ความคาดหวังจากพ่อแม่ที่กัดกินวัยรุ่นไทย : จะทำยังไงเมื่อความสุขของเรา สวนทางกับสิ่งที่พ่อแม่ฝันไว้

Generation ที่เปลี่ยนไป อะไร ๆ ก็ไม่เหมือนเดิม แต่สิ่งที่เหมือนเดิมคือความคาดหวังจากพ่อแม่ ที่ดันตรงข้ามกับความสุขของเรา "ช่องว่างระหว่างวัย" เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหา แล้วน้อง ๆ จะทำอย่างไรหากต้องอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่คาดหวังกับเราเสียเหลือเกิน

รู้มั้ยว่ามีเพื่อนเราหลาย ๆ คน ที่ต้องตกอยู่ในภาวะกดดันจากความคาดหวังของพ่อแม่ ทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ จนอาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า และคิดฆ่าตัวตายได้ ยิ่งไปกว่านั้นปัญหานี้มีมานานจนเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2561 กรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่าพบว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่ทำให้เด็กและเยาวชนโทรศัพท์มาขอรับการปรึกษามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

1. ภาวะเครียดหรือรู้สึกกดดัน 

2. ปัญหาความรัก 

3. ปัญหาเรื่องเพศหรือการใช้สารเสพติด 

4. ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ทำร้ายคนอื่น 

5. ครอบครัวไม่เข้าใจ

ภาพจาก : เพจเฟซบุ๊ก 1323 ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต
ภาพจาก : เพจเฟซบุ๊ก 1323 ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต

ในเดือนล่าสุด ยังมีวัยรุ่นจำนวนมากที่โทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตที่สายด่วน 1323 ซึ่งหนึ่งในปัญหานั้นคือปัญหาครอบครัว และแน่นอนว่ามีเรื่อง ‘ความคาดหวังจากคนในครอบครัว’ รวมอยู่ด้วย

ปัจจุบันในปี 2565 ปัญหาดังกล่าวยังคงอยู่ และมีท่าทีว่าจะเพิ่มมากขึ้น อันมีผลสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด - 19 และการเปลี่ยนแปลงของระบบการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทำให้ผู้ปกครองคาดหวังในตัวลูกมากขึ้น โดยภาพด้านล่างเป็นภาพที่แสดงถึงปัญหาด้านต่าง ๆ ของวัยรุ่นไทย ในปี 2565 นี้ 

ภาพจาก : Unicef Thailand (รายงานสรุปการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคม)
ภาพจาก : Unicef Thailand (รายงานสรุปการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคม)

จากตาราง ช่องปัญหาด้านการศึกษา น้อง ๆ จะเห็นว่าความเครียดของเยาวชนส่วนหนึ่งเกิดจากความคาดหวังของผู้ปกครองและคนในครอบครัว

รายงานฉบับนี้ระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ และปัจจุบัน ‘การฆ่าตัวตาย’ คือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของวัยรุ่นไทย ในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School-based Student Health Survey) พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย เห็นแบบนี้แล้ว แปลว่าความคาดหวังมันเป็นสิ่งที่น่ากลัวเหรอ?

ความคาดหวังเป็นยังไง?

ความคาดหวังนี่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีเลยค่ะ แต่มันจะมีผลในแง่บวกหรือลบ ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน เรามารู้จัก ทฤษฎีความคาดหวัง (Expectancy Theory) ที่นำเสนอโดย victor vroom (1964) กันก่อนค่ะ ทฤษฎีนี้สรุปได้ว่า 

ความคาดหวัง คือ แรงจูงใจที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปจนถึงอนาคตข้างหน้า เป็นการคาดคะเนถึงสิ่งที่จะมากระทบต่อการรับรู้ของคนเรา โดยใช้ประสบการณ์การเรียนรู้เป็นตัวบ่งบอก

ความคาดหวังมันไร้ขีดจำกัด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่มนุษย์จะคาดหวัง เพราะตัวเรายังคาดหวังในตัวเองเลยใช่มั้ยคะ?

จะเป็นยังไง ถ้าพ่อแม่คาดหวังในตัวเรามากขึ้น?

“เชื่อพ่อ-แม่เถอะ เพราะพ่อ-แม่อาบน้ำร้อนมาก่อน” 

หลาย ๆ คนคงได้ยินประโยคนี้บ่อยๆ นี่แหละค่ะเป็นตัวอย่างชั้นดีของการคาดหวังในตัวผู้อื่น ด้วยการเอาประสบการณ์ของตัวเองเป็นตัวตั้ง และมันก็นำมาสู่ปัญหาความเครียดของวัยรุ่นในประเทศไทย ตามสถิติที่เราได้เห็นกันนั่นเองค่ะ ในสังคมไทยจะรักลูกแบบตั้งความหวังมาก ๆ ซึ่งมันกลายเป็นเหมือนการบังคับและการกดดันมากเกินไป 

“คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย” นักจิตวิทยาคลินิก ได้เปิดเผยในเว็บไซต์ alljitblog เกี่ยวกับพฤติกรรมดังกล่าวไว้ว่า พฤติกรรมของพ่อแม่ในลักษณะนี้เกิดจากมุมมองของพ่อแม่ที่คิดว่าการทำแบบนี้คือการแสดงความเป็นห่วงอนาคตของลูก จึงสร้างความคาดหวังและความกดดันตรงนั้นไว้เพื่อให้ลูกอยู่ในกรอบ จะได้ประสบความสำเร็จ เป็นความรู้สึก “อยากจะเลี้ยงลูกให้ได้ดีที่สุด” และคิดว่า “สิ่งที่ตัวเองทำอยู่ถูกต้องที่สุดแล้ว” แต่ “ดีที่สุดสำหรับพ่อแม่ อาจจะไม่ได้ดีที่สุดสำหรับลูก” ด้วยช่วงวัย ประสบการณ์ และยุคสมัยที่แตกต่างกัน

ต้องทำยังไง ถ้าพ่อแม่คาดหวังกับเราเสียเหลือเกิน

ต้องบอกก่อนว่าการที่พ่อแม่คาดหวังในตัวลูกมันไม่ใช่เรื่องผิด ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือ 

  • ทำความเข้าใจในตัวพ่อแม่ของเราว่าเขาเป็นมนุษย์คนนึง ที่ย่อมต้องคาดหวังเป็นเรื่องธรรมดา
  • เข้าใจความต่างระหว่างวัย ประสบการณ์ที่พวกเขาเจอ อาจทำให้คิดว่าสิ่งที่ตนคิดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
  • เข้าใจในความหวังดีของพวกเขา ไม่จำเป็นต้องเข้าใจ 100% เพราะมันไม่มีทางเป็นไปได้ แค่พยายามเข้าใจก็พอค่ะ

ที่ต้องบอกแบบนี้ เพราะผู้ใหญ่บางคนบ้านอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง จึงไม่ได้ทำความเข้าใจเราเท่าที่ควร แต่ถ้าเราพยายามเข้าใจพวกเขา เราก็จะเข้าใจถึงสาเหตุของการกระทำนั้น ซึ่งมันก็ช่วยให้เรารู้ที่มาที่ไป ลดอารมณ์ความรู้สึกน้อยใจ โกรธ และเกลียดชังได้นะ

ความคาดหวังที่พ่อแม่ให้มา เราปฏิเสธได้ไหม?

นั่นสิ.. เรารัก และเข้าใจพ่อแม่นะ ว่าทำไมถึงคาดหวังกับเรา แต่ถ้าเราไม่อยากทำมันจริง ๆ ล่ะ เรามีสิทธิ์ปฏิเสธมั้ย แล้วต้องปฏิเสธมันยังไงล่ะ

  • กล้าที่จะพูดคำว่า  ‘ไม่’ น้อง ๆ ต้องกล้าพูดคำว่า ‘ไม่’ เพราะมันคือวิธีการปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมาที่ง่ายและได้ผลเสมอ นี่เป็นวิธีการที่ศาสตราจารย์นักวิจัยการตลาดที่สนใจด้านจิตวิทยาอย่าง Vanessa M. Patrick และ Henrik Hagtvedt แนะนำ เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความชัดเจนของผู้พูด และในเชิงจิตวิทยา คำว่า ‘ไม่’ ก็เป็นคำที่มีพลังอย่างมากในการปฏิเสธ
  • ใช้เหตุผล Michelle Rozen ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านการพูด แนะนำว่า “คุณเพียงพูดปฏิเสธอย่างสุภาพ และบอกเหตุผลสั้น ๆ” หลีกเลี่ยงบทสนทนาที่ยืดยาว เพราะนั่นเป็นการเปิดช่องว่างให้ผู้ถูกปฏิเสธยื่นขอเสนอที่ชวนลำบากใจยิ่งขึ้น
  • ปล่อยวาง ในบางกรณีที่คำพูดไม่เป็นผล สิ่งที่เราทำได้คือปล่อยวาง และเดินหน้าทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดต่อไป

อย่างไรก็ตามในการปฏิเสธทุกรูปแบบ การแสดงออกด้านสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อย่าลืมหลีกเลี่ยงคำพูดที่รุนแรงและหยาบคายเพื่อถนอมน้ำใจคนในครอบครัวรวมถึงตัวเราเองด้วยนะคะ

ถ้ารู้สึกกดดันมาก ต้องทำยังไง?

แน่นอนว่าความคาดหวังจากผู้อื่นทำให้เรารู้สึกกดดัน โดยเฉพาะความคาดหวังจากคนที่เรารักอย่างคนในครอบครัว บางรายอาจหนักถึงขั้นเครียด วิตกกังวล จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า และถ้าความหวังจากคนรอบข้างเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีลดความกดดันนั้นด้วยตัวเราเอง พี่แอนนาว่าเป็นอีกทักษะในการใช้ชีวิตที่สำคัญมากเลยนะคะ

  • เราต้องรู้สาเหตุของความกดดันนั้น
  • กล้าที่จะปฏิเสธ
  • หาเวลาพักกายและใจ
  • ให้กำลังใจตัวเองบ่อย ๆ

จัดการความรู้สึกที่ว่า “เราทำให้พ่อแม่ผิดหวัง” ยังไง?

น้อง ๆ ที่ถูกคาดหวังจากครอบครัว คงหลีกเลี่ยงความรู้สึกนี้ไม่ได้จริง ๆ แต่สิ่งที่ต้องทำคือ “เดินหน้าต่อไป” และ “ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด” มันก็เหมือนเป็นการพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็น ว่าเราเลือกแล้ว และเราทำมันได้ดี ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำเพื่อตัวเองด้วยค่ะ

 

สุดท้ายแล้วเราไม่สามารถไปบังคับความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นได้ค่ะ อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับมันยังไง เป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อผ่านสถานการณ์ที่กดดันเหล่านี้ไปให้ได้นะคะ หากรู้วิธีการรับมือต่อความคาดหวังแล้ว พี่แอนนาเชื่อว่าต่อไปสถิติปัญหาของวัยรุ่นที่มาจากความคาดหวังจะลดน้อยลงอย่างแน่นอนค่ะ ถ้าน้อง ๆ ชาว Dek-D.com คนไหนกำลังเจอเรื่องแบบนี้อยู่ มาแชร์ให้พี่ฟังได้นะ :-)

 

 

ข้อมูลจากhttps://th.theasianparent.com/14-word-shouldnt-speak-to-parents?https://www.cigna.co.th/health-wellness/tip/jigsawforgoodlife-ep2https://www.helpguide.org/articles/stress/stress-symptoms-signs-and-causes.htmhttps://www.alljitblog.com/?p=3680https://youtu.be/QCGPfp64zwshttps://academic.oup.com/jcr/article/39/2/371/1797950?login=falsehttps://www.drmichellerozen.com/communication-skills/five-ways-to-say-no/https://www.hfocus.org/content/2019/07/17382?https://www.unicef.org/thailand/th/press-releases/https://www.unicef.org/thailand/th/reports/
พี่แอนนา
พี่แอนนา - Columnist นักเขียนมือใหม่ ชอบนอนดึกแต่ตื่นเช้า ชอบทำกับข้าวและพบได้ตามงานดนตรี

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด