ชวนสำรวจตัวเอง! เราคือคนรักแบบไหนในความสัมพันธ์ ผ่าน Attachment Theory ทฤษฎีความผูกพัน

สวัสดีค่ะ ชาว Dek-D.com ทุกคนเคยสังเกตตัวเองกันบ้างมั้ยคะ ทำไมเวลาที่เรามีความรักหรือความสัมพันธ์กับใครสักคน ตัวตนอีกด้านที่เราไม่เคยรู้จักมักจะถูกเผยออกมา เช่น จากที่ปกติไม่ใช่คนขี้กังวลเลย แต่พอมีความรักกลับกลายเป็นว่า กังวลไปหมด  จนทำให้บางครั้งเราก็สับสน ไม่เข้าใจในความสัมพันธ์ และตัวตนของเขาคนนั้น ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้นานๆ ก็อาจเกิดความขัดแย้งในความสัมพันธ์ได้ บทความนี้พี่แป้งเลยอยากชวนทุกคนมาสำรวจรูปแบบความสัมพันธ์ของตัวเองตาม ทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) กันค่ะ จะได้รู้และเข้าใจว่า เราเป็นคนรักแบบไหน!

ชวนสำรวจตัวเอง! เราคือคนรักแบบไหนในความสัมพันธ์ ผ่าน  Attachment Theory ทฤษฎีความผูกพัน
ชวนสำรวจตัวเอง! เราคือคนรักแบบไหนในความสัมพันธ์ ผ่าน  Attachment Theory ทฤษฎีความผูกพัน

Attachment Theory ทฤษฎีความผูกพัน

ทฤษฎีนี้ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อปี 1960 โดย John Bowlby นักจิตยาชาวอังกฤษ เป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความผูกพันทั้งความรักและอารมณ์ โดยทฤษฎีนี้เชื่อว่า การเลี้ยงดูที่เราเคยได้รับในวัยเด็ก รวมถึงความผูกพันระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดู จะมีผลกระทบไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ในความสัมพันธ์เชิงคู่รัก ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ วัยเด็กเราถูกรักมาแบบไหน พอโตขึ้นเราก็มีแนวโน้มที่จะรักคนอื่นในแบบนั้นนั่นเองค่ะ

Mary Ainsworth ลูกศิษย์ของ Bowlby ได้ทำการทดลองที่เรียกว่า  "Strange Situation"  โดยการเอาเด็กอายุ 3-4 ขวบ พร้อมกับแม่ เข้าไปอยู่ในห้องๆ หนึ่งที่เต็มไปด้วยของเล่น รวมทั้งมีคนแปลกหน้าอีกคนหนึ่งและให้แม่คุยกับคนแปลกหน้าสักพัก จากนั้นก็ให้แม่ออกจากห้องไป ปล่อยให้เด็กอยู่กับคนแปลกหน้าแค่สองต่อสอง และอีกไม่กี่นาทีต่อมาก็ให้แม่เดินกลับเข้ามาในห้องอีกครั้ง หลังจากที่สังเกตพฤติกรรมของเด็ก พบว่า เด็กมีพฤติกรรม 3 รูปแบบ คือ

  1. ร้องไห้เมื่อแม่เดินออกไป แต่เมื่อแม่เดินกลับเข้ามาก็หยุดร้อง แล้วก็กลับไปเล่นของเล่นต่อ
  2. ร้องไห้เมื่อแม่เดินออกไป แต่ถึงแม่จะกลับเข้ามาก็ใช้เวลานานกว่าจะหยุดร้อง และไม่ยอมกลับไปเล่นของเล่นจะอยู่กับแม่อย่างเดียว
  3. ยังคงเล่นของเล่นแม้ว่าแม่จะออกไป ไม่สนใจเมื่อแม่กลับเข้ามา เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น (แต่หัวใจเต้นแรงขึ้นเวลาที่แม่ออกไป)

นอกจากนี้ Dr. Phillip Shaver และ Dr. Cindy Hazan เชื่อว่า รูปแบบความผูกพันจะเกิดขึ้นภายในปีแรกของการมีชีวิตอยู่ ระหว่างอายุ 7-11 เดือน โดยทั้งคู่ได้นำทฤษฎีนี้มาศึกษาเพิ่มเติมในผู้ใหญ่และใช้กับความสัมพันธ์แบบโรแมนติกกับคู่รัก ซึ่งพวกเขาได้ตั้งทฤษฎีที่มีชื่อว่า Attachment Style และแบ่งสไตล์ความสัมพันธ์เป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ Secure (มั่นคง), Anxious (วิตกกังวล), Avoidant (หลีกเลี่ยง) และ Fearful (หวาดกลัว)

เราเป็นคนแบบไหนในความสัมพันธ์กันนะ?

อย่างที่บอกไปค่ะว่า ทฤษฎีความผูกพัน แบ่งรูปแบบความสัมพันธ์ออกเป็น 4 ประเภท เรามาดูกันดีกว่าว่า การเลี้ยงดูแต่ละรูปแบบจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเราในตอนโตอย่างไรบ้าง

Secure Attachment ความผูกพันแบบมั่นคง  

พื้นฐานครอบครัว : กลุ่มนี้เติบโตมาจากครอบครัวที่อบอุ่น ให้ความรักและดูแลเอาใจใส่อย่างเต็มที่ เวลาที่ต้องการอะไร ครอบครัวก็พร้อมสนับสนุนเสมอ ทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าพ่อแม่หรือคนในครอบครัวไม่รักตัวเอง เมื่อโตขึ้นจะไม่ค่อยวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์  

เมื่อมีความสัมพันธ์แบบคู่รัก : มักจะให้ความเชื่อใจคนรัก แม้จะต้องห่างไกลกันก็ไม่เป็นไร เพราะเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ เวลาพบปัญหามักจะพูดคุยแบบตรงๆ โดยที่ไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม และตอบสนองความต้องการของคนรักได้ดี  ทำให้สามารถพยุงความรักไปได้อย่างราบรื่น  

Anxious Attachment ความผูกพันแบบกังวล

พื้นฐานครอบครัว : กลุ่มนี้เติบโตมาจากครอบครัวที่อาจไม่ได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ถูกปล่อยปะละเลย จนเด็กมีความรู้สึกที่ไม่มั่นคง ทำให้มักจะติดพ่อแม่มากๆ เพราะเวลาที่ได้อยู่กับพ่อแม่จะรู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่สุด เมื่อโตขึ้นจึงมีความคาดหวังในความสัมพันธ์สูง

เมื่อมีความสัมพันธ์แบบคู่รัก : มักจะไม่ค่อยเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ อยากอยู่ใกล้ชิดคนรักตลอดเวลา และเป็นคนที่ขี้กังวล ขี้หึงง่าย เวลาที่ความสัมพันธ์มีปัญหาจะไม่ค่อยกล้าเคลียร์ใจกับคนรัก เพราะกลัวการถูกปฏิเสธ หรือกลัวถูกทิ้ง บางคนก็มีความคิดอยากอยู่เป็นโสด แต่ภายในใจลึกๆ ก็โหยหาการมีความรัก หรือความสัมพันธ์

Avoidant Attachment ความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง

พื้นฐานครอบครัว : กลุ่มนี้เติบโตมาจากครอบครัวที่อาจไม่ได้ให้ความรักอย่างเต็มที่ ไม่ค่อยได้รับความสนใจ หรืออาจจะอยู่ห่างไกลกับพ่อแม่ จึงชอบคาดหวังว่าพ่อแม่จะมีเวลาให้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับไม่ใช่อย่างที่คิด จึงทำให้ความหวังนั้นพัง บางคนอาจอยู่ในครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรง เมื่อโตขึ้นกลายเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียว พึ่งพาแค่ตัวเอง และไม่ค่อยสนใจความรู้สึกคนอื่น

เมื่อมีความสัมพันธ์แบบคู่รัก : มักจะหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ เพราะรักในความเป็นอิสระ และไม่ค่อยอินกับความสัมพันธ์ หรือถ้ามีแฟนก็มักจะมีระยะห่างกับคนรัก ไม่ค่อยแสดงความรัก เก็บความรู้สึกเก่ง เวลาที่ความสัมพันธ์มีปัญหามักจะเงียบและทำตัวหมางเมิน ไม่ปรับความเข้าใจ จนดูเหมือนกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว

Fearful Attachment ความผูกพันแบบหวาดกลัว

พื้นฐานครอบครัว : กลุ่มนี้เติบโตมากับครอบครัวที่อารมณ์ไม่คงที่ และมีประสบการณ์วัยเด็กไม่ดี เช่น ถูกทอดทิ้ง หรือมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น ความรุนแรงทางกาย คำพูด และจิตใจ เมื่อโตขึ้นจึงกลายเป็นคนที่ไม่ไว้ใจคนรอบข้าง หวาดระแวงในความสัมพันธ์ และมีกำแพงในใจสูง  

เมื่อมีความสัมพันธ์แบบคู่รัก : มักจะเข้าหาทำความรู้จัก หรือเริ่มต้นความสัมพันธ์ก่อน แต่พอเริ่มสนิทสนม รู้ใจกันมากขึ้น ก็จะเริ่มเฟดตัวออกมา เพราะคิดว่าถ้าอีกฝ่ายรู้จักมากขึ้นเขาอาจจะไม่ชอบตัวเองอีกต่อไป อีกทั้งยังเป็นรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง และเชื่อว่าตัวเองไม่คู่ควรกับการมีความรัก  

Attachment Style สามารถเปลี่ยนได้หรือเปล่า?

น้องๆ จะเห็นได้ว่า ความผูกพันในแต่ละรูปแบบล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ ครอบครัวหรือผู้เลี้ยงดูนั้นไม่ใช่คนเดียวที่กำหนดรูปแบบความผูกพันของเรา แต่อิทธิพลจากความสัมพันธ์อื่นๆ ที่เราเจอมาตลอดชีวิตก็สามารถกำหนดได้เหมือนกัน เช่น มิตรภาพ และความรักครั้งเก่า เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า Attachment Style ของแต่ละคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหากได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างจริงจัง หมั่นสังเกตและรู้เท่าทันตนเองว่ากำลังคิดและรู้สึกอะไร หรือจุดไหนที่เราบกพร่อง แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะช่วยให้เรากลายเป็นคนที่ดีขึ้นนั่นเองค่ะ

สิ่งสำคัญคือ เมื่อความสัมพันธ์เกิดมีปัญหา หรือความขัดแย้ง ขอแค่กล้าเปิดใจคุยกันอย่างตรงไปตรงมาด้วยเหตุผล ช่วยกันหาทางแก้ไขแล้วไปกันต่อ อะไรที่พอจะปรับปรุง แก้ไข เพื่อให้ความสัมพันธ์ไปต่อกันได้ก็ควรลองดูนะคะ แต่ถ้าสุดท้ายแล้วหาทางออกร่วมกันไม่ได้จริงๆ แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือจิตแพทย์ที่ให้คำปรึกษา ทั้งปัญหาด้านความรัก ปัญหาชีวิตคู่ เพื่อให้ช่วยแก้ไขและหาทางออกร่วมกันไปด้วยก็น่าจะช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นค่ะ  

 

สำหรับบทความนี้พี่แป้งหวังว่า น้องๆ ชาว Dek-D.com ทุกคนจะได้รู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น และหวังว่าจะช่วยให้น้องๆ กลับมารักและเทคแคร์ตัวเอง รวมถึงเปิดใจเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ๆ รับความรักและคำปลอบโยนจากผู้อื่นให้มากขึ้นนะคะ ^^

 

ข้อมูลจาก  :  https://www.mindbodygreen.com/articles/attachment-theory-and-the-4-attachment-styleshttps://www.attachmentproject.com/attachment-style-quiz/https://www.scienceofpeople.com/attachment-styles/  https://theoryoflove.space/attachment-style/ 

 

รูปภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/happy-asian-family-using-computer-laptop-together-sofa-home-living-room_15101802.htm#query=family%20asia&position=47&from_view=search&track=ais  https://www.freepik.com/free-photo/medium-shot-smiley-couple-sitting-together_24482593.htm#from_view=detail_seriehttps://www.freepik.com/free-photo/happy-asian-young-attractive-couple-man-woman-sit-couch-use-tablet-shopping-online-furniture-new-house_14407749.htm#query=asian%20couple&position=18&from_view=search&track=ais

 

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น