Teen Coach EP.100 : ไม่ใช่ขี้เกียจ! บางครั้งการไม่อยากไปโรงเรียน อาจเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจ

ทำอย่างไรเมื่อเราไม่อยากไปโรงเรียน

สวัสดีค่ะ เราชื่อ “เกล” จริงๆ เราเรียนอยู่ชั้นม.3 แต่เราไม่ได้ไปโรงเรียนทุกวัน ไปแค่บางวันที่ไม่เต็มวัน ระหว่างวันนั่งทำงานที่ครูมอบหมายอยู่ที่บ้าน มีเรียนพิเศษบางวิชา ทำกิจกรรมตามตาราง หลายคนคงงงว่าเอ๊ะ! ทำไมเราไม่ไปโรงเรียนล่ะ?  นั่นเป็นเพราะเรา “ไม่อยากไปโรงเรียน” คำตอบง่ายมาก…อึ้งเลยมั้ย 555

 

เรื่องเริ่มจากเราสอบมาเข้าเรียนที่นี่ตอนชั้นม.1 มีคนที่เป็นเด็กเก่าจับกันเป็นกลุ่มอยู่แล้ว พอเด็กใหม่อย่างเราเข้าไปมันรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นสิ่งแปลกปลอม เพื่อนก็คุยด้วยหรอกนะ แต่หาคนที่สนิทไม่ได้ จนเราเจอกับ “เจน” เด็กใหม่เหมือนกัน เคมีดีเข้ากันได้ เราเลยโอเคกับที่นี่ แม้หลักสูตรจะต่างกับโรงเรียนเก่า เรียนยากขึ้น การบ้านมากมาย ระเบียบเคร่งจนเกร็งไปหมด เราอึดอัดมาก แต่อย่างน้อยยังมีเจนที่เชื่อมเรากับโรงเรียนเอาไว้ ผลการเรียนเราไม่ดีเท่าไร แต่เราก็พยายามส่งงานนะ ทีนี้มันมีความซวยเกิดขึ้นเพราะเจนไปมีเรื่องทะเลาะกับเด็กเก่า เราเป็นเพื่อนสนิทช่วยเจนไฝว้เต็มที่ เรื่องจบที่เรากับเจนถูกแบน ตอนนั้นกังวลไปหมด อยู่โรงเรียนด้วยความหลอนว่าจะโดนบูลลี่เมื่อไร ช่วงนั้นอาม่าเราป่วยด้วย คนที่บ้านเครียดกัน ทุกเช้าก่อนที่จะไปโรงเรียนเราต้องนั่งทำใจฮึบ ๆ ให้ไป ใจเราอยากหยุดอยู่บ้านเพื่อดูแลอาม่าและเราไม่อยากต้องไปเจอกับเรื่องแย่ ๆ ที่โรงเรียน เราขอชมตัวเองว่าโคตรเก่งอ่า ไปโรงเรียนทุกวัน แม้บางคาบจะเรียนไม่รู้เรื่องเลย เราอดทนจนจบม.2 ได้ 

 

แต่พอขึ้นชั้นม.3 เจนลาออกไปเรียนต่อที่อื่น ตัดจบได้งงมาก เรารู้สึกเหมือนเจนหนีเอาตัวรอด ทิ้งเราไว้คนเดียว เคว้งของจริง เราเริ่มตื่นนอนให้มันสาย ๆ เพื่อที่จะไปโรงเรียนให้ช้าที่สุด ตอนอยู่ในโรงเรียนบางคาบเราโดดไปห้องสมุด นอนห้องพยาบาล ไม่คุยกับใครเพราะไม่มีคนสนใจเราอยู่แล้ว ส่งงานไม่ครบ หมดใจกับเรื่องเรียน หัวตื้อ คิดอะไรไม่ออก ความจำแย่ เศร้า ท้อแท้ บางทีคิดว่าถ้าหายตัวไปได้คงจะดี เพราะเราไม่มีความสุขเลย บางทีขอที่บ้านลาหยุดเพราะปวดหัว ปวดท้อง นอนซมไม่ทำอะไรในช่วงเช้า สาย ๆ เราเล่นเกม หาเพื่อนออนไลน์ ช่วยให้คลายเครียดได้ ที่บ้านพาไปรักษากับหมอหลายคน แต่อาการทางกายเราไม่ดีขึ้น จนวันหนึ่งครูประจำชั้นเรียกพบผู้ปกครองเพื่อแจ้งเรื่องเวลาเรียนเราไม่พอและไม่ส่งงาน ป๊าเราโกรธมากที่อุตส่าห์ส่งเรียนด้วยค่าเทอมที่แพง เราถูกด่าว่า “ไม่รักดี เกเร ทำให้คนที่บ้านผิดหวัง” อาม่ามาเสียชีวิตช่วงนั้นด้วย คนที่บ้านมองว่าเราเป็นตัวปัญหา ไม่มีใครเข้าใจความทุกข์ที่เรามี เราเหมือนอยู่ตัวคนเดียว ตอนเช้าป๊าไปส่งเราถึงหน้าโรงเรียน แต่เราก็โดดอยู่ดี พอป๊ารู้ความจริงเราถูกด่าหนักมาก 

 

วันที่พีคสุด เรากรี๊ด ร้องไห้ไม่หยุด เอาหัวโขกกำแพงจนหัวแตก คนที่บ้านตกใจรีบพาเราส่งโรงพยาบาล หลังจากเย็บแผลเสร็จ หมอส่งเราไปพบจิตแพทย์ “พี่หมอแมวน้ำ” เราเล่าเรื่องให้หมอฟัง บอกหมอว่าจะลาออก ไปเรียนกศน. หรือรอสอบ GED ตอนอายุ 16 ปี เราไม่อยากกลับเข้าระบบอีกแล้ว หมอวินิจฉัยว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล ต้องรักษาด้วยการกินยา ทำจิตบำบัด คุยให้คนที่บ้านเข้าใจและช่วยเหลือเรา หมอพยายามติดต่อประสานงานกับที่โรงเรียนเพื่อช่วยให้เรากลับไปเรียนได้ เรายังอิดออดอยู่ แต่หมอบอกไม่จำเป็นต้องไปเรียนทั้งวันก็ได้ แต่เริ่มกลับไปเรียน 1 คาบที่เราชอบที่สุดก่อน ค่อย ๆ เพิ่มเวลาที่อยู่โรงเรียน 

 

เราเลยจะมารีวิวสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ “ภาวะไม่อยากไปโรงเรียน” (school refusal) ให้เพื่อน ๆ ฟังกัน เผื่อใครมีอาการนี้ การพบจิตแพทย์ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นจริงนะ

สิ่งที่ต้องรู้ “เมื่อเด็กไม่อยากไปโรงเรียน”

เมื่อเด็กไม่ยอมไปโรงเรียน การช่วยเหลือที่สำคัญมาก คือ การช่วยให้เด็กสามารถกลับไปโรงเรียนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะยิ่งเด็กหยุดนานเท่าไร โอกาสที่เด็กจะกลับไปโรงเรียนได้จะยิ่งน้อย 

การที่เด็กไม่ยอมไปโรงเรียนนั้นมีสาเหตุเสมอ หากช่วยแก้สาเหตุและมีการช่วยเหลือที่เหมาะสม เด็กจะสามารถกลับไปเรียนได้ บางครั้งสาเหตุบางอย่างอาจเป็นสิ่งเล็กน้อยที่ผู้ใหญ่มองข้ามไป 

สาเหตุที่ทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน

ปัจจัยภายนอก 

 ถูกเพื่อนแกล้ง โดนล้อเลียน ถูกกีดกันออกจากกลุ่ม คิดว่าครูดุ ถูกทำโทษ การเรียนยาก การบ้านเยอะ ไม่ชอบสถานที่ ไม่ชอบบรรยากาศในโรงเรียน มีคนที่บ้านเจ็บป่วย ทำให้เด็กอยากอยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลา

ปัจจัยภายใน 

รู้สึกโดดเดี่ยวแปลกแยก ไม่มีใครเข้าใจ เรียนไม่รู้เรื่อง ทำไม่ได้ กลัวการถูกปฏิเสธ กลัวการถูกต่อว่า อยู่บ้านแล้วสบายใจกว่า ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ (เล่นเกม เล่นโซเชียลมีเดีย คุยกับเพื่อนออนไลน์ ฯลฯ)

โรคทางจิตเวช

โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคออทิสติกสเปกตรัม โรคสมาธิสั้น โรคบกพร่องทางการเรียนรู้เฉพาะด้าน (แอลดี) ระดับสติปัญญาบกพร่อง

ลักษณะอาการของเด็กไม่อยากไปโรงเรียน

  • เด็กจะบ่น ต่อรอง อิดออดขอไม่ไปโรงเรียนในตอนเย็นของวันก่อนหน้าที่จะต้องไปโรงเรียน ที่พบบ่อย คือ วันสุดท้ายของการหยุดยาว
  • บางทีเด็กจะบ่นตอนเย็นทุกวัน ดูวิตกกังวล กระวนกระวาย บางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าว เด็กอาจนอนไม่หลับ พยายามฝืนไม่ยอมนอน
  • ตอนเช้าของวันที่ต้องไปเรียนเด็กจะไม่ยอมลุกจากที่นอน โอ้เอ้ บ่นว่ามีอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว คลื่นไส้ จะอาเจียน ไม่ยอมอาบน้ำแต่งตัวหรือกินข้าว
  • เมื่อถูกบังคับเด็กจะร้องไห้ โวยวาย อาละวาด ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น ทำลายข้าวของ ยืนกรานไม่ยอมอย่างเดียว แม้จะให้เหตุผลหรือข้อเสนอต่างๆก็ตาม
  • หากผู้ปกครองสามารถพาขึ้นรถไปถึงโรงเรียนได้ เด็กอาจจะไม่ยอมลงจากรถ เมื่อพาเด็กเข้าห้องเรียนได้สำเร็จ เด็กจะสามารถเรียนได้ตามปกติ
  • หากเด็กได้หยุดอยู่บ้าน เมื่อผ่านช่วงเช้าที่เด็กต่อต้านการไปโรงเรียนแล้ว เด็กจะกลับมามีอารมณ์ปกติดี เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สามารถทำกิจกรรมที่เด็กชอบได้ เช่น เล่นเกม ดูทีวี
  • เด็กบางคนไม่ชอบให้ใครมาพูดถึงเรื่องการไปโรงเรียน เมื่อมีคนพูดถึงเรื่องนี้ เด็กจะมีท่าทีหงุดหงิด ขู่จะทำสิ่งต่างๆ เช่น ฆ่าตัวตาย, หนีออกจากบ้าน แต่บางคนจะให้สัญญากับผู้ปกครองว่าจะไปในวันรุ่งขึ้น แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่สามารถไปได้

การช่วยเหลือเพื่อให้เด็กกลับไปโรงเรียนได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และทางโรงเรียนวางแผนในการให้ความช่วยเหลือเด็กร่วมกัน

 

ตัวเด็ก

  1. สอบถามจากเด็กถึงสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ตอนที่พูดคุยกับเด็กต้องใจเย็น ไม่ควรคุยกันตอนที่มีอารมณ์ หลีกเลี่ยงการข่มขู่หรือตี หากเด็กให้เหตุผล สิ่งที่เด็กบอกอาจเป็นเหตุผลจริงๆ แต่บางครั้งอาจเป็นเหตุผลรองๆที่ไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง (แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กโกหก เพราะบางครั้งเด็กเองก็ไม่รู้เหมือนกัน) วิธีการสังเกตว่าเป็นเหตุผลนั้นเป็นสาเหตุที่แท้จริง คือ เมื่อแก้ที่สาเหตุแล้ว เด็กสามารถกลับไปเรียนได้ แต่หากเป็นเหตุผลรองๆ เช่น เด็กบางคนวิตกกังวลกลัวการแยกจากจากพ่อแม่ แต่เด็กบอกว่าไม่อยากไปโรงเรียนเพราะถูกเพื่อนแกล้ง เมื่อปรับสิ่งแวดล้อมแล้ว เด็กยังไม่ยอมไปอยู่ดี นั่นหมายถึงว่ายังไม่ได้แก้สาเหตุที่แท้จริง
  2. ในช่วงที่เด็กเริ่มยอมกลับไปโรงเรียน หากเด็กอยู่โรงเรียนเต็มวันไม่ได้หรือไม่ยอมเข้าห้องเรียน อาจให้เด็กไปเรียนเฉพาะชั่วโมงที่เด็กชอบก่อน หรือพาเด็กไปนั่งในโรงเรียน เช่น ห้องพยาบาล, ห้องสมุด ให้เด็กเป็นคนเลือกเองว่าตำแหน่งใดในโรงเรียนที่เด็กรู้สึกสบายใจ ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาที่เด็กอยู่ในโรงเรียน บางทีผู้ปกครองอาจต้องนั่งเฝ้าเด็กที่โรงเรียน
  3. ให้เด็กเลือกเพื่อนที่เด็กชอบมานั่งเรียนด้วยกัน เลือกตำแหน่งโต๊ะนั่งที่สบายใจ
  4. อนุญาตให้เด็กพกสิ่งของที่ปลุกปลอบใจไปโรงเรียนด้วยได้ เช่น ตุ๊กตาที่ชอบ, รูปภาพคนในครอบครัว
  5. หากได้พยายามทุกวิธีแล้ว แต่เด็กยังไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ควรรีบพาเด็กมารับการประเมินและรักษากับผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กุมารแพทย์ เพราะบางทีสาเหตุที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียนนั้นมาจากโรคทางจิตเวช หรือสาเหตุของปัญหาซับซ้อนมาก จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือรักษาให้ดีขึ้น เด็กถึงจะไปโรงเรียนได้

ผู้ปกครอง

  1. คำพูดต้องหนักแน่น จริงจัง ยืนยันว่าเด็กต้องไปโรงเรียน คุยกับเด็กด้วยคำพูดที่แสดงความเข้าใจและความพยายามที่จะช่วยเด็กแก้ปัญหา บอกเด็กถึงขั้นตอนของการไปโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น เช่น พรุ่งนี้จะตื่นกี่โมง, ใครจะเป็นคนไปส่ง, ไปรับกี่โมง ซึ่งผู้ปกครองต้องทำให้ได้ตามที่ตกลงสัญญากับเด็ก
  2. วันไหนที่เด็กสามารถไปโรงเรียนได้ให้ชื่นชม ให้กำลังใจ ไม่ควรพูดรื้อฟื้นเรื่องในอดีตหรือถากถาง
  3. ตอนเช้าของวันที่ต้องไปโรงเรียนให้พาเด็กลุกจากที่นอน เด็กบางคนอาจต่อต้านไม่ยอมลุก หรือก้าวร้าว ผู้ปกครองต้องไม่ตอบโต้ด้วยคำพูด แต่ใช้การกระทำที่จะพาเด็กไปโรงเรียนแทน หากเป็นเด็กเล็ก ให้อุ้มเด็กไปอาบน้ำ แต่งตัว ถ้าเด็กไม่ยอมร่วมมือให้อุ้มไปทั้งชุดนอน แล้วค่อยไปแต่งตัว กินข้าว ที่โรงเรียน โดยประสานงานนัดแนะกับครูให้มารับที่หน้าโรงเรียนหรือตำแหน่งอื่นๆที่ทั้งครูและผู้ปกครองสะดวก กรณีที่เป็นเด็กโตจับตัวไปยาก เมื่อคุยด้วยเหตุผลแล้วเด็กไม่ยอมไป ต้องมีบทลงโทษตามมา โดยคุยตกลงกับเด็กไว้ก่อน เช่น ถ้าไม่ไปโรงเรียนต้องงดใช้อินเตอร์เน็ตในวันนั้น แต่หากไปโรงเรียนได้ กลับมาบ้านจะให้เล่นเกมได้หลังจากทำการบ้านเสร็จ หากเด็กอาละวาด ให้ติดต่อจิตแพทย์แล้วพาส่งโรงพยาบาล
  4. พยายามหาคนอื่นมาช่วย กรณีที่จะพาเด็กขึ้นรถต้องอาศัยหลายคนร่วมกัน เช่น คนจับแขน จับขา คนขับรถ
  5. สิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยากที่สุด คือ ห้ามใจอ่อนยอมให้เด็กต่อรอง เช่น วันนี้ขอหยุดแล้วพรุ่งนี้จะยอมไป ต้องใจแข็ง แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองเอาจริง หรือหากเด็กไม่ยอมไปจริงๆแล้วต้องอยู่บ้าน ห้ามให้เด็กได้ทำในสิ่งที่เด็กชอบ เช่น เล่นเกม เพราะจะเสมือนเป็นการทำให้เด็กได้รางวัลจากการที่ไม่ไปโรงเรียน
  6. คนรอบตัวเด็กต้องมีความเห็นตรงกัน คือ “เด็กต้องไปโรงเรียน” ไม่ใช่คนนี้จะบังคับให้ไป อีกคนใจอ่อนยอมให้หยุดเรียน

โรงเรียน

  1. ช่วยหาและแก้สาเหตุที่เป็นอุปสรรคต่อการไปโรงเรียนของเด็กเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมีการประสานงาน หารือ ตกลงวิธีการช่วยเหลือเด็กร่วมกันกับผู้ปกครอง
  2. เมื่อเด็กยอมไปโรงเรียน หลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในเชิงลบ 
  3. ทำความตกลงกับคุณครูท่านอื่น และเพื่อนๆ ว่างดการล้อเลียน พูดตำหนิ หรือถามเด็กว่าทำไมไม่ยอมมาโรงเรียน
  4. ในช่วงต้นของการพาเข้าห้องเรียน เด็กอาจมีอาการร้องไห้ โวยวาย อาละวาดได้ ลองให้เด็กอดทนอยู่ในห้องเรียนสัก 5-10 นาที ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้พาเด็กไปพักที่ห้องพยาบาล ห้องสมุดหรือห้องพักครู แต่ไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองมารับเด็กกลับบ้าน
  5. ในช่วงแรกที่เด็กยอมกลับไปนั่งในห้องเรียน หากในชั่วโมงเรียนเด็กดูกังวล หรือยังไม่ยอมทำงานตามที่ครูสั่ง พยายามหลีกเลี่ยงการดุด่า อาจให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่เด็กชอบก่อน (เป็นกิจกรรมที่ไม่รบกวนการเรียนการสอน) เช่น วาดรูป
  6. หากเด็กมีงานค้างจากวันที่หยุดเรียน อาจเลื่อนวันส่งออกไป หรือลดปริมาณลง เพื่อให้เด็กสามารถทำงานส่งตามได้ทัน

เราเห็นความพยายามของคนที่บ้านกับครูที่ช่วยเราทุกอย่างแล้วจริง ๆ เราร่วมมืออยู่ ตอนนี้วันที่ไปโรงเรียนได้ เริ่มมีเพื่อนมาคุยด้วย เสนอตัวช่วยเหลือ ครูไม่ได้เคร่งกับเราเหมือนก่อนหน้า ลดปริมาณงาน ให้ส่งช้าได้ ทำให้เรากล้าที่จะเข้าไปเรียน เราตั้งใจว่าจะเรียนให้จบม.3 พร้อมเพื่อน ส่วนมัธยมปลายค่อยว่ากันอีกที

ใครมีปัญหาเรื่องไม่อยากไปโรงเรียนลองคุยกับเราหรือปรึกษาพี่หมอแมวน้ำได้เลย คอมเมนต์กันมา เราอยากตอบ:))

Referencehttps://www.psychologytoday.com/the-truth-behind-school-refusalhttps://www.childpsychologist.com.au/resources/adolescent-school-refusalhttps://www.apa.org/monitor/2023/09/tackling-school-avoidancehttps://www.frontiersin.org/articles/10.3389/feduc.2021.715177/full

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

 

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น