Teen Coach EP.98 : เชื่อไหม..‘พลังลบ’ แพร่กระจายได้คล้ายโรคติดต่อ

เคยไหม เพื่อนอกหัก โทรมาร้องห่มร้องไห้ แล้วเราร้องตามไปด้วยทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง สิ่งนี้เรียกว่า “การถ่ายทอดทางอารมณ์”

น้อง ๆ เคยรู้สึกกันมั้ยคะว่าทุกวันนี้ทำไมโลกมันโหดร้ายจังเลย…TT มีคนทั้งในชีวิตจริงและโลกออนไลน์พูดคุยกันแต่เรื่องลบ เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ หางานทำยาก การเมืองปั่นป่วน มีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างคาดเดาไม่ได้ สงครามหลายที่ ระบบการศึกษาแย่ สอบเข้ายากเย็น แค่ไถหน้าจอผ่าน ๆ อย่างไม่ตั้งใจมันยังแผ่ซ่านความเศร้าหมองหดหู่ขนาดนี้ เราที่เหนื่อยล้าจากชีวิตจริง กะไว้ว่าจะไปรับสิ่งดี ๆ จากโลกโซเชียล กลับกลายเป็นว่าไปรับพลังลบมาแทน ทั้งที่สติเรารับรู้ว่าข้อความเหล่านั้นเป็นเรื่องของคนอื่น ไม่เกี่ยวกับเรา เราจะไปอินตามทำไม เดี๋ยวพี่หมอแมวน้ำจะมาเล่าให้ฟังค่ะ ว่าจริง ๆ แล้วอารมณ์ของคนเราไม่ว่าจะลบหรือบวก มันสามารถถ่ายทอดติดต่อกันกันได้เหมือนโรคระบาดอย่างไม่น่าเชื่อ! ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงการรับรู้ข้อมูลที่เป็นพลังลบไม่ได้ เราจะประคองใจอย่างไรไม่ให้ดำดิ่ง

การถ่ายทอดทางอารมณ์ (Emotional Contagion)

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเราต้องควบคุมอารมณ์ของเราได้ เพราะถ้าเราไม่อิน ไม่สน ไม่คิดเรื่องใด ย่อมไม่มีวันทำให้ใจที่แข็งแกร่งของเราสั่นคลอน แต่ในความเป็นจริงการทำงานของสมองเรามันอยู่นอกเหนือการควบคุมในภาวะที่เรามีสติน่ะสิ (Conscious/Unconscious) ซึ่งเราไม่สามารถห้ามการเกิดของอารมณ์ได้ สิ่งที่ทำได้ คือ การรีบรู้ตัวว่าเราคิดและรู้สึกอะไรอยู่ จะได้จัดการไปต่อถูก ไม่ดำดิ่งจนแย่ตาม

“การถ่ายทอดทางอารมณ์” (Emotional Contagion) หมายถึงการที่อารมณ์ของคนหนึ่ง ไปส่งผลกระทบให้อีกคนมีอารมณ์ร่วมไปด้วย ผ่านทางสีหน้า ท่าทาง การเคลื่อนไหว น้ำเสียง เช่น วันนี้อารมณ์ดีแต่เช้า พอตอนบ่ายเพื่อนโทรมาระบายเรื่องอกหัก วีดีโอคอลค้างไว้ สภาพเพื่อนยับเยินมาก ทำเอาเราน้ำตาแตก สงสารเพื่อน รู้สึกเศร้ายาว ๆ ไป ก่อนนอนยังสลัดความคิดความรู้สึกลบไปไม่ได้ ตาค้างนอนไม่หลับ พอย้อนกลับมาคิด งงตัวเองว่า “ฉันจะฟูมฟายตามมันทำไมนะ?!” 

องค์ประกอบที่ทรงพลังมากที่สุดในการสร้างอารมณ์ถ่ายทอดต่อไปยังผู้อื่น คือ การแสดงสีหน้า (Facial Expressions) มีงานวิจัยที่วัดการขยับของกล้ามเนื้อบนใบหน้าเวลาที่คนเราเห็นสีหน้าอีกฝ่าย พบว่ามีการลอกเลียนแบบเกือบ 100% โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเราแสดงสีหน้าแบบไหน อารมณ์จะไปตาม เพราะอารมณ์ต่าง ๆ ที่แสดงออกมาทางใบหน้าใช้กล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน (ใบหน้าเป็นบริเวณที่มีชนิดกล้ามเนื้อมากที่สุดหากเทียบกับส่วนอื่นของร่างกาย) อย่างเช่น หน้าเสียใจมีกล้ามเนื้อใบหน้าที่เคลื่อนไหวต่างจากหน้าดีใจ การแสดงสีหน้าส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system) ที่มีผลต่อการทำงานของอวัยวะส่วนอื่นด้วย เช่น เวลาโกรธหัวใจจะเต็นเร็วขึ้นและเพิ่มความดันเลือด แต่ละคนมีความไวต่อการเกิด Emotional Contagion ไม่เหมือนกัน เช่น คนที่ sensitive ไวต่อความรู้สึกคนอื่นจะอินตามได้ง่าย จมลึก ดึงยาก

Emotional Contagion ไม่ได้เกิดแค่กับคนที่เราเจอกันต่อหน้า แต่การได้ยินเสียง เห็นภาพ จากหลายแหล่งที่มาทำให้เราจินตนาการตามในหัวส่งผลได้เหมือนกัน หากสังเกตดี ๆ ในยุคที่โซเชียลมีเดียเบ่งบานทำให้เรารับรู้เรื่องทางอารมณ์ที่ท่วมท้น ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ ใจเราจะนิ่งได้ยาก เป็นที่มาของคำแนะนำให้เว้นห่างจากโซเชียลมีเดีย (Social Media Detoxification) อย่าเสพมากจนเกินไป เพราะหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เราดันไปอินเสมือนเกิดกับตัวเอง ยิ่งมีอารมณ์มากเท่าไรสภาพจิตยิ่งอ่อนล้าง่าย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และ  PTSD

มีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า สมองของคนเรามีเซลล์เลียนแบบ (Mirror Neurons) ที่อยู่ในสมองส่วน Cerebal Cortex ทำให้เมื่อเราเห็นสีหน้าท่าทางอารมณ์อีกฝ่าย เราจะทำตามโดยไม่รู้ตัวในช่วงเสี้ยววินาที เช่น อีกฝ่ายขมวดคิ้ว หากเราส่องกระจกเราจะเห็นว่าคิ้วเราผูกย่นตาม ตอบตัวเองไม่ได้ว่ามีความคิดที่จะเลียนแบบตอนไหนกัน ดังนั้นสภาพสิ่งแวดล้อมผู้คนที่เราอาศัยอยู่ด้วยมีผลทางจิตใจอย่างมีนัยสำคัญ เช่น 

 

  • งานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานของคนในองค์กร หากที่ไหนดราม่าเยอะ มีแต่ความโกรธเกลียด หงุดหงิดใส่กัน ส่งผลให้พนักงานมีความคิดตรรกะบิดเบือน (cognitive errors) และเกิดความผิดพลาดในที่ทำงานมากกว่าการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนอารมณ์ดี ให้กำลังใจและคุยสื่อสารกันด้วยเหตุผล
  • การใช้โซเชียลมีเดียยิ่งมากเท่าไร สิ่งที่เราเสพส่งผลให้เกิดอารมณ์ลบ ไม่ว่าจะเป็นจากเนื้อหาของข่าว หรือเกิดจากการการที่เราเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับคนในโลกโซเชียล การลดเวลาเสพหน้าจอจะช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้าได้

มีศัพท์อีกคำที่ต้องรู้จัก คือ “ความเห็นอกเห็นใจ” (Empathy) ที่ต้องอธิบายแยกความแตกต่างกับ “การถ่ายทอดทางอารมณ์” (Emotional Contagion) เพราะ Empathy เป็นการที่เราลองคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา แต่ไม่อินเท่า เราจะมองเรื่องที่เกิดในมุมมองของผู้สังเกตการณ์ แยกได้ว่าเรื่องใดเป็นเรื่องของเขากับเรื่องของเรา (Autonomy) การที่เราอินเกินเป็นการที่เราไปคลุกวงใน ทำให้ไม่สามารถใช้ตรรกะเหตุผลทำความเข้าใจเรื่องที่เกิดได้อย่างเต็มที่ คำถามที่มีคนถามพี่หมอแมวน้ำบ่อยมากกกกกก เป็นเรื่องของการเป็นจิตแพทย์ที่ต้องรับฟังแต่เรื่องลบ เรื่องเครียดจากคนไข้ มีวิธีปรับใจอย่างไรไม่ให้หมองตาม คำตอบ คือ พี่หมอแมวน้ำฟังโดยมีใจที่ Empathy ซึ่งกระบวนการนี้ต้องได้รับการฝึกในช่วงของการเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์ หากเรื่องราวของคนไข้มาซ้อนทับกับปมของจิตแพทย์เอง ต้องมีการปรึกษากับอาจารย์หรือจิตแพทย์ท่านอื่น เพราะหากจิตแพทย์มีความคิดที่เป็นอคติ รับอารมณ์คนไข้มาเต็ม ๆ จะไม่สามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะความคิดเราหลอมรวมเป็นแบบเดียวกับคนไข้ เราจะมีมุมมองเหมือนกันจนเกินไป

อีกคำที่น่าสนใจ คือ “Emotional Engineering” หมายถึงการที่สื่อหรือองค์กรต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จาก Emotional Contagion ในการสร้างอารมณ์ร่วมเพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกดีและรักภักดีกับผลิตภัณฑ์นั้น เช่น คลิปโฆษณาสั้น ๆ แต่กินใจสุดซึ้งที่เกิดจากผลิตภัณฑ์นั้นทำให้เกิดเรื่องดี มันทำให้เราคล้อยตามเชื่อไปโดยไม่รู้ตัว รีบกดรัว ๆ สั่งทางออนไลน์, พนักงานร้านขายของยิ้มแย้ม ใจดี ทำให้เราอยากซื้อของมากขึ้น อย่างไร้เหตุผลในตอนแรก แล้วค่อยหาเหตุผลมาอธิบายตัวเองในภายหลัง

รับมืออย่างไรเมื่อเผลออินเกิน เกิดอาการ Emotional Contagion 

เมื่อเราต้องอยู่กับคนอื่นหรือเสพสื่อต่าง ๆ การมีอารมณ์ร่วมเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ ห้ามกันไม่ได้ ยิ่งเป็นเรื่องลบยิ่งแพร่กระจายง่าย ดังนั้นเราต้องเตรียมรับมือก่อนที่เราจะมีอารมณ์ติดลบตาม

1. รู้ตัวว่ากำลังคิดและรู้สึกอย่างไร

แม้เราจะมีอารมณ์ร่วมโดยจิตใต้สำนึกที่เกิดจากการทำงานของสมองโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าเรามีสติ (Self-Awareness) ตระหนักรู้เท่าทันความคิดและอารมณ์ตัวเองได้ทัน เราจะดึงตัวเองกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ เช่น ฟังเรื่องที่เพื่อนถูกบูลลี่แล้วโกรธมาก เผลอสบถด่าไป เมื่อเรารู้ตัวว่ากำลังโกรธ  ให้ควบคุมลมหายใจ (breathing exercise) หายใจเข้า-ออกลึก ๆ ช้า ๆ จนปฏิกิริยาทางกายและอารมณ์สงบ แล้วค่อยมาคุยกับเพื่อนต่อว่าจะช่วยเพื่อนได้อย่างไร 

2. สร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้รู้สึกบวก

หากเรารู้สึกแย่จากสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนที่ถ่ายทอดพลังลบ เมื่อเราไม่ไหวเรามีสิทธิขอแยกตัวออกมาก่อน เพราะถ้าเราดิ่งไปด้วยมาก ๆ เราจะเหนื่อยล้าทางใจ (mental fatigue) ที่ส่งผลต่อร่างกายได้ทุกระบบ เช่น ปวดเมื่อยจากกล้ามเนื้อตึงตัว, ปวดหัวปวดท้อง เราต้องรีบหาแหล่งพลังบวก คือ การที่ได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบและบรรยากาศที่เป็น safe zone ซึ่งมีการจัดเตรียมไว้ก่อน เช่น ลิสต์เพลงที่ฟังแล้วอารมณ์ดี คลิปที่ดูแล้วยิ้ม จุดเทียมหอมช่วยให้ผ่อนคลาย ตุ๊กตาผ้าเน่าไว้ซุกเรียกกำลังใจ

3. (ฝืน) ยิ้มและหัวเราะ

 ฟังดูเป็นวิธีที่เฟคแปลก ๆ แต่หากเราเชื่อในทฤษฎีว่ามีเซลล์เลียนแบบ (Mirror Neurons) ในสมองจริง แม้อีกฝ่ายจะหน้าเศร้าขนาดไหน หากเรายิ้มให้กำลังใจ สมองอีกฝ่ายจะเริ่มเลียนแบบสีหน้าที่เราทำ เมื่อสีหน้าเปลี่ยน อารมณ์จะเปลี่ยนไป ส่วนการหัวเราะอันนี้เฟคยาก เราต้องเตรียมคลิป รูปภาพ หรือสิ่งของที่มันช่วยให้ตลกจริง ๆ เอาไว้ด้วย

4. ข้อเท็จจริงที่ต้องรู้เรื่องอารมณ์ของคนอื่น

ยิ่งคนที่ใกล้ชิดกับเราต้องเจอกับเรื่องไม่ดี จนมีอารมณ์แย่ การที่เราจะมีอารมณ์ร่วมเป็นเรื่องปกติ แต่เราต้องรีบดึงตัวเองออกมาไม่ให้จมน้ำไปพร้อมกัน เพื่อที่เราเอาตัวรอดแล้วจะได้ไปช่วยเขาต่อ มองปัญหาในฐานะผู้สังเกตการณ์ แล้วเห็นทางแก้ไขปัญหา เราเป็นคนธรรมดาที่ช่วยเหลือคนอื่นได้ แต่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดของเขา แยกให้ได้ว่าเรื่องใดเป็นของเขาหรือเรา (Don’t take it personally) ไม่อย่างนั้นเราจะทุกข์ทั้งที่เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องของเรา บางปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม หากอีกฝ่ายมีอารมณ์ลบอย่างมาก ร่วมกับมีปัญหาอื่น เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ อยากตาย คนที่จะช่วยเขาได้ คือ ผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์, นักจิตวิทยา ส่วนเราที่เป็นคนธรรมดาช่วยได้ด้วยการรับฟังเท่าที่เราไหว

5. หากเรากลบความรู้สึกลบไม่ได้ ให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญ

เวลาที่เราอยู่ท่ามกลางความเครียดและอารมณ์ลบ สภาพจิตใจเราได้รับผลของมันไม่มากก็น้อย ถ้าเป็นระดับเบา ๆ เราอาจเครียดช่วงหนึ่ง กระวนกระวาย หาทางแก้ปัญหา นอนไม่หลับบ้าง แต่ไม่นานก็ปรับตัวปรับใจได้เป็นปกติ แต่บางคนที่ sensitive ได้รับพลังลบมาเต็ม ๆ หรือไปเจอเรื่องแย่ตู้มพร้อมกัน อาจทำให้เศร้า ท้อแท้ กังวล ลามไปถึงเรื่องความคิดความจำสมาธิที่ไม่ดี ประสิทธิภาพในการเรียน การทำงานแย่ การกินการนอนเปลี่ยนไป มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนอื่น หรืออาการที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต แนะนำให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเล่าระบาย รับการวินิจฉัย คำแนะนำและการรักษา อย่าปล่อยให้เป็นมาก

สรุปคือการที่เราอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม เราย่อมได้รับผลกระทบทางอารมณ์ (emotional contagion) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำคัญที่ว่าเราต้องรู้วิธีจัดการตัวเองเพื่อไม่ให้มีสภาพแย่เยินตามไปด้วย

หากใครมีข้อสงสัยหรืออยากแชร์เล่าระบาย พี่หมอแมวน้ำพร้อมรับฟังนะคะ คอมเมนต์กันมาได้เลย

Referencehttps://positivepsychology.com/emotional-contagion/https://www.simplypsychology.org/what-is-emotional-contagion.htmlhttps://www.healthline.com/health/emotional-contagionhttps://www.issup.net/emotional-contagion-everything-you-need-know

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด