบเหตุผลที่เลือกคนคนนั้น ไม่ว่าจะเป็นเขาให้กำลังใจคุณในวันที่แย่สุด เขาสนับสนุนคุณในหลายๆ ด้าน เขาเป็นแรงบันดาลใจเรื่องที่เราเขียน

สิ่งสำคัญคือ เมื่อเขียนคำอุทิศเราจะเห็นเหตุผลทั้งหมดว่าทำไมถึงต้องเขียนให้คนคนนี้  มันจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นถึงสิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณมากที่สุด ไม่ว่าคำอุทิศจะสั้นหรือยาว แต่ก็ควรทำให้ถูกต้อง เพราะเมื่อพิมพ์แล้วอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

 

สเต็ป 5 — ลองดูตัวอย่างคำอุทิศของคนอื่นๆ

วิธีที่ง่ายที่สุดในการหาตัวอย่างคำอุทิศหนังสือ คือการหยิบหนังสือเล่มใดก็ได้บนชั้นวางของเรา แล้วเปิดดูหนังสือที่เลือก แทบทุกเล่มมีคำอุทิศ ดังนั้นเราสามารถส่องตัวอย่างได้เรื่อยๆ

คำอุทิศส่วนใหญ่มักเรียบง่าย เช่น 

“แด่เมแกน ภรรยาของฉัน และลูกๆ เอวา แจ็กสัน และแอล”

 

จอร์จ อาร์.อาร์. มาร์ติน ผู้เขียนเกมล่าบัลลังก์ (Game of Thrones) มีคำอุทิศที่ยูนีคในหนังสือเล่มมหาศึกชิงบัลลังก์ (A Song of Ice and Fire) อย่าง

“แด่ฟิลลิส คนที่ให้ฉันใส่มังกรลงไปในเรื่อง”

ประโยคนี้กระชับและลึกซึ้งสำหรับทั้งนักอ่านและคนที่ถูกกล่าวถึง หากเคยอ่านหนังสือหรือดู “Game of Thrones” จะรู้ว่ามังกรและโลกแฟนตาซีเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจที่สำคัญ การจินตนาการถึงหนังสือที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้คงแทบจะเป็นไปไม่ได้ เห็นได้ชัดว่าฟิลลิสมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ (ซึ่งถือเป็นเรื่องตลกวงในสำหรับแฟนๆ ด้วย)

 

นี่คือคำอุทิศที่ซี.เอส.ลูอิส เขียนถึงลูกสาวทูนหัวของเขาในหนังสือตู้พิศวง

“ลูซี่ที่รัก

 

พ่อเขียนนิยายเรื่องนี้เพื่อลูก แต่เริ่มแรกพ่อไม่ทันได้ตระหนักว่าเด็กผู้หญิงจะเติบโตรวดเร็วกว่าหนังสือ ด้วยเหตุนี้ลูกจึงโตเกินไปที่จะอ่านเทพนิยาย และเมื่อถึงตอนที่มันถูกจัดพิมพ์รวมเล่ม ลูกก็ยังโตเกินไปอยู่ดี แต่วันหนึ่งลูกจะโตมากพอที่จะเริ่มอ่านเทพนิยายอีกครั้ง ลูกอาจหยิบมันออกมาจากชั้นหนังสือ ปัดฝุ่นหน่อย แล้วบอกพ่อว่าลูกคิดยังไงกับมัน ในตอนนั้นพ่ออาจจะหูตึงจนไม่อาจได้ยิน แก่เกินกว่าที่จะเข้าใจในสิ่งที่ลูกบอก แต่พ่อก็จะยังคงอยู่กับลูกเสมอ

จากพ่อทูนหัวของลูกผู้เปี่ยมด้วยความรัก

 

ซี.เอส. ลูอิส”

หนังสือเล่มนี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 100 นวนิยายยอดนิยมตลอดกาลของนิตยสาร TIME ซึ่งเขาได้เขียนคำอุทิศให้แก่ลูกทูนหัวของเขา คำอุทิศนี้ทำให้เราได้เห็นสาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ก่อนที่จะได้อ่านมันด้วยซ้ำ

 

แฟนๆ ของนีล เกแมน มักจะตั้งตารออ่านคำอุทิศหนังสือของเขา เพราะมันเต็มไปด้วยสีสัน และในบางครั้งก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่นจากหนังสือ Anansi Boys ของเขา

“คุณรู้ว่ามันเป็นอย่างไร คุณหยิบหนังสือขึ้นมา พลิกไปที่หน้าการอุทิศ และพบว่าผู้เขียนได้อุทิศหนังสือให้กับคนอื่นอีกครั้ง ไม่ใช่คุณ

 

ไม่ใช่ครั้งนี้

 

เพราะเรายังไม่ได้เจอกัน / แค่สบตากันแว็บนึง / แค่คลั่งไคล้กันและกัน / ไม่ได้เจอกันมานานเกินไป / มีความสัมพันธ์กันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง / จะไม่มีวันได้เจอกัน แต่จะได้เจอ ผมเชื่อมั่น ยังไงก็ตาม เราคิดถึงกันเสมอ...

 

อันนี้สำหรับคุณ

 

คุณรู้อะไรและคุณอาจจะรู้ว่าทำไม”

 

คำอุทิศของหนังสือเจ้าชายน้อย โดยอ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ค่อนข้างโด่งดังด้วยเช่นกัน

“ถึง ลีออน เวิร์ธ

 

ผมขออภัยเด็กๆ ทุกคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากผมอุทิศให้แก่ผู้ใหญ่คนหนึ่ง แต่ว่าผมมีเหตุผลจริงจังอยู่นะ ผู้ใหญ่คนนี้เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดในโลกที่ผมมี ผมยังมีเหตุผลอื่น ผู้ใหญ่คนนี้เข้าใจทุกอย่าง แม้แต่หนังสือเด็กก็ตาม ผมมีเหตุผลประการที่สาม เขาอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส ซึ่งกำลังเผชิญทั้งความหิวโหยและหนาวเหน็บ เขาต้องการกำลังใจ หากเหตุผลทั้งหมดนี้ฟังไม่ขึ้น ผมจะขออุทิศหนังสือเล่มนี้ให้กับเด็กที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่นี้ ผู้ใหญ่ทุกคนล้วนเคยเป็นเด็กมาก่อน แม้ว่าจะมีเพียงไม่กี่คนที่จดจำได้ก็ตาม ดังนั้นผมจึงขอแก้ไขคำอุทิศของผมดังนี้

 

ถึง ลีออน เวิร์ธ

ในวัยที่เขายังเป็นเด็กน้อย”

ในหนังสือเรื่องที่ทำการไปรษณีย์ (Post Office) ของชาลส์ บูเคาว์สกี แสดงให้เห็นถึงความจำเจของหน้าอุทิศ โดยกล่าวว่า

“หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นเรื่องแต่ง เลยไม่อุทิศให้ใครทั้งนั้น”

 

แม้แต่หนังสือ The Selection โดยเคียร่า แคส ก็ยังมีคำอุทิศที่น่าสนใจอย่าง

สวัสดีฮะพ่อ!

*โบกมือ*

 

หรือแม้กระทั่งคำอุทิศที่สปอยล์เนื้อเรื่องก็มีเช่นกัน อย่างหนังสือ House of Hades ของริก ไรออร์แดนไง

“ถึงนักอ่านที่ยอดเยี่ยมของผม

ขอโทษสำหรับตอนจบที่ค้างคาไว้ 

อืม เปล่า ไม่ได้จะขอโทษจริงๆ หรอกนะ ฮ่าฮ่าฮ่า 

แต่เอาจริงๆ นะ ผมรักพวกคุณอ่ะ"

 

สเต็ป 6 – ลงมือเขียนคำอุทิศของคุณ

สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งที่ต้องจดจำไว้คือ “ไม่มีสูตรเฉพาะสำหรับสิ่งนี้” คำอุทิศมักเป็นสิ่งที่ส่วนตัวมากที่สุดในหนังสือ และมันขึ้นอยู่กับเราว่าต้องการสื่อสารอะไรถึงผู้อ่าน แต่อย่าลืมว่านักอ่านทุกคนจะได้เห็นมันก่อนอ่านเนื้องเรื่อง ดังนั้นควรพิจารณาดีๆ ว่าจะเลือกอะไร

ท้ายที่สุด สิ่งที่อยู่ในหนังสือสำคัญมากกว่า และการเผยแพร่มันสู่โลกภายนอกสำคัญที่สุด

 

……………..

 

การเขียนนิยายให้จบแต่ละเรื่องไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา ความพยายาม และความทุ่มเทอย่างหนักกว่าจะได้หนังสือสักเล่ม ดังนั้น มันเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรแสดงความขอบคุณต่อผู้ที่ให้ความช่วยเหลือเรา หรือเป็นแรงบันดาลใจให้เราสร้างผลงานชิ้นนี้ ซึ่ง 6 สเต็ปที่นำมาฝากจะช่วยทุกคนได้ไม่มากก็น้อยค่ะ อย่าลืมหยิบไปใช้ด้วยนะคะ แล้วมาอวดด้วยนะว่าคำอุทิศของน้องๆ เป็นอย่างไร

 หากสนใจเคล็ดลับการเขียนหรืออยากเป็นนักเขียนที่เก่งขึ้น สามารถกดติดตามรวมบทความเด็ดได้ที่ "เปิดคัมภีร์! ส่งต่อเคล็ดลับที่จะทำให้การเขียนนิยายของคุณกลายเป็นเรื่องง่าย!" เชื่อว่าน่าจะมีเคล็ดลับการเขียนที่ตรงใจทุกคนอยู่แน่ๆ ค่ะ

 

พี่น้ำผึ้ง : )

 

ขอบคุณภาพ unsplash.com

 

 

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น