“ใครเป็น Glossophobia บ้าง? โรคกลัวการพูดในที่สาธารณะ แค่บอกให้รถตู้จอดยังไม่กล้า!”

มีใครรู้สึกกังวลเวลาต้องออกไปพูดในที่สาธารณะบ้างไหมคะ? มาเช็กอาการ Glossophobia หรือโรคกลัวการพูดในที่สาธารณะกัน!

สวัสดีค่ะ น้อง ๆ ชาว Dek-D.com มีใครที่รู้สึกกลัวและกังวลเวลาต้องนำเสนองาน ต้องออกไปพูดสุนทรพจน์ พูดแนะนำตัว หรือแม้กระทั่งตอนบอกคนขับรถตู้ว่าให้จอด บ้างไหมคะ? ถ้าน้อง ๆ เคยมีความรู้สึกแบบนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็น Glossophobia หรือโรคกลัวการพูดในสาธารณะ! แล้วโรคนี้คืออะไร แล้วมีวิธีรับมือยังไง พี่ป๊อกกี้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้วค่ะ

Glossophobia คืออะไร?

Glossophobia (กลอสโซโฟเบีย) คือ “โรคกลัวการพูดในที่สาธารณะ” เป็นอีกหนึ่งความกลัวที่ผู้คนมักเป็นกัน จัดอยู่ในประเภทของ “โรควิตกกังวลทางสังคม” โดยอาการของโรคนี้จะเกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาหรือสถานการณ์ที่ต้องออกไปพูดในที่สาธารณะต่อหน้าผู้ฟังมากหน้าหลายตา หรือบางทีก็เกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในคนกลุ่มเล็ก ๆ อย่างครอบครัวหรือเพื่อนสนิท

สาเหตุของโรคนี้เกิดขึ้นมาจากการที่เรากังวลหรือจินตนาการไปต่าง ๆ นานา ว่าผู้อื่นจะคิด ตัดสิน และประเมินค่าการพูดของตัวเรายังไงในขณะที่เรากำลังพูดหรือนำเสนออยู่ บางทีอาจจะเกิดจากประสบการณ์แย่ ๆ เกี่ยวกับการพูดในที่สาธารณะในอดีต หรืออาจจะเกิดจากการที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านนี้มาก่อนเลย จนทำให้เราเกิดความอับอายและตื่นเวทีขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ

ถ้าหากพูดในเชิงวิทยาศาสตร์ มันเกิดขึ้นจากการที่ Amygdala ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของสมองที่คอยจัดการการตอบสนองต่อความกลัวของบุคคล ดังนั้นเมื่อเราอยูในสถานการณ์ที่ต้องพูดต่อหน้าสาธารณชนมากมายจนเกิดความตื่นเต้น สมองส่วนนี้ก็จะทำงานหนักเกินไป ส่งผลให้ความเครียดและความวิตกกังวลในตัวเรายิ่งเพิ่มมากขึ้น

คนที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่กลัวความผิดพลาด กลัวความล้มเหลว และคาดหวังในตนเองสูง แม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคที่อันตรายหรือเรื้อรังใด ๆ แต่มันก็อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสุขภาพกายและจิตได้เหมือนกันนะ

วันนี้พี่ป๊อกกี้เลยอยากชวนน้อง ๆ มาเช็กอาการของโรคนี้ พร้อมบอกวิธีรับมือที่น่านำไปปรับใช้ด้วยค่ะ

ลักษณะอาการของ Glossophobia

เมื่อเราจะต้องไปพูดในที่สาธารณะ เราก็เกิดอาการแปลก ๆ ขึ้นมาทันที ซึ่งอาการเหล่านี้ก็คืออาการของโรค Glossophobia นั่นเอง จะมีอาการอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ

1. พยายามหลีกเลี่ยงการพูดในที่สาธารณะ

เมื่อเรารู้ว่าเราจะต้องไปพูดในที่สาธารณะ เราก็จะพยายามบ่ายเบี่ยงทุกครั้ง ถึงแม้ว่าบางครั้งจำเป็นต้องพูดจริง ๆ เราก็จะพยายามยื้อเวลาแทน เรียกได้ว่าทำทุกวิถีทางให้เราไม่ต้องไปพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ นั่นเอง

2. เครียด วิตกกังวล ตื่นเต้น

ความเครียด ความวิตกกังวล และความตื่นเต้นจะเกิดขึ้นแน่นอน ทั้งในตอนก่อนพูด ที่เราอาจจะนอนคิดมากและจินตนาการไปในแง่ลบว่าการพูดในวันพรุ่งนี้จะเป็นยังไง หรือในขณะที่พูด เรามักจะตื่นเต้นและกังวลในสิ่งที่เราพูดไปแล้วและกำลังจะพูดออกไปว่ามันดีแล้วหรือยัง ผู้ฟังจะมีความคิดเห็นและรู้สึกยังไงบ้าง ความเครียดและความกังวลวิ่งวนกันเต็มหัวไปหมด

3. มือไม้สั่น ใจเต้นแรง พูดติดขัด

แน่นอนว่าในขณะที่เรากำลังพูด อาการมือสั่น ปากสั่น ตัวสั่น ใจเต้นแรงและรัว จนไปถึงการพูดติดขัด พูดผิด ๆ ถูก ๆ เกิดขึ้นแน่นอน นั่นก็เพราะความตื่นเต้นและความกังวลที่อยู่ภายในจิตใจของเรามันแทบจะล้นออกมา

4. แขนขาอ่อนแรง หน้ามืด อาเจียน เป็นลม

หากเป็นระดับที่แรงที่สุด คือจะเกิดอาการแขนขาอ่อนแรง หน้ามืด บางคนอาจจะถึงขั้นอาเจียนและเป็นลมไปในขณะที่พูดอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่ร้ายแรงมากที่สุดที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมาจากการกลัวการพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ

เคล็ดลับ/วิธีรับมือเบื้องต้น

เมื่อเรารู้ตัวแล้วว่าเรากำลังเป็นโรค Glossophobia อยู่ เราก็ควรรีบหาทางแก้ให้เร็วที่สุด ซึ่งวิธีรับมือนั้นก็ไม่ยากเลยค่ะ สามารถทำได้ง่าย ๆ จะมีวิธีไหนบ้าง มาดูกันค่ะ

1. ฝึกพูดเป็นประจำ 

การฝึกฝนเป็นวิธีที่ดีมาก ก่อนที่เราจะพูดได้คล่อง พูดได้ดี และมีประสิทธิภาพ เราต้องผ่านการฝึกฝน ฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอและตั้งใจ จะฝึกพูดหน้ากระจกกับตัวเอง จะซ้อมพูดให้เพื่อน ๆ หรือคนในครอบครัวฟังก็ได้ มากไปกว่านั้นคือเราควรที่จะวางแผนให้รอบคอบควบคู่ไปด้วย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เราแม่นยำและคุ้นชินกับการพูดได้ค่ะ

2. ขอคำแนะนำและกำลังใจ 

หากเราไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ในด้านการพูดในที่สาธารณะมาก่อน การขอคำแนะนำหรือคำปรึกษาจากผู้รู้ ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน ๆ ที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ หรือแม้กระทั่งการศึกษาผ่านสื่อออนไลน์ รวมไปถึงการขอกำลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ จากคนที่เรารัก ก็เป็นอีกสิ่งที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะความรู้และความมั่นใจให้กับเราได้

3. ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย 

เมื่อถึงเวลาที่เราต้องพูดในที่สาธารณะ ให้เราสูดหายใจเข้าลึก ๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ พยายามไม่เกร็ง และดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ร่างกายของเราเกิดความผ่อนคลาย ส่งผลให้ความเครียด กดดัน และวิตกกังวลลดลงตามไปด้วยนั่นเองค่ะ

4. คิดในแง่บวก มั่นใจในตัวเอง 

การคิดในแง่ลบและไม่มั่นใจในตัวเองเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะนอกจากมันจะทำให้เราเครียดแล้ว ยังทำให้การพูดของเรานั้นดูไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนั้นเราควรคิดในแง่บวก ให้เรามุ่งเน้นไปที่เนื้อหาที่เราจะพูดมากกว่าการจินตนาการในแง่ลบว่าผู้ฟังจะคิดยังไงกับการพูดของเรา มากไปกว่านั้นเราต้องมั่นใจในตัวเอง คิดเสมอว่าเราทำได้ ไม่มีอะไรยากหากเราตั้งใจ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้การพูดของเราน่าฟังและเราก็ยังดูเป็นผู้พูดที่ดูน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วยค่ะ

น้อง ๆ คนไหนที่เช็กอาการเบื้องต้นแล้วพบว่าเข้าข่ายการเป็นโรค Glossophobia ก็ไม่ต้องตกใจนะคะ เพราะมันไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร เพียงแต่ว่าถ้าเรารีบแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะทำให้เรามั่นใจในตัวเองและเป็นผู้พูดที่ดีได้แน่นอนค่ะ ว่าแต่มีใครกลัวอะไรแปลก ๆ นอกจากนี้ไหมคะ มาคอมเมนต์พูดคุยกันได้นะ!

ข้อมูลจากhttps://www.choosingtherapy.com/glossophobia/ รูปภาพจากhttps://www.freepik.com/free-photo/crying-asian-girl-singing-heartbroken-microphone-holding-mic-grimacing-upset-standing-white-background-copy-space_23596354.htm#query=Public%20speaking%20fear&position=29&from_view=search&track=ais https://www.freepik.com/free-photo/serious-female-woman-presenting-project-classmates_6448021.htm#page=10&query=Public%20speaking%20fear&position=32&from_view=search&track=aishttps://www.freepik.com/free-photo/female-business-executive-giving-speech_8236855.htm#page=9&query=Public%20speaking%20fear&position=4&from_view=search&track=ais https://www.freepik.com/free-photo/anxious-asian-lady-suit-talking-public-giving-speech-with-microphone-conference-looking-scared-standing-pink-background_25979881.htm#query=Public%20speaking%20fear&position=6&from_view=search&track=ais
พี่ป๊อกกี้
พี่ป๊อกกี้ - Columnist Tiktok ไม่ขาด หงายการ์ดคอนเทนต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น