เจาะเบื้องหลัง! ทายาทรุ่นสองเสื้อแตงโม จากศิลปินสาวสุดติสท์ สู่ผู้บริหารธุรกิจเสื้อยืด

เจาะเบื้องหลัง! ทายาทรุ่นสองเสื้อแตงโม จากศิลปินสาวสุดติสท์ สู่ผู้บริหารธุรกิจเสื้อยืด

หากพูดถึงเสื้อยืดสีสันสะดุดตา หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อแบรนด์ ‘แตงโม’ หรือ ‘SUIKA’ เสื้อยืดแบรนด์ไทยแท้ที่อยู่คู่กับคนไทยมานานกว่า 45 ปีแน่นอน วันนี้แบรนด์แตงโมได้ถูกส่งต่อมายังทายาทรุ่นที่สอง อย่าง ‘พี่เซน - อดิศรา พวงชมภู’ ที่ตั้งใจเข้ามาสานต่อความสดใสของเสื้อแตงโมให้อยู่คู่กับคนไทยไปอีกนาน  ในวันนี้ คอลัมน์ The Success : การเรียนรู้สู่ความสำเร็จ ของ Dek-D จะมาเล่าเรื่องราวช่วงวัยเรียน และจุดพลิกผันจากศิลปินสาวสู่การสานต่อธุรกิจของครอบครัวนั้นมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร  

เจาะเบื้องหลัง! ทายาทรุ่นสองเสื้อแตงโม จากศิลปินสาวสุดติสท์ สู่ผู้บริหารธุรกิจเสื้อยืด
เจาะเบื้องหลัง! ทายาทรุ่นสองเสื้อแตงโม จากศิลปินสาวสุดติสท์ สู่ผู้บริหารธุรกิจเสื้อยืด

ใฝ่ฝันอยากจะเป็นศิลปินตั้งแต่วัยเด็ก

พี่เซนเกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจขายเสื้อยืดมาโดยตลอด ซึ่งคุณพ่อก็มักจะพาไปช่วยขายเสื้อ และได้คลุกคลีกับกับการทำงานของพี่ๆ ในโรงงานอยู่เสมอ แต่ถึงอย่างนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้กดดันว่า ลูกๆ ทั้ง 4 คนจะต้องกลับมาสานต่อธุรกิจต่อ เพราะอยากให้ลูกทุกคนได้เดินไปตามเส้นทางที่ตัวเองต้องการ

ตั้งแต่ประถมจนจบมัธยม พี่เซนเรียนอยู่ที่ NIST International School เป็นโรงเรียนที่ทำการเปิดสอนหลักสูตร IB (International Baccalaureate Programme) ถึง 3 โปรแกรมให้กับเด็กอายุ 3-19 ปี ซึ่งชีวิตในวัยเรียนของพี่เซน เป็นเด็กที่ชื่นชอบการทำกิจกรรม ไม่ว่าจะร้องเพลง เล่นเปียโน เต้นฮิปฮอป แสดงละคร หรือแม้กระทั่งเป็นประธานนักเรียน ทุกกิจกรรมในโรงเรียนพี่เซนไม่เคยพลาดที่จะออกไปโชว์ความสามารถของตัวเอง  รวมถึงมีความหลงใหลด้านศิลปะเป็นพิเศษ นั่นจึงเป็นจุดประกายความฝันเล็กๆ ในวัยเด็กว่า โตขึ้นอยากจะเป็น ‘ศิลปิน’ ให้ได้

หลังจากที่เรียนจบมัธยม พี่เซนบินไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ Camberwell College of Arts ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ University of the Arts London (UAL) ที่ประเทศอังกฤษ เป็นหลักสูตรที่ได้เรียนเกี่ยวกับการออกแบบ (Design), ทัศนศิลป์ (Visual Arts) และวิจิตรศิลป์ (Fine Art Digital) โดยจะได้สร้างสรรค์ผลงานที่ผสมผสานระหว่างงาน Digital และ Hand made โดยทางมหาวิทยาลัยให้อิสระกับความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนอย่างเต็มที่ การเรียนศิลปะที่อังกฤษเป็นการสอนให้มองในเรื่องของแนวคิด และกระบวนการที่หลากหลาย พร้อมทั้งได้พูดคุยคลุกคลีกับผู้ที่สร้าง และกลั่นผลงานจากความสนใจที่หลากหลาย ทำให้ผู้เรียนได้เปิดกว้างและมองโลกในหลายๆ แง่มุม นอกจากนี้ พี่เซนยังมีงานอดิเรกอีกหนึ่งอย่างที่ชื่นชอบมาตั้งแต่วัยเด็ก นั่นก็คือ การเต้น ดังนั้น ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็มักจะหาเวลาว่างไปเรียนเต้นตามสตูดิโอที่เปิดสอนอยู่เป็นประจำ

ยอมทิ้งเส้นทางศิลปิน สานต่อธุรกิจเสื้อยืด ‘แตงโม’ ของครอบครัว

ครอบครัวค่อนข้างให้อิสระในการใช้ชีวิต และสนับสนุนให้ลูกสาวทำตามความฝันได้อย่างเต็มที่ หลังจากที่เรียนจบจากประเทศอังกฤษก็ยังไม่ได้เข้ามาทำธุรกิจทันที พี่เซนได้ลองไปทำตามความฝันของตัวเองในสายงานที่เรียนจบมาก่อน มีโอกาสได้ไปเล่นละครเวที และเป็นแดนเซอร์ในคอนเสิร์ต อยู่ประมาณ 2 ปี และด้วยความที่ถูกพร่ำสอนเรื่องความกตัญญูมาตั้งแต่เด็ก ระหว่างที่ทำงานในแวดวงการแสดง ในใจลึกๆ ของพี่เซนรู้อยู่แล้วว่า ในท้ายที่สุดแล้วก็ต้องกลับมาสานต่อธุรกิจ เพื่อดูแลครอบครัว พนักงาน และลูกค้า ที่อยู่คู่กับแตงโมมาอย่างยาวนาน ประกอบกับเห็นวัยของคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น จึงเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้พี่เซนตัดสินใจทิ้งความฝัน และกลับมาทำธุรกิจต่อจากครอบครัวแบบเต็มตัว ซึ่งตอนนั้นอายุได้ประมาณ 25 ปี  

บริษัท สยามแฮนด์ จำกัด (พ.ศ.2521) ผู้ผลิตเสื้อยืดแตงโม
บริษัท สยามแฮนด์ จำกัด (พ.ศ.2521) ผู้ผลิตเสื้อยืดแตงโม

ที่มาของแบรนด์แตงโม (SUIKA)

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว หากพูดถึงเสื้อยืดสีสันฉูดฉาดสะดุดตา  คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘แตงโม’ หรือ ‘SUIKA’ แบรนด์เสื้อยืดคนไทยที่มีโลโก้เป็นรูปแตงโมผ่าครึ่งซีก และมีตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นเขียนเป็นชื่อแบรนด์ ที่เกิดมาจากน้ำพักน้ำแรงของ “คุณอดิศร - คุณอมรา พวงชมภู” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ โดยทั้งคู่เริ่มทำธุรกิจจากการไปรับเสื้อยืดมาขาย ตั้งแต่ที่ยังเป็นนักศึกษา นำไปวางขายแบกับดินตามตลาดนัดและงานวัด เมื่อเริ่มขายดีมากขึ้น จึงขายส่งให้ลูกค้ามารับไปขายต่อ รวมถึงฝากขายตามร้านกิฟต์ช็อปต่างๆ หลังจากนั้นจึงได้มีการสร้างแบรนด์ขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้ว่าเป็นเสื้อยืดของแบรนด์ใด

เนื่องจากคุณพ่อชอบทานแตงโมมาก จึงเกิดไอเดียนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ ส่วนภาษาญี่ปุ่นบนโลโก้นั้นเป็นไอเดียของคุณแม่ เพราะหากใช้ภาษาไทยก็กลัวลูกค้าชาวต่างชาติจะอ่านไม่ออก แต่หากใช้ภาษาอังกฤษว่า Watermelon อาจยาวเกินไป ดังนั้น คำว่า すいか (ซุ-อิ-กะ) จึงเป็นภาษาที่เหมาะที่สุด หลังจากกิจการเติบโตขึ้น ในปี 2528 จึงได้จัดตั้งเป็นบริษัท “วาย แจแปน จำกัด” ที่เกิดจากความสงสัยว่า ทำไมเมืองไทยในยุคสมัยนั้น เมื่อมองไปทางไหนล้วนต้องเจอสินค้าซึ่งมาจากประเทศญี่ปุ่นเต็มไปหมด แต่เมื่อเสื้อแตงโมสามารถส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นได้ ด้วยน้ำมือชาวสยามที่ได้สร้างสินค้าจนชาวญี่ปุ่นยอมรับ ในปี 2532 จึงก่อตั้งบริษัทใหม่ชื่อ “สยามแฮนด์ จำกัด (พ.ศ.2521)” มาจนทุกวันนี้

เจ้าของธุรกิจผู้ใช้ศิลปะในการบริหารงาน

ด้วยความที่เรียนจบด้านศิลปะมา ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิต และการบริหารธุรกิจจึงแทบจะเป็นศูนย์ พี่เซนจึงเริ่มต้นเรียนรู้ทุกอย่างใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ขั้นตอนการทำเสื้อหนึ่งตัว ที่ได้พี่ๆ ในโรงงานช่วยสอน ตั้งแต่การเลือกผ้า วิธีเย็บ การพิมพ์ลายบนเสื้อ ฯลฯ ส่วนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ พี่เซนขวนขวายหาความรู้ด้วยตัวเอง จากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำธุรกิจ ศึกษาข้อมูลจากแบรนด์ดัง อย่าง Apple, Nike, Disney เพื่อให้รู้ว่าเจ้าของแบรนด์เหล่านี้ทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ลงเรียนเสริมผ่านคอร์สต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน

การเรียนศิลปะทำให้พี่เซนมีกระบวนการคิดที่เปิดกว้าง จึงทำให้สามารถหยิบจับสิ่งรอบตัวมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ เช่น บางครั้งสีของใบไม้ก็ถูกนำมาทำเป็นเสื้อโทนสีใหม่ พี่เซนมักจะถูกถามอยู่บ่อยครั้งว่า เรียนจบศิลปะมาได้ออกแบบเสื้อเองหรือเปล่า ส่วนตัวมีโอกาสได้ออกแบบบ้างเล็กน้อย แต่จะยกหน้าที่นี้ให้ทีมดีไซน์เนอร์เป็นคนดูแลมากกว่า เพราะพวกเขาอยู่กับลูกค้ามานานน่าจะเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร พี่เซนจะเข้ามาช่วยเสนอไอเดียในส่วนของการปรับแต่งโทนสี ลวดลาย ให้มีความหลากหลาย ดูทันสมัย เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของกลุ่มลูกค้ายุคใหม่มากขึ้น ธงในใจของพี่เซน คือ การผลิตเสื้อที่ทำให้คนไทยใส่แล้วมั่นใจ ไม่ว่าจะรูปร่างไหน สีผิวอะไร หรือช่วงวัยใด ก็สามารถใส่เสื้อแตงโมออกมาได้สวย โดยที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของแตงโมเดิมไว้ เพียงแค่เพิ่มตัวเลือกให้ลูกค้าหลากหลายมากขึ้น  

นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว และต่อยอดด้วยการสร้างสินค้าอื่นๆ เช่น กระเป๋า กางเกงใน ชุดนอน ตลอดจนเปิดช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น แต่ยังคงมีหน้าร้านตามปั๊มน้ำมันที่มีมากกว่า 40 สาขา มีพนักงานคอยให้บริการกลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี คอยตอบคำถาม และแนะนำสินค้า เหมือนกับคนในครอบครัวด้วยความใส่ใจ เพื่อให้ลูกค้าได้รับความประทับใจและความสุขกลับไปพร้อมกับสินค้าที่มีคุณภาพในราคาประหยัด  

