Teen Coach EP.69 : Toxic Productivity เมื่อชีวิตติดหล่มความขยัน

Spoil

  • ค่านิยมของสังคมที่หล่อหลอมให้เราต้องขยัน ต้องเก่ง ไม่งั้นเราจะตามใครไม่ทัน
  • Toxic Productivity ความต้องการทำงานหรือทำตัวโปรดัคทีฟที่มากเกินไป จนไม่เกิดประสิทธิภาพ
  • ร่างกายคนเราไม่ใช่เครื่องจักร สามารถเหนื่อยได้ พักได้ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด

 

หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับประโยคที่บอกว่าใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อย่าอยู่เฉยๆ หาอะไรทำ หาความรู้เพิ่มเติม หรือแม้แต่ประโยคไลฟ์โค้ชที่กล่าวว่า นอกจากทำงานประจำ หรือเรียนหนังสือ ก็ควรจะหาอะไรอย่างอื่นทำเพื่อให้ตัวเองรวยขึ้น หรือประสบความสำเร็จมากขึ้น  อีกทั้งยังถูกกดดันจากสภาพแวดล้อม การที่เรารู้สึกผิดเมื่ออยู่เฉยๆ ต้องพยายามมากขึ้นเพื่อที่จะถึงเป้าหมาย จากสภาพแวดล้อมและค่านิยมของสังคมที่หล่อหลอมให้เราต้องขยัน ต้องเก่ง เมื่อเราหยุดในขณะที่คนอื่นกำลังทำงาน จะทำให้เราช้าไปอีกสเต็ป  รู้สึกเหมือนจะตามคนอื่นไม่ทัน 

เราเคยรู้สึกไหมว่า เราก็เป็นเพียงคนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งในสังคม ถูกรายล้อมไปด้วยคนเก่ง ๆ เราแทบจะไม่มีที่ยืนในเมื่อสังคม รอบตัวให้พื้นที่กับคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เรารู้สึกแย่ ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง มองว่าตัวเองไม่เก่ง ขาดความมั่นใจ หรือกลายเป็นคนล้มเหลวไปเลย ทั้งที่เป้าหมายของแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน เราไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งคนเหล่านี้ก็ไม่ผิด หากเขาจะภูมิใจกับความสำเร็จของตนเอง แต่สิ่งเหล่านี้ก็สามารถกลายเป็น “กับดัก” ให้คนติดหล่ม 

ปรากฏการณ์นี้เราเรียกว่า ‘Toxic Productivity’ หมายถึง ความต้องการที่จะทำงานหรือทำตัวโปรดัคทีฟ ซึ่งความพยายามดังกล่าวมีมากเกินไป จนไม่เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายคล้ายๆ กับ ‘workaholic’ หมายถึงการเสพติดการทำงานมากเกินไป อย่างที่เรารู้กัน การที่เราพยายามมากเกินไปจนเกิดการเสพติดก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เปรียบได้กับการโฟกัสที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ หากเราไม่ใส่ใจสภาพร่างกายหรือจิตใจของเรา แล้วทำงานหนักจนเกินขีดจำกัดที่จะรับไหว มันก็อาจจะทำให้เราล้า และทำงานออกมาอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

ถ้าหากงานที่ต้องทำมันมีเยอะเกินไป แต่เรารู้สึกว่าเราไม่พอ หยุดไม่ได้ เราอยากที่จะหาความรู้ใส่ตัว ฝึกสกิล เรียนเพิ่มเติม เรียนภาษาที่ 3 4 หรือ 5 เพื่อให้เราเก่งและสามารถแข่งขันกับคนอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมหนึ่งที่ก่อให้เกิด Toxic Productivity ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากความกดดันจากคนรอบข้าง ความกดดันในสังคม การรับรู้แต่ด้านที่ทุกคนประสบความสำเร็จ 

