‘What About Me Effect’ อาการ ‘แล้วฉันล่ะ?’ ของชาวเน็ต ผู้มีความคิดเห็น (ของตัวเอง) ในทุกคอนเทนต์บนโลกออนไลน์

ขอถามก่อนว่าน้องๆ เพื่อนๆ ชาว Dek-D เคยเจอคอมเมนต์แปลกๆ บนโลกออนไลน์มั้ยคะ? อาจจะไม่ใช่คอมเมนต์ที่ตำหนิ บูลลี่ หรือหยาบคาย แต่เป็นคอมเมนต์ที่อ่านแล้วจะรู้สึกงงๆ ว่า “มาเอาไร?”

ตัวอย่าง

  • มีข่าวมหาวิทยาลัยอนุญาตให้นักศึกษาที่เป็นประจำเดือนลาหยุดได้โดยไม่กระทบการเรียนการสอน นอกจากคอมเมนต์เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย ก็จะมีคอมเมนต์ประมาณว่า “ฉันเป็นผู้หญิงมีประจำเดือนก็ไปเรียนได้ ไม่เห็นเป็นอะไรเลย” หรือ “แล้วผู้ชายล่ะ หยุดบ้างได้มั้ย”
  • ถ่ายคลิปสอนทำกะเพราหมูสับ แล้วมีคนมาคอมเมนต์ว่า “แล้วถ้าคนไม่กินหมูล่ะ?”
  • รีวิวการเดินทางไปต่างประเทศ ปรากฏเจอคอมเมนต์ว่า “ดีเนอะ ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสได้ขึ้นเครื่องบิน”
(ภาพจาก pexels.com)
(ภาพจาก pexels.com)

“แล้วฉันล่ะ?” What About Me Effect 

การแสดงความคิดเห็นแนวๆ “แล้วฉันล่ะ?” ต้องมีส่วนร่วมกับทุกๆ คอนเทนต์บนโลกออนไลน์ ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราหรือไม่ก็ตาม แค่คิดว่าอยู่บนพื้นที่สาธารณะจะคอมเมนต์ยังไงก็ได้ คอมเมนต์โดยที่ไม่สนใจว่า คอนเทนต์นี้มีเป้าหมายคืออะไร ต้องการสื่ออะไร มีทาร์เก็ตคนดูเป็นใคร แต่แค่อยากคอมเมนต์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้เรียกว่า “What About Me Effect” พบมากขึ้นในยุคที่โซเชียลมีเดียแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, X(twitter), Instagram โดยเฉพาะ TikTok 

What About Me Effect เกิดจากหลายปัจจัย

  • การเอาแต่ใจตัวเองตามธรรมชาติของมนุษย์
  • การต้องการความยอมรับในสังคม อิทธิพลจากคนรอบข้าง
  • อคติในใจที่เชื่อเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และอาจปิดกั้นข้อมูลที่ขัดแย้ง
  • การจัดลำดับความสำคัญให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางและอยู่เหนือกว่าผู้อื่น
  • ความกลัวตกเทรนด์ หรือตามโลกโซเชียลไม่ทัน (FOMO)
(ภาพจาก pexels.com)
(ภาพจาก pexels.com)

ผลกระทบของ What About Me Effect

คนคอมเมนต์อาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากมาย เพราะหลายครั้งการที่พิมพ์อะไรลงไปอาจจะไม่ได้ยั้งคิด หรือใช้เวลากับสิ่งนั้นมากมาย อาจเป็นแค่การระบายอารมณ์ พิมพ์ความคิดที่ชั่ววูบ ถ้าทำพฤติกรรมแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจจะไปเพิ่มความเอาแต่ใจ เสริมความหลงตัวเอง และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือความคิดที่ว่า “ฉันถูกเสมอ”

ในขณะเดียวกัน เจ้าของคอนเทนต์ที่ต้องเจอกับคอมเมนต์แบบนี้ นอกจากจะรู้สึก อิหยังวะ มึนงง ไม่เข้าใจ อาจทำให้รู้สึกแย่ สูญเสียความมั่นใจ เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และ Self-Esteem ลดลง  

(ภาพจาก pexels.com)
(ภาพจาก pexels.com)

การแก้ปัญหา What About Me Effect

ถ้าไม่อยากเป็นคนที่ What About Me Effect ผู้ส่งต่อความรู้สึกแย่ๆ บนโลกออนไลน์ สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ก็คือ เพิ่ม Digital Empathy ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ก่อนพิมพ์อะไรลงไปในโลกออนไลน์ หยุดคิดสักนิดว่าคำที่เรากำลังจะส่งไป มันส่งผลกระทบต่อใครบ้าง หรือสร้างประโยชน์ให้ใครบนโลกใบนี้บ้าง ปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบเดียวกับที่ต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา และหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ ถ้ารู้สึกว่ากำลังอารมณ์ไม่ดี ก็อาจจะพักเบรกการเล่นโซเชียลแล้วไปทำอย่างอื่นให้อารมณ์ดีขึ้นก่อน ถ้าให้ดีกว่านั้นคือ ลดการเล่นโซเชียลลง ลดเวลาการอยู่บนโลกออนไลน์ และเพิ่มกิจกรรมออฟไลน์ให้มากขึ้น พูดคุย พบเจอเพื่อนที่เป็นคนจริงๆ ไม่ใช่บนโลกออนไลน์

ถ้าเรามีสมดุลระหว่างโลกออนไลน์ กับ โลกออฟไลน์ ได้ดี เราจะสงบขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างคนรอบข้างดีขึ้น และถ้าสุขภาพจิตใจดี เราก็จะลดความ Toxic และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข 

 

โลกไม่ได้หมุนรอบตัวเราคนเดียว ทุกคนบนโลกนี้แตกต่างกัน ทุกคนมีความคิดเห็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราควรยอมรับความหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน หรือเห็นด้วยกับทุกคนก็ได้ แค่อย่าลืมคิดถึงความรู้สึกของคนที่เห็นข้อความที่เราพิมพ์ลงไปก็พอ 

ข้อมูลจากhttps://www.integrativepsych.nyc/what-about-me-effect-exploring-the-psychology-of-social-media-behaviorhttps://www.huffpost.com/entry/what-about-me-effect-tik-tok-bean-souphttps://www.dek-d.com/teentrends/60052/
พี่แพม
พี่แพม - Columnist คอลัมนิสต์สายติ่งเกาหลี นอนน้อยเพราะดูซีรีส์ สาระไม่ค่อยมี หน้าตาดีไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น