คุยกับอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ถึงโลกการศึกษาวิทยาศาสตร์ในไทย

 

spoil 

  • การศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยพัฒนาไปไกลมากขึ้น มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ต่างประเทศมากมาย แต่เรื่องบุคลากรของยังน้อยอยู่
  • หลายคนมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเรียนการสอนที่ไม่สนุกจนทำให้รู้สึกเข้าใจยาก
  • จริง ๆ แล้ววิทยาศาสตร์ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันทั้งงานวิชาการ เทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมไปถึงการพินิจพิจารณาเรื่องต่าง ๆ รู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างบนโลกใบนี้

วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดจริงไหมเอ่ย? แม้ภาพจำใครหลายคนอาจจะคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก เป็นตำราหนา ๆ ศัพท์เยอะ ๆ แต่แท้จริงแล้วมนุษย์เราทุกคนล้วนหมุนและโคจรกับคำว่าวิทยาศาสตร์มาเสมอ การเข้าใจและเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์จึงยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญเอามาก ๆ 

ว่าแต่ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์ในประเทศเราเป็นยังไงบ้างนะ เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปเป็นแบบไหน ไม่ต้องห่วงพี่มีคำตอบมาให้!

ในวันนี้เว็บไซต์ Dek-D ก็ได้มีโอกาสคุยกับ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ มาพูดคุยถึงประเด็นการศึกษาวิทยาศาสตร์ว่าในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง เอาล่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปเริ่มกันเลย

การศึกษาวิทยาศาสตร์ไทยในปัจจุบันเดินหน้าไปถึงไหนแล้ว?

ถ้าเป็นกลุ่มนักวิจัย ประเทศเรามีคนเก่ง ๆ เยอะมากนะครับ ผลงานวิจัยในประเทศไทยได้รางวัลไปตีพิมพ์เป็นผลงานระดับโลกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นทางการแพทย์ ทางวิศวกร ทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ คือเรามีคนเก่งในระดับนั้นเยอะ และก้าวหน้าได้ดี

แต่ถ้าถามถึงจำนวนบุคลากร หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซียก็ต้องบอกว่าค่อนข้างน้อยอยู่ คือมันยังไปได้ไกลมากกว่านี้อีกเยอะ ถ้าเทียบกับหลาย ๆ ประเทศที่เขามุ่งไปทางด้านวิทยาศาสตร์ บ้านเรามันจะมีความก้ำกึ่งแบบจะไปดีไหม หรือไม่ไป จะเกษตรกรรมดีหรือจะกลับไปออร์แกนิค จะไปยาต้านไวรัสหรือจะกินฟ้าทะลายโจร มันมีอารมณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในบ้านเราและดึง ๆ กันไว้อยู่

เพราะฉะนั้นผมพยายามจะยกว่าวงการวิชาการมันเหมือนมีช่องว่างอยู่ ช่องว่างในที่นี้คือชนชั้น เศรษฐกิจ ทำให้เราเลยมีตั้งแต่คนที่รู้ คนที่ไม่รู้ และคนที่ใช้ชีวิตทั่วไป โดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในชุมชนเชิงความรู้เลยก็มี เรามีเด็กที่ไปแข่งระดับโอลิมปิกทุกปี แต่เราก็ยังมีนักเรียนที่อ่านหนังสือไม่ออกเขียนหนังสือไม่ได้และไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์พื้นฐาน

ถามว่าวิทยาศาสตร์ยังอยู่ในใจของคนไทยหรือเด็กนักเรียนไทยไหม แบบอยู่ในความรู้สึกนึกคิดอยากจะเอามาใช้เป็นประโยชน์ โดยรวม ๆ ผมว่าค่อนข้างน้อย ยิ่งเรามีโอกาสได้เรียนปริญญาเอกต่างประเทศ มันก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่า โห คนละอารมณ์เลย คือต่างประเทศความเป็นวิทยาศาสตร์มันอยู่เยอะมาก เอาง่าย ๆ หนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งมีข่าววิทยาศาสตร์ทุกวัน อาจจะเป็นการค้นพบเรื่องใหม่ ๆ ซึ่งต่างจากบ้านเราที่ต้องมีวิกฤตก่อนคนถึงจะเริ่มสนใจว่าเกิดจากอะไร จะรักษายังไงได้บ้าง ส่วนเรื่องความเชื่อ ศาสนา ไสยศาสตร์มีทุกประเทศไม่ต้องกลัว อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่นมีหมด แต่เขาเอาวิทยาศาสตร์นำเป็นหลักเพื่อวิเคราะห์ก่อน แต่บ้านเราจะยังค่อนข้างอยู่ในระดับที่น้อยหรืออาจมองเป็นแค่เรื่องเฉพาะของคนบางกลุ่ม

ผมจับบรรยากาศอย่างหนึ่งได้ตอนไปสิงคโปร์ คือคนคนขับแท็กซี่ชวนผมคุยเรื่องวิทยาศาสตร์อ่ะ ผมงงเลย คุยกันแบบเรื่องไบโอเทคโนโลยี เรื่องเอนไซม์ คือเขาเข้าถึงและไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว

ตั้งแต่ตื่นนอนทุกอย่างเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทั้งหมด

ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราเป็นวิทยาศาสตร์และเป็นผลจากวิทยาศาสตร์ทั้งหมด คือ ตั้งแต่ตื่นนอนจนไปนอนใหม่ รอบตัวเรามีแต่เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทั้งนั้นเลย

มันไม่ใช่แค่สิ่งที่ดูไฮเทคอย่างไอโฟน ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์ แต่ไฟฟ้า น้ำประปา หรือแม้แต่อากาศที่เราใช้หายใจล้วนเป็นสิ่งที่สามารถพูดหรือคิดในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ได้หมดเลย

จริง ๆ เรื่องไสยศาสตร์ ศาสนา มันก็มีความเป็นวิทยาศาสตร์ของมันอยู่นะ เพียงแต่บางทีเราไม่ได้มีอารมณ์ร่วม ไม่ได้ซึมซับว่านี่คือวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง คิดว่าวิทยาศาสตร์คือตําราเป็นแบบกลุ่มวิชาอย่างเคมี ฟิสิกส์ ชีวะฯ คณิตศาสตร์ แต่จริง ๆ มันคือศาสตร์ของการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราหรืออยู่ในตัวด้วยซ้ำ 

เรียนสายวิทยาศาสตร์หางานยากจริงไหม!?

เพราะคําว่าอาชีพนักวิทยาศาสตร์เป็นคําที่ไม่ค่อยชัด ไม่ค่อยเห็นภาพ สมมติเราคุยกับพ่อแม่ว่าจะเข้าคณะวิทยาศาสตร์นะ พ่อแม่ก็จะงงว่าลูกจะไปทําอะไรกิน จบมาเป็นอะไร 

จริง ๆ มันคล้ายกับการเข้าคณะอักษรศาสตร์ หรือเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่ได้ชัดว่าตกลงจบเป็นนักเศรษฐศาสตร์คือทําอะไร หรือจบเป็นนักอักษรศาสตร์ ทำอาชีพอะไร

ซึ่งมันจําเป็นที่เด็กหรือแม้แต่ครูแนะแนวต้องเข้าไปดูรายละเอียด สมมุติว่าเป็นอักษรศาสตร์ แล้วจะเลือกเมเจอร์สเปนเพราะว่าอยากทํางานด้านการแปลภาษาสเปน หรือจะไปเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วเลือกเมเจอร์เกี่ยวกับไฟแนนซ์เรื่องของตลาดหุ้น คือมันต้องลงลึกถึงจะเริ่มเห็น ของคณะวิทยาศาสตร์เองก็เหมือนกัน

มันมีสาขาวิชาเยอะมากนะ เยอะกว่าช่วงเรียนมัธยมปลายที่อาจจะมีแค่ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แล้วก็คณิตศาสตร์ เช่น สาขาเทคโนโลยีทางอาหาร สาขาด้านเซรามิก ซึ่งพอเริ่มเห็น มันก็จะเห็นอาชีพชัดขึ้น

ประเด็นปัญหาตอนนี้คือทางสายวิทยาศาสตร์เองก็ไม่สามารถทําให้คนอื่นเห็นเส้นทางของอาชีพที่ชัด เราอาจจะต้องจูนกันให้เห็นภาพมากขึ้น ให้ทั้งเด็กและพ่อแม่รู้ว่าจบสาขานี้ไปเขาทำอะไรกัน และมันต้องมากกว่าการคิดแค่ว่าเรียนจบปริญญาตรีเพื่อต่อปริญญาโท

มันก็เป็นเรื่องยากระดับหนึ่ง แต่ผมว่ามันสื่อสารได้ แล้วเราก็มีคนทําโปรแกรมแบบนี้เยอะขึ้น คืออาจจะเชิญพี่ที่เรียนจบไปแล้วมาพูดคุยถึงสาขาวิชานี้ หรือแม้แต่การลงข้อมูลเหล่านี้ลงในโซเชียลมีเดียคนก็จะเห็นเยอะขึ้น 

เราอยู่ยุคที่ถ้าเราค้นหาตัวเองจริง ๆ ว่าชอบอะไร ถนัดอะไรอาชีพมันตามมาทีหลังด้วยซ้ำ เราเจอลูกศิษย์บางคนที่ชอบงู ก็ไปทำอาชีพที่เกี่ยวกับงูได้ มันอาจจะพูดยาก แต่ผมว่าภาพรวม ถ้าทําให้วิทยาศาสตร์สนุก ผมว่าคนหลาย ๆ คนก็พร้อมจะเข้ามาเรียนด้วยความสุข ได้เจอสิ่งที่เขาอยากเรียน 

เพราะเรียนไม่สนุกเลยเป็นเรื่องยาก

ก็ต้องย้อนกลับไปว่าจุดไหนในชีวิตที่ทําให้เรารู้สึกว่าวิทยาศาสตร์มันน่ากลัว มันยาก อย่างลูกสาวผมเพิ่งเข้าชั้นประถม ก็จะเห็นเลยว่าเขาแฮปปี้กับสิ่งที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคือวิทยาศาสตร์ ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ดูรายการทีวีวิทยาศาสตร์ก็สนุกไปหมด พอเริ่มเป็นเด็กชั้นมัธยม เวลาผมไปบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์ปน ๆ กันแบบไม่จริงจังมาก เขาก็ดูรับรู้และเล่นกับเราได้อยู่

แต่พอพูดให้เด็กม.ปลายฟัง ผมจะเริ่มรู้สึกถึงความเครียดละ เขาจริงจังมากขึ้นและเริ่มไม่สนใจมากขึ้น ยิ่งถ้าบรรยายเนื้อหาคล้าย ๆ กันแต่ไปพูดให้เด็กระดับปริญญาตรีฟัง จะเห็นเลยว่าเด็กเรียนดีก็เริ่มไม่เอาแล้ว 

เลยคิดว่าประมาณม.ปลาย น่าจะเป็นช่วงที่เริ่มมีปัญหา และปัญหาที่เกิดขึ้นก็มาจากการที่เราไปแยกสาขาวิชานั่นแหละ คือถ้าเราเรียนวิทยาศาสตร์ที่สามารถเห็นกระบวนการผสมผสาน เห็นว่ามันส่งอิทธิพลกันยังไง ก็จะรู้สึกสนุกและอยากจะเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ แต่พอเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีวะฯ มันยากตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว คือเมื่อไหร่ก็ตามที่ความสนุกเริ่มหายไป ความยากก็จะเข้ามาแทนที่ 

ผมพบว่าเด็กจํานวนมากที่เข้ามหาวิทยาลัย ไม่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ข้ามสาขาได้ เช่น เอาเคมีมาอธิบายชีวะฯ ไม่ได้ เอาชีวะฯ มาอธิบายฟิสิกส์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมว่าเราต้องหลงทางแน่ ๆ แต่เราไม่ได้หลงทางแค่สังคมไม่ช่วยผลักดัน แต่กระบวนการศึกษามันต้องมีอะไรผิด ทําให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก 

ที่น่าเสียดายคือ การเรียนวิทยาศาสตร์มันควรจะเรียนผ่านแล็บ อย่างผมบอกตรง ๆ  ตอนเข้ามัธยมก็เริ่มไม่แฮปปี้ละ จะยากอะไรขนาดนั้น แล้วมันไม่อยู่ในโลกความจริงเลย อาจารย์บอกว่าวัตถุเคลื่อนที่โดยไร้แรงเสียดทาน แล้วก็ให้คิดสมการเพื่อให้ได้ตัวเลขบางอย่างออกมา ซึ่งถ้าผิดก็คือโง่ฟิสิกส์ ซึ่งมันไม่ใช่ มันมีแล็บที่ดีเข้ามาช่วยเราให้เห็นภาพได้ เช่น เสียงเดินทางยังไง ถ้าเสียงเดินทางผ่านเรามันจะเกิดปรากฏการณ์ทําให้เสียงย่อลงแล้วขยาย จึงค่อยนำสิ่งนั้นมาคำนวณ เด็ก ๆ จะเห็นว่า ผลที่คิดออกมาไม่ตรงตามทฤษฎีเลย ซึ่งนี่แหละ คือการทดลอง นี่คือโลกความเป็นจริงและนั่นคือความสนุกของการเรียน

นอกจากเราจะล้มเหลวในเรื่องของการทําให้วิทยาศาสตร์สนุกสนานน่าสนใจแล้ว ก็จะมีเรื่องตรรกะทางวิทยาศาสตร์ที่เราไม่ค่อยมีสอนในห้องเรียนเท่าไหร่ คือเราไปทําให้คนเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์คือตําราเรียนเพื่อไปสอบ หรืออย่างดีคนก็เข้าใจว่า วิทยาศาสตร์คือตั้งสมมุติ ทดลอง สรุปผล ซึ่งจริง ๆ ตรรกะวิทยาศาสตร์คือโลจิกสําคัญที่สุดเลย

การตั้งคําถามว่าจริงหรือเปล่า คือสิ่งที่ทำให้วิทยาศาสตร์อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะมันมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับปรมาจารย์ในอดีต แล้วพยายามจะคิดทฤษฎีใหม่เพื่อโค่นล้ม คือฟังแล้วเกิดคำถามว่าจริงเหรอ เรื่องนี้ใช่เหรอ งั้นเราลองมาทดลองพิสูจน์กันดีกว่า ซึ่งในวงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลก หากใครพิสูจน์สิ่งที่เขาเชื่อกันมาเป็นร้อยปีได้สําเร็จว่าไม่จริง คนนั้นเตรียมตัวดังได้เลย 

ถ้าเราทําให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องสนุกหรือในชีวิตประจําวันอธิบายได้ คนก็จะผูกพันว่ามันมีประโยชน์ เอาไปใช้ชีวิตหรือต่อยอดพิสูจน์เรื่องต่าง ๆ ที่สังคมเคลือบแคลง

วิทยาศาสตร์ต้องสนับสนุนการตั้งคำถามและรู้จักเถียง

เราเป็นสังคมที่เถียงผู้ใหญ่หรือเถียงอาจารย์ไม่ได้ คือเราไม่ค่อยสนับสนุนให้รู้จักเถียง หรือฝึกตั้งคําถามบ้าง ทำให้ผู้เรียนก็ถามคําถามไม่เป็น เถียงกันเองไม่เป็น 

การดีเบตเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจําวันเขา มีอะไรก็ยกมาเถียงกันได้ แถมเถียงกันก็ยังเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม 

ตรรกะวิทยาศาสตร์คือพื้นฐานสำคัญในสังคม

ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คงบอกว่าอยากให้บ้านเรามีนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก มีรางวัลโนเบล คือมันก็ดีถ้ามีคนดังระดับโลกได้ 

คือคนไทยต้องการไอดอลทางวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้มันไม่มีเลย เรามีเป็นดารา เรามีนักกีฬา เรามีนักการเมือง แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่มี สมมติผมถามเด็กที่มาสมัครคณะวิทยาศาสตร์ว่าใครเป็นไอดอลนักวิทยาศาสตร์ในใจ ส่วนใหญ่ก็จะตอบไอน์สไตน์หรือไม่ก็นึกไม่ออกเลย คือเราควรมีใครสักคนที่ไว้เชิดหน้าชูตาว่านี่เป็นไอดอลวิทยาศาสตร์ไทยนะ

เคยคิดไว้เหมือนกันว่ามาเลเซียเขาเคยทําสําเร็จ เขาเปลี่ยนประเทศเขาด้วยการส่งมนุษย์อวกาศไปกับยานอวกาศรัฐเซีย ตั้งแต่นั้นมาคนมาเลเซียก็มีอารมณ์ที่แตกต่างไปเลย เขาก็เป็นอีกชาติหนึ่งที่ ไปถึงระดับนั้นได้ แล้วเขาก็มุ่งเน้นประเทศไปทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแบบเต็มที่ ดังนั้นนั่นคือสิ่งที่เคยฝันซึ่งถ้าทําได้ก็จะดีมากเลย

แต่ถ้าเอาในเชิงแบบแกน ๆ ที่พูดมาตลอดคืออยากให้คนไทยมีตรรกะวิทยาศาสตร์มากขึ้น ไม่ใช่เชื่อตามกันไปเรื่อย ๆ อยากให้มีจุดฉุกคิด 

ผมคิดว่าคนในสังคมสิบกว่าปีที่ผ่านมาทําได้ดีขึ้นนะ เมื่อก่อนเราชอบพูดกันว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ แต่ปัจจุบันผมรู้สึกว่าคน คนไทยมีความกังวลเรื่องประโยคเหล่านี้น้อยลง กล้าตั้งคําถามเยอะขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น ซึ่งการมีโซเชียลเน็ตเวิร์กช่วยให้เราถกเถียงกันง่ายขึ้นและมีตรรกะในการคิดมากขึ้นว่า เฮ้ย ใช่เหรอ เรื่องนี้จริงเหรอ 

ความฝันตอนนี้จึงอยากกลับมารื้อฟื้นตรงพื้นฐานเรื่องตรรกะวิทยาศาสตร์ให้ได้ก่อน ถ้าทำได้มันก็เป็นฐานไว้ให้คนที่สนใจวิทยาศาสตร์หรือทําการวิจัยในอนาคตได้ต่อ แต่ถ้าตรรกะยังไม่ได้ พื้นฐานไม่แข็ง ตัวสังคมเองก็เคลื่อนได้ยาก

ก็จบกันไปแล้วนะคะสำหรับการสัมภาษณ์อาจารย์เจษฎาในครั้งนี้  เป็นยังไงกันบ้างเอ่ย ชาวเด็กดีมีความคิดเห็นยังไงกันบ้าง อย่าลืมมาคอมเมนต์บอกให้พี่ฟังกันด้วยนะคะ อยากรู้ ๆ 

พี่เอย
พี่เอย - Columnist คอลัมนิสต์ผู้หลงรักการกิน และอินซีรีส์เกาหลีมากถึงมากที่สุด

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น