จากการสำรวจพบว่านักเรียนในยุคปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะแสดงลักษณะที่เสพติดความสมบูรณ์แบบ (perfectionism) เพื่อที่จะเป็นไปตามความคาดหวังของสังคม โดยมองว่าเป็นการแข่งขันกับผู้อื่น เพื่อที่จะได้รับการยอมรับ และเป็นส่วนหนึ่งของคนในสังคม ในทางกลับกัน ความสมบูรณ์แบบที่ไม่ตรงตามมาตรฐานของสังคม ก็จะถูกรับรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไร้ค่า และด้วยเหตุผลนี้ ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สุขภาพจิตของคนในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะแย่ลง มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวลมากขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักๆ เกิดจากการที่เรารับรู้ว่าตัวเราไม่ตรงกับความคาดหวังของสังคม และล้มเหลวนั่นเอง 

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบว่าคนในเจเนอร์ชั่น Millennial หรือที่เราเรียกว่า Generation Y มีความเครียดและวิตกกังวลที่จะประสบความสำเร็จสูงมาก ราวๆ 67% เมื่อเทียบกับ Generation X และ Boomers โดยที่ความเครียดมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นในอนาคต โดยคนส่วนใหญ่มักจะตอบว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ ทั้งที่ตนเองอายุยังน้อย ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมของสังคมในยุคปัจจุบันนั่นเอง

นอกจากนี้ สังคมก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนส่วนใหญ่กดดันตัวเอง  เราอยู่ในยุคที่ผู้คนให้คุณค่ากับความสำเร็จ เชิดชูความสำเร็จที่เป็นเหมือนกับดักให้กับคนในแต่ละช่วงวัย เช่น อายุเท่านี้จะต้องมีบ้าน มีรถ เติบโตในหน้าที่การงาน เรียนหนังสือเก่งๆ สอบติดโรงเรียนดัง รวมไปถึง studygram ต่างๆ ก็อาจจะทำให้ผู้ที่พบเห็นรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอ ไม่ได้รับการยอมรับเหมือนกับคนอื่น ๆ เราเห็นผู้คนแชร์ความสำเร็จลงบนโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ยูทูบ การซื้อบ้าน ซื้อรถ การประสบความสำเร็จ ดูเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ  เราเห็นยูทูบเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ คนรอบตัวโพสต์ความสำเร็จลงบนโซเชียล เปิดเข้าไปก็มักจะเห็นคนแชร์ชีวิตในรูปแบบนั้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ และไม่ใช่ทุกคนที่มีเป้าหมายตามบรรทัดฐานของสังคม 

แล้วควรรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร ?

สิ่งสำคัญคือการที่ควรตระหนักไว้เสมอ ร่างกายของคนเราไม่ใช่เครื่องจักร เราเป็นเพียงมนุษย์ ที่สามารถมีโมเมนต์ที่เหนื่อยล้าได้ แม้ว่าจะทำงานหนัก การพักผ่อนไม่ใช่เรื่องที่ผิด เราไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกแย่เมื่อเราต้องการพัก การทำตัว productive ตลอดเวลา ก็เป็นสิ่งที่จะทำร้ายเราในทางอ้อมได้เหมือนกัน รวมไปถึงการลดความคาดหวัง เส้นทางของความสำเร็จแตกต่างไปในแต่ละบุคคล และเป้าหมายของแต่ละคนก็แตกต่างกัน ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนคนอื่น และเราไม่สามารถไปตัดสินคนอื่นได้ว่าเขาล้มเหลว บางทีความสำเร็จของแต่ละคนก็มีคำนิยามที่แตกต่างกันไป และนอกจากนี้คือการเสพสื่ออย่างมีวิจารณญาณ การเล่นโซเชียลมีเดียมากๆ ทำให้เรายิ่งรู้สึกกดดัน เห็นคนรอบตัวโพสต์ถึงความสำเร็จของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกมากมายรอบตัวเราที่ไม่ได้โพสต์  ซึ่งมันก็ไม่แปลกที่เราจะรู้สึกกดดัน เราอาจจะต้องสำรวจว่าสาเหตุของความเครียดของเราเกิดจากอะไร และหาวิธีรับมือที่เหมาะสมไม่ให้ตัวเองกดดันจนเกินไป จะเป็นการปล่อยวาง ลดความคาดหวัง หรือจะพุ่งชนแบบที่ตัวเองจะไม่สบายใจ

คิดจะพัก ชาว Dek-D คิดถึงอะไรกันบ้าง? มาคอมเมนต์คุยกัน

 

รายการอ้างอิงhttps://thriveworks.com/https://www.inc.com/
โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น