ว่าด้วยเรื่อง Job Shaming มุมมองของคนรุ่นเก่ากับทางเลือกของคนรุ่นใหม่

Spoil

  • “Job Shaming” เป็นการแสดงออกในด้านลบคนในของสังคมที่มองว่า แต่ละอาชีพมีคุณค่าไม่เท่ากัน
  • ในอนาคตคน Gen Z จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญขององค์กรต่างๆ โดยจะมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 27%
  • รวมอาชีพมาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต

สภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันเป็นยุคที่ข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยีเป็นส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษา ตลาดแรงงาน ทำให้มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น เด็กรุ่นใหม่อย่าง Gen Z จึงมีทางเลือกในการทำงานเยอะขึ้นด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่ค่อยเปิดใจให้กับอาชีพใหม่ๆ มากนัก เพราะอาจจะยังยึดติดอยู่กับมุมมองความคิดรูปแบบเดิมๆ  

Job Shaming มุมมองของคนรุ่นเก่ากับทางเลือกของคนรุ่นใหม่
Job Shaming มุมมองของคนรุ่นเก่ากับทางเลือกของคนรุ่นใหม่

“ทำงานอะไรอยู่?”  

“ได้เงินเดือนเท่าไหร่?”  

อีกสารพัดคำถามที่มักจะเจอบ่อยๆ ในวันรวมญาติ งานเลี้ยงรุ่น หรือแม้กระทั่งจากคนข้างบ้านก็มี น้องๆ วัยเรียนอาจจะยังไม่ค่อยโดนตั้งคำถามกับเรื่องอาชีพการทำงานบ่อยมากนัก แต่เหล่าบัณฑิตจบใหม่ป้ายแดงคงจะหนีไม่พ้นแน่นอน 

และเมื่อแต่ละคนบอกอาชีพที่ทำอยู่ออกไปก็มักจะเจอกับปฏิกิริยาตอบกลับที่ดูเหมือนว่าจะไม่โอเคเท่าไหร่ ไม่ว่าจะทางสีหน้า คำพูด การกระทำหรือพฤติกรรม เพราะคำตอบของเราดันไม่ตรงกับความคาดหวังของคนถาม  

พฤติกรรมเหล่านั้นถูกเรียกว่า “Job Shaming” เป็นการแสดงออกในด้านลบคนในของสังคมที่มองว่า แต่ละอาชีพมีคุณค่าไม่เท่ากัน ทั้งในเรื่องของความมั่นคง รายได้ และชื่อเสียง จึงทำให้เกิดความภูมิในแต่ละอาชีพแตกต่างกันออกไปนั่นเองค่ะ  

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ความต้องการของเด็กรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนตาม

ปี 2563 ถือเป็นปีแรกที่ชาว Gen Z ได้เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในฐานะ First Jobber ซึ่งลักษณะนิสัย ทัศนคติในการทำงาน รวมถึงไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ของประชากรกลุ่มนี้จึงมีความแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนค่อนข้างมาก  

ผลสำรวจจากธนาคารกรุงเทพ พบว่า ในอนาคตคน Gen Z จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญขององค์กรต่างๆ โดยจะมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 27% ของแรงงานทั้งหมดภายในประเทศอีก 5 ปีข้างหน้า และมีแนวโน้มจะเลือกอาชีพที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมโลก ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงสนใจการเป็นผู้ประกอบการและทำอาชีพอิสระมากขึ้น  

ความหลากหลายทางอาชีพในสังคมไทย

แต่ผู้ใหญ่ในสังคมไทยต่างให้ความสำคัญกับบางอาชีพเท่านั้น เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคนชื่นชม และยังไม่ค่อยเปิดใจยอมรับอาชีพใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้ามามีบทบาทในสังคมมากเท่าไหร่ เช่น YouTuber และ Influencer นอกจากนี้บางอาชีพที่มีมานานแล้วก็ยังไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างเหมือนกัน เช่น งานศิลปะ และงานดนตรี เพราะคนต่างมองว่างานเหล่านี้ไม่มีความมั่งคง อีกทั้งต้องมีชื่อเสียงมากจึงจะประสบความสำเร็จ ดังนั้นครอบครัวส่วนใหญ่จึงคอยปลูกฝังและคาดหวังให้เด็กรุ่นใหม่มีอาชีพอย่างที่พวกเขาต้องการ  

ครอบครัวส่วนใหญ่มักปลูกฝังและคาดหวังให้เด็กรุ่นใหม่มีอาชีพอย่างที่พวกเขาต้องการ
ครอบครัวส่วนใหญ่มักปลูกฝังและคาดหวังให้เด็กรุ่นใหม่มีอาชีพอย่างที่พวกเขาต้องการ  

Gen Z ควรรู้! รวมอาชีพมาแรงในอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยุคนี้คือ “ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง” ทั้งด้านเทคโนโลยี ธุรกิจ การสื่อสาร รวมไปถึงการประกอบอาชีพของผู้คนด้วย โดยเฉพาะชาว Gen Z ที่มุมมองการเลือกอาชีพที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน วันนี้พี่แป้งได้รวบรวมอาชีพมาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคตมาฝากด้วยค่ะ น้องๆ สามารถเก็บไว้เป็นแนวทาง เพื่อพูดคุยเรื่องอาชีพกับครอบครัวได้นะคะ  

1. วิศวกรคอมพิวเตอร์

ปัจจุบัน AI มีความก้าวหน้ามาก ทำให้ตลาดมีความต้องการวิศวกรคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น เพื่อมาช่วยพัฒนา และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร เพื่อป้องกันระบบ Network ให้ปลอดภัยและมีความเสถียรภาพมากขึ้น

2. นักการตลาดออนไลน์

ในยุคที่เราสามารถซื้อของได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านระบบออนไลน์ นักการตลาดออนไลน์จึงเป็นบุคลากรที่จำเป็นต่อองค์กรและธุรกิจต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีความสามารถและเข้าใจพฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์

3.นักพัฒนาแอปพลิเคชัน

ทุกวันนี้พฤติกรรมคนส่วนใหญ่ใช้งานสมารท์โฟนมากขึ้น ทั้งช้อปปิ้งออนไลน์ ดูหนัง ฟังเพลง พูดคุยกับคนทั่วไป ฯลฯ ดังนั้นอาชีพนักเขียนแอปพลิเคชัน หรือนักพัฒนาแอปพลิเคชัน จึงเป็นอีกอาชีพที่มาแรงเพื่อตอบสนองความต้องการของพฤติกรรมของผู้คน

4.เจ้าของธุรกิจ Start-up

ธุรกิจแพลตฟอร์มบริการออนไลน์ที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้เป็นหัวใจหลัก ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจากไอเดียเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ยังไม่มีใครเคยคิดหรือทำมาก่อน เช่น ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Bitkub  

5.สายวิทย์สุขภาพ

ในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ อีกทั้งในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่างๆ หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อโรค ทำให้บุคลากรทางสายวิทย์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ เภสัชกร นักจิตวิทยาบำบัด ฯลฯ ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่

6.สัตวแพทย์หรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง

พฤติกรรมของคนในปัจจุบันเริ่มมีลูกน้อยลง และหันมาเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงประเภทต่างๆ ทำให้กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยงได้รับความนิยมและมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

7.Influencer

อาชีพที่มาแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น เพราะในปัจจุบันคือยุค User-Generated Content ที่ผู้บริโภคสามารถสร้างคอนเทนต์เองโดยที่แบรนด์ไม่จำเป็นต้องจ้าง Influencer ส่วนมากจะรีวิวสินค้าต่างๆ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อคนอื่นต่อแบรนด์สินค้า เช่น คุณณัฏฐ์ เต็งชาตะพันธุ์ หรือที่รู้จักกันในนาม Peanut Butter (พีนัทบัตเตอร์)

8.สายโลจิสติกส์

อีกหนึ่งอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากเติบโตของ E-Commerce ที่สูงขึ้น ส่งผลให้กลุ่มอาชีพสายโลจิสติกส์เติบโตมาก ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้าจากต่างประเทศ หรือกลุ่มบริษัทขนส่งไปรษณีย์ทั้งเอกชนและภาครัฐที่มาจากร้านขายของออนไลน์

น้องๆ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้น หรืออาชีพที่มีมานานแล้ว ต่างก็มีส่วนช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ใช่แค่ต่อตัวเราเอง แต่เป็นการช่วยเหลือและสร้างประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วยเหมือนกัน ดังนั้นความหลากหลายทางอาชีพจึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการยอมรับจากทุกคน เพราะทุกอาชีพมีคุณค่าและมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

ทุกอาชีพล้วนมีคุณค่าและมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทุกอาชีพล้วนมีคุณค่าและมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

วิธีรับมือกับคำถาม Job Shaming  

จากสารพัดคำถามที่มักโดนถามถึงเกี่ยวกับอาชีพการทำงานจากผู้ใหญ่หลายคน ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาอาจจะไม่ได้ต้องการดูถูกหรือวิจารณ์อาชีพของเราก็ได้ค่ะ แต่อาจเป็นเพราะพวกเขายังไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจว่า อาชีพนี้คืออะไร หรือต้องทำงานอะไรบ้าง  

วิธีรับมือก็คือ อธิบายเกี่ยวกับงานของเราว่า อาชีพนี้ได้ทำอะไรบ้าง มีความสนุก หรือน่าสนใจยังไง แต่ถ้าจะให้เห็นภาพชัดเจนและเข้าใจง่ายขึ้น น้องๆ อาจจะจำแนกเป็นกลุ่มสายอาชีพไปเลยก็ได้ค่ะว่า งานที่เราทำอยู่ในสายอาชีพอะไร ลักษณะของงานเป็นแบบไหน เช่น  

สมมติว่าทำงานตำแหน่ง Content Creator งานนี้จัดอยู่ในกลุ่มของสายงานสื่อสารมวลชน ทำงานคล้ายๆ กับนักข่าว แต่เน้นการเล่าเรื่องบนแพลตฟอร์มที่หลากหลายโดยเฉพาะออนไลน์ เน้นผลิตคอนเทนต์ให้ความรู้กับสังคม หรือความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย น้องๆ อาจจะยกตัวอย่างงานที่เราทำไปด้วยก็ได้ค่ะ เช่น เขียนบทความ ทำสื่อวิดีโอ ฯลฯ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจและเห็นภาพการทำงานของเรามากขึ้น  

ในชีวิตจริงแต่ละอาชีพล้วนมีความสำคัญต่อสังคมไม่แพ้กัน แต่ละคนต่างมีความเข้าใจและความสามารถที่โดดเด่นในแบบของตัวเอง ทุกคนล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมให้เดินไปข้างหน้าอย่างพร้อม ๆ กันด้วยหน้าที่ของตัวเอง และในเมื่อมันคืองานที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหนที่สามารถเลี้ยงชีพได้อย่างสุจริตก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมทั้งนั้น และเป็นสิ่งที่เราสามารถภูมิใจกับมันได้เสมอค่ะ  

 

ข้อมูลจาก : https://www.bangkokbanksme.com/en/new-careers-supporting-gen-z-peoplehttps://lineshoppingseller.com/market-trend/9-professions-career-in-the-futurehttps://chu.in.th/article/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2รูปภาพจาก  :  https://www.freepik.com/

 

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด