Untouchable! คนติด Skinship ควรรู้ไว้ เข้าหายังไงให้ไม่เกินเพื่อน

สวัสดีค่ะ น้องๆชาว Dek-D.Com ในปัจจุบันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะ ว่าหลายคนชอบการสัมผัสทางร่างกาย หรือที่เรียกว่า Skinship กันมากๆ ซึ่งการ Skinship ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ไม่มีความผิดบาปอะไรมากมายแล้ว 

แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังเป็นดาบสองคมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะการ Skinship ที่มากเกินไป อาจทำให้คนที่ถูกจับเนื้อต้องตัว คิดเกินเลยมากกว่าที่เราคิดกับเขาได้ หรือไม่อย่างนั้นก็อาจจะรำคาญถึงขั้นทะเลาะกันไปเลย แล้วคนที่ติด Skinship ควรเข้าหายังไงให้ไม่เกินเพื่อนกันดีล่ะ? ก่อนอื่นเราไปดูข้อดีของการ Skinship กันก่อนเลยดีกว่าค่ะ

Skinship คืออะไร แล้วมันดียังไง?

แท้จริงแล้วคำว่า Skinship มาจากภาษาญี่ปุ่น โดยความหมายที่แท้จริงของคำนี้ หมายถึงการสัมผัสระหว่างแม่กับลูก ต่อมาเมื่อกระแสภาพยนตร์เกาหลีใต้เป็นที่สนใจของสังคม คำนี้จึงถูกนำมาใช้อีกครั้งในเกาหลีใต้ แต่เปลี่ยนจากความหมายที่อบอุ่นของการสัมผัสระหว่างแม่กับลูกมาเป็นการสัมผัสระหว่างคู่รักมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการ Skinship จะใช้กับการสัมผัสของคู่รักเท่านั้น 

เพราะการ Skinship คือคำกว้างๆ ที่กล่าวถึงการสัมผัสร่างกายของอีกฝ่าย ซึ่งการสัมผัส หรือการสื่อสารทางร่างกายมีหลายรูปแบบมากๆ ยกตัวอย่าง เช่น การกอด, การซบ, การหยิกแก้ม, การลูบหัว, การหอม หรือจูบเบาๆ รวมไปถึงการจับมือทักทายด้วย แต่สิ่งที่ทำให้คำว่า Skinship มีความเข้มข้นขึ้นนั้น มาจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดของผู้สัมผัสและผู้ถูกสัมผัส ซึ่งการ Skinship ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน เพราะถือเป็นการแสดงความรักอย่างหนึ่ง 

นอกจากนี้ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา แชเปิงฮิลล์ ที่มีชื่องานวิจัยว่า Perceived Partner Responsiveness Forecasts Behavioral Intimacy as Measured by Affectionate Touch หรือ การตอบสนองของคู่สัมพันธ์ สามารถวัดได้จากการสัมผัสที่อ่อนโยนในเชิงบวก ยังบอกอีกว่า บางทีการที่เรา Skinship กันและกันช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ และทำให้ทั้งคู่รู้สึกดีมากกว่าการบอกว่ารักออกไปตรงๆ ซะอีก 

รูปภาพจาก : freepik
รูปภาพจาก : freepik

ซึ่งจากการวัดผลในปี 2558 พบว่า ประเทศที่ยอมรับการสัมผัสหรือการ Skinship กันมากที่สุด ได้แก่ ประเทศฟินแลนด์ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ตามลำดับ นี่จึงอาจเป็นสาเหตุว่า ทำไมผู้คนในประเทศเหล่านี้ถึงมีความสุข และแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่

 

แต่ถึงอย่างนั้น จากการศึกษาในปี 2560 พบว่าการ Skinship ก็มีระดับความพอดีด้วย โดยการ Skinship ที่เหมาะสมและพอดี คือการสัมผัสกันไม่เกิน 8 ครั้ง ต่อวัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนโดปามีน(Dopamine) และฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือ ฮอร์โมนที่จะช่วยเสริมสร้างความรักความผูกพันธ์กับผู้อื่นได้ดี แต่ถ้าเราชอบที่จะสัมผัสผู้อื่นมากกว่านั้น ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่เราจะเสพติดการ Skinship หรือที่เรียกว่า “Touch starved” 

Touch starved คืออะไร ?

Touch starved” คืออาการโหยหาการสัมผัส เกิดขึ้นเมื่อผู้ที่ชอบสัมผัสคนอื่นบ่อยๆ ถูกตัดขาดจากการสัมผัสเป็นเวลานาน  ยกตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์ Covid -19 ที่ผ่านมา ผู้ที่มีอาการจะรู้สึกเหงา และต้องการการสัมผัสจากผู้อื่นเป็นอย่างมาก  แต่เนื่องจากสถานการณ์บีบบังคับให้อยู่ห่างกันทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเครียด เศร้า กังวล นอนหลับยาก และอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าไม่อยากทำอะไรเลย

บางครั้งคนที่เข้าข่ายมีอาการนี้ ยังอาจมีพฤติกรรมพยายามจำลองการ Skinship ด้วย ยกตัวอย่าง เช่น การอาบน้ำนานๆ, การนำผ้าห่มมาห่อตัวตอนนอน, การกอดตุ๊กตา หรือสัตว์เลี้ยงบ่อยกว่าปกติ เพราะหากไม่ได้กอดก็อาจจะทำให้เครียดมากจนถึงขั้นมีภาวะซึมเศร้า และภาวะแทรกซ้อนทางจิตใจต่างๆ ตามมา

นอกจากนี้คนที่ขาดการสัมผัสยังอาจทำให้ส่งผลเสียต่อร่างกายได้ด้วย เนื่องจากเมื่อมีความเครียดแล้ว ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต การหายใจ เกิดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ส่งผลต่อการสร้างกรดในกระเพาะอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในร่างกายได้ง่ายขึ้นด้วย

ข้อควรระวังในการ Skinship 

ถึงแม้ว่าการ Skinship จะสื่อถึงการบอกรักแต่ถึงอย่างนั้นก็มีหลายคนที่ไม่ชอบการ Skinship หรือการแตะเนื้อต้องตัวที่มากเกินไป เพราะฉะนั้นก่อนที่จะจับเนื้อต้องตัวใครควรดูก่อนว่าเขามีพฤติกรรมที่พยายามหลบเลี่ยงหรือไม่ นอกจากนี้ข้อควรระวังอื่นๆ ที่คนติด Skinship ควรรู้ไว้ด้วย ก็คือ

  • อย่าฝืน Skinship ถ้าอีกฝ่ายไม่เห็นด้วย
  • อย่า Skinship ในสถานที่สาธารณะ
  • อย่า Skinship ในจุดอ่อนของอีกฝ่าย เช่น บริเวณจุดซ่อนเร้น, บริเวณที่เพื่อนที่บ้าจี้ ฯลฯ
  • อย่า Skinship บ่อยเกินไปเพราะอาจทำให้อีกฝ่ายรำคาญ
  • อย่า Skinship ถ้าไม่ได้สนิท หรือผูกพันกันมาก่อน
  • ความชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราไม่ได้คิดอะไรก็ควรบอกอีกฝ่ายไปตั้งแต่เนิ่นๆ

ทำไมบางคนไม่ชอบการ  Skinship 

หลายคนอาจจะสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมบางคนถึงไม่ชอบการ Skinship และรู้สึกว่าการ Skinship เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เขาคิดแบบนั้นเพราะอะไร ไปดูสาเหตุและทำความเข้าใจคนไม่ Untouchable ไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

รูปภาพจาก : freepik
รูปภาพจาก : freepik

1. ไม่ไว้ใจ 

บางทีเพื่อนๆ ที่ไม่ชอบให้เราเข้าใกล้ แต่ยอมเข้าใกล้คนอื่น เขาอาจจะไม่ได้เกลียดการ Skinship ก็ได้ แต่อาจจะเป็นเพราะว่า เขายังไม่สนิทหรือไม่ไว้ใจให้เราเข้าไป Skinship กันขนาดนั้น 

2. ประสบการณ์ในวัยเด็ก 

เนื่องจากแต่ละครอบครัวมีการเลี้ยงดูที่แตกต่าง ทำให้การเติบโตของคนเราต่างกัน เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราจะชอบการ Skinship แต่เพื่อนไม่ชอบ เพราะการ Skinship ส่วนใหญ่จะติดมาจากพ่อแม่ ยกตัวอย่าง เช่น ในวารสาร Comprehensive Psychology ของศาสตราจารย์ Suzanne Degges-white ศาสตราจารย์ด้านการแนะแนวแห่งมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นอิลลินิยส์ บอกเอาไว้ว่า คนที่ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่กอดบ่อยๆ เมื่อโตมาเราก็จะมีแนวโน้มในการติด skinship ในวัยผู้ใหญ่มากขึ้น และยังบอกอีกว่า คนที่เปิดใจรับการกอดจะมีความมั่นใจในตนเองสูงกว่าคนที่ไม่ชอบกอด

3. การไม่ได้รับสัมผัสในเชิงบวกบ่อยๆ 

บางคนอาจจะมองว่าการ Skinship ถือเป็นการลวนลาม หรือทำอนาจาร นั่นอาจจะเป็นเพราะว่า เขาเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับการ Skinship ทำให้ไม่ชอบการถูกจับเนื้อต้องตัวเพราะกลัวว่าจะถูกลวนลามเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

4. ไม่มั่นใจในร่างกายตนเอง 

ผู้หญิงบางคนอาจจะห่วงในเรื่องนี้เพราะกลัวว่า การ Skinship จะทำให้อีกฝ่ายรับรู้ถึงความไม่สมบูรณ์แบบในรูปร่างของตนเอง ทำให้บางคนที่เคยชอบการ Skinship กลายเป็นคนที่ Untouchable ไปโดยปริยาย

5. วัฒนธรรมรักนวลสงวนตัว

บางวัฒนธรรมก็ไม่สนับสนุนให้มีการถูกเนื้อต้องตัวกันมากมายนัก เช่น ประเทศไทยที่มีการสอนให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว ถึงแม้ในปัจจุบันคำสอนเหล่านี้จะลดความเข้มข้นลงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่ามีการปลูกฝังความรักนวลสงวนตัวอยู่บ้างสำหรับเด็กๆ ที่ถูกเลี้ยงดูโดยผู้ปกครองที่มีอายุ

6. เป็นโรค Phobias หรือกลัวสิ่งต่างๆ

โรค Phobia หรือการกลัวสิ่งต่างๆ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้คนไม่ชอบการ Skinship เพราะกลัวจะติดโรคหรืออาการ Phobia กำเริบ ซึ่งอาการดังกล่าวก็มีเหตุปัจจัยหลายโรคเข้ามาเกี่ยวพัน เช่น กลัวการใกล้ชิด, กลัวสิ่งสกปรก, กลัวเชื้อโรคหรือโรคระบาด ฯลฯ 

7. lifestyle 

สาเหตุของการไม่ชอบ Skinship ของบางคนอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูของพ่อแม่, เหตุการณ์ในอดีต หรือการบ่มเพาะวัฒนธรรมของสังคมแต่อย่างใด แต่อาจมาจากนิสัยส่วนตัวของบุคคลนั้นๆ ที่ไม่ชอบให้ใครมาสัมผัสก็ได้เช่นเดียวกัน

ถ้าไม่ชอบการ Skinship ควรปฏิบัติตัวยังไง?

ถึงแม้ว่าเราจะไม่ชอบการ Skinship แต่พี่เมลแนะนำว่า เราก็ไม่ควรจะพูดจาไม่ดี หรือผลักอีกฝ่ายออกไปด้วยความรุนแรง ขนาดนั้นเพราะอาจจะทำให้เพื่อนเสียใจหรือรู้สึกว่าเราเป็นคนนิสัยไม่ดีเอาได้ ถ้าอย่างนั้นคนที่ไม่ชอบการ Skinship จะมีวิธีป้องกันตัวเองยังไงกันบ้างล่ะ

• พยายามอยู่ห่างๆ  

แต่ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ลุกหนีไปเฉยๆนะคะ เราอาจจะค่อยๆ ลุกออกไปเดินเล่น หรือทำอย่างสักพักแล้วค่อยกลับมานั่งห่างๆ เพื่อนคนนั้นก็ได้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการ Skinship และหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาทได้ด้วย

• ปฏิเสธโดยไม่ใช้อารมณ์

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เรารู้แล้วว่าตัวเองไม่ชอบการ Skinship ก็ควรบอกเพื่อนไปตรงๆ เลยดีกว่า อย่าเก็บไว้ให้อึดอัดใจ เพราะถ้าเราเก็บความรู้สึกไม่ชอบเอาไว้ ในที่สุดเราก็จะระเบิดมันออกมาด้วยอารมณ์ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เราทะเลาะกับเพื่อนและจบความสัมพันธ์กันในทางที่ไม่ดีได้

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่ได้รู้สึกว่าการ Skinship เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย หรือเรื่องที่ผิดร้ายแรงอะไรขนาดนั้น พี่เมลก็อยากให้ลองเปิดใจดูนะคะ เพราะการโอบกอดถือเป็นสิ่งที่ดี ถึงแม้ว่าสำหรับบางคนอาจจะยากหน่อย แต่ถ้าทำได้เราอาจจะกลายเป็นคนที่ติด Skinship อีกคนไปเลยก็ได้ 

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าเราจะเป็นคนที่ชอบ Skinship หรือไ่ม่ก็แล้วแต่ การ Skinship ระหว่างกันและกันก็ควรเว้นระยะห่างบ้าง และควรถามอีกฝ่ายด้วยว่าเขาสะดวกใจจะให้เราเข้าไปใกล้รึเปล่า ใกล้ได้มากที่สุดแค่ไหน  และก่อนจะไปพี่เมลอยากฝากเตือนคนติด Skinship ทั้งหลายเอาไว้นะคะว่า  “ถ้าคิดแค่เพื่อนเล่น อย่าเล่นเกินเพื่อน” ส่วนพี่เมลไปละค่ะ ;)

 

 


 ที่มา : 
https://www.healthline.com/health/touch-starved#definitionhttps://time.com/5379586/people-hate-hugged-science/https://www.medicalnewstoday.com/articles/touch-starved#complications 

 

พี่เมล

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น