Teen Coach EP.96 : ดูแลใจอย่างไร? ในวันที่โลกโซเชียลทำร้ายเรา

เคยมั้ยคะที่เราตามส่องเพื่อนหรือคนในโลกออนไลน์แล้วรู้สึกว่า…

  • ทำไมเพื่อนลงรูปแล้วดูผอม สวย ขนาดใส่ชุดอยู่บ้านยังน่ารัก มีแต่คนกดไลก์ ถล่มทลาย คอมเมนต์ชมรัว ๆ เทียบกับเราที่ลงรูปแล้ว กลับไม่มีคนสนใจ เพราะเราอ้วน หุ่นเผละ หน้าตาแย่สินะ
  • ทำไมเพื่อนไม่อ่านหนังสือ ใช้ชีวิตชิล ๆ แต่กลับสอบได้คะแนนดีกว่า ทั้งที่เราก็พยายามมากยังได้คะแนนน้อย
  • ทำไมเพื่อนไม่รับเราเข้ากลุ่ม เพราะยอดฟอลเราไม่ถึง 10,000++
  • ทำไมชีวิตคนอื่นดีจัง กินข้าวร้านแพง ๆ ไปเที่ยวต่างประเทศ ช้อปแบรนด์เนมกระจาย ส่วนของเราค่าขนมแทบไม่พอใช้ ต้องขอพ่อแม่เพิ่มซึ่งแถมมาด้วยการบ่นยาวเหยียดว่าเราฟุ่มเฟือย
  • ทำไมอินฟลูเอนเซอร์หาเงินง่ายจัง มีแต่ของดี ๆ ใช้ เห็นลงรูปแต่ละวันไม่เห็นจะทำอะไรเลย ส่วนเราต้องไปช่วยงานพ่อแม่ทุกวัน ไม่อย่างนั้นที่บ้านจะขาดรายได้

และอีกหลายคำถามที่ไม่มีคำตอบ เรายินดีไปกับเขาแต่ก็อดอิจฉา น้อยใจตัวเอง รู้สึกแย่หดหู่ บางครั้งเลยเถิดไปถึงกับโกรธพ่อแม่ พาลคนรอบตัว ที่ไม่สามารถให้ในสิ่งที่เราจะเป็นอย่างคนในโลกโซเชียลได้

 

สื่อโซเชียลมีเดียทำให้ผู้ใช้เกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น  จนเรารู้สึกว่าขาด และมีความคาดหวังหลายเรื่อง เช่น ไลฟ์สไตล์ รูปร่างหน้าตาที่ไม่น่าจะทำได้จริง (Unrealistic Standards) แต่เดิมก่อนยุคโลกออนไลน์จะเข้ามามีอิทธิพลขนาดนี้ มาตรฐานความสวยงามและการใช้ชีวิตมาจากเซเลบ ดารา ที่เห็นตามสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ แต่ปัจจุบันคนที่มีผลชักจูงสร้างกฎเกณฑ์ให้กับความคิดเรา เป็นคนธรรมดาที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ คนใกล้ตัว ที่อัปภาพ ข้อความ บอกเล่าความเป็นอยู่ที่ดูเหมือนจะธรรมดา เช่น กินข้าวกับอะไร แต่งตัวแบบไหน แต่มันพิเศษสำหรับเรา เพราะทำให้เราอยากได้บ้าง เบื้องหลังชีวิตจริงเขาอาจไม่ได้ดีไปซะทุกอย่างขนาดนั้น เพราะเขาคัดเลือกเฉพาะด้านที่ดี สิ่งที่อยากโชว์มาให้เราส่อง ไม่เปิดเผยมุมที่แย่ แต่ทำให้เราคิดเหมารวมไปว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นแบบนี้นะ เราเลยพยายามไล่ตามทำให้ได้ในแบบที่เขามีและเป็น (เหมือนในโซเชียลมีเดีย) จนเราเหนื่อยหอบ และสงสัยในตัวเองหนักมาก (Perfect Strom of Self Doubt) ว่าเราดีพอแล้วหรือยัง อาจถึงขั้นที่เราขาดความมั่นใจในตัวเองไปเลย (Low Self-esteem) เพราะมันต่างกับอีกฝ่ายมากจนเกินไป

จากประสบการณ์การรักษาคนไข้ของพี่หมอแมวน้ำ คนไข้ส่วนใหญ่มีความทุกข์เพราะโลกโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น เช่น เป็นซึมเศร้าเพราะถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyber Bullying) ทะเลาะกับที่บ้านเพราะไม่ซื้อของให้ตามที่เพื่อนโพสต์อวด อดอาหารจนน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ อยากศัลยกรรมเพื่อให้สวยเหมือนอินฟลูเอนเซอร์ อยากมีแฟนออนไลน์คอลคุยกันตลอดเพราะเพื่อนในกลุ่มมีกัน ทะเลาะด่าแซะทาง IG Story และอีกหลายมหากาพย์ ที่ชนวนมาจากการอยากได้อยากมีให้เหมือนคนในโลกออนไลน์ มองเผิน ๆ อาจเป็นเรื่องปกติ แต่มันไม่ดีต่อสุขภาพใจอย่างแรง พี่หมอแมวน้ำเลยอยากเล่าข้อมูล เพื่อที่น้อง ๆ จะใช้ชีวิตในยุคดิจิตอลนี้ได้อย่างมีสุขภาพจิตที่ดี รู้เท่าทัน และจัดการปัญหาได้อย่างเหมาะสมค่ะ

ผลวิจัยเรื่องสุขภาพจิตของวัยรุ่นกับโซเชียลมีเดีย

  • จากสถิติทั่วโลก พบว่าในแต่ละปีวัยรุ่นมีการเล่นโชเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ในประเทศกำลังพัฒนาร้อยละ 94 ของวัยรุ่นใช้โชเชียลมีเดีย สัดส่วนการใช้แอปฯ เช่น Facebook, Instagram, Snapchat, Youtube, WhatsApp, Twitter, Line ของแต่ละช่วงอายุและเทรนด์การใช้แต่ละปีไม่เหมือนกัน
  • วัยรุ่นส่วนใหญ่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารกับคนอื่นด้วยภาพ คลิป มีปฏิสัมพันธ์ผ่านการกดไลก์ คอมเมนต์ แชร์ และผลเสียจากการเสพโซเชียลมาก ๆ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ คิดว่าตัวเองขาด ไม่ดีเท่าคนอื่น มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำลง (Low Self esteem) อยากได้อยากเป็นในสิ่งที่มันดูไม่เรียล เช่น หุ่นผอมบางใส่เสื้อไซส์ 0 ต้องมีหน้าเล็กวีเชฟจมูกโด่งถึงจะเรียกว่าสวย บางคนป่วยเป็นโรคมีความผิดปกติเรื่องการกิน (Eating Disorder: Anorexia, Bulimia) โรครูปลักษณ์บิดเบี้ยว (Body Dysmorphic Disorder) นำไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง หรือมีความคิดอยากตายได้
  • มีวัยรุ่นจำนวนมากที่ถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyberbullying) เช่น ทัวร์ลงด่ายับ มีกลุ่มแอนตี้ปล่อยข่าวลือหรือภาพตัดต่อทำให้เสียชื่อเสียง อย่างวัยรุ่นในประเทศสหรัฐอเมริการายงานว่าร้อยละ 60 เคยถูกทำร้ายจิตใจทางโลกออนไลน์ จนอาจทำให้เจ็บป่วยทางจิตเวช บางคนทำร้ายตัวเอง และฆ่าตัวตาย เพราะเกลียดและยอมรับกับสิ่งที่ตัวเองเป็นไม่ได้
  • วัยรุ่นที่เล่นโซเชียลมีเดียมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล (Anxiety) โรคซึมเศร้า (Depression) ความคิดอยากฆ่าตัวตาย (Suicidal Thoughts) เกลียดรูปร่างหน้าตาตัวเอง (Negative Self-image) และรู้สึกเหงาโดดเดี่ยว (Loneliness)
  • แต่ละปีมีวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการใช้มือถือที่มากตาม ในทางกลับกันวัยรุ่นที่ทำกิจกรรม เช่น การเล่นกีฬา, วาดภาพ จะลดความเสี่ยงจากการป่วยทางจิตเวช
  • มีการสแกนสมองของคนที่เป็น โรคเสพติดโซเชียลมีเดีย (Social Media Addiction)  พบว่ามีโครงสร้างและการทำงานของสมองที่ผิดปกติเหมือนกับคนที่ติดสารเสพติดจริง บริเวณที่ผิดปกติมากสุด คือ  ศูนย์รางวัล (The Brain’s Reward Center) เมื่อได้เล่นโซเชียลมีเดียหรือเสพสารเสพติดจะทำให้สมองหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) ที่ช่วยให้มีความสุขกระฉูดในช่วงสั้น ๆ เมื่อสารนี้ลดระดับลง สมองต้องการที่จะได้รับอีก จึงมีพฤติกรรมที่ทำให้สารนี้หลั่งออกมาเพิ่ม หากสังเกตดี ๆ เวลาเราใช้แอปฯ ยิ่งใช่บ่อยเราจะเพิ่มเวลากับมันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการออกแบบฟังก์ชั่นในแอปฯ มีจุดประสงค์เพื่อให้คนที่เล่นเสพติดนั่นเอง
  • นักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องปรับตัวอย่างมากทั้ง เช่น ระบบการเรียน การออกจากบ้านมาอยู่หอ พึ่งพาตัวเอง เปลี่ยนกลุ่มเพื่อน ซึ่งอาจทำให้เด็กเครียดมากได้ มีจำนวนนักศึกษาที่ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ในโลกโซเชียลเด็กกลุ่มนั้นโพสต์ข้อความและรูปที่ดูดี (Projected A Perfect Image on Social Media) ให้เราอยากไปฟอลตาม (ผ่านการแต่งแอปฯ และเรื่องราวจนบางทีไม่ตรงปก!) แต่ภายใต้รอยยิ้มกลับมีความทุกข์มหาศาล เพราะต้องพยายามทำทุกอย่างให้เป็นไปตามที่คิดว่าคนอื่นในโลกออนไลน์คาดหวังไว้ เหตุผลที่ตัวตนในโลกโซเชียลตรงข้ามกับสภาพจิตใจที่ยับเยินเพราะเขาต้องการปกปิดจุดด่างพร้อยไม่สมบูรณ์แบบ เช่น โรควิตกกังวล (Anxiety) โรคซึมเศร้า (Depression)  เพราะคิดว่ามันแสดงถึงความอ่อนแอ แล้วจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง เหนื่อยกับการที่ต้องเสแสร้งเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้คนอื่นพอใจ
  • ยอด Engagement และคอมเมนต์เป็นคำพิพากษาจากโลกเสมือนที่เราตีความไปว่ามันคือสิ่งที่เป็นจริง เช่น การดูยอดไลก์ แชร์ คอมเมนต์ต่าง ๆ จากแค่สเตตัสหนึ่ง ทั้งที่จริงมันเป็นสิ่งสมมุติ มาจากคนที่เราทั้งรู้จักและไม่รู้จัก เกรียนคีย์บอร์ด และอื่น ๆ แต่เด็กเข้าใจเหมารวมว่ามันเป็นคำชมหรือตำหนิ “ความเป็นตัวตน” ของเด็กทั้งหมด ทั้งที่จริงเป็นแค่ตัวอักษร/รูปภาพที่เป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิตเท่านั้น

6 วิธีดูแลใจไม่ให้ไหลไปตามโซเชียลมีเดีย

1. รู้และเข้าใจผลเสียจากการการใช้โซเชียลมีเดียที่มากเกินไป

 ผู้ใหญ่และเด็กต้องคุยแลกเปลี่ยนความเห็น ทำความเข้าใจผลเสียที่ตามมาจากการเสียเวลาไปกับโลกออนไลน์ที่มากเกินหรือไม่ได้กลั่นกรอง ช่วยกันวิเคราะห์แยกแยะแยกให้ได้ว่าสิ่งใดปลอมสิ่งใดจริง อะไรที่เราควรให้คุณค่า เพราะหลายครั้งต่อให้รู้ทั้งรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา แต่อิทธิพลจากภาพและข้อความต่าง ๆ มันจะกัดเซาะเข้าไปเกาะในใจเราโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นต้องรู้เท่าทัน (Self Awareness) หยุดความคิดฟุ้งให้เป็น แล้วกลับสู่ความเป็นจริง

2. โลกนี้ไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์และต้องใช้ความพยายาม

 ถ้าดูแค่โลกออนไลน์ทุกคนดูดีและประสบความสำเร็จไปหมด ทั้งที่ไม่ต้องออกแรงอะไรมาก ง่ายโคตร ไม่มีใครโชว์ความล้มเหลวกันหรอก จนเราเข้าใจว่า “ทุกอย่างทำปุ๊บแล้วผลลัพธ์จะออกมาดี” แต่ความเป็นจริงการที่เราจะได้รับในสิ่งที่เราต้องการมันขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ไม่มีอะไรได้มาง่าย ต้องรู้จักความล้มเหลว ยอมรับความผิดพลาดได้ แก้ปัญหาเป็น ผู้ใหญ่ต้องชมเด็กและสอนให้เด็กชื่นชมตัวเองเรื่องคุณค่าของความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้ ระหว่างทางที่เราทำบางอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เราได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย ถ้าเราทำแล้วสำเร็จเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะคนเราไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง (Imperfect)

3. กำหนดวันปลอดโซเชียลมีเดีย (Social Holiday)

 ครอบครัว สังคม สังกัดกลุ่มที่เราอยู่ ต้องกำหนดวันที่ไม่ใช้โซเชียลมีเดีย (Social Holiday) เปลี่ยนจากการเจอกันหน้าจอมาเจอหน้าจริง ทำกิจกรรม มีปฏิสัมพันธ์ เกิดการเรียนรู้ว่าการทำอย่างอื่นนอกจากหน้าจอมันก็ฟินได้เหมือนกัน

4. “ไม่ต้องดูดีและมีความสุขตลอดเวลา”

 ยอมรับสิ่งที่เกิดในโลกความจริง ไม่ต้องพยายามฝืนยิ้มร่าเริงชีวิตดี๊ดีเพื่อให้คนในโลกออนไลน์ยอมรับ จริง ๆ การหลีกเลี่ยงความ Toxic จากโซเชียลมีเดียทำได้ง่ายมาก คือ ไม่ต้องเปิดดู ไม่ไปอยู่ในนั้น พอไม่รับรู้ก็ไม่ทุกข์ แต่มันยากตรงที่จะตัดใจไม่เปิดดูได้หรือเปล่า

5. เชื่อและให้ความไว้ใจกับคนในโลกจริง

 คนที่เจอกันตัวเป็น ๆ เราจะเรียนรู้ความคิด นิสัย เขาได้แบบเรียล ทั้งด้านดีและไม่ดี เพราะเมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นคนเราไม่สามารถแอ๊บแสนดีไปได้ตลอด ที่นี้ก็รู้กันไปเลยว่าเวลาที่ชีวิตเราแย่เยินเขาพร้อมที่จะช่วยเหลือเป็นกำลังใจให้ผ่านวันที่เลวร้ายไปได้ หรือถีบเราส่งวิ่งหนีหายไป บางครั้งคนจากโลกออนไลน์เหมือนจะช่วยผ่านตัวอักษร “สู้ ๆ นะ” ซึ่งไม่รู้ว่าพิมพ์เพื่อให้กำลังใจจริงหรือแค่อยากมีส่วนร่วมเพิ่มยอด engagement แสดงความแสนดีของตัวเอง สุดท้ายปัญหาที่เกิดขึ้นเราและคนรอบข้างในชีวิตจริงต้องช่วยกันพยุงร่างผ่านพ้นปัญหานั้นไปให้ได้

6. หากตัวเราเปลี่ยนไปให้พบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการช่วยเหลือ

 คนที่ติดอยู่ในโลกออนไลน์หนัก บางครั้งเขาอาจกำลังหนีบางอย่างจากชีวิตจริงอยู่ เช่น สอบตกโดนพ่อแม่ด่า เพื่อนไม่ชอบ ท้อใจมากอยากได้กำลังใจ เมื่อเข้าไปในโซเชียลมีเดีย โพสต์รูปตัวเองที่ผ่านแอปฯ แล้วดูดี ได้รับคำชม ทำให้สบายใจขึ้น แต่ท้ายที่สุดปัญหาในโลกความจริงไม่ได้รับการแก้ไข พอปิดหน้าจอไป ความเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง ถ่าโถมกระหน่ำเข้ามา จนนอนไม่หลับ เบลอ คิดไม่ออก อยากหายไป ถ้าไม่ลงมือแก้หรือขอความช่วยเหลือจากใคร ชีวิตยิ่งดิ่งจนนำไปสู่การเป็นซึมเศร้า ส่วนใหญ่แล้วโรคติดโซเชียลมีเดีย (Social Media Addiction) มักเป็นโรคปลายเหตุ ที่แก่นของมันเป็นโรคอื่น เช่น โรคซึมเศร้า (Depression), โรควิตกกังวล (Anxiety), โรคสมาธิสั้น (ADHD), ปัญหาการเรียน ทำให้ทุกข์ อยากรู้สึกดีต้องเข้าโลกออนไลน์ หากได้รับการรักษาที่โรคต้นเหตุจะช่วยให้ลดการเล่นโซเชียลมีเดียได้ โดยการพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ที่จะช่วยหาสาเหตุ วางแผนร่วมกัน และให้การรักษาแบบองค์รวม ปัญหาที่เกิดจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

ชีวิตในปัจจุบันเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ครู เพื่อน ที่ทำงานใช้ไลน์กลุ่มในการสื่อสาร ต้องมี Facebook เล่น IG ไว้ส่งการบ้าน การใช้โซเชียลมีเดียมีทั้งข้อดีข้อเสีย หากเรารู้ข้อจำกัดและควบคุมตัวเองให้ใช้ในทางสร้างสรรค์ได้เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเราเริ่มอินกับมันมากเกิน เช่น เปรียบเทียบตัวเองกับคนในโลกออนไลน์ตลอด มีแต่ความรู้สึกลบ ต้องรู้ตัวให้เร็วหรือมีคนคอยช่วยเตือน และขอความช่วยเหลือให้เป็นก่อนที่จะพังไปมากกว่าเดิม

ใครมีเรื่องราวอยากเล่าหรือข้อคำถามใดคอมเมนต์ทิ้งไว้ข้างใต้เลยค่าาาา

Referencehttps://childmind.org/article/social-media-and-self-doubt/https://damorementalhealth.com/social-media-and-self-esteem/https://www.acc.edu.au/blog/social-media-low-self-esteem/https://sterlingstyleacademy.com/

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น