Teen Coach EP.99 : ฝึกเป็นนักสู้ปัญหาด้วยการ 'ไม่เลี่ยงปัญหา!'

ใครเคยเจอกับเหตุการณ์แบบนี้บ้าง?

  • ไม่ชอบครูสอนเลขเพราะครูชอบมาแก้การบ้านที่ส่ง แดงเถือกทั้งหน้า เลยไม่ส่งการบ้านจะได้ไม่เครียด
  • เลื่อนผัดวันการทำงานออกไป เพราะมันยาก แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว สุดท้ายมาทำงานวินาทีสุดท้าย คุณภาพงานห่วย ทำงานกลุ่มก็ถูกเพื่อนด่า คะแนนเก็บก็แย่
  • มีงานสำคัญให้ทำแต่เลี่ยงไปทำอย่างอื่นก่อนด้วยเหตุผลร้อยแปดที่มาอ้างได้
  • เครียดหลายเรื่อง แต่ไม่แก้ปัญหา ใช้วิธีดูดพอด กินเหล้า เข้าปาร์ตี้ ช้อปกระจาย ติดเกม ไถโซเชียลตลอด เพื่อให้ลืม ๆ เรื่องที่เครียด
  • ไม่ชอบบางคนเลยเลี่ยงไม่เจอ ไม่ตอบ ไม่รับสาย
  • ไม่มั่นใจเวลาพูดในที่สาธารณะ เลยเลี่ยงไม่พรีเซนต์งานใด ๆ
  • ไม่อยากรู้จักกับคนใหม่ ๆ เลยแยกตัว ไม่เข้าสังคม
  • ตอบรับนัดไป พอถึงเวลานัดจริงก็ขอเลื่อน/ติดต่อไม่ได้
  • กังวลว่าตัวเองจะป่วยเป็นโรคทางกาย เลยไม่ไปตรวจสุขภาพ ไม่อยากรู้ผล

พฤติกรรมเหล่านี้เป็นวิธีการจัดการกับความกังวลเมื่อเราต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบ เรียกว่ากลไกการเลี่ยงหนี (Avoidance Mechanisms) บางคนทำไปด้วยความจงใจรู้ตัว แต่บางคนไม่ยอมรับว่ากำลังเลี่ยงบางสิ่งอยู่ ในระยะสั้นการเลี่ยงหนีช่วยลดความกังวลในเรื่องนั้นได้ แต่ถ้าสะสมไว้ไม่แก้สิ่งที่เป็นปัญหาเพราะไม่อยากเครียด  ความเสียหายจะพอกเพิ่มขึ้น เช่น เลี่ยงการทำงานที่ไม่ถนัด สุดท้ายไม่มีงานส่ง ต้องติด “ร” เลี่ยงการคุยกับเพื่อนสนิทเพราะความเห็นขัดแย้ง เวลาผ่านไปความสัมพันธ์ห่างกันมาก กลับกลายเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกัน เสียเพื่อนไปเลย

ประเภทของการเลี่ยงหนี (Avoidance Mechanisms)

1.เลี่ยงสถานการณ์บางอย่าง (Situational Avoidance)

ในอดีตเคยรู้สึกแย่จากบางสถานการณ์ ตอนนี้ถ้าเลี่ยงได้จะหนีไปไกล ๆ เช่น ตอนเรียนชั้นประถมวิชาภาษาอังกฤษ ครูให้อ่านบทความออกเสียง ทั้งครูและเพื่อนหัวเราะเยาะใส่ อับอายมาก ทำให้เกลียดวิชานี้ โดดได้เป็นโดด เคยมีร้านประจำที่ไปกับแฟนเก่าบ่อย พอโดนเทเลยเลี่ยงไม่ไปแถวนั้นอีกเลย

2. เลี่ยงที่จะนึกถึงเรื่องบางอย่าง (Cognitive Avoidance)

 เมื่อเจอกับเรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่ดี เป็นภัยคุกคาม สมองจะจดจำเรื่องนั้นไว้ เมื่อต้องเจอกับคน สิ่งของสถานที่ ที่อาจจะทำให้นึกถึงความเจ็บปวดนั้นอีก สมองจะปกป้องตัวเองด้วยการผนึกปิดความทรงจำ เบลอ ไม่ให้จำได้ชัด ๆ เช่น ทะเลาะรุนแรงเลิกกับแฟนที่ร้านกาแฟ ครั้งต่อไปมาทำงานที่ร้านนี้ หัวตื้อ ๆ กระสับกระส่าย คิดแต่เรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงาน จนนั่งทำงานไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร

3. เลี่ยงการเจอกับเรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย (Protective Avoidance)

 บางเรื่องเรามองว่ามีสิ่งที่ทำให้ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย หากไม่จัดการอะไรสักอย่าง อาจนำไปสู่ผลลัพธ์แย่ ๆ ได้ เมื่อเราไม่สามารถอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมสิ่งนั้นได้ เช่น การอยู่เฝ้าห้อง ปิดน้ำปิดไฟ สาดน้ำยาฆ่าเชื้อป้องกันเชื้อโรค เราจะมีพฤติกรรมที่ทำเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองว่า “ฉันได้ทำทุกอย่างเพื่อป้องกันอย่างเต็มที่แล้ว” เช่น ก่อนออกจากห้องเช็คกลอนประตูครบ 10 รอบถึงจะมั่นใจออกจากบ้าน ล้างมือซ้ำ ๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรค พฤติกรรมกลุ่มนี้บางครั้งอาจเปลี่ยนเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD-Obsessive Compulsive Disorder) ได้

4. เลี่ยงไม่ให้มีอาการทางกายคล้ายกับตอนที่กังวลกลัว (Somatic Avoidance)

 เวลาที่เรากังวล เครียด กลัว ร่างกายจะมีปฏิกิริยาที่ตามมา (Physical Responses) เช่น ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม ร้อนวูบวาบที่หน้า ปวดท้องปวดหัว ซึ่งเป็นความรู้สึกที่แย่ ไม่สบายตัวอย่างมาก ดังนั้นเราจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกันนี้ เช่น ไม่ลองทำกิจกรรมที่ยังไม่เคยทำ ไม่ทำความรู้จักกับคนกลุ่มใหม่ ไม่ดูหนังที่ทำให้ตื่นเต้น กลายเป็นคนที่ชีวิตมีเงื่อนไขยุ่งยาก ข้อจำกัดเยอะ คนรอบตัวเบื่อที่จะเรียกหรือชวนไปทำสิ่งต่าง ๆ ส่งผลกับคุณภาพความสัมพันธ์ได้

5. เลี่ยงสิ่งที่ไม่ชอบด้วยการใช้สิ่งอื่นทดแทน (Substitution Avoidance)

 หากต้องไปเผชิญกับสิ่งที่กังวลกลัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ จะมีการใช้สิ่งอื่นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ บางครั้งสิ่งนั้นนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แย่กว่าเดิม เช่น ตอนเข้าสังคมต้องกินเหล้าย้อมใจก่อน อ่านหนังสือไปดูดพอดรัว ๆ ไปด้วย กลายเป็นว่าติดสารเสพติดที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ

ผลที่ตามมาจากการเลี่ยงหนี (Avoidance Mechanisms)

คนที่ใช้การเลี่ยงหนีบ่อย ๆ ชีวิตจะอยู่แต่ใน safe zone ที่มั่นใจชัวร์ว่าเราเอาอยู่ มีข้อจำกัดเงื่อนไขในชีวิตเยอะ จนกลายเป็นคนที่ยาก นั่นนู่นนี่ก็ไม่ได้ ทำให้เราเสียโอกาสที่จะไปเจอสิ่งที่อาจจะดีหรือได้เรียนรู้เรื่องราวและวิธีการใหม่ มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคนอื่น มีปัญหาสะสมไว้ใต้พรมรอวันระเบิด เช่น อยู่แต่กับเพื่อนสนิทแค่ 1 คน ไม่ไปทำความรู้จักกับกลุ่มคนแปลกหน้า เลยไม่มีคอนเน็คชั่นเพิ่ม ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นยาก หรือเวลาที่ต้องออกมาจาก safe zone มีโอกาสสติแตก ตื่นตัว ไม่เป็นตัวเอง มีพฤติกรรมผิดไปจากเดิม เช่น ไม่สบตาคน เสียงสั่น มือไม้อยู่ไม่สุข คุยไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้ยังมีผลต่ออารมณ์ด้วย เช่น สมองชาดึงสติกลับไม่ได้ เลยบอกอารมณ์ตัวเองไม่ถูกว่ารู้สึกอย่างไร (alexithymia) เลยจัดการตัวเองยาก มีอารมณ์ท่วมท้น (overwhelming) ตลอดเวลา ทำให้สมองส่วนเหตุผลไม่ทำงาน

การเลี่ยงหนีแม้จะหยุดความกังวลนั้นได้ชั่วคราว แต่ปัญหาที่มีไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งจะกลายเป็นความเครียดสะสมเรื้อรัง อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยด้านจิตใจได้ เช่น โรควิตกกังวล (Anxiety disorder) โรคซึมเศร้า (Depression) การติดสารเสพติด (Substance Use Disorder)

กลไกรับมือที่ต้องแยกกับการเลี่ยงหนี คือ การเบี่ยงเบนความสนใจ (Distraction) ซึ่งกลไกนี้เป็นหนึ่งในกลไกเลี่ยงหนีแบบชั่วคราว ใช้ไม่นานเพื่อสงบสติอารมณ์กลับมาตั้งหลักก่อนที่จะไปเผชิญแก้ปัญหาต่อ เช่น เข้าไปหลบในห้องน้ำก่อนออกมาเจอกับเพื่อนที่ขัดแย้งกัน เพื่อคุยกันด้วยเหตุผลแก้ปัญหา แทนที่จะหนีออกจากร้านไปเลย

ทำอย่างไรไม่ให้เราใช้วิธีเลี่ยงหนีจนเกิดผลเสีย

1. สังเกตการรับมือของตัวเองเวลาที่เจอปัญหา

 คนเรามักใช้วิธีแบบเดิมในการแก้ปัญหา ให้ลองสังเกตและบันทึกดูว่าเวลาที่เราเจอกับปัญหา เรามีการตอบสนองอย่างไร เช่น ไม่เข้าใจวิชาเคมี มีการบ้านทำโจทย์เกือบร้อยข้อ บางคนไปเรียนพิเศษ จ้างติวเต้อร์ อ่านทำความใจเพิ่มเพื่อให้ทำได้ เป็นการจัดการกับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา แต่บางคนรอลอกเพื่อนวันสุดท้าย หรือไม่ทำไม่ส่งไปเลย เป็นการใช้วิธีเลี่ยงหนี

2. หากใช้วิธีเลี่ยงหนีให้ยอมรับ

 คนส่วนใหญ่ต้องเคยใช้กลไกนี้จัดการกับปัญหาบางอย่างทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เมื่อกลับมาดูสิ่งที่เราบันทึกไว้ ถ้าทำบ่อยต้องระลึกรู้ตัวว่าการเลี่ยงหนีจะนำไปสู่ปัญหาอะไรต่อ ถามตัวเองว่าเรากำลังเบี่ยงเบนความสนใจถอยไปตั้งหลัก (distraction) หรือหนีอย่างจริงจังแล้วไม่แก้ปัญหา

3. จูงใจตัวเองไปใช้วิธีอื่นที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

การปรับพฤติกรรมที่ได้ผลต้องมีแรงจูงใจมากพอในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทบทวนดูว่าที่ผ่านมา “การเลี่ยงหนี” ของเรานำไปสู่ผลลัพธ์อะไร ปัญหาได้รับการแก้ไขมั้ย เราต้องเสียอะไรไปบ้างจากการเลี่ยงหนีบ่อย ๆ เขียนข้อดีข้อเสีย ชั่งน้ำหนักว่าในเมื่อการเลี่ยงหนีมันมีผลเสียหลายอย่าง เราเลือกที่จะใช้วิธีนี้ต่อจริงหรือ ชีวิตจะพังมั้ยนะ แต่ถ้าเราปรับไปใช้วิธีการอื่น ผลลัพธ์อาจดีกว่าเดิมก็ได้

4. เมื่อเกิดปัญหาต้องเข้าใจตัวเอง

ความเข้าใจในที่นี้ คือ การเท่าทันรู้ความคิดตัวเองที่เกิดตอนเผชิญกับปัญหาและอารมณ์ที่พ่วงตามมา มีพฤติกรรมอะไร อาการทางกายใดบ้าง เช่น ครูให้การบ้านเลขมาต้องทำส่งวันพรุ่งนี้ ความคิดแว้บแรกที่เกิดขึ้น “เราโง่ ทำไม่ได้หรอก” ทำให้เรารู้สึกเสียใจ เศร้า ไม่อยากเปิดหยิบมาทำเพราะจะตอกย้ำตัวเองไปกันใหญ่ มีอาการใจสั่นหวิว เหงื่อแตกเกิดขึ้น เลยตัดสินใจไม่เอาการบ้านกลับไปทำ พรุ่งนี้จะได้บอกครูว่าที่ไม่มีงานส่งเพราะลืมเอากลับไปทำ หากลองกลับไปคิดที่มาของความคิดแว้บแรกน่าจะเป็นเพราะตอนป.1 ครูเลขให้ออกไปทำโจทย์หน้าห้อง เราทำไม่ได้ ครูเลยพูดว่า “เธอโง่จัง” แล้วหัวเราะ เพื่อนในห้องผสมโรง ทำให้มีแผลใจกับวิชานี้

5. สู้กับตัวเองไม่ให้เลี่ยงหนี

 เมื่อเราทำความใจตัวเองว่าแต่ละสถานการณ์เรารับมืออย่างไร สิ่งใดทำให้เราเลี่ยงหนี ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม และอาการทางกายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร หากเรากำลังจะเลี่ยงหนีอีกครั้ง ให้ทบทวนให้ดีว่าวิธีนี้ไม่ช่วยแก้ปัญหา แถมยังสร้างปัญหาเพิ่มอีก ความกังวล ตกใจ เสียใจ หรืออารมณ์ลบที่เกิดขึ้น มันผ่านมาและจะผ่านไป หากเราอดทนมากพอ ปรับเปลี่ยนวิธี ผลลัพธ์ที่ออกมาน่าจะดีต่างจากเดิม ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำเท่าที่ได้ ไม่ต้องรีบเปลี่ยนตัวเองในชั่วข้ามวัน เพราะอาจทำให้รู้สึกเฟลจากการที่ทำไม่ได้ ต่อว่าด่าทอตัวเอง กลายเป็นหมดแรงใจที่จะเปลี่ยนวิธีการ

6. หากลองแก้เองไม่ได้ผลให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญ

หลายครั้งที่เราต้องเจอกับเรื่องทำร้ายจิตใจ (Traumatic Events) จนกลายเป็นแผลใจที่ฝังลึก เช่น การถูกบูลลี่ คนอื่นแสดงท่าทีไม่ยอมรับ ไม่ช่วยเหลือ ทำให้เราเลือกที่จะเลี่ยงหนีเพราะไม่อยากเจ็บแผลใจ บางคนอาจเป็น PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) ที่การเลี่ยงหนี (Avoidance) เป็นหนึ่งในอาการของโรค คนที่ช่วยให้เราปรับเปลี่ยนวิธีได้ คือ ผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ที่จะพาเราสำรวจจิตใจตัวเอง ซักประวัติ ตรวจสภาพจิต ให้การวินิจฉัย และการรักษา หรือต่อให้เรายังไม่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช การคุยกับผู้เชี่ยวชาญจะทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น รู้วิธีการ ได้รับคำแนะนำในการแก้ปัญหาที่ดีกว่าเดิม

พี่หมอแมวน้ำอยากชวนให้น้อง ๆ สังเกตวิธีการจัดการแก้ปัญหาในแต่ละสถานการณ์ของตัวเองดูว่ามันเวิร์กมั้ย หากน้องคนไหนเริ่มเห็น patterns ตัวเองว่าชอบใช้วิธีการเลี่ยงหนี ให้เขียนบันทึก เพื่อวิเคราะห์และทำความเข้าใจตัวเอง ถ้าปมปริศนายังแก้ไม่ออก ลองเปลี่ยนวิธีแล้วยังไม่ได้ผลเสียที บอกพี่หมอแมวน้ำที่คอมเมนต์ใต้นี้ได้เลยค่ะ

Referencehttps://thepsychologygroup.com/how-to-avoid-avoidance/https://www.verywellmind.com/avoidance-coping-and-stress-4137836https://www.betterhelp.com/advice/behavior/10-strategies-for-avoidant-coping/https://www.choosingtherapy.com/avoidance-behavior/

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น