โทษตัวเองบ่อย ๆ เสี่ยงอาการ Self-Criticism พร้อม 10 เทคนิคเอาชนะการชอบโทษตัวเอง

เคยไหม? โฟกัสแต่ความบกพร่องของตัวเอง

      สวัสดีครับ น้อง ๆ ชาว Dek-D.com น้อง ๆ เคยไหมครับที่มองแต่ความผิดพลาดหรือโฟกัสแต่เรื่องแย่ ๆ ของตัวเองกัน ไม่ว่าจะเป็น การพูดออกมาถึงเรื่องแย่ ๆ ของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ หรือคอยตอกย้ำกับตัวเองตลอดว่าเรายังไม่ดีพอ เราหน้าตาไม่ดีพอ เราคะแนนแย่มาก ๆ เกรดแย่จัง การมองเห็นจุดที่ผิดพลาดของตัวเองมันก็ถือเป็นข้อดีนะครับ ถ้าเรานำไปปรับและพัฒนา

แต่ถ้าเราเอาแต่มองถึงข้อผิดพลาดของตัวเองบ่อย ๆ พูดแต่เรื่องแย่ ๆ กับตัวเอง และคอยตอกย้ำกับตัวเองในเรื่องแย่ ๆ ซ้ำ ๆ ไม่แน่นะครับ น้อง ๆ อาจจะกำลังเจออยู่กับภาวะ Self-Criticism หรือ การวิจารณ์และโฟกัสอยู่แต่กับเรื่องแย่ ๆ ของตัวเองครับ

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

'ภาวะ Self-Criticism'

      ภาวะ Self-Criticism คือการที่เรามีพฤติกรรมชอบวิจารณ์ตัวเอง เอาแต่โทษตัวเอง ส่วนมากมันมีแนวโน้มที่จะเป็นคำพูดและความคิดที่แย่ ๆ กับตัวเองมากกว่าครับ น้อง ๆ ชาว Dek.D.com อาจจะเคยคิดและมีเสียงเหล่านี้ดังขึ้นมาในหัวใช่ไหมครับ

“เรามันแย่จริง ๆ งานแค่นี้ยังทำไม่ได้เลย”

“ต้องเป็นเราแน่ ๆ เลยที่เป็นตัวถ่วงเพื่อน”

“เราไม่เห็นหน้าตาดีแบบคนอื่นเขามั่งเลย”

         “คะแนนวิชานี้ทำได้ไม่ดีเลย เพราะเราไม่เก่งมากพอหรือเปล่า”

“ช่างมันเถอะ ยังไงเราก็ดีสู้คนอื่นไม่ได้อยู่ดี”

          บางทีเราก็รู้นะว่ามันไม่ดีที่พูดในสิ่งแย่ ๆ กับตัวเอง เพราะพูดไปบางทีมันก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่เราก็ยังเลือกที่จะพูดเรื่องนั้นอยู่ซ้ำ ๆ จนมันกลายเป็นสิ่งที่เราเผลอคิดและพูดไปเอง โดยที่มองว่ามันเป็นเรื่องปกติ ก็เราคิดแบบนี้มาตั้งนานแล้วหนิ!

สาเหตุของภาวะ Self-Criticism     

      สาเหตุของภาวะ Self-Criticism นั้น สามารถเกิดขึ้นมาได้จากหลาย ๆ ปัจจัยครับ พี่เฟมจะขอยก 5 สาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดภาวะ Self-Criticism มาให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้กันนะครับ

พ่อแม่เข้มงวดมาก

  • ถ้าเรามีพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่เข้มงวดกับเราไปหมดทุกเรื่อง โดยเฉพาะกับเรื่องการเรียน เราก็มีแนวโน้มที่จะกดดันตัวเองตามความคาดหวังของพวกท่านครับ อย่างถ้าพ่อแม่เข้มงวดกับเรื่องคะแนนสอบมาก ๆ แล้วเราทำออกมาได้ไม่ดี มันก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เราเอาแต่โทษตัวเอง และเกิดภาวะ Self-Criticism ได้ครับ

แรงกดดันจากคนรอบข้าง

  • แรงกดดันจากคนรอบข้างนี้ ส่วนใหญ่จะมาจากเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมชั้นของเราครับ ยิ่งตอนไหนมีงานกลุ่มแล้วเราบังเอิญเป็นคนที่เพื่อน ๆ ไว้ใจ เชื่อใจ มันก็สามารถทำให้เรากดดันได้ครับ ซึ่งเราก็จะกลัวไปก่อนว่าถ้าเราทำพลาดจะเป็นยังไงนะ หรือบางทีก็คิดไปเองว่า เราโง่จะตายไป ทำไมเพื่อน ๆ ต้องมาคาดหวังอะไรจากเราด้วย

ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ

  • บางครั้งความเป็น perfectionist หรือการยึดติดกับความสมบูรณ์แบบของเราเอง ก็สามารถทำให้เราเกิดภาวะ Self-Criticism ได้นะครับ เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราไม่สามารถทำตามความคาดหวังอันสมบูรณ์แบบที่เราตั้งใจไว้ได้ มันก็ถือเป็นตัวจุดชนวนความเกลียดตัวเองเลยแหละครับ นอกจากนี้เราก็ยังจะคอยโทษตัวเองซ้ำ ๆ กับเรื่องที่ไม่ได้ดั่งใจด้วยครับ

ชอบการแข่งขัน

  • “ฉันต้องชนะ ฉันไม่เคยแพ้มาก่อน ฉันแพ้ไม่ได้” ความเป็นผู้แพ้ไม่ได้ของเราไม่ว่าจะตอนแข่งกับคนอื่น หรือแข่งกับตัวเอง ถ้าเราเข้มงวดกับตัวเองมากเกินไป เราก็มีแนวโน้มที่จะคอยมองว่าตัวเองยังไม่ดีพอนะครับ อีกอย่างมันอาจจะทำให้คนรอบข้างอึดอัดใจด้วยถ้าเรามัวแต่จะเอาชนะ

สนใจคนอื่นมากเกินไป

  • การที่เรามัวแต่สนใจคนอื่นมากเกินไป โดยเฉพาะกับคนอื่นที่ชีวิตเขาดูดี๊ดี อยากเป็นแบบนั้นบ้างจัง ถ้าเราสนใจแต่เรื่องคนอื่นมากไป มันก็จะทำให้เรามองย้อนมาที่ตัวเอง และตั้งคำถามกลับตัวเอง ไม่พอใจในตัวเอง และเกิดการวิจารณ์ตัวเองได้นะครับ

ข้อเสียของการโทษตัวเองบ่อย ๆ

      การวิจารณ์และโทษตัวเองบ่อย ๆ ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเกิดแต่ข้อเสียนะครับ นี่ก็เป็นข้อเสียที่น้อง ๆ อาจจะต้องเจอหากว่าเอาแต่โทษและวิจารณ์ตัวเองนะครับ

  • เสียสุขภาพจิต
  • เสี่ยงภาวะซึมเศร้า
  • รู้สึกไร้ค่า
  •   ไม่มั่นใจในตัวเอง
  •   เกิดความวิตกกังวล
  •   ความนับถือในตัวเองต่ำ
  •   รู้สึกผิดบ่อย ๆ
  • รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพออยู่เสมอ
(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

 นักวิจัยได้ใช้การวัดระดับโดย HINT โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 1,102 คน แบ่งเป็น ผู้หญิง 641 คน ผู้ชาย 461 คน และใช้เวลาศึกษา 9 เดือน พบว่าการวิจารณ์ตัวเองในเชิงลบทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ครับ

 

แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ได้หมายความ 100% นะครับว่าการวิจารณ์ตัวเองจะต้องมีภาวะซึมเศร้าแน่ ๆ เพราะนักวิจัยยังได้นำปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเป็นตัวแปรอีกด้วยครับ อย่าง เพศ อายุ ความเครียดจากการทำงาน จากโรงเรียน การบ้าน และการทำงานบ้าน ครับ

วิจารณ์ตัวเองไม่ได้แย่เสมอไป

      การวิจารณ์ตัวเองนั้นถ้าหากว่าเราสามารถควบคุมให้มันอยู่ในความพอดีได้ มันก็จะถือเป็นข้อดีมาก ๆ สำหรับตัวน้อง ๆ เลยนะครับ เพราะนั่นหมายความว่าเราสามารถมองเห็นจุดด้อยของตัวเองได้ และเรายังสามารถมองเห็นจุดที่ควรพัฒนาของตัวเองได้ครับ อีกอย่างมันยังสื่อว่าน้อง ๆ เป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยครับ ดังนั้น เราควรจะย้อนมองถึงจุดที่ควรพัฒนาของตัวเองมากกว่าการนั่งโทษตัวเองเพียงอย่างเดียวนะครับ

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

10 เทคนิค เอาชนะการวิจารณ์และโทษตัวเองซ้ำ ๆ

         น้อง ๆ สามารถฝึกและเอาชนะอาการ Self-Criticism ได้จากการเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดของตัวเอง วันนี้พี่เฟมมี 10 เทคนิคเอาชนะการโทษและวิจารณ์ตัวเองบ่อย ๆ เผื่อว่าน้อง ๆ จะได้นำไปลองปรับใช้กันดูนะครับ

ออกกำลังกาย

  • การออกกำลังกายในรูปแบบต่าง ๆ อย่างคาร์ดิโอ เดิน วิ่ง โยคะ มันถือเป็นการดูแลตัวเองทางกายภาพที่สามารถช่วยให้น้อง ๆ รู้สึกดีขึ้นได้ทั้งร่างกายและจิตใจนะครับ ช่วยลดความเครียด และสร้างความมั่นใจอีกด้วยนะครับ

ดูแลอารมณ์ของตัวเอง

  • ลองฝึกฝนการดูแลและใส่ใจในอารมณ์ของตัวเองให้มากยิ่งขึ้น เราสามารถจดบันทึกประจำวันสั้น ๆ ว่าวันนี้เรารู้สึกยังไงบ้าง เราโอเคกับตัวเองไหม เมื่อเราดูแลอารมณ์ตัวเองให้ดีได้แล้ว เราจะมีความคิดเชิงบวกกับตัวเองและผู้อื่นมากยิ่งขึ้นนะครับ

เรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

  • การรักตัวเองนั้นเป็นส่วนสำคัญที่สุดในชีวิตเลย น้อง ๆ อาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า “ถ้าไม่รักตัวเอง แล้วจะไปรักคนอื่นได้อย่างไร” ซึ่งพี่เฟมมองว่าจริงเลยครับ เราต้องรักตัวเองให้ได้ โดยเริ่มจากการรู้จักให้อภัยตัวเองบ้าง และเราจะเริ่มมองเห็นคุณค่าในตัวเองเพิ่มมากขึ้นครับ

ปรับเปลี่ยนความคิดตัวเองสักนิด

  • พยายามอย่าสงสัยในตัวเองให้มากนัก เมื่อน้อง ๆ รู้ว่าตัวเองเป็นคนชอบโทษตัวเองในเชิงลบ ก็อย่าลืมหาคำตอบว่าทำไมเราถึงเป็นคนที่มีความคิดแบบนี้ แล้วพยายามปรับเปลี่ยนให้ความคิดแย่ ๆ กับตัวเองนั้นน้อยลง คิดบวกให้มากขึ้น สร้างพลังให้ตัวเองครับ

พยายามหลีกเลี่ยงความ Perfect

  • อย่างที่บอกไปว่าการยึดติดแต่กับความสมบูรณ์แบบนั้น ทำให้เราเกิดการโทษตัวเองได้หากว่าสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามที่หวัง ดังนั้นถ้าน้อง ๆ ฝึกที่จะปล่อยวางได้บ้าง มันก็จะช่วยได้ครับ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปทุกเรื่องหรอกครับ Nobody’s Perfect

อย่าเปรียบเทียบตัวเอง

  • ถ้าเราลดการเปรียบเทียบกับคนอื่นลงแล้ว เราจะสบายใจขึ้นเยอะเลยครับ และเราจะไม่เอาความสำเร็จต่าง ๆ ของคนอื่นมากดดันและวิจารณ์ตัวเองในด้านลบ ๆ ให้เสียสุขภาพจิตครับ

เล็งเห็นจุดแข็งของเราบ่อย ๆ

  • น้อง ๆ ลองมองหาจุดเด่นในตัวเราดูนะครับ ว่าเราเก่งอะไร เราถนัดอะไร เราดีในเรื่องไหนบ้าง แล้วฝึกชื่นชมตัวเองในจุดเด่นนั้น ๆ ที่ตัวเองมีครับ บางคนอาจจะมองว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลย สิ่งที่เราไม่ไม่เห็นมันจะเป็นจุดเด่นเลยคนอื่นก็มีกัน แต่พี่เฟมเชื่อว่าน้อง ๆ ทุกคนมีจุดแข็งของตัวเองแน่นอนครับ เราควรมุ่งไปที่จุดแข็งของเราเพื่อพัฒนามันต่อไป ดีกว่ามานั่งด้อยค่าตัวเองนะครับ

ใจดีกับตัวเอง

  • การใจดีกับตัวเองเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้มาก ๆ เลยครับ เราควรหัดเมตตาต่อตัวเอง เห็นอกเห็นใจตัวเอง เราต้องคอยบอกกับตัวเองเสมอครับ ว่าเรายอมรับในตัวของเราเอง และเราต้องปกป้องตัวเองจากความคิดที่ไม่ดีของตัวเองครับ เราใจดีและเห็นใจคนอื่นได้ ทำไมเราจะทำมันกับตัวเองไม่ได้หละครับ จริงไหม

ชื่นชมตัวเองเยอะ  ๆ

  • ชื่นชมตัวเองบ้าง พูดออกมาดัง ๆ หน้ากระจกเลยครับ “เราเก่งมากที่ผ่านมาได้ เราแบบ สุดยอดดด” เมื่ออะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วมันออกได้ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ดีตามที่เราคาดหวัง 100% แต่มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะมานั่งโทษแต่ตัวเองนะครับ เพราะอย่างน้อยมันก็สำเร็จออกมาได้ “เราเก่งที่สุดละ”

ปรึกษาพูดคุยกับนักบำบัด

  • ถ้าเกิดว่าน้อง ๆ รู้สึกว่าตัวเองมีอาการแบบนี้อยู่บ่อย ๆ และแก้ไม่หาย น้อง ๆ สามารถไปพูดคุยและเล่าถึงความกังวลเกี่ยวกับอาการของน้อง ๆ ให้กับนักบำบัดฟังได้ การไปปรึกษานักบำบัดก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ และอาจจะช่วยให้เราได้รับคำปรึกษาที่ตรงจุดด้วยครับ

สำหรับน้อง ๆ ชาว Dek-D.com คนไหนที่รู้ตัวว่าตัวเองมีภาวะ Self-Criticism ก็ลองทำทริคที่พี่เฟมได้ให้ไว้เป็นแนวทาง ในการนำไปปรับใช้นะครับ และที่สำคัญชื่นชมและให้กำลังใจตัวเองเยอะ ๆ นะครับ และถ้าเกิดว่าใครมีเทคนิคดี ๆ ก็สามารถนำมาคอมเมนต์บอกทุกคนได้นะ

ข้อมูลจากhttps://www.choosingtherapy.com/self-criticism/https://www.psychologytoday.com/intl/blog/self-talk-science/202211/changing-the-habit-self-criticism

 

เฟม
เฟม - Columnist นักเขียนฝึกหัด ที่ไม่ค่อยได้เขียน ชอบเที่ยวคาเฟ่และการนอนเฉยๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด