งบน้อยก็อร่อยได้! พาไปส่อง ‘Kyushoku’ อาหารกลางวันในโรงเรียนญี่ปุ่น คุณภาพดีได้ในราคาประหยัด

こんにちは ค่ะชาว Dek-D ทุกคน ช่วงนี้น้องๆ น่าจะได้เห็นข่าวนโยบายเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนไทยกันแล้ว และพี่ก็เชื่อว่าน้องๆ หลายคนคงคาดหวังกับมื้ออาหารที่มีคุณภาพมากขึ้นใช่มั้ยคะ  

น้องๆ รู้มั้ยคะว่าหลายประเทศเค้าจริงจังกับเรื่องอาหารการกินของนักเรียนมากกก ถึงขั้นออกกฎหมายเพื่อให้เด็กๆ มั่นใจว่าจะได้ทานอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ และคุ้มค่ากับงบประมาณ วันนี้พี่กระถินจะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘Kyushoku’ (給食) หรือมื้อเที่ยงของนักเรียนใน ‘ประเทศญี่ปุ่น’ ที่ใครๆ ต่างยกนิ้วให้เป็นอาหารโรงเรียนที่มีคุณภาพดีที่สุด! กว่าจะกลายเป็นแต่ละมื้อของโรงเรียนญี่ปุ่น เค้ามีเบื้องหลังอย่างไรบ้างนะ ไปดูกันเลยค่า~

 

ขอเกริ่นก่อนนะคะว่าที่ประเทศญี่ปุ่น โรงเรียนรัฐบาลระดับประถมจนถึงมัธยมต้นเกือบทุกแห่งจะมี Kyushoku ให้นักเรียนค่ะ ซึ่งในแต่ละมื้อประกอบไปด้วยข้าว (หรืออาหารประเภทเส้น) กับข้าว 1-2 อย่าง และนมจืด บางครั้งจะมีของหวานหรือผลไม้ตามฤดูกาลด้วย~

นอกจากหน้าตาที่น่าทานและสารอาหารที่ครบถ้วนแล้ว ในอาหารหนึ่งมื้อยังสะท้อนแนวคิดของชาวญี่ปุ่น พร้อมกับสอดแทรกข้อคิดให้เด็กๆ ไปในตัว ฟังแค่นี้ก็น่าสนใจแล้วใช่ไหมคะ ถ้าอยากรู้มากกว่านี้ก็ตามพี่กระถินไปอ่านต่อข้างล่างเลยค่า

Kyushoku มีที่มาจากไหน?

Photo Credit: english.kyodonews.net
Photo Credit: english.kyodonews.net

ต้นกำเนิดของ Kyushoku ต้องย้อนกลับไปไกลถึงปี ค.ศ. 1889 เลยค่ะ มีโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในจังหวัดยามางาตะเริ่มทำอาหารกลางวันแจกเด็กนักเรียน เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่เด็กที่มีฐานะยากจนให้มาโรงเรียนกันเยอะๆ โดยจะเป็นเมนูง่ายๆ อย่างข้าวปั้น ปลาย่าง ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารก็ได้รับจากพระและชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง

ต่อมาในช่วง 1920s รัฐบาลญี่ปุ่นก็เริ่มเข้ามาสนับสนุนระบบ Kyushoku และจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนนำไปใช้ทำอาหารแจกจ่ายให้นักเรียน แต่น่าเสียดายที่นโยบายดังกล่าวต้องชะงักเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น และเมื่อสงครามสิ้นสุด ประเทศก็เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารอย่างหนัก จนเด็กเกิดภาวะทุพโภชนาการ (ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ) กลุ่มผู้ปกครองจึงออกมาผลักดันให้รัฐสานต่อระบบ Kyushoku อีกครั้ง

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1945 ประเทศญี่ปุ่นก็ออก ‘กฎหมายอาหารกลางวันในโรงเรียน’ และมีผลบังคับใช้ในโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศในที่สุดค่ะ

อาหารกลางวันที่ใส่ใจทุกขั้นตอน

Photo CreditL Freepik
Photo CreditL Freepik

ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างญี่ปุ่นแล้ว กว่าจะได้ Kyushoku หนึ่งมื้อต้องพิถีพิถันตั้งแต่การวางแผนจนถึงการเสิร์ฟเลยนะคะ  ทุกโรงเรียนจะมีนักโภชนาการที่คอยวางแผนเมนูประจำวัน นอกจากสารอาหารต้องครบ เขายังเตรียมการล่วงหน้าเป็นเดือนๆ โดยที่เมนูแต่ละเดือนจะไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เด็กๆ ได้กินอาหารหลากหลาย รวมถึงรู้ล่วงหน้าว่ามื้อเที่ยงวันไหนมีวัตถุดิบที่ตัวเองแพ้ ทางโรงเรียนก็จะเตรียมอาหารแยกไว้ให้ 

และอีกกิมมิกน่าสนใจคือโรงเรียนจะเน้นใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นเป็นหลัก ทั้งเป็นการสนับสนุนเกษตรกร และสอนให้นักเรียนรู้จักวัตถุดิบขึ้นชื่อประจำถิ่นและผักผลไม้ประจำฤดูกาลไปในตัวด้วย

Photo credit: https://cookbiz.jp/soken/news/kyusyoku_koushien2017/
Photo credit: https://cookbiz.jp/soken/news/kyusyoku_koushien2017/

บางโรงเรียนมีเมนู Kyushoku ที่ทำให้เข้ากับเทศกาลในแต่ละเดือนด้วยนะคะ เช่น เดือนกุมภาพันธ์มีเทศกาลเซ็ตสึบุน (เทศกาลปาถั่วเพื่อขับไล่ยักษ์ร้าย) ดังนั้นเมนูอาหารก็จะรังสรรค์โดยใช้ถั่วเป็นวัตถุดิบหลัก หรือตกแต่งเป็นรูปยักษ์แบบในรูป // น่ารักจนกินไม่ลงเลย~ ^^ 

Note: แม้ว่า Kyushoku จะไม่ใช่อาหารกลางวันฟรี แต่รัฐบาลญี่ปุ่นมีงบประมาณสนับสนุนให้ตลอด ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองจึงตกอยู่ที่ประมาณ 250 เยน (68.05 บาท*) ต่อมื้อ ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าครองชีพแล้วก็ถือว่าไม่ได้แพงเลย สบายใจได้เลยว่าเด็กๆ ทุกคนจะได้กินอาหารที่มีประโยชน์ในราคาย่อมเยาค่ะ
 

*อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565

บทเรียนจากอาหารหนึ่งมื้อ

นอกจากเรื่องเมนูอาหารสุดพิถีพิถันแล้ว อีกความน่าสนใจของระบบ Kyushoku คือขั้นตอนการเสิร์ฟอาหาร ที่ญี่ปุ่นจะไม่มีครูหรือพนักงานมาตักข้าวให้ เพราะหน้าที่นั้นเป็นของนักเรียนเองค่ะ

เมื่อถึงคาบพักเที่ยง นักเรียนจะผลัดกันตักอาหารให้เพื่อนร่วมห้อง แล้วรอกินพร้อมกันทุกคน กินเสร็จก็ช่วยกันเก็บกวาดห้องเรียนให้สะอาดก่อนออกไปแปรงฟัน ซึ่งวิธีนี้ไม่เพียงช่วยฝึกเรื่องความสะอาด ความรับผิดชอบและใส่ใจต่อส่วนรวม แต่ยังช่วยให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมห้องมากขึ้นด้วยนะคะ

สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย อย่างนักเรียน ม.ต้น ของโรงเรียนบางแห่ง อาจมีหน้าที่เพิ่มคือช่วยเตรียมวัตถุดิบอย่างผักหรือถั่วค่ะ ถึงจะเป็นงานง่ายๆ แต่สิ่งที่กิจกรรมนี้ต้องการคือให้เด็กๆ ตระหนักถึงคนที่อยู่เบื้องหลังอาหารในแต่ละมื้อ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ชาวนา พ่อครัว-แม่ครัว รวมถึงวัตถุดิบที่สละตัวเองมาเป็นส่วนประกอบของอาหารค่ะ


Note: แนวคิดดังกล่าวยังแฝงอยู่ในประโยคที่ชาวญี่ปุ่นพูดก่อนและหลังกินอาหารด้วยนะคะ

 

  • Itadakimasu (いただきます) ไว้พูดก่อนกินอาหาร มีความหมายว่า ‘จะกินแล้วนะคะ/ครับ’ และมีอีกความหมายคือ ‘ขอรับ (อาหารมื้อนี้) ไว้’ เป็นการรำลึกถึงคนที่ทำอาหารมื้อนี้ รวมถึงทุกชีวิตที่กลายมาเป็นอาหารให้เรา
  • Gochisousama Deshita (ごちそうさまでした) พูดหลังกินอาหารเสร็จ มีความหมายว่า ‘ขอบคุณสำหรับอาหารค่ะ/ครับ’

กินให้อิ่ม เติบโตให้เต็มที่ ตามหลัก ‘Shokuiku’

Photo Credit: Freepik
Photo Credit: Freepik

อีกสิ่งที่แฝงอยู่ในมื้อเที่ยง Kyushoku คือปรัชญา ‘Shokuiku’ (食育) แปลว่า ‘Food education’ หรือการศึกษาเรื่องอาหารนั่นเองค่ะ แนวคิดนี้เชื่อว่าสุขภาพกายและใจที่ดีเริ่มจากการกินอย่างเหมาะสม มีหลักการทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้

  1. กินอาหารให้พออิ่ม
  2. เน้นวัตถุดิบที่ไม่ผ่านการแปรรูป
  3. กินให้หลากหลายในหนึ่งมื้อ
  4. ใช้เวลากินข้าวร่วมกับคนอื่น

บอกเลยว่าคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับ Shokuiku มากกก ถึงขั้นบรรจุแนวคิดนี้ลงในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วยเลยค่ะ เช่น เรื่องหลักการกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ข้อดีของการกินอาหารตามฤดูกาล วิธีการอ่านฉลาก ฯลฯ  

สำหรับ Kyushoku ก็เปรียบเสมือนบทเรียนนอกตำรา สอนให้เด็กๆ มีทัศนคติในแง่ดีกับอาหารการกินตั้งแต่อายุยังน้อย เข้าใจวิธีการกินอย่างเหมาะสม และได้ใช้เวลาช่วงพักเที่ยงกับเพื่อนร่วมห้อง ทั้งหมดนี้เพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพกายและใจที่ดีในอนาคต และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ

Photo credit: https://gyao.yahoo.co.jp/store/title/146463
Photo credit: https://gyao.yahoo.co.jp/store/title/146463

Note: แน่นอนว่าประเทศแห่ง Soft power อย่างญี่ปุ่นก็ไม่พลาดที่จะหยิบเอา Kyushoku มาเป็นธีมของละครโทรทัศน์ด้วยค่ะ เช่นเรื่อง Oishii Kyushoku (2019) //แค่ดูทีเซอร์ก็หิวแล้ว!

すごい! เห็นได้ชัดเลยค่ะว่าประเทศเค้าละเอียดอ่อนกับเรื่องอาหารการกินมาก ตั้งใจเสิร์ฟมื้อหลักให้เด็กๆ สุขภาพดี มีแรงจูงใจมาโรงเรียน แถมฝึกความรับผิดชอบต่อตัวเองและส่วนรวมด้วย

แล้วอาหารกลางวันของโรงเรียนน้องๆ เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เหมือน Kyushoku ของญี่ปุ่นหรือเปล่า? // หรืออยากให้มื้อเที่ยงของโรงเรียนไทยเป็นแบบไหน ก็คอมเมนต์มาคุยกันได้เลย~ 

ส่องรูป & รีวิวเมนู Kyushoku


 

Source:https://www.youtube.com/watch?v=fze5s1SlqB8https://www.nhk.or.jp/dwc/food/articles/161.htmlhttps://blog.japanwondertravel.com/japanese-school-lunch-kyushoku-34128#toc2https://www.piece-of-japan.com/eating/full-course-meal/kyushoku.htmlhttps://blog.japanwondertravel.com/what-is-setsubun-22094https://www.borderlink.co.jp/magazine/744/https://jisho.org/word/%E9%A0%82%E3%81%8D%E3%81%BE%E3%81%99https://jisho.org/word/%E3%81%94%E9%A6%B3%E8%B5%B0%E6%A7%98%E3%81%A7%E3%81%97%E3%81%9Fhttps://www.healthline.com/nutrition/shokuiku#principleshttps://gyao.yahoo.co.jp/store/title/14646

 

Photo source:https://cookbiz.jp/soken/news/kyusyoku_koushien2017/https://pixabay.com/images/id-6511221/https://english.kyodonews.net/news/2018/01/3282f2258414-feature-american-scholar-films-documentary-on-japanese-school-lunches.htmlhttps://www.irasutoya.com/2014/12/blog-post_63.htmlhttps://www.piece-of-japan.com/images/eating/full-course-meal/setsubun-dish.jpghttps://www.irasutoya.com/2013/05/blog-post_3429.htmlhttps://gyao.yahoo.co.jp/store/title/146463
พี่กระถิน
พี่กระถิน - Columnist คนธรรมดาที่ชอบอ่านมังงะ ฟังเพลง วาดรูป และมองหาความพิเศษในชีวิตแต่ละวัน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

จงรัก 8 ม.ค. 66 04:10 น. 1

อูซก้าผัดกระเพราไก่

เป็นเมนูอาหารที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ระหว่างอาหารไทยกับโปแลนด์ ทำโดยคนไทยที่อาศัยอยู่ในโปแลยด์..เมื่อทำเสร็จออกมาแล้ว..หน้าตาดูน่ารับประทานมากๆ เลยค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=bXet5Xq2nC8&list=PLeNXn3Bii8AHjMa9QDWlsctYKw53JMQKd&index=2&t=7s

0
กำลังโหลด
จงรัก 8 ม.ค. 66 04:13 น. 2

บัตเตอร์นัตสควอช แกงบวช เมนูนี้ก็น่าสนใจ ทำโดยคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศโปแลนด์เช่นกันค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=16jtySZsG1Q&list=PLeNXn3Bii8AHjMa9QDWlsctYKw53JMQKd&index=12

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด