คุยกับ “อาจารย์ก้าวกรณ์” เรื่องราวของข้อสอบวิชาสาระร่วมสมัย ที่เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนแสดงทัศนคติในประเด็นทางสังคม

โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ออกข้อสอบ "วิชาสาระร่วมสมัย" ที่ถามถึงทัศนคติและความคิดเห็นส่วนบุคคลของนักเรียน ในประเด็นเรื่องชาติ ศาสนา การทุจริตคอร์รัปชัน และความเป็นพลเมืองโลก 

ล่าสุดมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับข้อสอบดังกล่าวอย่างล้นหลาม เพราะแต่ละคำถามเป็นประเด็นร้อนแรงทางสังคม วันนี้เว็บไซต์ Dek-D.com ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “อาจารย์ก้าวกรณ์” อาจารย์ผู้ออกข้อสอบ เกี่ยวกับที่มาของประเด็นดังกล่าว รวมถึงความคิดเห็นต่อกระแสโซเชียลมีเดีย ลองมาฟังเรื่องนี้จากอาจารย์กันค่ะ

ข้อสอบรายวิชา "สาระร่วมสมัย"  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง
ข้อสอบรายวิชา "สาระร่วมสมัย"  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง

ก่อนหน้านี้เคยออกข้อสอบในลักษณะนี้ไหม และที่มาของข้อสอบนี้คืออะไร

จริง ๆ แล้ววิชาสาระร่วมสมัยนี้ก็อย่างที่บอกกับทุกคนว่ามันเป็นวิชาที่ถูกสร้างขึ้นมาแทนวิชาหน้าที่พลเมือง เราเอาวิชาหน้าที่พลเมืองไปบูรณาการกับกิจกรรมหน้าเสาธงและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ส่วนวิชานี้ต้องเท้าความถึงภูมิหลังของวิชา มันเป็นวิชาสาระร่วมสมัย เราเคยได้ยินคำว่าพลเมืองโลกหรือ World Citizen ถูกต้องไหมครับ เราก็อยากให้เด็กเข้าใจ ได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายและความแตกต่างที่มันมีอยู่ทั่วทุกมุมในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็ก ๆ แม้แต่ในห้องเรียน โรงเรียน ครอบครัวตัวเอง ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และก็เป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่เขาได้เจอหรือเขามีส่วนร่วมกับเหตุการณ์นั้นมา ไม่ว่าจะเป็นในสังคมไทยหรือสังคมโลก 

ส่วนที่มาของข้อสอบ จริง ๆ ข้อสอบในวิชานี้ก็จะเป็นลักษณะนี้มา 2 ปีแล้วครับ จะเป็นการเอาประเด็นในสังคมขึ้นมา 1 ประเด็น และก็ให้นักเรียนเขียนเหมือนกัน ซึ่งปีนี้เราได้ออนไซต์ การสอนในห้องเรียนก็เข้มข้นขึ้น เราก็ได้พูดคุยกับเด็ก ได้โต้แย้งกัน มันจึงเป็นข้อสอบฉบับนี้ขึ้นมา

ข้อสอบชุดนี้เพื่อให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น และเข้าใจความหลากหลายอย่างแท้จริง 

ถูกต้องเลยครับ จริง ๆ มันเหมือนแค่การรีเช็คเท่านั้นเอง ทั้ง 4 ข้อนี้มันคือประเด็นที่เราพูดคุยกันในห้องเรียนอยู่แล้ว ช่วงที่เปิดเทอมมันต้องมีวันเข้าพรรษา วันวิสาขบูชา ทำไมเราต้องงดเหล้าเข้าพรรษา เราก็เลยหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเรียน มันเหมือนกับการที่เมื่อคืนเราดูข่าวอะไรสักอย่าง แล้ววันรุ่งขึ้นเรามาคุยกับเพื่อน “แกเมื่อคืนมันมีข่าวนี้” อะไรแบบนี้ เหมือนเป็นการประมวลคำตอบให้มันเป็นทางการมากขึ้นเท่านั้นเอง ให้มันอยู่ในรูปแบบของข้อสอบครับ

คิดเห็นยังไงกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า “เด็กจะได้คะแนนหรือเปล่า ถ้าตอบไม่ถูกต้องตามธงในใจของอาจารย์”

(หัวเราะ) เฉย ๆ นะ เพราะว่าเราเชื่อมั่นในตัวเด็ก แล้วคิดว่าเด็กก็เชื่อมั่นในตัวเรา ว่าเขาสามารถที่จะใช้พื้นที่ของข้อสอบฉบับนี้เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ในการที่เขาอยากจะเขียนแสดงทัศนคติ แสดงความคิดเห็นของเขาที่มีต่อเรื่องนั้น ๆ ออกไปได้ ก็เลยไม่ได้กังวลแล้วก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย 

แต่ก็อยากจะบอกว่าเด็ก ๆ ไม่เครียดนะ เด็กๆแฮปปี้ดี ซี่งเราก็โอเค คนที่เขาวิพากษ์วิจารณ์เขาอาจจะไม่ได้อยู่ในห้องเรียนกับเรา ไม่ได้รู้ว่าเราสอนกันยังไง เราพูดคุยกันยังไง ทำไมข้อสอบถึงออกมาเป็นแบบนี้ แล้วเด็กจะกล้าเขียนไหม ถ้าเด็กเขียนไม่ถูกใจเรา อาจารย์จะให้คะแนนแบบไหน ก็เข้าใจว่ามันเป็นความกังวลของคนในสังคม 

แสดงว่ามันเป็นข้อสอบที่ให้นักเรียนแสดงทัศนคติได้เต็มที่ ไม่มีถูกผิด แล้วอาจารย์มีหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนยังไง

หลักเกณฑ์ก็จะมี 2 ประเด็นนะครับ อันแรกเลย “เฉลย” คนจะถามหาเฉลยเยอะมาก ตอบได้เลยว่ามันไม่มีเฉลย เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่มีเฉลย นั่นหมายความว่าต้องตั้งธงไว้แล้วว่าเธอต้องตอบแบบนี้มานะถึงจะถูก ถ้าเธอไม่ตอบแบบนี้มาเธอผิด 

หรือแม้แต่ว่าจะทำเฉลยขึ้นมาเป็น 2 ชุด เป็น A กับ B สมมุติยกตัวอย่างเป็นสีขาวกับสีดำ เป็นเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย นั่นหมายความว่าเด็กต้องตอบในกรอบ 2 กรอบนี้เท่านั้น ก็เลยไม่ได้คิดเฉลย ไม่มีเฉลยด้วยซ้ำ ส่วนเรื่องเกณฑ์การให้คะแนน สมมติใน 1 ข้อมี 3 ประเด็นที่เราถาม แล้วเด็กตอบครบทั้ง 3 ประเด็น สามารถอภิปรายได้ เชื่อมโยงโดยใช้เหตุผลได้ เด็กก็ได้คะแนนเต็มแล้วครับ แค่นั้นเอง

แสดงว่าข้อสอบนี้ให้เสรีภาพ 100% ในการแสดงความคิดเห็น แต่ว่าต้องมีเหตุผลรองรับใช่ไหม

ใช่ครับ อาจจะลดหลั่นกันนิดหน่อย เด็กบางคนอาจจะพูดเก่งแต่เขียนไม่เก่ง บางคนอาจพูดไม่เก่งแต่เขียนเก่ง สำนวนการใช้ภาษาด้วยเหตุและผล การเรียงร้อยถ้อยคำ หรือเรียบเรียงประเด็นต่าง ๆ แต่ก็ไม่ต่างกันมาก จริง ๆ ไม่ต่างกันเลยด้วยซ้ำ

เด็ก ๆ แฮปปี้กับข้อสอบชุดนี้ไหม

แฮปปี้มากครับ เด็กขอกระดาษเพิ่มด้วย บอกว่า "หนูเขียนไม่พอ" เพราะว่าเราทำข้อสอบ 1 ชุดเป็น 3 แผ่น แผ่นแรกก็จะเป็นกระดาษคำถาม แผ่นที่ 2 ก็มีทำเส้นไว้ให้แล้ว และก็ให้เขาเขียนข้อละ 1 หน้าเท่านั้น ทำไมมันถึงต้องเป็นข้อละ 1 หน้า เพื่อให้เขาประมวลความคิดและเรียบเรียงออกมาเป็นตัวอักษรใน 1 หน้า แล้วลองดูซิว่าเขาจะเขียนออกมายังไงให้แสดงถึงทัศนคติ

มันค่อนข้างเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน นอกจากเด็ก ๆ แล้ว ท่านผู้อำนวยการหรือว่าคุณครูท่านอื่นว่ายังไงบ้างคะ  หลังจากที่มันเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย

จริง ๆ แล้วไม่อยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะทั้ง 4 ข้อมันคือความเคลื่อนไหวในสังคม มันเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรา เอาง่าย ๆ เลยเราเปิดข่าวมาทุกวัน มันจะเป็นข่าวในข้อสอบนี้ ไม่ว่าข่าวใดข่าวหนึ่งก็ตาม การที่เราจะพูดหรือคุยอะไรกันสักอย่าง เชื่อว่าเราพูดคุยกันได้โดยตั้งอยู่ในหลักของเหตุและผล และอีกอย่างนึงเราก็มองว่า ในห้องเรียนในสถานศึกษาควรเป็น “พื้นที่ถกเถียงทางวิชาการได้อย่างปลอดภัย” เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถจะบอกเด็กได้อยู่ดีว่าสิ่งที่เธอพูด หรือสิ่งที่เธอคิดจะถูกหรือผิด สุดท้ายเมื่อเขากลายไปเป็นพลเมืองคนนึง เขาจะได้คำตอบเองเมื่อเขาออกไปอยู่ในสังคม ส่วนเรื่องที่ผู้อำนวยการหรือคนในกลุ่มสาระคิดยังไง จริง ๆ แล้วสำหรับผมผมมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่เราพูดคุยกันอยู่แล้ว

อาจารย์ ก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล
อาจารย์ ก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล

ประเด็นในข้อสอบไม่ใช่ประเด็น hot issue 

เรามองว่ามันไม่ได้ Hot issue เลยนะ ถ้าเราพูดกันตรงตอนนี้อายุ 30 ปี ตั้งแต่เกิดมาจำความได้หรือเรียนหนังสือ เราก็จะเคยได้ยินข่าวนักการเมืองหรือข้าราชการทุจริตคอร์รับชันมาตลอดชีวิต เราอยู่กับการงดเหล้าเข้าพรรษามาตลอดชีวิต แต่เราไม่เคยเห็นการงดเหล้าวันคริสต์มาส นึกออกไหม 

มันเป็นการตั้งคำถามจุดประเด็น ประเด็นอะไรก็ได้บนโลก สำหรับข้อ 2 นะ  ส่วนข้อ 1 เนี่ย มันมีวาทกรรมคำว่า “ชังชาติ” โดยส่วนตัวเด็กนักเรียนในโรงเรียนก็ออกไปชุมนุม เด็กนักเรียนโดนจับ เราก็มองว่าทำไมสังคมถึงตีตราและให้ค่าว่าเด็กที่ออกไปเรียกร้องเหล่านี้เป็นเด็กที่ไม่รักชาติ เราก็เอามาถามแค่นั้นเอง

คำถามเพิ่มเติม เห็นว่ามัธยมวัดธาตุทองเป็นโรงเรียนเสรีทรงผมด้วย คิดว่าทุกโรงเรียนควรเป็นแบบนี้ไหม

เราจะไม่เอาบรรทัดฐานของมัธยมวัดธาตุทองไปบอกว่าโรงเรียนอื่นต้องทำตาม แต่ว่าอยากจะบอกว่าจริง ๆ แล้ว ถ้าจะให้อ้างถึงกระทรวงศึกษาธิการเขาก็ฟรีนะ แต่ก็กำหนดมากว้าง ๆ ว่าทรงผมผู้ชายต้องยาวไม่เกินตีนผม ผู้หญิงมัดรวบให้เรียบร้อย สั้นยาวก็ได้ เขาก็มีเทคนิคของเขา แต่ผู้บริหารสถานศึกษาก็สามารถไปดำเนินดำเนินการได้ในโรงเรียนตัวเอง 

ตอนที่มาบรรจุใหม่ๆ เราก็ตัดผมนักเรียนตลอด เพราะตอนนั้นเขาทำกัน เราจะไม่ทำเราก็รู้สึกว่า “เห้ย! เขาสั่งให้เราทำเราก็ทำ” แต่อยู่มาวันนึงเรารู้สึกว่ามันผิด แล้วรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องตัดผมเด็ก เมื่อเรามีโอกาสที่เราจะได้พูด เราก็คุยกับผู้บริหาร ในฐานะที่เราเป็นกิจการนักเรียน เราขอลองดูได้ไหม มันเหมือนเป็นการทำวิจัย เพราะทุกคนมักพูดว่าถ้าเด็กไว้ผมทรงอะไรก็ได้เด็กก็จะยุ่งกับหัวตัวเอง ไม่มีเวลาไปเรียนหนังสือ เราก็ขอลองกับผู้อำนวยการท่านที่แล้วว่าขอลองเทอมนึง ให้เด็กลองไว้ผมอะไรก็ได้โดยไม่มีการตรวจผม แล้วดูซิว่าผลการเรียนเด็กจะดีขึ้นหรือแย่ลง เด็กจะมีพฤติกรรมที่แย่ลงไหม สุดท้ายมันก็เป็นปกติ ไม่มีผลอะไรเลย 

แค่อยากจะส่งสารแบบนี้ให้ถึงทุกโรงเรียนว่า "ท่านลองดูสิ" เราไม่อยากบอกว่ามัธยมวัดธาตุทองทำได้ทุกคนก็ต้องทำได้ เพราะบริบทแต่ละโรงเรียนก็แตกต่างกันไป แต่เราแค่อยากบอกว่าถ้าท่านอยากลองดูก็ลองดูได้ มันไม่น่าจะส่งผลเสียอะไร และอีกอย่างนึง ให้โอกาสเด็กได้เลือกและได้ตัดสินใจว่าทรงผมไหนมันเหมาะหรือมันเข้ากับหน้าตาของเขา มันไม่มีเด็กคนไหนหรอกที่จะไว้ผมยาวจนรุงรัง เสื้อยาวจนมันทิ่มตาตัวเอง มองกระดานไม่เห็นต้องคอยปัดตลอดเวลา 

หรือคนอาจจะบอกว่าไว้ยาวแล้วเป็นเหา เป็นเหาก็ไปรักษาเหา มันเป็นปัญหาของนักเรียนเรื่องสุขอนามัย มันไม่ใช่ปัญหาของครูที่ต้องไปบอกว่า “เธอต้องตัดผมสั้น เธอต้องไว้ผมทรงนี้นะ” ให้เขาได้เลือกได้ตัดสินใจของเขาเอง 

สุดท้ายประเด็นที่เราคุยกันวันนี้ คือเรื่องสิทธิเสรีภาพที่มันควรมีในสังคมไทย

จะพูดแบบนั้นก็ได้ แต่จริง ๆ แล้ว สิทธิและเสรีภาพที่เราทุกคนได้รับจะต้องไม่กระทบกับสิทธิ์และเสรีภาพของคนอื่นเช่นกัน เราก็มองแบบนี้

สุดท้ายนี้ต้องขอบคุณ “อาจารย์ก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล” ที่ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ Dek-D.com เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมากที่มีคุณครูที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพนักเรียนในทุกด้าน ทำให้นักเรียนกล้าที่จะพูดคุยโดยใช้หลักของเหตุผล และทำให้โรงเรียนกลายเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ของเด็ก ๆ อย่างแท้จริงค่ะ

 

 

 

พี่แอนนา
พี่แอนนา - Columnist นักเขียนมือใหม่ ชอบนอนดึกแต่ตื่นเช้า ชอบทำกับข้าวและพบได้ตามงานดนตรี

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น