พาไปรู้จัก World Englishes! เมื่อภาษาอังกฤษไม่ได้มีแค่ ‘British’ กับ ‘American’

English is truly international language! สวัสดีครับชาว Dek-D ทุกคน หากพูดถึงภาษาอังกฤษ หลายคนอาจคิดว่ามีแค่แบบ “บริติช” (British English) กับ “อเมริกัน” (American English) เท่านั้น แต่เมื่อภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นภาษากลางที่สื่อสารกันทั่วโลก จึงมีการหยิบไปใช้ ถูกผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรม และพัฒนาหรือดิ้นไปตามบริบทของแต่ละแห่ง จึงอาจทำให้มีคำศัพท์เกิดใหม่ การออกเสียงที่แตกต่างไป หรือสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศนั้น เป็นต้น     

วันนี้พี่มิวนิคและ English Issues เลยอยากพาน้องๆ ไปขยายขอบเขตความรู้ พร้อมทำความรู้จักกับ ‘World Englishes’ ซึ่งเป็นประเด็นทางภาษาศาสตร์ที่ทั้งโลกกำลังให้ความสนใจ แถมหลายๆ มหาวิทยาลัยก็จัดการเรียนการสอนวิชานี้ด้วย จะน่าสนใจยังไง และเกี่ยวข้องกับเราอย่างไรบ้าง ตามมาหาคำตอบกันเลยครับ Let's find out now!

………………………………

มาทำความรู้จักกับ World Englishes กัน!

หลังจากเกิดการล่าอาณานิคมของอังกฤษ (British Colonialism) และจักรวรรดินิยมอเมริกา (American Imperialism) ทำให้อิทธิพลของภาษาอังกฤษแพร่กระจายไปทั่วโลก แม้แต่ในประเทศที่ไม่ได้ถูกเข้ายึดครองก็ยังได้รับอิทธิพลนั้นเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ปัจจุบันภาษาอังกฤษได้กลายเป็น “ภาษาสากล” (International Language) ที่สำคัญกับทุกคนและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งการเรียน การทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน เรียกว่าเป็นทักษะจำเป็นที่ใครๆ ก็ควรมีติดตัวไว้เลย (ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ใช้สื่อสารราวๆ 20%หรือประมาณ 1.35 พันล้านคนเลยครับ)

Photo by Freestocks on unsplash.com
Photo by Freestocks on unsplash.com

ที่น่าสนใจคือเมื่อภาษาอังกฤษแบบมาตรฐานเดินทางไปเยือนถิ่นไหน ก็อาจจะถูกปรับให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม คละเคล้าด้วยกลิ่นอายของภาษาถิ่นประเทศนั้นๆ ทุกวันนี้จึงเกิดสำเนียงอังกฤษอีกหลายแบบนับไม่ถ้วนทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ‘Singlish’ (ภาษาอังกฤษแบบสิงคโปร์), ‘Indian English’ (ภาษาอังกฤษแบบอินเดีย), Konglish (ภาษาอังกฤษแบบเกาหลี)  หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษแบบคนไทยที่เรียกว่า ‘Tinglish’ ก็มีเหมือนกัน ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีข้อแตกต่างในแง่คำศัพท์, การออกเสียง, ไวยากรณ์ หรือสำเนียงตามบริบทประเทศนั้นๆ // เดี๋ยวเราจะพาไปเจาะลึกแต่ละแบบ เลื่อนไปอ่านด้านล่างได้เลย!

และน้องๆ หลายคนอาจสังเกตเห็นและสงสัยว่าทำไม “World Englishes” ต้องเติม “es” ด้วยนะ สามารถอยู่ในรูปพหูพจน์ได้ด้วยเหรอ? ซึ่งเหตุผลที่คำว่า English เติม “es” นั้นก็เพื่ออธิบายความหลากหลายของสำเนียงภาษาอังกฤษนั่นเองครับ 

………………………………

แล้วทำไมเราถึงควรเรียนรู้ World Englishes ล่ะ?

Photo by Clarissa Watson on unsplash.com
Photo by Clarissa Watson on unsplash.com

ถ้าเป็นยุคก่อนๆ การเรียนภาษาผ่านภาษาอังกฤษแบบมาตรฐาน (Standard English) ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ทุกวันนี้เมื่อโลกเปิดกว้างและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น การทำความเข้าใจสำเนียงของคนพื้นที่ต่างๆ ย่อมช่วยให้สื่อสารได้ราบรื่นขึ้น และประโยชน์ทางอ้อมคือช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผ่านการใช้ภาษาของผู้คนด้วย

“ฉันเห็นความสำคัญของการส่งเสริมนักเรียนให้รู้จักกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของการใช้ภาษาอังกฤษ เพราะคนเหล่านี้จะพร้อมรับมือกับสภาพแวดล้อมที่มีความต่างทางภาษาทั้งในสถานศึกษาและสถานที่ทำงาน” 

 

Ana Maria Wetzl 

นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ 

………………………………

‘Kachru’s Three Circles of English’

ทีนี้ก็เกิดคำถามในหมู่ของนักภาษาศาสตร์ว่า “ถ้าภาษาอังกฤษมีความหลากหลายมาก เราจะจำแนกยังไงดี?” หนึ่งในผู้ที่พยายามตอบคำถามนี้ก็คือ “บราจ คาชรุ” (Braj Kachru) นักภาษาศาสตร์ชาวอินเดีย ผู้นิยามคำศัพท์ ‘World Englishes’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลก

คาชรุได้เสนอทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด อย่าง “Three Concentric Circles” ที่อธิบายว่าท่ามกลางความหลากหลายของภาษาอังกฤษนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 วงกลมที่มีส่วนทับซ้อนกัน ได้แก่ กลุ่มประเทศวงใน (The Inner Circle), กลุ่มประเทศวงนอก (The Outer Circle) และกลุ่มประเทศวงขยาย (The Expanding Circle) 

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เรามาขยายและดูตัวอย่างสำเนียงในวงนั้นๆ กันต่อเลยครับ

………………………………

กลุ่มประเทศวงใน (The Inner Circle)

ในวงนี้จะครอบคลุมประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก (English as First Language) หรือ ใช้เป็นภาษาแม่ (Native Language) เช่น อังกฤษ (England), สหรัฐอเมริกา (USA), แคนาดา (Canada), ออสเตรเลีย (Australia) และ นิวซีแลนด์ (New Zealand) เป็นต้น // หลายคนจะคุ้นเคยดีกับสองสำเนียงในกลุ่มนี้อย่างสำเนียงบริติช (British English) และอเมริกัน American English 

ภาษาอังกฤษแบบบริติช (British English)

Photo by Chris Lawton on unsplash.com
Photo by Chris Lawton on unsplash.com

หลายคนอาจรู้สึกหลงใหลวิธีการออกเสียงแบบฉบับ British English ที่ใช้ในสหราชอาณาจักร (United Kingdom) แต่ในนั้นยังมีแตกแขนงเป็นอีกหลายสำเนียงเลย ซึ่งแบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายรวมถึงในราชวงศ์และสื่อทุกสำนักในอังกฤษคือ “สำเนียงอังกฤษแบบมาตรฐาน” (Received Pronunciation: RP) นอกจากนี้ยังมีสำเนียงท้องถิ่น (Dialect) อีกมากมาย เช่น สำเนียงเวลส์ (Welsh), สำเนียงแบบไอริช (Hiberno-English) และอื่นๆ // เราลองดูความแตกต่างได้ในคลิปด้านล่างนี้กันเลยครับ

ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน (American English)

Photo by Vivek Kumar on unsplash.com
Photo by Vivek Kumar on unsplash.com

ครั้งหนึ่งสหรัฐอเมริกาเคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ทำให้ได้รับอิทธิพลการใช้ภาษาอังกฤษตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทประเทศตนเองจนกลายมาเป็นสำเนียงอเมริกัน (American English) ที่เราคุ้นชินอย่างในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้นคำศัพท์และสำเนียงอเมริกันมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับสำเนียงอังกฤษอยู่บ่อยๆ ซึ่งแม้ว่าทั้งคู่จะเป็นเจ้าของภาษาเหมือนกัน แต่มีจุดต่างไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น 

American EnglishBritish English
Cookie Biscuit
SubwayUnderground 
Fries หรือ French friesChips
PantsTrousers
EraserRubber
GarbageRubbish

Tips วิธีสังเกต

  • American จะลงท้ายคำด้วย -er เช่น Center // British ลงท้ายด้วย -re เช่นคำว่า Centre
  • American มี -ze อยู่ท้ายคำ เช่น Analyze // British จะมี -se อยู่ท้ายคำ เช่น Analyse
  • American ออกเสียง /r/ (=อาร์) ท้ายคำอย่างชัดเจน // British มีการละเสียง /r/ (=อาร์) ท้ายคำ
  • American ออกเสียง -ed เป็นเสียง /d/ (=เดอะ) // British จะออกเสียง -ed เป็นเสียง /t/ (=เถอะ)

มาลองดูวิธีการพูดภาษาอังกฤษแบบ American English กัน

………………………………

กลุ่มประเทศวงนอก (The Outer Circle)

ออกมาลุยที่วงนอกกันต่อครับ ส่วนใหญ่ประเทศในวงนี้มักเคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน (British colonies), ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษ และประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองในการบริหารประเทศ (Administrative Duties), ภาษาราชการ (Official Language), การศึกษา (Education), กฎหมาย (Law) และด้านธุรกิจ (Business) ด้วยครับ

ตัวอย่างประเทศที่อยู่ในวงนอก เช่น อินเดีย (India), สิงคโปร์ (Singapore), มาเลเซีย (Malaysia), แซมเบีย (Zambia), กานา (Ghana), ไนจีเรีย (Nigeria), เคนยา (Kenya) เป็นต้น

ภาษาอังกฤษแบบอินเดีย (Indian English)

Photo by Kristen Colada Adams on unsplash.com
Photo by Kristen Colada Adams on unsplash.com

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมคนอินเดียถึงพูดภาษาอังกฤษเก่งมาก เหตุผลก็เพราะว่าแดนภารตะนี้เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษนานเกือบ 100 ปี และมีการใช้สื่อสารมานานกว่า 4 ศตวรรษเลยทีเดียว โดยแรกเริ่มจะใช้พูดกันในหมู่พ่อค้า (Merchants) และผู้สอนศาสนา (Missionaries) แล้วปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นภาษาราชการ (Official Language) ที่เป็ภาษาอังกฤษแบบอินเดีย (Indian English) อย่างในปัจจุบันนี้ จึงไม่แปลกที่คนอินเดียส่วนใหญ่สามารถพูดสลับภาษาแม่อย่างฮินดี (Hindi) และภาษาอังกฤษได้ทันที (Code Switch) 

ซึ่งการพูดแบบ Indian English มักไม่ออกเสียง /th/ แต่จะออกเป็นเสียง /t/ หรือ /d/ แทน และมักมีการออกเสียง /v/ และ /w/ สลับกันไปมา จนทำให้การพูดของเค้านั้นเร็วและรัวมากก นอกจากนี้ยังมีการใช้คำศัพท์ที่ต่างจากกลุ่มประเทศวงในด้วย เช่น ใช้คำว่า Tiffin (=อาหารกลางวัน) ซึ่งเป็นคำภาษาอังกฤษแบบอินเดีย แทนคำว่า Lunch (UK) เป็นต้น  // มาส่องวิธีการพูดภาษาอังกฤษแบบ Indian English กัน

ภาษาอังกฤษแบบสิงคโปร์ (Singlish)

Photo by CHUTTERSNAP on unsplah.com
Photo by CHUTTERSNAP on unsplah.com

เราเรียกการพูดภาษาอังกฤษในประเทศสิงคโปร์ว่าเป็น "Singlish (Singapore + English)" โดยได้รับอิทธิพลมาจากการที่เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้ว่าปัจจุบันจะเป็นอิสระ ประเทศสิงคโปร์ก็ยังคงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ และยังรวมถึงภาคธุรกิจที่ใช้สื่อสารเป็นหลัก รวมถึงระบบการศึกษาในประเทศก็มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษเช่นกัน จนปัจจุบันถูกใช้อย่างแพร่หลายกว่า 48.3% ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว (สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความพหุวัฒนธรรมมาก มีทั้งจีน อินเดีย และประเทศอื่นๆ อีกมากมายที่ย้ายมาตั้งหลักถิ่นฐานที่นี่)

อีกทั้งการใช้ภาษาอังกฤษแบบ Singlish จะมีสำเนียงและวิธีการพูดที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น 

  • ไม่มีการผัน Past Tense และ Present Tense
  • มักละการใช้ A และ An หรื (Indefinite Article)
  • มักมีการลงท้ายเสียงด้วย ‘Lah’ และ ‘Ah’

แวะมาดูการพูดภาษาอังกฤษแบบ Singlish กันสักหน่อย~ 

………………………………

กลุ่มประเทศวงขยาย (The Expanding Circle)

และแล้วเราก็มาถึงกลุ่มประเทศวงนอกสุดอย่างวงขยาย (Expanding Circle) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าวงนี้ประกอบไปด้วยประเทศส่วนใหญ่ในโลกเลยก็คงจะไม่ผิด เพราะมีหลายประเทศที่แม้ไม่ได้ถูกอังกฤษเข้ามาล่าอาณานิคม แต่ภาษาอังกฤษกลับมีอิทธิพลต่อประเทศในวงขยายอย่างมากทั้งด้านเศรษฐกิจ, การศึกษา และด้านอื่นๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้ยังรวมถึงประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษานานาชาติ (International Language), ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างชาติ (EFL) และใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสาร (Lingua Franca) เช่น จีน (China), เกาหลี (Korea), ไทย (Thailand), ญี่ปุ่น (Japan), อินโดนีเซีย (Indonesia), อิสราเอล (Israel), และ ซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabia) เป็นต้น

ภาษาอังกฤษแบบเกาหลี (Konglish)

Photo by insung yoon on unsplah.com
Photo by insung yoon on unsplah.com

การใช้ภาษาอังกฤษในประเทศเกาหลีมีมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเกาหลีเมื่อปี 1953 จากการที่กองกำลังทหารอเมริกาใช้ภาษาอังกฤษสื่อสาร และค่อยๆ เผยแพร่ใช้เป็นวงกว้างและเกิดเป็น “Konglish (Korean+English)” หรือการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างภาษาเกาหลีกับภาษาอังกฤษเข้าด้วยกัน 

จุดเด่นของ Konglish คือมักสร้างคำศัพท์เกาหลีโดยการยืมคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ (English Loanword) จนทำให้ในปัจจุบันมีคำศัพท์ภาษาเกาหลีที่มีต้นแบบมาจากภาษาอังกฤษนับไม่ถ้วนเลย

ตัวอย่างคำศัพท์แบบ Konglish เช่น

  • Fighting (N. อ่านว่า ไฟทฺิ่ง) คำนี้ถ้าแปลแบบภาษาอังกฤษจะได้ว่า ‘การต่อสู้’ แต่สำหรับบริบทเกาหลี (Konglish) จะมีความหมายว่า สู้ๆ! // ในเกาหลีจะเขียนว่า 화이팅 (ฮวาอีทิ่ง) หรือ 파이팅 (พาอีทิ่ง)
  • Skinship (N. อ่านว่า สกินชิพ) หรือ 스킨십 เป็นคำที่มาจากการผสมกันระหว่าง skin (ผิว) + kinship (ความเกี่ยวดองกัน) โดย Oxford ได้ให้ความหมายว่าเป็น การสัมผัสหรือการสัมผัสทางกายอย่างใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่กับลูก ระหว่างคู่รัก หรือระหว่างเพื่อน ซึ่งถือเป็นวิธีแสดงความรักหรือเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์
  • Visual (N. อ่านว่า วิชวล) หรือ (비주얼) คำนี้ถูกยืมมาจากภาษาอังกฤษที่มีความหมายว่า ‘การมองเห็น, ภาพหรือวิวทิวทัศน์’ แต่ในเกาหลีใช้คำนี้เพื่อสื่อว่าดูดี, หล่อ หรือสวย เชื่อว่าน้องๆ คนไหนที่ชื่นชอบ Kpop ต้องเคยได้ยินคำนี้แน่ เพราะแต่ละวงก็จะมีตำแหน่งวิชวลที่เป็นดั่งภาพลักษณ์ให้กับวงนั่นเอง // ยังมีคำอื่นๆ อีกเพียบ ตามไปส่องได้เลยที่นี่ 

ลองดูการพูดแบบ Konglish ได้ที่คลิปด้านล่างนี้เลยครับ

ภาษาอังกฤษแบบไทย (Tinglish)

Photo by  Markus Winkler on unsplash.com
Photo by  Markus Winkler on unsplash.com

ปิดท้ายกันที่การใช้ภาษาอังกฤษแบบภาษาไทย หรือ “Tinglish (Thai+English)” ที่เชื่อว่าน้องๆ หลายคนอาจจะคุ้นเคยไปแล้ว เพราะเป็นการใช้ภาษาอังกฤษผสมผสานให้เข้ากับภาษาไทย และยังแฝงวัฒนธรรมแบบไทยๆ เอาไว้ด้วย 

ตัวอย่างลักษณะการใช้ภาษาอังกฤษแบบ Tinglish เช่น

  • ไม่มีการผันกริยา (No Verb Conjugations) เพราะว่าภาษาไทยไม่มีการผัน Tense ทำให้ใช้กริยาอยู่รูปแบบเดียว (ไม่เปลี่ยนตามเวลาในอดีต, ปัจจุบัน หรืออนาคตแบบภาษาอังกฤษ)
  • ไม่มี Articles อย่าง ‘A’ , ‘An’  และ ‘The’ เพราะว่าในภาษาไทยไม่ได้แยกว่าคำนามให้เป็นแบบเจาะจงหรือไม่เจาะจง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นใช้ Article
  • มีการซ้ำคำเกิดขึ้น เช่น ‘Same Same’ และ ‘Near Near’ เป็นต้น เนื่องจากในภาษาไทยมีการใช้ไม้ยมก (ๆ) เพื่อเน้นคำ เช่น ไกลๆ และใกล้ๆ

นอกจากนี้การออกสำเนียงแบบ Tinglish ก็มีความต่างจากเจ้าของภาษาในหลายๆ อย่าง เช่น

  • ไม่ออกเสียง /t/ (=เถอะ) ปิดท้ายคำ เช่น Night = ออกเสียงว่าไนทฺ (ปกติต้องมีการลงเสียง /t/ ปิดท้ายคำด้วย แต่คนไทยมักออกเสียงเป็น ‘ไน๊’ โดยไม่มีการออกเสียง /t/ ต่อท้าย)
  • ใช้เสียง /n/ แทนเสียง /l/ ในคำสุดท้าย เช่น School = สคูล (มักออกเสียงเป็นสคูน)
  • มักพูดปิดประโยคด้วย เช่น ครับ (Krub), ค่ะ (Kha), นะ (Na), นะคะ (Na Ka) เป็นต้น // คนไทยชอบลงท้ายกลัวว่ามันจะห้วน หรือดูไม่สุภาพ ซึ่งเห็นได้บ่อยเวลาเขียนอีเมลติดต่อกัน เช่น Thanks ka.

ตามไปดูวิธีการพูดแบบ Tinglish ได้เลยที่คลิปด้านล่างนี้ 

Note : แม้ทฤษฎีสามวงกลมที่ทับซ้อนกันจะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ก็มีนักภาษาศาสตร์หลายคนได้ออกมาแย้งว่าทฤษฎีของคาชรุนั้นอ้างอิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากเกินไป นักภาษาศาสตร์รุ่นหลังๆ จึงได้นิยามความหลากหลายของภาษาอังกฤษเพิ่มเติมว่าเป็น ‘English as a Lingua Franca’ หรือการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเป็นภาษากลางระหว่างประเทศที่มีภาษาแม่แตกต่างกัน

“English is English, no matter what accent you speak it in.” 

- Shehnaaz Gill

……………………………

ก็จบไปแล้วสำหรับความรู้เรื่อง World Englishes ที่พี่ได้นำมาฝากทุกคนกัน จะเห็นได้ว่าภาษาอังกฤษมีความหลากหลายอันเกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมของแต่ละประเทศเข้าไป  ซึ่งความรู้เหล่านี้จะช่วยให้เราสื่อสารกับคนทุกชาติทั่วโลกได้ง่ายมากยิ่งขึ้น 

และไม่ว่าเราจะพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงใด ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือเรื่องน่าอาย เพราะเราทุกคนล้วนเป็นประชากรโลกที่เป็นเจ้าของภาษาอังกฤษ ไม่สามารถเอาสำเนียงใดมาวัดความเก่งได้ และสุดท้ายนี้พี่มิวนิคก็หวังว่าทุกคนจะกล้าพูดด้วยสำเนียงที่ตนเองถนัดและมั่นใจ แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้าครับ See ya krub !
 

Sources:https://www.studysmarter.us/explanations/english/international-english/world-englishes/ https://public.oed.com/world-englishes/ https://worldenglishes.lmc.gatech.edu/online-resources-english-varieties-2/ https://books.google.co.th/books?id=Te3ohxBuCGkC&printsec=frontcover&source=gbs_ge_summary_r&cad=0#v=onepage&q&f=false https://www.igi-global.com/dictionary/world-englishes/66377 https://www.ukessays.com/essays/english-literature/three-circle-model-of-world-englishes-english-literature-essay.php https://www.studysmarter.us/explanations/english/internation https://kiui.repo.nii.ac.jp/?action=repository_action_common_download&item_id=1350&item_no=1&attribute_id=22&file_no=1  https://www.studysmarter.us/explanations/english/international-english/world-englishes/ https://www.englishclub.com/vocabulary/british-american.htm https://www.into-asia.com/thai_language/thaienglish.php  https://blog.lingodeer.com/konglish/ https://www.bbc.com/news/magazine-33809914  https://www.hsbc.com.sg/international/a-beginners-guide-to-singlish/  https://higherlanguage.com/do-people-speak-english-in-singapore/  https://www.holidify.com/pages/singapore-languages-629.html   https://www.englishclub.com/vocabulary/british-american.htm 
พี่นิค
พี่นิค - Columnist หนุ่มเอก Eng ติ่ง Blackpink วิ่งหาประสบการณ์ใหม่ๆ หลงใหลในการแปลและการแต่งนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น