Hug Therapy : “กอดบำบัด” วิธีการรักษาที่ง่ายและหายไวที่สุด

Hug Therapy หรือการ “กอดบำบัด” 

ก่อนที่เราจะไปอ่านอะไรที่มันยุ่งยากวุ่นวายจนกลับมาปวดหัวไมเกรนอีกรอบ พี่เมลจะพาน้องๆ มารู้จักกับจิตวิทยาการกอดกันก่อน “จิตวิทยาการกอด” คือ การบำบัดจิตด้วยวิธีการกอดและการทำสมาธิ เพื่อให้ผู้บำบัดปล่อยวางเรื่องราวเลวร้ายที่ประสบมา ซึ่งวิธีการกอดบำบัดดังกล่าว มีนักวิชาการหลายท่านนำมาใช้ในการวิจัยและบำบัดรักษากันมาหลาย Case แล้ว

ยกตัวอย่าง เช่น งานวิจัยของ อิกาชิโอ นาโช่ จาเรโร่  (lgacio Nacho Jarero) และ ลูซีน่า อาร์ติกัส (Lucina Artigas) ที่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับจิตวิทยาการกอดเอาไว้โดยเขาทั้งคู่มองว่าการกอดถือเป็นหนึ่งในวิธีการบำบัดจิตแบบ EMDR (Eye Movement Desensitization and Reprocessing Therapy) โดยการบำบัดจิตแบบ EMDR นี้ จะใช้วิธีการจัดการกับสมองและความทรงจำในอดีต  ให้ถูกย่อยและจัดเก็บเอาไว้ในระบบความทรงจำระยะยาว โดยใช้การกระตุ้นสมองทั้ง 2 ซีกสลับกันไปมา ด้วยการให้ผู้บำบัดจดจ่อกับสิ่งของที่เคลื่อนที่ หรือเสียงที่ได้ยิน

รูปภาพจาก : freepik
รูปภาพจาก : freepik

ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้ อิกาชิโอ และลูซีน่า ได้ศึกษาการกอดบำบัดในรูปแบบ Butterfly hug กับกลุ่มเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ซึ่ง Butterfly hug ทำได้ง่ายๆ โดยการนำนิ้วหัวแม่มือมาไขว้กันเป็นลักษณะของผีเสื้อแล้วแนบไว้ที่อก หรือถ้าจะให้พูดง่ายๆ ก็เหมือนการกอดตัวเองนั่นแหละค่ะ หลังจากนั้นก็ให้ผู้บำบัดนึกถึงประสบการณ์เลวร้ายที่เคยเจอมาในอดีต  โดยห้ามเข้าไปตัดสินและห้ามคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น    ซึ่งผู้บำบัดต้องพยายามนึกถึงและอยู่กับสถานการณ์นั้นประมาณ 2-3 นาที จากนั้นหยุดและลดมือลง   เมื่อรู้สึกว่าทำใจรับมันได้แล้ว การทดลองนี้ถูกทำซ้ำวนไปอยู่อย่างนั้นประมาณ 6-8 ครั้ง 

เมื่อครบแล้วอิกาชิโอ และ ลูซีน่า พบผลการทดลองว่าผู้ใหญ่และเด็กบางส่วนที่แสดงอาการโศกเศร้าหรือแสดงอาการไม่พอใจในครั้งแรกของการทำ Butterfly hug กลับผ่อนคลายขึ้นเมื่อทำครบ 8 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่การกอดตัวเองจะช่วยให้ผู้บำบัดผ่อนคลายได้ แม้จะไม่ได้พูดหรือระบายเรื่องราวของตนเองออกมาสักคำเดียว 

นอกจากนี้งานวิจัยยังช่วยพิสูจน์ได้ว่าการกอดดีทั้งต่อจิตใจ และร่างกายด้วย โดย

  • การกอดกัน 4 ครั้ง / วัน จะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด เพื่อความอยู่รอด
  • การกอดกัน 8 ครั้ง / วัน จะช่วยปรับสมดุลร่างกายและปรับสภาพจิตใจในการดำเนินชีวิต
  • การกอดกัน 12 ครั้ง / วัน จะช่วยให้จิตวิญญาณได้รับการบำบัดและช่วยในการเจริญเติบโตทางจิตใจ

เล่ามาขนาดนี้แล้ว น้องๆ ชาว Dek-D.Com อยากรู้กันรึยังคะ ว่าทำไมการกอดถึงช่วยบำบัดความเครียดได้? งั้นเราไปดูสรรพคุณของยาจิตบำบัดที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อแต่ได้ผลดี ที่เรียกว่า “การกอด” ไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

 ประโยชน์ของการกอด

1.ช่วยหล่อเลี้ยงความไว้ใจ 

ก่อนที่เราจะเข้าไปกอดใครซักคน พี่เมลเชื่อว่าน้องๆ คงไม่เดินไปกอดมั่วซั่วกันหรอกใช่มั้ยคะ เรามักจะเลือกคนที่เรารัก หรือไว้ใจที่จะกอดเขาอยู่แล้ว ดังนั้นการกอดจึงถือเป็นการบอกอยู่นัยๆ ว่า เราเชื่อใจอีกฝ่ายและอีกฝ่ายก็พร้อมจะอยู่ข้างๆ เรา 

2.ช่วยให้รู้สึกปลอดภัย

บางทีเวลาที่เราเครียด เหนื่อย หรืออ่อนแอมากๆ หลายครั้งการร้องไห้อย่างเดียวก็ไม่พอจะช่วยให้เราเข้มแข็งขึ้นได้ นั่นอาจเป็นเพราะเราต้องการ safe zone จากอ้อมกอดของพ่อแม่, ผู้ปกครอง, แฟน, เพื่อน หรือใครสักคนก็ตามที่พอจะช่วยปกป้องเราจากความเศร้าที่เจอได้

3.ช่วยให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง 

ถึงแม้เราจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าขนาดไหนก็ตาม การได้กอดกับใครสักคน ก็อาจจะทำให้ทั้งคนที่กอด และถูกกอดมองเห็นคุณค่าในตัวเองขึ้นมาทันที เช่น เมื่อถูกกอดก็จะทำให้เห็นคุณค่าในตัวเอง ว่าอย่างน้อยๆ เราก็ยังมีเพื่อน หรือคนรอบข้างที่รักและพร้อมจะอยู่ข้างๆ ในขณะเดียวกันฝ่ายที่เป็นคนกอดก็จะเห็นคุณค่าในตัวเองด้วยว่าสามารถรัก และปกป้องคนอื่นได้เช่นเดียวกัน

4.ช่วยสอนให้รู้จักการให้และรับ

ยิ่งเราโตขึ้นเรื่อยๆ การให้บางสิ่งบางอย่างกับใครคนหนึ่งไป หลายคนก็มักจะคาดหวังถึงสิ่งตอบแทนอื่นๆ ที่จะได้รับตามมา แต่สำหรับการกอด นอกจากที่เราจะได้ให้อย่างเต็มใจ โดยที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนแล้ว ในขณะเดียวกันเราก็ยังสามารถรับกำลังใจกลับมาได้ด้วย

5.ช่วยให้มีสติและอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น

การอยู่กับปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยากแต่การยอมรับสิ่งร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ซึ่งบางทีการกอดก็ทำให้เราได้ย้อนคิดอะไรหลายๆ อย่าง และฝึกรับผลของปัจจุบันไปในตัวได้

6.ช่วยกระตุ้นและปรับสมดุลร่างกาย

นอกจากจะช่วยบำบัดจิตใจให้เข้มแข็งและยอมรับกับปัจจุบันได้แล้ว การกอดกันเบาๆ ก็ยังสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดความสมดุลของกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และสารเคมีต่างๆ ในร่างกายได้อีกด้วย เช่น

  • การกอดช่วยเพิ่มระดับออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งจะช่วยในการควบคุมความเครียด และผ่อนคลายความรู้สึกเหงา ความโดดเดี่ยว และความโกรธ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับความดันโลหิตด้วย
  • แรงกดเบาๆ บริเวณกระดูกอกจะช่วยส่งสัญญาณไปยังเส้นประสาทที่สมอง ช่วยปรับระดับทางอารมณ์ และพลังงานความร้อนบริเวณช่องท้อง จะช่วยกระตุ้นให้ต่อมไทมัสให้ผลิต เซลล์เม็ดเลือดขาวได้มากขึ้น
  • การกอดจะเพิ่มการขยับตัวของเนื้อเยื่ออ่อนในร่างกาย ทำให้สามารถบรรเทาความเจ็บปวด และการตึงของกล้ามเนื้อได้
  • การกอดทำให้ระบบปลายประสาทบริเวณแขนทำงานมากขึ้น ช่วยปรับสมดุล และกระตุ้นระบบประสาทได้
  • ยิ่งกอดนานก็จะยิ่งเพิ่มระดับเซโรโทนิน (Serotonin) ในร่างกายทำให้มีอารมณ์สดชื่นแจ่มใสมากขึ้นอีกด้วย

 รูปแบบของการกอด

เป็นยังไงกันบ้างคะ พอรู้จักสรรพคุณของการกอดบำบัดแล้ว อยากจะโผเข้าไปกอดใครซักคนขึ้นมาบ้างมั้ย? เอาล่ะ! ไหนๆ ก็รู้สรรพคุณของการกอดแล้ว ต่อไปเรามาดูกันดีกว่าว่าจริงๆ แล้ว “การกอด” มีทั้งหมดกี่รูปแบบ แล้วแบบไหนเอาไว้ใช้กอดใครได้บ้าง 

1.การกอดแบบแน่นๆ (Tight Hug)

การกอดในลักษณะนี้เป็นการกอดจากด้านหน้าโดยจะดึงอีกฝ่ายเข้ามากอดให้แน่นที่สุด มักจะใช้กอดกับบุคคลที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน

2.การกอดแบบสุภาพ (Police Hug)

เป็นการกอดหลวมๆ จากด้านหน้า แต่การกอดในลักษณะนี้มักจะใช้กอดเพื่อทักทาย หรือ เป็นการกอดทางสังคมเท่านั้น 

3.การกอดแบบแบร์ฮัก (Bear Hug)

รูปภาพจาก : ซีรีส์เรื่อง ExtraordinaryAttorneyWoo
รูปภาพจาก : ซีรีส์เรื่อง ExtraordinaryAttorneyWoo

แบร์ฮักเป็นการกอดโดยการโอบรอบๆ บริเวณแขนและหน้าอกอีกฝ่ายเอาไว้จากด้านข้าง ส่วนมากจะใช้กอดกับบุคคลที่มีความรู้จักหรือสนิทสนมกัน

4.กอดจากด้านหลัง (Back Hug) 

การกอดจากด้านหลังส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคู่รักหรือคนที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันอย่างมาก เพราะการกอดจากด้านหลังจะให้ความรู้สึกเซอร์ไพรส์นิดๆ โรแมนติกหน่อยๆ 

5.กอดแล้วโยกช้าๆตามจังหวะเพลง (Slow Dance Hug)

การกอดในรูปแบบนี้มีลักษณะเหมือนกับการกอดในลักษณะของ Back Hug หรือการกอดจากด้านหลัง โดยจะเพิ่มการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ เพื่อซึมซับบรรยากาศ การกอดในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นในงานแต่งงานมากที่สุด

6.การกอดแบบลอนดอน-บริดจ์ (London-Bridge Hug)

การกอดแบบลอนดอนบริดจ์ จะมีลักษณะการกอดโดยทั้งคู่ต้องโอบรอบบริเวณใต้รักแร้ของฝ่ายตรงข้าม และโน้มตัวไปข้างหน้าทำให้การกอดแบบนี้ดูเหมือนสะพานลอนดอนบริดจ์ ซึ่งการกอดแบบนี้จะใช้กอดกับเพื่อนร่วมงานหรือญาติห่างๆ ก็ได้

7.การกอดแบบตาจ้องตา (Eye-to-Eye Hug)

เป็นการกอดในลักษณะเหมือน Tight Hug หรือกอดแน่นๆ แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่ใช้กอดในลักษณะนี้มักจะเป็นคู่รักที่พึ่งคบกัน แสดงถึงความโรแมนติกและเสน่ห์หาซึ่งกันและกัน

8.กอดแล้วตบหรือลูบเบาๆ (Patting Hug)

ส่วนใหญ่การกอดที่ตบหรือลูบเบาๆ บริเวณศีรษะ ต้นคอ หลัง หรือต้นแขนใครซักคน เป็นการกอดที่เอาไว้ใช้ปลอบใจเพื่อให้ผู้ที่ถูกกอดรู้สึกสบายใจขึ้น

9.กอดแล้วหมุนไปรอบๆ (Twirl-Around Hug)

การกอดในลักษณะนี้ถือเป็นหนึ่งในการกอดที่โรแมนติกที่สุด ผู้กอดจะอุ้มอีกฝ่ายแล้วหมุนไปมา ส่วนใหญ่ใช้กับการกอดแบบคู่รัก 

10.การกอดแบบรวมกลุ่ม (Group Hug)

เป็นการกอดที่ไม่มีรูปแบบที่แน่ชัด แต่เน้นการเอาสมาชิกหรือเพื่อนๆ ทั้งหมดมากอดกันให้ได้มากที่สุด   พี่เมลแนะนำว่าใครที่มีเพื่อนเยอะๆ แล้วกำลังจะแยกย้ายกันไปเรียนต่อหรือไปทำงาน ต้องมากอดรวมกลุ่มกับแบบนี้ก่อนแยกย้ายแล้วแหละ

 

ถึงแม้การกอดบำบัดอาจจะไม่ได้ช่วยรักษาโรคทางกายภาพ แต่ถึงอย่างนั้นการกอดบำบัดก็จะช่วยรักษาโรคทางใจได้อย่างดี ยิ่งเรากอดกันมากเท่าไหร่ก็จะช่วยฮีลใจกันมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งมีชีวิตที่ต้องการการกอดเฉลี่ยถึง 8 ครั้งต่อวันอย่างมนุษย์เรานี่แหละ ยิ่งต้องกอดกันไว้มากๆ เลยนะคะ 

ส่วนน้องๆ ชาว Dek-D.Com คนไหนที่กำลังเหนื่อยหรือกำลังท้อกับตัวเอง และสิ่งรอบๆ ตัว พี่เมลก็เป็นกำลังใจให้นะคะ ถ้าไม่รู้จะหันไปกอดใครก็มากอดกันได้น้า พี่เมลจะคอยเป็น Safe zone ให้ทุกคนเอง

 

แหล่งที่มา https://www.concorde.edu/blog/can-hug-have-therapeutic-benefitsงานวิจัยของ  lgacio Nacho Jarero  และ Lucina Artigas  อ้างอิงจาก : https://www.researchgate.net/publication/340280320_The_EMDR_Therapy_Butterfly_Hug_Method_for_Self-Administer_Bilateral_Stimulationhttps://www.crowe-associates.co.uk/psychotherapy/butterfly-hug-method/https://timesofindia.indiatimes.com/life-style/relationships/web-stories/ten-types-of-hugs/photostory/80838251.cms?from=mdr
พี่เมล

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น