“ครูกิ๊ฟ กุลธิดา” ทิ้งฝันวัยเด็ก เลือกเรียนครูเพื่อครอบครัว สู่เจ้าของเว็บไซต์ ktd.in.th รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ

“ครูกิ๊ฟ กุลธิดา” ทิ้งฝันวัยเด็ก เลือกเรียนครูเพื่อครอบครัว สู่เจ้าของเว็บไซต์ ktd.in.th รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ

ปัจจุบันผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชื่อโดเมนภายใต้รหัส .th และ .ไทย ซึ่งถือเป็นชื่อโดเมนระดับบนสุดประเภทรหัสประเทศ มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC) จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทำเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th” เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ชื่อโดเมน .th และ .ไทย ให้แก่บุคลากรทางการศึกษา เพื่อร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่นักเรียนได้อย่างทั่วถึง  

โครงการฯ นี้ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นครูไอทีเท่านั้น ครูทุกสาขาวิชาสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ในปีนี้มีการจัดอบรมต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีครูเข้าอบรมทั้งสิ้น 506 คน  และได้มีการตัดสินผลงานเว็บไซต์ของครูผู้เข้าอบรมเพื่อรับรางวัลในระดับประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ผู้ชนะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และโอกาสนี้ คอลัมน์ The Success การเรียนรู้สู่ความสำเร็จ ของ Dek-D ได้สัมภาษณ์ “ครูกิ๊ฟ - กุลธิดา สุภามงคล” ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ถึงแนวคิดการทำงาน และแรงบันดาลใจในการจัดทำเว็บไซต์ มาทำความรู้จักครูท่านนี้ไปพร้อมๆ กันค่ะ

“ครูกิ๊ฟ กุลธิดา” ทิ้งฝันวัยเด็ก เลือกเรียนครูเพื่อครอบครัว สู่เจ้าของเว็บไซต์ ktd.in.th รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ
“ครูกิ๊ฟ กุลธิดา” ทิ้งฝันวัยเด็ก เลือกเรียนครูเพื่อครอบครัว สู่เจ้าของเว็บไซต์ ktd.in.th รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ

อยากเรียนสัตวศาสตร์ แต่ที่บ้านอยากให้เรียนครูเพื่อความมั่นคง

ปัจจุบัน ครูกิ๊ฟ เป็นครูผู้สอนรายวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี (เพิ่มเติม) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อยู่ที่โรงเรียนอนุบาลลำปาง (เขลางค์รัตน์อนุสรณ์) เดิมทีครูกิ๊ฟมีความฝันอยากเรียนต่อด้านสัตวศาสตร์ แต่ครอบครัวเล็งเห็นว่า เรียนครูน่าจะมีความมั่นคงมากกว่า จึงตัดสินใจเลือกเดินตามเส้นทางที่ครอบครัวต้องการ แต่ถึงอย่างนั้นครูกิ๊ฟก็มีความสุขที่ได้เลือกเดินในเส้นทางนี้ เพราะอย่างน้อยก็ได้ทำอีกหนึ่งสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบเหมือนกัน นั่นคือ การที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากตั้งแต่สมัยมัธยมมีความชื่นชอบด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อต้องเรียนต่อจึงเลือกเรียนเป็น ‘ครูคอม’ โดยเฉพาะ เพราะเชื่อว่า การได้ทำงานไปพร้อมกับสิ่งที่ชอบจะทำให้การทำงานนั้นมีความสุข  

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ครูกิ๊ฟเคยสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านแม่แดดน้อย เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ตั้งอยู่บนพื้นที่ห่างไกล ในอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ครูกิ๊ฟเล่าว่า การสอนวิชาคอมพิวเตอร์ให้กับเด็กๆ ที่อยู่บนดอยนั้นค่อนข้างลำบากมาก ถึงแม้จะมีคอมพิวเตอร์พร้อมเรียนรู้ แต่ก็ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี ไฟฟ้าดับบ่อย ทำให้นักเรียนไม่สามารถเรียนกับคอมพิวเตอร์ได้ ครูส่วนใหญ่จึงทำได้เพียงสอนผ่าน PowerPoint บนโน้ตบุ้ค หรือสื่อทำมือที่จัดทำขึ้นเอง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เหมือนกับเด็กโรงเรียนอื่นๆ  

ครูกิ๊ฟ - กุลธิดา สุภามงคล ครูผู้สอนรายวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี (เพิ่มเติม) โรงเรียนอนุบาลลำปาง (เขลางค์รัตน์อนุสรณ์)
ครูกิ๊ฟ - กุลธิดา สุภามงคล ครูผู้สอนรายวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี (เพิ่มเติม) โรงเรียนอนุบาลลำปาง (เขลางค์รัตน์อนุสรณ์)

หลังจากที่เป็นครูสอนเด็กอยู่บนพื้นที่ห่างไกลได้ 6 ปี ครูกิ๊ฟก็ได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนอนุบาลลำปาง (เขลางค์รัตน์อนุสรณ์)  เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด สำหรับวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี (เพิ่มเติม) ที่ครูกิ๊ฟสอนจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมภาษา Python ซึ่งความสำคัญของวิชานี้ครูกิ๊ฟมองว่าจะเป็นการปูพื้นฐานการแก้ปัญหาด้วยการเขียนโค้ดให้กับนักเรียน เมื่อเขาไปเรียนต่อในระดับมัธยมจะทำให้เขาเรียนรู้ได้เร็วมากขึ้น และด้วยความที่นักเรียนส่วนใหญ่มีอุปกรณ์พร้อม และเคยผ่านการเรียนออนไลน์มาแล้ว ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อที่เป็นเทคโนโลยีก็ทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ครูกิ๊ฟเกิดไอเดียอยากทำเว็บไซต์เป็นสื่อการเรียนการสอนให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาขึ้นมา  

โดเมน .th ช่วยให้จำง่าย เด็กนักเรียนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ไวกว่า

ครูกิ๊ฟเล่าว่า โดยปกติจะใช้เว็บไซต์เป็นสื่อการสอนให้นักเรียนอยู่แล้ว แต่เดิมทีการทำเว็บไซต์บน Google Site จะมีชื่อโดเมนที่ค่อนข้างยาว เวลาให้นักเรียนเข้ามาใช้งานเว็บไซต์ของครู ต้องเสียเวลาพิมพ์ URL นานมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อชั่วโมงเรียน ครูจึงทำ shortcut ไว้บนหน้าหลักของคอมพิวเตอร์ เพื่อให้นักเรียนสามารถคลิกใช้งานได้เลย แต่เวลาที่นักเรียนต้องกลับไปทำแบบฝึกหัด หรือทบทวนบทเรียนที่บ้าน ปัญหาที่ตามมาคือเขาจำชื่อโดเมนไม่ได้ ซึ่งหลังจากที่เข้าอบรมกับโครงการฯ ครูกิ๊ฟได้รับโดเมนที่เป็นทั้งชื่อภาษาไทยและอังกฤษ ทั้งยังเป็นชื่อโดเมนสั้นๆ จึงทำให้นักเรียนจำได้ง่าย และสามารถเข้าใช้งานเว็บไซต์ได้รวดเร็วขึ้น

โดยเว็บไซต์ www.ktd.in.th หรือ www.เคทีดี.ไทย ของครูกิ๊ฟ เริ่มจากการทำวิจัยในชั้นเรียน ปัญหาการเรียนของเด็กประถม แล้วพบว่า เนื้อหาในหลักสูตรของโรงเรียนที่ให้สอน อย่างเรื่องการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Python ไม่มีหนังสือเรียนหรือแบบฝึกหัดที่เหมาะสมกับเด็กประถม ครูกิ๊ฟต้องนำความรู้จากหนังสือหลาย ๆ เล่ม มาสรุปให้เข้าใจง่าย ประยุกต์ให้เหมาะกับเด็กประถมมากที่สุด และจัดทำสื่อการสอนขึ้นมาเอง ภายในเว็บไซต์ประกอบไปด้วย บทเรียน, แบบฝึกหัดก่อน-หลังเรียน, บันทึกความก้าวหน้าของนักเรียน, สาระความรู้เพิ่มเติม, แนะนำเว็บไซต์สำหรับการเรียนรู้ รวมทั้งคู่มือการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อให้นักเรียนสามารถศึกษาวิธีการใช้งานเว็บไซต์ย้อนหลังด้วยตัวเองได้

หน้าเว็บไซต์บทเรียนออนไลน์  www.ktd.in.th
หน้าเว็บไซต์บทเรียนออนไลน์  www.ktd.in.th

ระหว่างการจัดทำเว็บไซต์ ครูกิ๊ฟมีการค้นคว้าข้อมูลเรื่องการติดตั้งปลั๊กอินเพิ่มเติม เนื่องจาก Google Site เป็นฟอร์มแบบใหม่อาจจะยังมีปลั๊กอินไม่เยอะมาก จึงอาศัยการศึกษาค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต ดูคลิปใน YouTube ทั้งของคนไทยและต่างประเทศ และลองนำมาปรับใช้กับเว็บไซต์ของตัวเอง ลองผิดลองถูกหลายครั้ง ซึ่งในระหว่างที่จัดทำเว็บไซต์ครูกิ๊ฟเล่าว่า ยังไม่พบเจอปัญหาอะไร แต่เมื่อนำไปใช้งานจริงกลับพบปัญหา นั่นคือ เวลาเรียนในห้องนักเรียนต้องเปิดหน้าจอสลับไปมาระหว่างเว็บไซต์ของครูกับโปรแกรมเขียนโค้ด ครูจึงพัฒนาและหาปลั๊กอินเสริมที่ช่วยให้เด็กสามารถเขียนโค้ด หรือทำแบบฝึกหัดบนเว็บไซต์พร้อมกันในหน้าเดียว ซึ่งใช้ระยะเวลาปรับปรุงหลายครั้งมากกว่าจะได้เว็บไซต์ที่สมบูรณ์แบบ และใช้ในการเรียนการสอนจนถึงทุกวันนี้  

จากเว็บไซต์เรียนออนไลน์ สู่ E-Portfolio ที่นักเรียนจำเป็นต้องใช้

ในอนาคตจะมีการพัฒนาต่อยอดเว็บไซต์เป็นบทเรียนออนไลน์เรื่องใหม่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการทำ E-Portfolio (แฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์) ให้กับนักเรียน โดยใช้ความรู้การทำ Google Site ที่ได้จากการอบรมและขวนขวายด้วยตัวเองมาสอน พร้อมทั้งปรับเนื้อหาให้เข้าใจง่ายขึ้น เพื่อให้เหมาะกับเด็กประถม เนื่องจากในอนาคตนักเรียนต้องไปสมัครเรียน จึงจำเป็นต้องมีแฟ้มสะสมผลงานเป็นของตัวเอง ซึ่งถ้าทำในรูปแบบเว็บไซต์ก็สามารถปริ้นท์ออกมาเป็นเล่มได้ หรือโชว์เป็น E-Portfolio ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด แม้หน้าตาอาจจะไม่ได้ออกมาสวยงาม แต่ถ้านักเรียนมีพื้นฐานการทำเว็บไซต์ด้วยตัวเองแล้ว เวลาไปเรียนต่อในระดับมัธยมก็สามารถเอาความรู้ที่มีอยู่ไปต่อยอดได้ไม่ยาก  

ทั้งนี้ ครูที่สนใจอยากทำเว็บไซต์เป็นสื่อการสอนให้กับนักเรียน ครูกิ๊ฟได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ต้องคำนึงถึงช่วงวัยและประสบการณ์การใช้เว็บไซต์ของนักเรียนเป็นหลัก เช่น ครูกิ๊ฟสอนเด็กประถม การออกแบบเว็บไซต์ต้องจัดสรรหน้าเว็บไซต์ให้จบในหน้าเดียว ไม่ซับซ้อน เพื่อง่ายต่อการเรียนรู้ของเด็ก อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ข้อมูลที่ต้องการให้เด็กรับรู้ หากทำเป็นเว็บไซต์ที่ใช้ในการเรียนการสอน ข้อมูลที่ใส่ลงไปก็ควรจะเป็นเนื้อหาที่ใช้สอนเป็นหลัก ไม่ควรแทรกข้อมูลอื่นเข้ามา หรือถ้ามีความจำเป็นต้องใส่จริงๆ ก็ควรทำเป็นเมนูแยกให้ชัดเจน เพื่อลดความสับสนของเด็กที่อาจเกิดขึ้นได้  

การทำเว็บไซต์เป็นสื่อการสอนต้องคำนึงถึงช่วงวัยและประสบการณ์การใช้เว็บไซต์ของนักเรียนเป็นหลัก 
การทำเว็บไซต์เป็นสื่อการสอนต้องคำนึงถึงช่วงวัยและประสบการณ์การใช้เว็บไซต์ของนักเรียนเป็นหลัก 

ครูที่ดี ควรให้ความสำคัญกับเด็กเป็นหลัก

สำหรับครูที่กำลังจะทำเว็บไซต์ หรือว่าอยากมีสื่อการสอนของตัวเอง สิ่งแรกที่ครูกิ๊ฟอยากฝากก็คือ  เราจะประสบความสำเร็จได้ เราต้องลงมือทำอย่างมีเป้าหมาย และขอฝากโครงการดีๆ อย่างการทำเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th ที่ในอนาคตจะมีการเปิดอบรมเป็นปีที่ 2 โครงการนี้จะช่วยสานฝันให้ครูมีเว็บไซต์ที่สามารถนำไปสอนเด็กได้จริง ซึ่งทำให้เรามีชื่อโดเมนที่เป็นทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ที่ง่ายต่อการเข้าถึงผู้เรียน อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนในอนาคตได้จริง

ส่วนรุ่นน้องที่กำลังจะก้าวเข้ามาสู่อาชีพครู การเป็นครูที่ดีควรจะให้ความสำคัญกับเด็กเป็นหลัก เราต้องรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานมากน้อยแค่ไหน และเด็กทุกคนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้น ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมแต่ละคน ทุกวันนี้ผู้ปกครองทุกคนใส่ใจในตัวเด็กมาก ดังนั้น เราต้องดูแลลูกเขาให้เหมือนลูกเรา อยากให้เขามีความรู้เหมือนที่เรารู้ก็ต้องสอนเขา ให้เขาได้รับความรู้เท่ากันทุกคน คนไหนที่เรียนรู้ช้าก็ต้องเข้าไปสอนเพิ่ม  ไม่ควรรักหรือลำเอียงแค่คนใดคนหนึ่ง ถ้าจะรักต้องรักให้หมดทุกคน

นอกจากครูกุลธิดา สุภามงคล ที่เป็นผู้ชนะเลิศของโครงการฯ ทีมงานคอลัมน์ The Success การเรียนรู้สู่ความสำเร็จ ยังมีโอกาสได้สัมภาษณ์ครูอีก 2 ท่าน ถึงความตั้งใจในการทำเว็บไซต์จนได้รับรางวัลระดับประเทศในครั้งนี้

คุณครูผู้ได้รับรางวัลระดับประเทศ จากโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทำเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th” 
คุณครูผู้ได้รับรางวัลระดับประเทศ จากโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทำเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th” 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 - ครูบุญส่ง พุ่มบาน โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา  

ปัจจุบัน ครูบุญส่ง พุ่มบาน เป็นครูผู้สอนรายวิชาคอมพิวเตอร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อยู่ที่โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา และมีประสบการณ์การทำงานมากว่า 11 ปี ในฐานะครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์จึงเล็งเห็นความสำคัญของวิชานี้ว่า ควรสอนให้นักเรียนรู้จักใช้คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีอย่างถูกต้อง และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวนักเรียนมากที่สุด โดยพยายามสอดแทรกความรู้ที่เกี่ยวกับทักษะดิจิทัล เพื่อที่จะได้ให้เขาสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน  

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 www.boonsong.in.th
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 www.boonsong.in.th

โดยเว็บไซต์ www.boonsong.in.th หรือ www.บุญส่ง.ไทย เป็นเว็บที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งสำหรับนักเรียน เป็นเกม Be Internet Awesome ที่ใช้เป็นแบบทดสอบก่อน-เรียนในรูปแบบเกม เพื่อดึงดูดความสนใจของนักเรียน ส่วนที่สองสำหรับครู เป็นการเผยแพร่ผลงาน และการจัดการโปรแกรมในการบริหารสถานศึกษาที่พัฒนาขึ้นเอง เพื่อแจกจ่ายให้เพื่อนครูท่านอื่นได้นำไปใช้งาน  โดยการออกแบบเว็บไซต์ในครั้งนี้ ครูบุญส่งได้มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเทรนด์การทำเว็บไซต์เพิ่มเติมว่า เนื้อหาเว็บไซต์รูปแบบไหนที่เด็กชอบ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะกับผู้ใช้งานมากขึ้น และเน้นการออกแบบให้เข้าถึงได้ง่ายที่สุด มีโทนสีที่ชัดเจน จัดสรรหน้าเว็บให้เป็นสัดส่วน เพื่อง่ายต่อการใช้งานทั้งบนคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์อื่นๆ  

หลังจากที่ได้เข้าร่วมอบรมในโครงการฯ ได้มีการนำองค์ความรู้มาขยายผลสู่ครูท่านอื่นในโรงเรียนต่อด้วย อีกทั้งยังวางแผนพัฒนาเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการทำเว็บไซต์ ผ่าน Google Site โดยจะทำเป็นบทเรียนออนไลน์ที่มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนหรือบุคคลทั่วไปที่เข้ามาดูเว็บ ทำตามขั้นตอนในบทเรียน จนสามารถสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเองได้  

ทั้งนี้ ครูบุญส่งเชื่อว่าครูหลายท่านมีสื่อการสอนในรูปแบบอื่นๆ กันอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีช่องทางที่ใช้รวบรวมผลงาน จึงอยากจะเชิญชวนเพื่อนครูให้เข้ามาสมัครโครงการนี้เยอะๆ เพื่อมาเรียนรู้การสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเอง และพัฒนาสื่อร่วมกัน เพื่อเป็นแหล่งรวมสื่อให้กับเด็กๆ ให้เขาสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง  

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 - ครูชญาภา ลีวรรณ โรงเรียนบางปะอิน "ราชานุเคราะห์ ๑"

ปัจจุบัน ครูชญาภา ลีวรรณ เป็นครูผู้สอนรายวิชาคอมพิวเตอร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่ที่โรงเรียนบางปะอิน "ราชานุเคราะห์ ๑" และมีประสบการณ์การทำงานมากว่า 11 ปี ในฐานะครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์จึงเล็งเห็นความสำคัญของวิชานี้ว่า เป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยี ข้อมูล ข่าวสารถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หากมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์จะช่วยให้เข้าถึงข้อมูล และสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 www.chomchaya.in.th
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 www.chomchaya.in.th

โดยเว็บไซต์ www.chomchaya.in.th หรือ www.ชมชญา.ไทย เป็นเว็บที่รวบรวมข้อมูล และเนื้อหา เกี่ยวกับรายวิชาคอมพิวเตอร์ โดยเน้นเนื้อหาในรูปแบบของการ์ตูนและเว็บวีดีโอที่พัฒนาขึ้นเอง ทั้งยังมีแบบทดสอบในรูปแบบเกม ที่นักเรียนจะได้รับเกียรติบัตรหลังจากสอบเสร็จอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมสื่อและนวัตกรรมที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยมีการออกแบบเว็บไซต์ให้เขาถึงง่าย ไม่ซับซ้อน เน้นความสดใส เพื่อตอบสนองผู้เรียน ทุกเพศ ทุกวัย และสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา โดยปกติแล้วครูชญาภามีพื้นฐานการทำเว็บไซต์อยู่แล้ว จึงไม่เจอกับปัญหาในการจัดทำเว็บมากนัก แต่ได้มีการศึกษาเรื่องการออกแบบกราฟิกเพิ่มเติม และนำปรับใช้ในตัวเว็บให้มีความน่าสนใจ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียนมากขึ้น

หลังจากที่เข้าร่วมอบรมในโครงการฯ ได้มีการนำความรู้ไปต่อยอดด้วยการนำไปสอนนักเรียนให้สามารถสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเอง โดยให้อิสระเขาได้เลือกว่าจะทำเว็บไซต์เกี่ยวกับเรื่องอะไร ซึ่งในอนาคตอาจมีการสอนทำ E-Portfolio ให้กับนักเรียน เพื่อนำไปยื่นสมัครสอบในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป รวมถึงการขยายผลไปสู่เพื่อนครูท่านอื่นๆ เอง ครูชญาภาก็มีการจัดอบรมการทำเว็บไซต์ สำหรับการประเมินเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ ให้กับเพื่อนครูในโรงเรียน และต่างโรงเรียนอีกด้วย

สำหรับครูที่สนใจอยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ครูชญาภาเชื่อว่า แม้จะไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำเว็บไซต์เลยก็ตาม แต่ครูทุกคนสามารถทำได้แน่นอน เพราะการทำเว็บไซต์สามารถทำได้ไม่ยาก และขอฝากโครงการดีๆ อย่างการทำเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th ไว้ด้วย เพราะเราจะได้รับทั้งโดเมนฟรี และมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองที่อย่างน้อยก็เอาไว้รวบรวมผลงาน หรือเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่สนใจอยากจะศึกษาค้นคว้าความรู้ด้วยตัวเอง

งานประกาศผลการตัดสินเว็บไซต์ครูด้วย .th ประจำปี 2566 ได้เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา สามารถติดตามชมภาพบรรยากาศงานและร่วมแสดงความยินดีกับคุณครูทั้ง 3 ท่านที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ รวมถึงคุณครูอีก 7 ท่านที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดระดับศูนย์การอบรมจากทั่วประเทศได้ “ที่นี่” และสำหรับครูที่สนใจเข้าอบรมในปีต่อไป สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.webkru.in.th  หรือ www.เว็บครู.ไทย

สุดท้ายนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษะด้านเทคโนโลยี เป็นทักษะสำคัญที่ครูยุคใหม่ต้องมี เนื่องจากเด็กๆ รุ่นใหม่ มีความรู้ ความสามารถด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น การนำเทคโนโลยีมาบูรณาการร่วมกับการจัดการเรียนการสอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งครูยังสามารถจัดกิจกรรมได้อย่างหลากหลายที่ดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้มากขึ้น เพื่อให้การเรียนรู้ในชั้นเรียนสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องขอขอบคุณทีเอชนิคสำหรับโครงการฯ ดี ๆ แบบนี้ และขอบคุณครูทุกท่านที่ใส่ใจให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างยิ่ง

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น