ปรับตัวเข้าหาคนต่างวัยด้วยทักษะการสื่อสาร

หลายคนมองว่า การกลับมาทำธุรกิจต่อจากครอบครัว มักจะต้องเจอการปะทะระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ซึ่งพี่เซนโชคดีที่ไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ เพราะยึดมั่นในใจเสมอว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ของตัวเอง มันคือสิ่งที่พ่อแม่สร้างมากับมือ พี่เซนจะคอยถามความคิดเห็นของพวกท่านทั้งสองก่อนเสมอ ใช้การสื่อสารให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจความต้องการของกันและกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ก็จะมีการสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงพี่ๆ ในโรงงาน โดยคำนึงถึงประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน และไอเดียของรุ่นใหม่ที่จะต้องหลอมเข้าด้วยกัน และเมื่อทุกฝ่ายเห็นตรงกัน จึงเริ่มกระบวนการทำงานขั้นต่อไปได้

ช่วงแรกที่เริ่มเข้ามาสานต่อธุรกิจ พี่เซนเชื่อว่า คนในโรงงานคงจะเกิดความกังวลไม่มากก็น้อย ทั้งในเรื่องของช่วงวัย และการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน แต่ด้วยความที่วิ่งเข้าวิ่งออกโรงงานตั้งแต่จำความได้ พี่ๆ ส่วนใหญ่ที่อยู่มานานก็จะคุ้นเคยกันดี ถึงแม้ว่าเขาอาจจะกลัวการเปลี่ยนแปลง แต่ทุกคนเปิดใจยอมรับ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับพี่เซนอยู่เสมอ โดยยึดหลักการว่า ต้องดูแลพนักงานให้เหมือนกับคนในครอบครัวเช่นเดียวกับที่คุณพ่อคุณแม่ดูแลมา  

ปัจจุบันแบรนด์เสื้อแตงโมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดเด่นของแบรนด์ของเสื้อแตงโม คือ ใช้เนื้อผ้าคุณภาพสูง ทำให้เสื้อแต่ละตัวมีอายุการใช้งานยาวนาน และมีราคาที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้  

จุดเด่นเสื้อแตงโม เนื้อผ้าคุณภาพสูง มีอายุการใช้งานยาวนาน ราคาเข้าถึงได้
จุดเด่นเสื้อแตงโม เนื้อผ้าคุณภาพสูง มีอายุการใช้งานยาวนาน ราคาเข้าถึงได้  

อยากสร้างแบรนด์แตงโมให้เป็นบริษัท 100 ปี

การบริหารงานในฐานะทายาทรุ่นสองเดินทางเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว เมื่อถามถึงเป้าหมายที่วางไว้ในอนาคต พี่เซนตอบว่า ‘อยากสร้างแบรนด์แตงโมให้เป็นบริษัท 100 ปี’ ให้ได้ ประกอบกับ ‘อยากให้แตงโมเป็นแบรนด์ที่คนไทยพึ่งพาได้’ ไม่ว่าจะเป็น แบรนด์น้องใหม่ที่กำลังสร้างตัว โรงงานทอผ้า หรือหน่วยงานอื่นๆ แตงโมพร้อมที่จะคอยช่วยเหลือทุกคนตลอดเวลา  

อีกหนึ่งความฝันที่วาดไว้ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ คือ อยากให้บ้านทุกหลังมีเสื้อแตงโม อย่างน้อย 1 ตัว เพราะมีบางช่วงที่ตู้เสื้อผ้าบางตู้ไม่มีเสื้อแตงโม อยากจะเติมความฝันนั้นให้ทุกคนได้กลับมารู้ว่า แตงโมยังอยู่ตรงนี้ ไม่หายไปไหน ซึ่งในอนาคตเราอาจจะเห็นแบรนด์แตงโม เริ่มเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านช่องทางอื่นๆ มากขึ้น เจาะกลุ่มลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น มีภาพลักษณ์แบรนด์ที่เข้าถึงทุกเพศทุกวัยได้มากขึ้น เป็นการต่อกิ่งให้กับต้นแตงโมได้ขยายกิ่งก้านสาขาไปได้กว้างกว่าเดิม  

สิ่งที่อยากย้อนกลับไปบอกตัวเองในวัยเรียน

หลายคนมักจะสร้างเงื่อนไขหรือค่านิยมความสำเร็จไว้ในสังคมว่า คนที่ประสบความสำเร็จจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ จนบางครั้งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเหมือนแรงกดดันให้ใครหลายๆคน ต้องรีบขวนขวาย เพื่อที่จะไปอยู่ในจุดนั้นให้ได้ ซึ่งในอดีตพี่เซนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ดังนั้น สิ่งที่อยากจะย้อนกลับไปบอกตัวเองในวัยเด็ก คือ อย่าพยายามเอาภาพความสำเร็จของคนอื่นมาเป็นภาพของตัวเอง เพราะเงื่อนไขชีวิตของทุกคนต่างกัน ไม่ต้องกดดันตัวเองที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่ตอนนั้น เพราะยังเป็นแค่นักเรียนอยู่ เราสามารถล้ม และลุกขึ้นมาใหม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดจากการผิดพลาดคือ ต้องหาความสุขจากมันให้ได้ว่าคืออะไร อย่าลืมดูตัวเองด้วยว่า รู้สึกยังไง ได้เรียนรู้อะไร แล้วจะเติบโตจากความผิดพลาดครั้งนี้ยังไงได้บ้าง

ฝากถึงน้องๆ วัยเรียน ชาว Dek-D.com

สำหรับน้องๆ ที่กำลังเรียนอยู่พี่เซนอยากให้ทุกคนหาตัวเองให้เจอว่า ‘สมองของเราเหมาะกับการเรียนรู้รูปแบบไหน’ ซึ่งสไตล์การเรียนรู้ถูกแบ่งออกเป็น 4 แบบ ได้แก่ การเรียนรู้จาก ภาพ (Visual), เสียง (Auditory), อ่าน-เขียน (Read/write) และลงมือทำ (Kinesthetic) อย่างตัวพี่เซนถนัดเรียนจากภาพ เวลาเรียนก็มักจะจดโน้ตตามที่ครูสอนเสมอ ซึ่งข้อดีของการที่รู้ว่าตัวเองถนัดเรียนแบบไหน จะทำให้เราสามารถเรียนรู้ในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เรามั่นใจในตัวเองเกี่ยวกับเรื่องเรียนมากขึ้นอีกด้วย

ส่วนน้องๆ ที่กำลังค้นหาตัวเอง อย่าปิดกั้นตัวเองที่จะออกไปเรียนรู้ หรือลองทำอะไรใหม่ๆ เพราะมันอาจจะทำให้เราเสียโอกาสดีๆ หลายอย่างไป ลองเรียนรู้ให้เยอะ และลองทำให้ได้หลายๆ อย่าง เรามักจะถูกบ่มเพาะกันมาทุกคนว่า เวลาทำอะไรต้องตั้งเป้าหมายด้วย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ วิธีการไปสู่เป้าหมาย ถ้าเราอยากสอบติดคณะในฝัน ก็ต้องรู้ว่าระหว่างทางนั้นต้องทำอะไรบ้างที่จะทำให้เราสอบติด เช่น หาสถิติคะแนนย้อนหลัง อ่านหนังสือ ฝึกทำข้อสอบ ถ้าเราแจกแจงออกมาได้มันจะทำให้เป้าหมายเราชัดเจนขึ้น และสามารถทำได้สำเร็จอย่างแน่นอน

พี่เซน - อดิศรา พวงชมภู ทายาทรุ่น 2 แบรนด์เสื้อแตงโม (SUIKA)
พี่เซน - อดิศรา พวงชมภู ทายาทรุ่น 2 แบรนด์เสื้อแตงโม (SUIKA)

จากการที่ได้พูดคุยกับพี่เซน ทำให้เห็นว่า ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) คืออีกหนึ่งทักษะสำคัญสำหรับยุคปัจจุบัน  เพราะบางเรื่องเราที่เรียนรู้ในวันนี้ พรุ่งนี้อาจกลายเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว แต่เราสามารถเรียนรู้เรื่องใหม่เพื่อปรับตัวได้เสมอ และสามารถนำความรู้ทั้งเก่าและใหม่ ไปต่อยอดหรือประยุกต์ใช้จนกลายเป็นทักษะใหม่ๆ เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ทีมงานต้องขอขอบคุณ พี่เซน อดิศรา พวงชมภู ทายาทรุ่นสองแบรนด์แตงโม ที่ให้เกียรติมาสัมภาษณ์กับทาง Dek-D.com รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน สำหรับข้อมูลในบทความนี้ด้วยนะคะ
 ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.tangmo.clothing/
พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น