มารู้จัก! ‘Fluid Sex’ โตแล้วจะเป็นเพศไหนก็ได้ เพราะคำว่า ‘เพศ’ ลื่นไหลได้ดั่งสายน้ำ

‘Fluid Sex’ โตแล้วจะเป็นเพศไหนก็ได้ 

สวัสดีค่ะน้อง ๆ ชาว Dek-D.com เคยสงสัยกันไหมคะว่าโลกเรายัดอุดมการณ์ความเป็นชาย - ความเป็นหญิงใส่หัวมากเกินไป ผู้ชายต้องชอบการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ ต้องใส่กางเกง ผู้หญิงต้องชอบสีชมพู ต้องชอบของสวยงาม ไหนจะครรลองของสังคมที่พยายามจะแบ่งแยกอย่างตายตัวว่าโลกนี้มีแค่ ‘ชายจริง’ กับ ‘หญิงแท้’ จึงเกิดคำนิยามและจำแนกเพศวิถีมากมาย เช่น กะเทย เกย์ ทอม ดี้ ไบเซ็กชวล แพนเซ็กชวล แต่ถ้ามันไม่มีคำไหนที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของเราได้ถูกต้อง 100% ล่ะ น้อง ๆ คิดว่าเราเป็นอะไรในสังคม?

อยากระบุเพศนะ แต่ที่มีอยู่มันไม่ใช่ตัวหนู/ผม 100% 

บางทีผมก็รู้สึกว่าผมเป็นเกย์ แต่เป็นเกย์ห้ามแต่งหญิง ซึ่งบางครั้งผมก็อยากแต่งหญิงอะครับ 

 

ปกติหนูชอบผู้ชายนะคะ แต่บางทีเห็นผู้หญิงด้วยกัน หรือเพื่อนกะเทยน่ารัก ๆ ก็หวั่นไหวขึ้นมา.. ทำไมมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเลย 

 

หนู/ผม ระบุเพศตัวเองไม่ได้เลยค่ะ/ครับ

ไม่เป็นไรเลยค่ะน้อง ๆ พี่แอนนาจะบอกว่าปัจจุบันมีคำนิยามและจำแนก human sexuality หรือเพศวิถีเกิดขึ้นใหม่มากมายก็จริง แต่บางที ตัวตนของมนุษย์มันก็หลากหลายยิ่งกว่านั้นอีกนะ เรียกว่าเกิดคำนิยามเพศใหม่ ๆ ขึ้นมาเท่าไหร่ก็อาจจะไม่สามารถครอบคลุมได้หมด เพราะความหลากหลายของตัวตนทางเพศมันลื่นไหลเกินกว่าจะหาตัวยึดจับ และนี่แหละคือ ‘ความลื่นไหลทางเพศ’ หรือ ‘fluid sex’ ที่พี่แอนนาจะมาชวนน้อง ๆ ชาว Dek-D.com พูดคุยกันใน Ep.นี้

จริง  ๆ แล้ว ความลื่นไหลทางเพศก็คือการที่รสนิยมทางเพศไม่ได้เหมือนเดิมถาวร ความรู้สึกชอบเพศใดเพศหนึ่งไม่สม่ำเสมอ ไม่แน่นอน สามารถเปลี่ยนแปลงได้เรื่อย ๆ อย่างตอนนี้น้อง ๆ วัยมัธยม อาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพศ ๆ หนึ่ง และมีความรู้สึกรักใคร่แค่กับคนเพศเดียว แต่พอเข้าสู่วัยมหา'ลัย อาจจะค้นพบว่าตัวเองดึงดูดผู้คนหลากหลายเพศ หรือเมื่อโตขึ้นไปอีก น้อง ๆ อาจจะเปลี่ยนอัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศไปอีกก็ได้ 

พี่แอนนารู้ว่ามันสับสน แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าความหลากหลายทางเพศนั้นไร้ขีดจำกัด ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่แอนนาอยากให้น้อง ๆ ทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันนะ

“ไม่มีใครเป็นหญิงหรือชาย 100%”

พี่แอนนามีงานวิจัยงานหนึ่งมาเล่าให้น้อง ๆ ฟัง งานวิจัยนี้สรุปไว้ว่า 

“อาจไม่มีใครเป็นหญิงหรือชาย 100%” ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษาปฏิกิริยาของผู้คนขณะดูภาพลามกอนาจารที่มีทั้งเรื่องเพศตรงข้ามและรักร่วมเพศ จากนั้นติดตามการขยายตาของพวกเขาในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ พบว่า ผู้หญิงตื่นเต้นกับการดูสื่อลามกที่มีผู้ชายกับผู้หญิง และผู้หญิงกับผู้หญิง ในขณะเดียวกันก็พบว่ารูม่านตาของผู้ชายขยายออกเวลาดูฉากช่วยตัวเองของทั้งเพศหญิงและเพศชาย

น้อง ๆ จะสังเกตเห็นได้ว่าความลื่นไหลทางเพศอาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว และอาจไม่ต้องดำเนินไปจนถึงขั้นพัฒนาความสัมพันธ์กับเพศใหม่ ๆ แต่เป็นเรื่องของ ‘ความสนใจ’ เราอาจจะเป็นเพศใดเพศหนึ่ง สนใจเพียงเพศใดเพศหนึ่ง แต่ดันมีเหตุการณ์ที่เราถูกดึงดูดจากเพศอื่น ๆ ด้วย ซึ่งแรงดึงดูดนั้นเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ และสุดท้ายมันก็อาจจบลงแค่นั้น เราก็ยังเลือกที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับเพศที่เราสนใจมากกว่าอยู่ดี  ซึ่งในประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าถ้าเกิดความลื่นไหลทางเพศแล้วจะจัดการยังไงต่อไป

ทำไมน้อง ๆ ถึงต้องทำความเข้าใจ 'Fluid Sex' 

อ่านมาถึงตรงนี้ พี่แอนนาต้องการจะสื่อว่า ไม่แปลกเลยที่น้อง ๆ คนไหนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่หญิงหรือชายตายตัว และก็อาจจะยังไม่ใช่ กะเทย เกย์ เลสเบี้ยน ทอม และอื่น ๆ ที่น้อง ๆ เคยได้ยิน หากมันยังไม่มีคำไหนใช่ตัวน้อง ๆ เลยก็ไม่เป็นไร เพราะเราเข้าใจแล้วว่ามันมีคำว่า ‘Fluid Sex’ หรือ ‘Genderfluid’ อยู่ ที่น้อง ๆ สามารถนำไปใช้อธิบายถึงอัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ

 ลองคิดตามพี่แอนนานะคะ ถ้ามีคนมาถามน้อง ๆ ที่ตัดผมสั้น แต่งตัวห้าว ๆ ว่"เป็นทอม แล้วทำไมถึงแต่งหน้า, เป็นทอม ทำไมใส่กระโปรง" ก็เป็นคำถามที่ต้องการจะสื่อกลาย ๆ ว่า น้อง ๆ ทำอะไรผิดแปลกไปจากที่ ‘ทอม’ ควรจะเป็น ซึ่งในบางครั้ง เราเป็นผู้หญิงนะ แค่ตัดผมสั้น  หรือจริง ๆ เราก็เป็นทอมนั่นแหละ แต่เราชอบแต่งหน้า แสดงว่าเราไม่ใช่ทอมเหรอ แล้วเราเป็นอะไรล่ะ 

แค่คิดเล่น ๆ น้อง ๆ ก็คงเข้าใจถึงความอึดอัดเหล่านี้แล้ว เพราะพฤติกรรมที่สังคมกำหนดให้แต่ละเพศต้องแสดงออกมันแคบเสียเหลือเกิน 

ถ้าทุกคนเข้าใจเรื่องความลื่นไหลทางเพศ มันก็จะไม่เกิดการตั้งคำถามแบบนี้ขึ้น 

และไม่ทำให้ใครรู้สึกผิดในการเป็นตัวของตัวเอง

ปัจจุบันปี 2022 โลกเปิดกว้างในทุกด้าน คงจะดีไม่น้อยถ้าผู้คนเข้าอกเข้าใจเรื่อง ‘ความลื่นไหลทางเพศ’ กันมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีการนิยามคำว่าเพศตามบรรทัดฐานของสังคม ไม่ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับบทบาทใด น้อง ๆ หลายคนจะได้มีทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับชีวิต และแสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้เต็มที่มากขึ้น พี่แอนนาเชื่อว่าทุกคนก็อยากอยู่ในสังคมที่โอบรับผู้ที่มีความแตกต่างหลากหลาย เคารพในทุกเพศ  และให้เกียรติทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ถ้าน้อง ๆ คนไหนกำลังรู้สึกสับสน หากอ่านบทความนี้แล้วรู้สึกว่าตัวเองกำลังเข้าข่ายกลุ่มคนที่มีความลื่นไหลทางเพศ สิ่งที่ต้องทำคือแค่ยอมรับตัวเอง และก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมายอมรับเรา เพราะมันไม่ใช่เรื่องผิดแปลกใด ๆ น้อง ๆ อาจไม่จำเป็นต้องระบุเพศให้กับตัวเองเลยก็ได้ แค่เป็นตัวของตัวเองและมีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ก็พอ  ใครเคยรู้สึกแบบนี้ แล้วทุกวันนี้เป็นยังไงกันบ้าง มาระบายให้พี่แอนนาฟังได้นะ :-)

 

 

ข้อมูลจากhttps://www.dailymail.co.uk/health/article-5497267/No-one-100-straight-Study-says-sexuality-spectrum.htmlhttps://www.healthline.com/health/sexually-fluid#changes-over-timehttps://www.verywellmind.com/what-is-sexual-fluidity-5210420

 

 

พี่แอนนา
พี่แอนนา - Columnist นักเขียนมือใหม่ ชอบนอนดึกแต่ตื่นเช้า ชอบทำกับข้าวและพบได้ตามงานดนตรี

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

โต่ะ Member 24 ก.ย. 65 02:25 น. 1

เลานี่แหละผู้หญิง 100% และขนลุกมาก ญญ มันเป็นไปตามธรรมชาติจริงๆของแต่ละคนแหละเลาว่า คนป่วยยังมีหนักเบาหลายระดับเลย ถ้าเปรียบเทียบก็คล้ายๆกัน

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด