Teen Coach EP.101 : เช็กด่วน! เราแค่ 'ติดแฟน' หรือ ‘โรควิตกกังวลกลัวการแยกจาก’

ทุกคนคนติดคนที่รัก อย่าง  แฟน พ่อ แม่ หรือครอบครัวแค่ไหน?  แล้วติดแค่ไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ?

การที่เรารักใครสักคนมากกกกกกก ต้องการอยู่ด้วยกันตลอดเวลา เพราะมันช่วยให้รู้สึกอบอุ่นปลอดภัยเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราติดเขามากจนไม่อยากไปไหน ต้องการเห็นเขาอยู่ในสายตาตลอดเวลา ไม่อยากไปเรียน ไม่อยากทำงาน ไม่ชอบเจอคนอื่นเพราะกลัวว่าตัวต้องห่างกัน แม้อยู่ด้วยกัน แค่คิดว่าต้องแยกจากกันไปก็ใจหวิว มีอาการทางกาย เช่น  หายใจไม่ออก บางทีนอนไม่หลับเพราะกลัวว่าหากตื่นขึ้นมาจะไม่ได้เจอกันอีก ฝันร้ายว่าไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว เราอาจจะเป็น “โรควิตกกังวลกลัวการแยกจาก” (SAD-Separation Anxiety Disorder) ก็เป็นได้ โรคนี้แต่เดิมเชื่อกันว่าเกิดขึ้นเฉพาะวัยเด็ก แต่จากงานศึกษาวิจัยพบว่าผู้ใหญ่ก็ป่วยเป็นโรคนี้ได้

ใครเคยมีอาการแบบนี้กันบ้าง?

  • คิดวนเวียนด้านลบ กังวลอย่างมาก ว่าตัวเองจะต้องแยกจากคนที่รัก
  • กังวล กลัวว่าคนที่รักจะป่วย หรือเจอกับอุบัติเหตุที่ทำให้ไม่ได้อยู่ด้วยกัน
  • กังวลกลัวมีเรื่องแย่ๆ เกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น หลงทาง ถูกลักพาตัว แล้วจะไม่ได้พบกับคนที่รักอีก
  • ไม่อยากออกจากบ้าน เพราะคนที่รักอยู่ในบ้านนั้น เช่น ไม่ยอมไปโรงเรียน ไม่ไปเที่ยวกับคนนอกครอบครัว
  • ติดบ้าน ไม่ออกไปเที่ยว จนเหมือนกับว่าไม่มีเพื่อน หรือไม่รู้จักคนนอกครอบครัวเลย
  • ไม่ไปค้างคืนที่อื่นนอกบ้าน ถ้าหากคนที่รักไม่ได้ไปด้วย เช่น ไม่ยอมไปเข้าค่าย
  • ฝันร้ายซ้ำๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการแยกจาก
  • มีอาการทางกายที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ เวลาที่ต้องแยกจากคนที่รัก เช่น ปวดหัว ปวดท้อง อ่อนเพลีย
  • ไม่ยอมย้ายที่เรียน หรือเปลี่ยนที่ทำงาน ถ้าต้องห่างจากสถานที่ที่คนรักอยู่ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงไปที่ใหม่จะเพิ่มโอกาสที่ดีในชีวิตก็ตาม
  • ติดต่อคนที่รักบ่อยมาก ไม่ว่าจะโทรหรือคุยแชต เช่น เวลาพักแทนที่จะไปนั่งเล่นกับกลุ่มเพื่อน แต่กลับมาคุยกับคนที่รักแทน
  • ติดคนที่รักมาก ต้องการเวลาอยู่ด้วยกันให้มากที่สุด แม้ไม่เจอกันต่อหน้า แต่ต้องวิดีโอคอลค้างไว้  ไม่อยากให้คนที่รักใช้เวลากับคนอื่นหรือมีเวลาส่วนตัว
  • ถามซ้ำไปซ้ำมาว่า รักมั้ย งอแง อาละวาด ถ้าคนที่รักไม่สามารถทำตามที่ต้องการ
  • ตามจิก ตามติด ติดตาม คนที่รักตลอด ต้องรู้ทุกความเคลื่อนไหว รู้ทุกเรื่อง ระแวงว่าเขาจะไปมีคนอื่น

บางคนอาจเคยมีอาการแบบนี้ช่วงเด็ก ๆ แต่พอโตขึ้นอาการหายไปหรือดีขึ้น ทำใจยอมแยกจากกับคนที่รักแล้วไปใช้ชีวิตของตัวเองได้ เช่น ไปโรงเรียน ทำกิจกรรมงานอดิเรก นัดไปเที่ยวกับเพื่อน แต่ถ้าหากยังมีอาการอยู่จนถึงชั้นประถม วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว เช่น ยึดติดกับพ่อแม่ ไม่ยอมไปไหน ต้องกลับมานอนที่บ้านทุกวัน ไม่มีเพื่อนหรือสังคมอื่นเลย อันนี้เรียกว่ามีผลเสียจากอาการวิตกกังวลกลัวการแยกจากแล้ว  พี่หมอแมวน้ำแนะนำให้พบผู้เชี่ยวชาญเช่น จิตแพทย์ เพื่อประเมิน และให้การช่วยเหลือต่อไป

อยากอยู่ใกล้ชิดกับคนที่รัก มันผิดตรงไหน?

การที่เด็กอยากอยู่กับคนที่รักเป็นหนึ่งในสัญชาตญาณของการเอาตัวรอด เพราะคนที่รักจะปกป้องและดูแลให้เด็กกินอิ่มนอนหลับ ไม่เจอกับเรื่องอันตราย อุ่นใจไม่กังวล ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดหากเป็นไปตามพัฒนาการที่สมวัย ปกติเด็กจะมีพัฒนาการด้านความคิด (cognitive development) เรื่องการมีภาพวัตถุอยู่ในใจ (object permanent) เป็นการรับรู้ว่าวัตถุนั้นคงอยู่แม้จะมองไม่เห็นอยู่ในสายตาก็ตาม ซึ่งจะเริ่มมีในเด็กอายุตั้งแต่ 8-9 เดือนขึ้นไป ทำให้เด็กเล่นจ๊ะเอ๋เป็น หาของที่เอาไปซ่อนได้ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นเด็กจะมีความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากกับคนที่เด็กรักและผูกพัน (separation anxiety) มากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงที่เด็กจะมีอาการมากที่สุดเป็นตอนอายุ 15-18 เดือน หลังจากนั้นค่อยๆ ลดลงจนอายุ 3 ปี แล้วอาการนี้จะหายไป ลักษณะอาการ separation anxiety ที่พบมากในเด็กเล็ก เช่น อาละวาด ก้าวร้าว ร้องไห้ โวยวาย เกาะแขนขาพ่อแม่ยื้อไม่ให้ไป ไม่ยอมออกจากบ้าน

เมื่อเด็กโตขึ้นถึงวัยที่ต้องออกไปทำความรู้จัก และสำรวจสิ่งแวดล้อมนอกครอบครัว เช่น วัยที่ต้องเข้าโรงเรียน แม้ตัวเด็กจะไกลห่างจากคนที่รัก แต่เด็กสามารถทนอยู่และปรับตัวกับสิ่งใหม่ได้ เพราะเด็กมีภาพคนที่รักอยู่ในใจ คิดถึงเมื่อไรก็นึกถึงภาพโมเม้นต์ดี ๆ เป็นการช่วยลดความกังวลและให้กำลังใจตัวเองได้

 

อาการแสดงของโรควิตกกังวลกลัวการแยกจาก (SAD-Separation Anxiety Disorder)

  • คลอเคลีย เกาะแขนขาตามตัวคนที่รัก ป้วนเปี้ยน ไม่ยอมแยกไปไหน
  • ไม่สำรวจสิ่งแวดล้อมหรือทำความรู้จักคนใหม่ ๆ เช่น แยกตัว ไม่เล่นกับเพื่อน
  • บางทีดูมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน เพราะเด็กไม่ยอมรับการฝึกทักษะต่าง ๆ เช่น ทักษะการเข้าสังคม การสื่อสาร การเล่น
  • หากจับแยกออกจากคนที่รัก เด็กจะโวยวาย กรีดร้อง อาละวาด ไม่ยอมทำตามสิ่งที่คนอื่นบอก ดื้อเงียบ
  • ไม่อยากไปโรงเรียน หรือต่อให้ไปโรงเรียนได้ก็ไม่ตั้งใจเรียน ผลการเรียนไม่ดีเพราะกังวลคิดวนเวียนอยากเจอแต่คนที่รัก
  • หลีกเลี่ยงปฏิเสธการออกไปนอกบ้านหากคนที่รักไม่ได้ไปด้วย ติดบ้านมาก
  • ไม่กล้าเข้านอนเองคนเดียว ต้องให้คนที่รักส่งเข้านอน ฝืนตัวไม่ยอมนอน
  • บ่นเรื่องฝันร้าย มีความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้น เช่น ภาพคนที่รักตาย แล้วกังวลมาก
  • เจ็บป่วยทางกายอย่างหาสาเหตุไม่ได้ ป่วยเรื้อรัง ต้องการให้คนที่รักมาช่วยดูแล เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้วิงเวียน หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น
  • ดูกังวล ครุ่นคิด ถามซ้ำ ๆ ขอความมั่นใจจากคนที่รักว่าจะไม่ทิ้งไปไหน
  • มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรักหรือคนใกล้ชิด เนื่องจากอาการของ SAD เช่น ไปบงการชีวิตอีกฝ่ายจนเกิดการทะเลาะกัน กลายเป็น toxic relationship

ในเด็กที่อายุเกิน 2-3 ปีไปแล้ว แต่ยังมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลาติดต่อกันมากกว่า 1 เดือน จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต พัฒนาการ การเรียน  มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ให้ต้องสงสัยว่าเด็กคนนั้นอาจจะเป็น SAD ส่วนในผู้ใหญ่ ถ้ามีอาการมากกว่าหรือเท่ากับ 6 เดือนก็ควรเฝ้าระวังแล้วล่ะ

 สาเหตุของการวิตกกังวลกลัวการแยกจาก Separation Anxiety เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น 

  • พื้นอารมณ์ (temperaments) ของเด็กที่เป็นคนขี้กังวลตั้งแต่เกิด
  • มีประวัติคนในครอบครัวมีอาการ Separation Anxiety เป็นเรื่องพันธุกรรมที่ถ่ายทอดกันมา
  • ผู้เลี้ยงดูขี้กังวล แสดงอาการให้เด็กเห็นหรือให้ข้อมูลลบ ๆ เช่น เล่าข่าวเด็กคนอื่นถูกลักพาตัวที่โรงเรียนสอนศิลปะ แล้วเน้นย้ำกับเด็กว่าต้องอยู่ติดกับตนตลอด เผื่อถ้าเกิดเหตุร้ายผู้ใหญ่จะได้ช่วยทัน เด็กจะกังวลตามไปด้วย
  • เด็กถูกเลี้ยงดูโดยผู้ใหญ่ที่ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้เด็กมีความผูกพันทางใจที่ไม่ดี (Insecure Attachment) รู้สึกหวาดกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง เด็กเลยต้องการอยู่กับคนเลี้ยงอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองว่าจะได้อยู่ด้วยกันไปตลอด
  • เจอกับการเปลี่ยนแปลง หรือเรื่องที่สะเทือนใจ เช่น ช่วงย้ายโรงเรียน ย้ายบ้าน พ่อแม่หย่าร้าง ชีวิตความเป็นอยู่ต่างจากเดิมมากไม่มีตารางที่คาดเดาได้ (routines) เจอเพื่อนบูลลี่ ครูดุ คนที่รักเจ็บป่วยทางกายกระทันหัน เป็นโรคร้ายแรง

หากเด็กป่วยเป็น SAD

  • ขาดโอกาสในการกระตุ้นพัฒนาการให้เหมาะสมกับวัย เพราะอาการ SAD ทำให้เด็กไม่ได้ไปเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมนอกบ้าน เช่น หยุดเรียนบ่อย จนบางคนมีพัฒนาการบางด้านล่าช้า เช่น ไม่มีเพื่อน
  • ขาดโอกาสด้านการศึกษา ปัญหาที่พบได้บ่อยมากอย่างหนึ่งของเด็กที่เป็น SAD และเป็นปัญหาใหญ่ คือ การไม่ยอมไปโรงเรียน การที่เด็กจะกลับไปเรียนในห้องเรียนได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งที่บ้าน โรงเรียน เพื่อน ฯลฯ
  • คนในครอบครัวได้รับผลกระทบ เช่น พ่อแม่ต้องลางานเพื่อมาดูแลเด็กที่บ้าน, พี่น้องคนอื่นรู้สึกไม่ได้รับความรัก เกิดการอิจฉามีดราม่ากัน, ความเครียดในครอบครัว
  • SAD มักมีอาการเรื้อรังและนำไปสู่การเกิดโรคทางจิตเวชต่างๆ ตามมา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง เช่น โรคแพนิก (Panic Disorder) หรือโรควิตกกังวลอื่นๆ ซึ่งอาจมีอาการไปจนวัยผู้ใหญ่
  • โดยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น SAD เมื่อโตไปเป็นผู้ใหญ่ 1 ใน 3 จะป่วยเป็นโรคทางจิตเวชอย่างน้อยหนึ่งโรค

หากผู้ใหญ่ป่วยเป็น SAD

  •  เสียโอกาสที่จะได้เรียน หรือทำงานตามศักยภาพ เพราะมีข้อจำกัดในชีวิตเยอะ
  • ไม่มีสังคมอื่นที่สามารถให้การช่วยเหลือได้เวลาที่เดือดร้อน เพราะไม่เอาใครเลย ยกเว้นคนที่รัก
  • พึ่งพิงคนที่รักอย่างมาก ไม่ได้มีพัฒนาการตามวัยที่ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง (independence)
  • ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ที่ตามมา เช่น โรคซึมเศร้า (Depression), โรควิตกกังวลกลัวไปทั่ว (GAD-Generalzed Anxiety Disorder)
  • มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรัก คนรอบข้าง

การช่วยเหลือคนที่เป็นโรควิตกกังวลกลัวการแยกจาก (SAD-Separation Anxiety Disorder)

การที่จะบอกว่าใครป่วยเป็น SAD ต้องได้รับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการ ซึ่งใช้ข้อมูลจากประวัติที่เจ้าตัวและคนรอบข้างเล่า การตรวจสภาพจิต หรือการตรวจทางจิตวิทยาที่จำเป็น หลังจากวินิจฉัยแล้วทีมผู้รักษาจะอธิบายข้อมูลที่ต้องรู้เกี่ยวกับโรค วางแผนการรักษาร่วมกัน ซึ่งต้องใช้หลายวิธีถึงจะได้ผลดี

1. การกินยา (Medications) : SAD จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล ซึ่งโรคนี้เกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ยาที่กินจะเข้าไปปรับสมดุลสารเคมีในสมองให้ดีขึ้น ช่วยลดความกังวล และอาการอื่น ๆ 

 2. การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) : มีการทำจิตบำบัดหลายอย่างที่ช่วยลดอาการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำจิตบำบัดด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม (CBT-Cognitive Behavioral Therapy)

3. การปรับวิธีการรับมือและสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความกังวล

ควรทำอย่างไร เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต

เมื่อชีวิตต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น เด็กต้องเข้าโรงเรียนอนุบาลที่ไปเจอกับคนใหม่ สถานที่ใหม่ สถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ทั้งที่เดิมเจอแค่คนในครอบครัว หรือ พ่อแม่แยกทางกัน เด็กต้องเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่เมื่อต้องมีการเปลี่ยนแปลงสถานะภาพ ย้ายที่ทำงาน 

เด็กวัยก่อนประถม 

เด็กวัยนี้ยังมีข้อจำกัดด้านการใช้และเข้าใจภาษา ดังนั้นการบอกเล่าต้องเป็นรูปธรรม เข้าใจง่ายผ่านวิธีการต่างๆ เช่น บอกผ่านการเล่านิทาน การเล่น ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแยกจาก แล้วให้เด็กพูด วาดรูป หรือเล่นสมมุติเล่าระบายความคิดเห็น และความรู้สึกที่มีต่อเรื่องนี้ โดยผู้ใหญ่ช่วยสอดแทรกวิธีการจัดการกับความกังวลที่จะเกิดขึ้นและอารมณ์ที่มีร่วมด้วยหากเกิดการแยกจากขึ้นมา เช่น โกรธ เสียใจ

 

ฝึกให้อีกฝ่ายสามารถจัดการกับความกังวลเรื่องการแยกจาก เช่น ก่อนที่จะเข้าชั้นอนุบาล ให้พาเด็กไปอยู่บ้านญาติที่เด็กสนิทเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วย ก่อนที่จะพาไปต้องคุยกับเด็กก่อน การพกของแทนใจ (transitional objects) ที่ช่วยให้รู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เช่น ตุ๊กตา หมอนเน่า เตรียมกิจกรรมที่ชอบไว้ทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปจากความกังวล

วัยรุ่นและผู้ใหญ่ 

คุยกันได้ตรงๆ หากอีกฝ่ายแสดงปฏิกิริยาออกมา เช่น โกรธ อาละวาด เศร้า ร้องไห้ คนที่บอกต้องประคองสติ รับฟัง แสดงความมั่นคงให้อีกฝ่ายเห็นว่าไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร เรายังคงเป็นคนเดิม ที่ปฏิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

 

คุยตกลงกับอีกฝ่ายว่าในช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน จะติดต่อสื่อสารกันอย่างไร เช่น นัดเวลา VDO Call เป็นเวลาเดิมของทุกวัน หรือมีกิจวัตรที่สามารถทำให้เขารับรู้ได้ถึงความสม่ำเสมอ เช่น โทรมาปลุกตอนเช้า สำคัญที่สุด คือ พูดคำไหนต้องพยายามทำให้ได้ตามนั้น เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกมั่นคงปลอดภัย (secure/trust)

 

เมื่อถึงเวลาที่ต้องแยกจากไปจริง แต่ละคนลาด้วยวิธีที่ไม่เหมือนกัน แนะนำให้คุยกันก่อนว่าอยากจากลารูปแบบไหน เช่น ให้บอกรัก กอด แสดงความใส่ใจกับอีกฝ่าย และสัญญาอย่างหนักแน่นว่าจะไม่ทอดทิ้ง บอกกำหนดวันเวลาที่จะกลับมาเจอ แต่ถ้าไม่แน่ใจเพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อย่าไปสัญญา แต่ให้บอกว่า “จะพยายามรีบกลับมาหาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”

การแยกจากเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นวัยไหนก็ตาม ซึ่งเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ บางคนกังวลเรื่องการแยกจากและมีปฏิกิริยามากกว่าคนอื่น กรณีที่อาการเป็นมากจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต จะเข้าข่ายการป่วยเป็นโรควิตกกังวลกลัวการแยกจาก (SAD-Separation Anxiety Disorder) ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา

พี่หมอแมวน้ำจำได้ว่าเคยมีบางช่วงของชีวิตมีอาการวิตกกังวลกลัวการแยกจากเหมือนกัน แต่ก็ผ่านมันมาได้ หากน้อง ๆ คนไหนสำรวจตัวเองแล้วคิดว่าเข้าข่าย หรือมีเทคนิคอะไรที่ช่วยลดความกังวลนี้ได้ สามารถแชร์และคอมเมนต์กันได้นะคะ

Referencehttps://www.mayoclinic.org/separation-anxiety-disorder/https://www.healthline.com/health/anxiety/separation-anxietyhttps://my.clevelandclinic.org/separation-anxiety

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น