เมื่อแบบเรียนไทยเก่าเกินไป คุยกับอาจารย์ธนัชชนม์ ธนาธิปปริพัฒน์ นักวิชาการและนักเขียน

spoil

  • ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเรามักเจอกระแสว่าแบบเรียนไทยค่อนข้างมีเนื้อหาที่เก่าเกินไปอยู่บ่อย ๆ เช่น หนังสือภาษาพาทีที่พูดถึงตัวละครเกี๊ยวโดยใช้คำว่าใจแตก หนังสือสุขศึกษาที่สอนเรื่องเพศล้าสมัยเกินไป
  • จริง ๆ แล้วปัญหาแบบเรียนที่เก่าเกินไปมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ไม่มีผู้เขียนหน้าใหม่เข้ามาจึงทำให้แบบเรียนไม่มีความหลากหลาย 
  • เนื้อหาที่มีค่านิยมเก่าส่งผลให้ผู้เรียนได้รับสารเก่าและส่งต่อความเชื่อแบบเดิมไปเรื่อย ๆ  ได้
  • วิธีที่แก้ไขคือการเพิ่มความหลากหลายในกลุ่มหนังสือเรียนเข้าไปในระบบ ไม่ใช่เพียงแต่การโละทิ้งอย่างเดียว

 

หนังสือเรียนเป็นเครื่องมือสำคัญออกแบบไว้ให้นักเรียนศึกษา ค้นคว้า และสามารถพัฒนาตนเองได้ โดยนำความรู้ดังกล่าวไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ปกติแล้วหนังสือเรียนส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการว่ามีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลาง จึงจะได้รับอนุญาตให้ใช้จัดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้

แม้หนังสือเรียนจะมีความสำคัญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายปีที่ผ่านมา เราพบเจอกับบางเนื้อหาที่เต็มไปด้วยคำ ความคิด และอุดมการณ์ที่ออกจะดูล้าสมัยไปสักนิด จนทำให้คนรุ่นใหม่หันมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในโลกโซเซียลกันมากขึ้น

เช่น ในปี 2563 เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์แบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาที่แปะป้ายคำว่า ‘ใจแตก’ กับตัวละคร รวมถึงเนื้อหาวิชาสุขศึกษาที่สื่อสารเรื่องเพศค่อนข้างจะล้าสมัย ตลอดจนแบบเรียนวิชาสังคมศึกษาที่ตอกย้ำความไม่เท่าเทียม ไม่เหมาะกับโลกยุคปัจจุบันเท่าไหร่

เราจึงเกิดความสงสัยว่า เอ๊ะ ! ทำไมกันนะ โดยครั้งนี้เราก็ได้รับโอกาสจาก อาจารย์ ธนัชชนม์ ธนาธิปปริพัฒน์ นักวิชาการและนักเขียน ผู้โลดแล่นอยู่ในวงการแบบเรียนและหนังสือเตรียมสอบทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง มาพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวกันค่ะ 

แบบเรียนในปัจจุบันไม่ทันกับยุคสมัยใหม่

เพราะคนเขียนส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเก่ากันแล้ว แถมในวงการก็จูงใจให้นักเขียนรายใหม่เข้าไปสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ ได้น้อย อาจด้วยต้นทุน ด้วยอะไรก็ตาม ผลคือผู้เรียนต้องใช้ของเก่าไปก่อน ซึ่งประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับปัญหาหลักสูตรแกนกลางนะ

ต้องทำความเข้าใจว่า หลักสูตรแกนกลางเป็นการวางไกด์ไลน์พื้นฐานบนความเชื่อว่าผู้เรียนจะมีพัฒนาแบบลําดับขั้น เช่น เด็กประถมจะต้องมี ความรู้ 1-2-3-4-5 พอเด็กมัธยมก็จะเป็น 6-7-8-9  มัธยมปลายก็จะเป็น 10-11-12 โดยจะระบุไว้กว้าง ๆ ว่า ต้องการให้ทำอะไรเป็นบ้าง ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องเรียนเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่โอเคเราต้องยอมรับว่า มีบางเรื่องที่เขาบังคับ ซึ่งนั่นมันก็ไม่โอเคเท่าไหร่ 

อีกเรื่องที่ซ้ำเติมปัญหา คือ ครูไม่ค่อยเข้าใจ ไกด์ไลน์ของหลักสูตรว่า ผลลัพธ์การเรียนรู้สุดท้าย เมื่อผู้เรียนผ่านการเรียนรู้จากประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาภาพใหญ่มันคืออะไร 

รวมถึงภาระที่ถ่วงครูไม่ให้สอนอย่างเต็มที่ เอกสาร งานนอก อะไรต่อมิอะไร ผลร้ายตกอยู่กับผู้เรียน หนังสือก็วนซ้ำอยู่แบบนั้น

ส่วนหนึ่งมาจากผู้เขียนที่ไม่มีคนใหม่ ๆ เข้ามา

ใช่ ไม่มีนักเขียนเข้ามาสร้างความหลากหลาย เพราะงานหนังสือเรียนมันค่าตอบแทนน้อย หลายคนเข้าใจผิดว่า อุ๊ย คนเขียนหนังสือรวยนะได้เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย อันนั้นอาจเป็นหนังสือแนวอื่น แต่หนังสือเรียนถ้าอยากได้เปอร์เซ็นต์ สำนักพิมพ์เขาจะไม่ค่อยชอบล่ะ เพราะเขามองว่าต้องจ่ายเยอะกว่าสำหรับค่าบริหารจัดการ 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ไม่ค่อยมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา คือหนึ่งค่าตอบแทนได้ช้า สองแรงกดดันสูงเพราะต้องส่งให้เร็ว แต่เงินช้า สามแก้จุกจิก ทั้งจากกระทรวง ทั้งจากสำนักพิมพ์เอง จากคนจัดหน้าหนังสือ 

แต่ขอให้เครดิตอาจารย์ผู้เขียนรุ่นเก่า ๆ นะ บางท่านรักในการทำงานตรงนี้จริง ๆ เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าสิ่งที่ทำอยู่มันมีประโยชน์ แต่นั่นแหละคนยุคใหม่น่าจะพอเห็นภาพอะไรที่เชิงเดี่ยว ไม่หลากหลาย มันส่งผลเสียหายต่อสังคมไม่น้อย

ค่านิยมและอุดมการณ์ส่งผลต่อเด็กและสังคม

เพราะหนังสือเป็นเครื่องมือขัดเกลาทางสังคม (socialization) เพราะฉะนั้นตรง ๆ เลยว่า แบบเรียนที่เรากำลังคุยกันอยู่ มันยัดเยียดค่านิยมและอุดมการณ์ลงไป เป็น indoctrination หรือการปลูกฝังลัทธิความเชื่อ ทำให้ผู้เรียนไม่รู้ว่าความจริงบนพื้นฐานความหลากหลายคืออะไร โลกข้างนอกมันเป็นอย่างไร ผู้เรียนอาจเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจตามที่หนังสือเรียนบอก นี่คือพลังของหนังสือเรียนนะ มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศ สมัยที่ยังลองผิดลองถูกกัน ซึ่งเขาก็พากันเลิกนานแล้ว  

หนังสือมันคือสื่อ ไม่ว่าจะเป็นภาพหรือตัวอักษร มันประกอบด้วยสัญญะ สัญลักษณ์ และกลวิธีการสื่อความหมาย ที่หล่อหลอมให้ผู้เรียนในฐานะผู้รับสารไม่ว่าจะเด็กเล็ก หรือเด็กโต แม้กระทั่งผู้ใหญ่ เข้าใจตามที่หนังสือยัดเยียดค่านิยมและอุดมการณ์ลงไป  แน่นอนไม่ค่อยมีใครใส่ใจประเด็นนี้กันสักเท่าไร นอกเหนือจากการวิพากษ์วิจารณ์เป็นครั้งคราว

จริง ๆ การเขียนและทำหนังสือเรียนมันเป็นหนึ่งศาสตร์เลยนะ เช่น เด็กปฐมวัยเหมาะกับรูปแบบไหน การเล่าเรื่องจะต้องเป็นแบบไหน สีที่ใช้ ภาพที่ใช้ สิ่งเหล่านี้มันส่งผลทางจิตวิทยาการศึกษา และทฤษฎีการเรียนรู้ด้วย  อย่างหนังสือที่เขียนว่า เกี๊ยวเป็นเด็กใจแตก มันสร้างความรู้อะไรในตัวผู้เรียน ก็ต้องคิดกันต่อ

จุดที่น่ากังวล คือ การเพาะบ่มความรุนแรงมันทำงานทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การแปะป้ายเด็กว่าใจแตกนี่ก็ใช่ การการปลูกฝังลัทธิความเชื่อผ่านตัวบทต่าง ๆ ในหนังสือเรียน ความดีแบบขาว-ดำล้วน โลกที่เฉดสีชัดเจน ไม่ซ้ายก็ขวา ความล้าหลังในการมองโลกยุคใหม่ที่ขัดกับความหลากหลาย เช่น ประเด็น LGBTQ+ ประเด็นสิทธิมนุษยชน

แบบเรียนที่เก่าไม่ได้หมายถึงต้องโละทิ้งทั้งหมด

ก็ไม่ใช่โละทิ้ง หรือรื้อทำลายทั้งหมด ต้องแบ่งวิชาออกมาก่อน บางตัวบทไม่โอเคก็ต้องโละทิ้งทั้งหมดเลย เช่น อะไรที่มันอาจนำไปสู่การปลูกฝังลัทธิความเชื่อ หรือความรุนแรงทั้งทางตรงและอ้อม 

แต่ในบางเนื้อหา มันยังจำเป็นพอสมควรนะ เนื้อหาอาจจะไม่เพอร์เฟกต์แต่พอไปได้จากวิธีการสื่อสารของอาจารย์ยุคก่อน ๆ เช่น อาจารย์ชอบอ่านตำราคณิตศาสตร์ที่ล้าสมัย วิทยาศาสตร์ที่เก่าหน่อย มันเชื่อมโยงคำอธิบายเก่าและใหม่ไว้ด้วยกัน 

การโละทิ้งมันง่ายก็แค่เอาตัวบทออก แต่การพัฒนาปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยนี่สิ มองว่ายังอีกไกล 

ความหลากหลายจะช่วยให้แบบเรียนในประเทศไทยพัฒนาขึ้น

ต้องเกิดหนังสือที่ใช้วิธีการสื่อสารแบบคนรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ในวงการหนังสือเรียนให้ได้ 

ทุกวันนี้การทำหนังสือเป็นของเอกชนหมดแล้วจะมีเกี่ยวข้องกับรัฐอยู่บ้าง เช่น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นคนละหน่วยงานกันกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่เราก็ทราบกันดีว่า สสวท. เล่นเรื่องอัจฉริยภาพทางวิทย์-คณิต โอลิมปิก พสวท. สอวน. เพราะฉะนั้นหนังสือวิทย์กับหนังสือคณิตฯ สสวท. เขาก็จะเป็นหลักใหญ่ แต่ไม่ได้หมายถึงสำนักพิมพ์อื่นแข่งไม่ได้ ก็มีแข่งอยู่ 

สำหรับอาจารย์มองว่าความหลากหลายยังมีน้อยเกินไป ยังมีพื้นที่อีกมากให้คนที่มีความตั้งใจเข้ามาลองดู หนังสือมันเป็นปฏิบัติการทางวาทกรรมแบบหนึ่ง คือถ้าไม่ชอบวาทกรรมแปะป้ายแบบเกี๊ยวใจแตก ก็ต้องผลิตวาทกรรมอีกชุดหนึ่งมาเบียดแทรกอันเดิมให้ตกไป ซึ่งการสนับสนุนความหลากหลายมันจะทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ ยิ่งวาทกรรมมีคุณภาพมากเท่าไร มันยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากเท่านั้น ทำนองเดียวกันถ้าคุณแข่งกัน เพื่อปลูกฝังความเชื่อมันก็จะพังทั้งหมด เพราะเด็กที่เราจะขัดเกลาออกมา ก็จะกลายเป็นอีหรอบเดิมคือไม่ขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง

แบบเรียนต่างประเทศมีความหลากหลายทั้งเนื้อหาและรูปแบบ

เนื่องจากเขาไม่ได้รวมศูนย์เหมือนเรา สังคมฝรั่งอยู่กับการตีพิมพ์และสื่อสารผ่านงานเขียนมานาน เลยค่อนข้างจะมีความหลากหลายมากกว่า สำนักพิมพ์ไม่ได้ผลิตแค่หนังสือเรียน แต่ผลิตหนังสืออย่างอื่นด้วย เช่น หนังสือระดับมหาวิทยาลัย หนังสือเด็ก อย่าง McGraw Hill, Pearson นี่ผลิตหนังสือหลากหลายรูปแบบมาก  

อย่างวิชาคณิตศาสตร์ของประเทศสิงคโปร์ หนังสือเรียนเขาจะชัดเจนเลยว่า ต้องการจะขัดเกลาคนของเขาไปทางไหน และจากประสบการณ์ที่อ่านดูก็จะเห็นเลยว่า ขนาดระดับชั้นเดียวกัน แต่หนังสือเรียนของประเทศชั้นนำแต่ละประเทศเขามุ่งเป้าหมายที่แตกต่างกัน อันนี้แหละที่เรียกว่า ความหลากหลาย เช่น ถ้าคุณเรียนด้วยแบบเรียนนี้ แสดงว่า แผนการเรียนคุณมุ่งเน้นให้เป็นวิศวกรถ้าอันนี้มุ่งเน้นให้เป็นนักบัญชี

อีกด้านหนึ่ง เด็กไทยเรียนเยอะกว่าเขานะตามหลักสูตร ซึ่งหลักสูตรเราออกแบบมาดีพอสมควร อาจจะเรียกว่าดีมากเกินไปด้วยซ้ำเพราะใส่อะไรเยอะแยะไปหมด 60-70 มาตรฐาน แต่หนังสือและการจัดการเรียนการสอนของเรามันไม่ได้ดีตาม ก็เปลี่ยนคำพูดกันมาเรื่อย STEM, STEAM, PISA, Active learning หรือแม้แต่ฐานสมรรถนะ (Competency Base Learning) 

อีกอย่างหนึ่งคือ ประเทศฝรั่งเขายังคงให้ความสำคัญและความใส่ใจกับแหล่งเรียนรู้ อย่างห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ 

ทุกประเทศจริงจังเรื่องการศึกษา ซึ่งแบบเรียนก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่เขาจริงจังมาก เพราะมันขัดเกลาคนของเขา แต่ก็นั่นแหละไม่ได้บอกว่าประเทศนอกเขาดีทั้งหมด แต่มันย่อมดีกว่าไม่ทำอะไรเลย หรือพายเรือวนในอ่าง

ไม่แปะป้าย ตีตราแต่เลือกที่จะเคารพซึ่งกันและกัน

ที่อยากให้โละทิ้งก็พูดไปมากแล้ว ขอเสนอที่อยากให้เพิ่มแล้วกัน

หนึ่ง เพิ่มความเป็นคนให้มากขึ้น ไม่มีการตีตรา แปะป้าย บูลลี่ในทุกตัวบท แสดงออกอย่างชัดเจนให้ได้ว่าความแตกต่างหลากหลายควรได้รับการเคารพ 

เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกับศิลปะแห่งการเขียน คิดแล้วจึงเขียน แต่ก็นั่นแหละมีปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ๆ

สอง เพิ่มองค์ความรู้ที่ไม่แบน เช่น อ่านวรรณกรรมก็ต้องสามารถลงลึกได้ ศิลปะต้องเป็นพื้นที่สุนทรียภาพที่เสรีและสื่อสารความรู้สึกที่ไม่จำกัด ประเด็นเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี การยินยอม และประเด็นร่วมสมัยต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนใช้ชีวิตในทักษะศตวรรษที่ 21 แต่เอาให้ การเรียนรู้ไม่ทำให้ประชากรกลายเป็นคนที่พร้อมจะเชื่อทุกอย่างแบบบริสุทธิ์ใจ

ทุกอย่างจะดีขึ้นถ้าช่วยกันหันมาเหลียวแลแบบเรียนไทย

ก็อยากให้ทุกคนหันมาเหลียวแลหนังสือเรียนกันมากขึ้นกว่านี้ มาช่วยกันทำงาน ที่ไม่ใช่เพียงแต่จะโละทิ้งเพียงอย่างเดียว 

คนส่วนใหญ่มองว่าการศึกษาในประเทศนี้ ต้องทิ้งอย่างเดียว รื้อทั้งระบบ บางคนก็พูดว่า ปฏิรูปการศึกษา บางคนก็พูดว่า เชิงรุก แต่ในเมื่อทุกคนโละทิ้ง เปลี่ยนใหม่ โดยไม่เฉลียวใจถึงพลังวาทกรรมที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ไม่เข้าใจกลไกที่ขยับทีมันจะกระทบไปหมด ซึ่งพอกระทบก็แก้ไม่ได้เลยไม่แก้ แบบนี้มันก็ยากที่จะดีขึ้น 

คนช่วยกันสู้มันน้อยเกินไป ทั้งที่เด็กจำนวนมากต้องรับสารแบบเดิมติดกันกี่ปีแล้ว เช่น คนที่อยู่บนดอย คนที่อาศัยอยู่ชายแดนที่ไม่สามารถเลือกหรือเข้าถึงการศึกษาเหมือนคนในเมืองได้  ดังนั้นต้องมีคนมากกว่านี้ ต้องวิพากษ์กันมากกว่านี้ และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ถึงรากถึงโคนทุกอย่างจึงจะขยับ

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณอาจารย์ธนัชชนม์ ธนาธิปปริพัฒน์ อาจารย์สาขาวิชา รัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยชุมชนตาก ส่วนราชการในสังกัดสถาบันวิทยาลัยชุมชน กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ด้วยนะคะสำหรับการพูดคุยและให้ข้อมูลกับทางเว็บไซต์ Dek-D ในครั้งนี้ ชาวเด็กดีคนไหนมีความคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นดังกล่าวก็อย่าลืมมาพูดคุยแชร์กันได้นะคะ 

พี่เอย
พี่เอย - Columnist คอลัมนิสต์ผู้หลงรักการกิน และอินซีรีส์เกาหลีมากถึงมากที่สุด

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น