ชอบใช้ชีวิตกลางคืนมากกว่ากลางวัน เรากำลังเป็น ‘Nyctophilia’ หรือเปล่านะ ?

ใครเป็นบ้าง “กลางวันยอมไม่ตื่น ส่วนกลางคืนยอมไม่นอน”

ช่วงเวลากลางคืนคงเป็นสวรรค์สำหรับน้อง ๆ Dek-D หลายคนที่รอคอยให้มาถึงใช่มั้ยล่ะคะ เพราะจะได้ใช้เวลาช่วงนี้อยู่กับตัวเองได้อย่างเต็มที่ บางคนสมองชอบแล่นตอนกลางดึก ก็นั่งปั่นงานยาว ๆ จนถึงเช้าไปเลย บางคนก็ชอบนอนดูซีรีส์ เน็ตฟลิกเวลานี้เพราะมันเงียบสงบดี สำหรับคนที่ชอบใช้ชีวิตกลางคืน แต่ไม่ใช่การเที่ยวกลางคืนแบบนี้ มาทำความรู้จักกันหน่อยว่าพฤติกรรมแบบนี้มันเรียกว่าอะไรกันนะ

‘Nyctophilia’ คืออะไร

ในทางจิตวิทยากล่าวว่า ‘Nyctophilia’ เป็นความชอบส่วนตัวของบุคคลต่อช่วงเวลากลางคืน ชอบค้นหาความผ่อนคลายและความสะดวกสบายให้ตัวเองในความมืด หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นความคลั่งไคล้ในช่วงเวลากลางคืนเลยก็ว่าได้ ซึ่งจะไม่เหมือนกับคนที่มีปัญาหาการนอนหลับในเวลากลางคืน และคนที่มีเงื่อนไขบังคับให้ต้องใช้ชีวิตตอนกลางคืน เช่น คนที่ต้องทำงานกะกลางคืน เป็นต้น

เช็กตัวเองว่าเราเป็นคนชอบกลางคืน ‘Nyctophilia’ หรือเปล่า ? 

Anna LeMind ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าบรรณาธิการที่ Learning Mind และเป็นนักจิตวิทยาที่จบปริญญาตรี สาขาสังคมศาสตร์ ให้ข้อมูลในการรีเช็กตัวเองไว้ ดังนี้

1. ชอบความเย็นสบายในยามค่ำคืน

สิ่งหนึ่งที่คนในกลุ่มนี้ไม่ชอบเป็นพิเศษเลยก็คือ อากาศที่แสนจะร้อนอบอ้าวในตอนกลางวัน ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาโหยหามากที่สุดหลังจากใช้ชีวิตเหนื่อยล้ามาทั้งวันแล้ว คือการได้สูดอากาศเย็น ๆ ในช่วงเวลากลางคืน ได้นอนลงบนเตียงนุ่ม ๆ ในห้องสี่เหลี่ยมท่ามกลางความมืด แค่นี้ก็สามารถช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจได้ดีสุด ๆ แล้ว 

2. หลงใหลกลิ่นกลางคืน

กลิ่นอายของความสดชื่นมักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน และมักเป็นกลิ่นโปรดของคนกลุ่ม ‘Nyctophilia’ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ภายในห้องนอนตัวเอง กลิ่นเทียนหอม หรือแม้แต่กลิ่นของดอกไม้ ต้นไม้ต่าง ๆ ที่โชยมาผสมปนเปกันอย่างกลมกลืน จนสามารถสะกดจิตของคนเหล่านี้ในยามค่ำคืนได้

3. ชอบความเงียบ ปราศจากความวุ่นวาย

นอกจากอากาศและกลิ่นที่สามารถสร้างความพิเศษให้กับช่วงเวลากลางคืนได้แล้ว ความเงียบสงบ ไร้เสียงรถ เสียงผู้คน และความวุ่นวายต่าง ๆ ยังเป็นสิ่งที่คนกลุ่ม ‘Nyctophilia’ โปรดปรานเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้ได้ใช้เวลาในการทบทวนตัวเอง และอยู่กับตัวเองได้อย่างเต็มที่

4. สมองแล่นกลางดึก

ด้วยความที่ตอนกลางคืนนั้นเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสงบ ไร้เสียงรบกวน แถมบรรยากาศก็ยังเป็นใจอีก จึงทำให้มีสมาธิมากขึ้น ส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดพรั่งพรูแบบไม่หยุดหย่อนนั่นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ใครหลายคน รวมถึงเหล่า ‘Nyctophilia’ ก็มักจะสมองแล่น และคิดงานออกในช่วงเวลานี้ อย่างเช่นนักเขียนชื่อดัง Stephanie Meyer ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Twilight ก็จะชอบนั่งเขียนหนังสือในตอนกลางคืน เพราะเมื่อลูก ๆ ของเขาเข้านอนจะทำให้บรรยากาศเงียบสงบ มีสมาธิอยู่กับงานเขียนได้มากยิ่งขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ให้เหตุผลไว้ว่า สมองซีกขวาของมนุษย์จะทำงานได้ดีในตอนกลางคืน เพราะสมองซีกขวาเป็นศูนย์รวมความคิด ความสร้างสรรค์ต่าง ๆ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับอารมณ์ และสัญชาตญาณไปจนถึงความฝันของเราอีกด้วย ทำให้เมื่อตกกลางคืนสมองซีกนี้จะเกิดความกระตือรือร้น เพราะว่าใช้พลังงานน้อยลงในการเป็นแหล่งพลังงานให้กับสมองส่วนอื่น ๆ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายคนจึงหัวสมองแล่นในยามค่ำคืนมากกว่ากลางวันนั่นเอง

5. รักการชื่นชมธรรมชาติยามค่ำคืน

บางคนหลงรักช่วงเวลากลางคืน เป็นเพราะว่าชอบ หรือถึงขั้นเสพติดการทำกิจกรรมในยามค่ำคืน นั่นก็คือการชื่นชมธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการนอนดูท้องฟ้า ดวงดาว ดวงจันทร์ หรือแม้ว่าในคืนนั้นอาจจะไม่เห็นดวงดาวก็ตาม เพราะการได้มองท้องฟ้าแบบไม่ต้องคิดอะไร ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นเหมือนได้รับการปลอบประโลมจากท้องฟ้า และให้ความรู้สึกว่าเราเหลือตัวเล็กเพียงนิดเดียวท่ามกลางท้องฟ้าที่กว้างใหญ่

การใช้ชีวิตกลางคืนอาจเป็นข้อดีสำหรับบางคน เพราะจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ  แต่อย่าลืมว่าหากเราสะสมพฤติกรรมแบบนี้ไปนาน ๆ ก็สามารถส่งผลเสียตามมาได้เช่นกัน

ข้อเสียของการใช้ชีวิตกลางคืน

  • สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ อาจทำให้นำไปสู่การเกิดปัญหาโรคภัยต่าง ๆ ตามมาในระยะยาวได้ เช่น โรคอ้วน ความดัน ภาวะซึมเศร้า
  • ทำให้สมาธิสั้นลง เมื่อสมองไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะทำให้ความจำเริ่มติดขัด และจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดน้อยลง โดยจะทำให้สามารถรับความเครียดและแรงกดดันได้น้อยลงไปด้วย
  • ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น กรณีที่เราใช้ชีวิตโล่นแล่นเฉพาะตอนกลางคืน และหลับในตอนกลางวันแทนนั้น จะทำให้เราไม่ได้ออกไปพบเจอเพื่อนฝูง หรือโลกภายนอก ซึ่งส่งผลทำให้กลายเป็นคนชอบเก็บตัว และขาดการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีได้

แล้วจะรู้ได้ยังไง? ว่าเรานอนพอหรือไม่พอ

  • มีอาการง่วงนอนหรืองีบหลับระหว่างวัน
  • จำเป็นต้องพึ่งกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกกำลังให้ไม่หลับระหว่างวัน
  • ตื่นตอนกลางคืนบ่อย นอนหลับไม่สนิท
  • หงุดหงิดง่าย
  • ไม่ค่อยมีสมาธิ ร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่
  • หิวมากขึ้น กินอาหารเยอะขึ้น
  • ใต้ตาดำ ผิวคล้ำ มุมปากตก

สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่รู้ตัวว่าตัวเองมีพฤติกรรมอยู่ในกลุ่ม ‘Nyctophilia’ พี่แคทแนะนำว่าควรเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนเวลาการนอนใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ถ้าอยากรู้ว่าทำยังไง ตามไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ตื่นตอนนี้ ต้องนอนตอนไหน? เช็กตารางการนอนหลับให้ตาม 'วงจร 90 นาที' เลยค่ะ การพักผ่อนให้เพียงพอเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสุขภาพที่ดีของเราในระยะยาวนะคะ^^

ข้อมูลจากhttps://deltadiscovery.com/what-is-nyctophilia/https://www.learning-mind.com/what-is-a-nyctophile/รูปภาพจากhttps://www.freepik.com/free-vector/person-sleeping-bed-backgroundhttps://www.freepik.com/free-vector/starry-window-concept-illustrationhttps://www.freepik.com/free-vector/counting-stars-concept-illustration
พี่คิทแคท
พี่คิทแคท - Columnist นอกจากกินเก่งกับนอนเก่งแล้ว ก็ไม่เก่งอะไรอีกเลย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด