จากงานวิจัยพบว่า 95% ของคนเราจะโกหกอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์

สวัสดีค่ะชาว Dek-D.com ทุกคน วันนี้พี่ป่านจะมาพูดถึงเรื่อง ‘การโกหก’ เชื่อว่าใครทุกคนก็ต้องเคยโกหกกันบ้าง อาจจะโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ การโกหกไม่ได้มีแค่โกหกในเรื่องไม่ดีเท่านั้น แต่ยังคงมี ‘การโกหกสีขาว’ หรือ ‘White Lie’ ด้วย แต่การโกหกสีขาวคืออะไรกันนะ? มาดูกันเลย! 

จากงานวิจัยพบว่า ผู้คน 95% จะโกหกอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ เห็นแบบนี้แล้วก็อาจทำให้รู้สึกไม่ดีกันใช่ไหมละคะ แต่ว่าในจำนวน 95% ส่วนใหญ่นั้นเป็นเรื่องโกหกเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเรียกว่า ‘การโกหกสีขาว’ หรือ ‘White Lies’ เป็นการโกหกเพื่อรักษาน้ำใจของอีกฝ่าย โกหกเพื่อความสบายใจของอีกฝ่าย โกหกโดยมีเจตนาดี อย่างเช่น เวลาที่คุณพ่อหรือคุณแม่ทำอาหาร แล้วเรารู้สึกว่าไม่ชอบ ไม่อร่อย แต่ก็ยังโกหกออกไปว่า “ชอบมาก อร่อยจังเลย” นั้นก็เพื่อรักษาความรู้สึกของท่านที่อุตส่าห์ตั้งใจทำให้ หรือเวลามีคนทำอะไรที่ทำให้เราไม่สบายใจ แต่เราก็โกหกไปว่าเราโอเค ไม่เป็นไร

ภาพจาก freepik.com
ภาพจาก freepik.com

แรงจูงใจที่ทำให้คน ‘โกหกสีขาว’

  • ถนอมความรู้สึกของอีกคน เช่น เวลามีคนชวนไปดูหนังแล้วเขาถามว่าสนุกไหม แล้วเราบอกว่าสนุกทั้งที่ในใจเราอาจจะไม่ชอบ
  • ความกลัว กลัวว่าอีกคนจะไม่พอใจ กลัวว่าถ้าพูดความจริงออกไปแล้วจะถูกลงโทษ
  • ความแตกต่างของอำนาจ ผู้คนมักจะทำการโกหกสีขาวต่อคนที่มีอำนาจมากกว่า เช่น ลูกจ้างอาจบอกเจ้านายว่าโอเคที่ได้ทำงานดึกๆ แม้ว่าความจริงจะไม่อยากทำก็ตาม

แต่ถึงอย่างนั้น การโกหกก็ถือว่าเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเอง และการสร้างนิสัยที่ทำให้เคยชินกับการไม่พูดความรู้สึกที่แท้จริง แถมถ้าคนที่เราโกหกไปเขามารู้ทีหลัง ก็จะรู้สึกเสียใจกว่าบอกออกไปตรงๆ ตั้งแต่แรกอีกด้วย

หรือเวลาที่เพื่อนมีปัญหาทุกข์ใจ การโกหกว่า “ไม่เป็นไรหรอก ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอก” เพื่อปลอบใจทำให้อีกฝ่ายสบายใจขึ้นได้ก็จริง แต่ปัญหาก็อาจจะยังอยู่เหมือนเดิม และอาจเสียโอกาสในการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาและสถานการณ์ในอนาคตด้วย ดังนั้นการค่อยๆ พูด และช่วยกันหาวิธีการแก้ปัญหาจะดีกว่า

ภาพจาก freepik.com
ภาพจาก freepik.com

เลี่ยงการโกหกยังไงดีนะ?

สามารถบอกความจริงได้โดยไม่ต้องพูดทั้งหมด

ถ้าคนรู้จัก, เพื่อนๆ, หรือสมาชิกในครอบครัวถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่เราไม่อยากบอก เราก็อาจจะรู้สึกอยากโกหกให้มันจบๆ ไป จะได้เลิกถามกันสักที แต่บางทีการโกหกแบบนี้ก็อาจจะทำให้โดนถามมากกว่าเดิม แล้วเราก็ต้องโกหกต่อไปเรื่อยๆ แทนที่จะเป็นแบบนั้น ลองปฏิเสธไปแบบหนักแน่นสักหน่อย หรือเล่าแบบไม่ลงรายละเอียดมาก และบอกตรงๆ ว่าไม่อยากพูดไปมากกว่านี้แล้ว พวกเขาอาจจะเข้าใจและเลิกถามไปเองก็ได้นะ

ยอมรับความจริง

ความไม่สบายใจกับความเป็นจริงอาจนำไปสู่การโกหก การยอมรับความจริงและพูดออกไปตรงๆ  โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นจะมองยังไงนั้นดีกว่าโกหกแล้วโดนจับได้ทีหลัง ถึงแม้จะเป็นการโกหกที่ไม่ได้ร้ายแรงมากก็ตาม

ถามตัวเองว่าจำเป็นต้องโกหกจริงๆ เหรอ

ในบางสถานการณ์ การโกหกไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น แต่การบอกความจริงออกไปเลยก็อาจจะดูใจร้ายเกินไป แบบนี้ก็ต้องมีศิลปะในการพูด หรือมีวิธีหลีกเลี่ยงการพูดเรื่องที่จะทำให้เขาเจ็บปวดโดยที่ไม่ต้องโกหก เช่น เวลาเพื่อนในช่วยเลือกชุดแล้วถามว่า “ตัวที่ใส่อยู่ดูดีมั้ย” แล้วตัวเราคิดว่าชุดไม่ได้เข้ากับเพื่อน เราก็อาจจะบอกให้เพื่อนลองชุดอื่นเผื่อเลือกดูด้วย แทนที่จะโกหกไปเลยว่า “เข้ากับเพื่อนมากๆ” จนเพื่อนซื้อชุดนั้นทันที

 

สุดท้ายแล้ว ถึงแม้การโกหกสีขาวจะไม่ได้มีอะไรร้ายแรงเท่าการโกหกที่ไม่ดี แต่การพูดคุยกันตรงๆ ถึงความรู้สึกของตัวเองนั้นดีกว่าที่จะหลีกเลี่ยงการบอกความจริง ทำให้อึดอัดใจ ต้องสร้างเรื่องโกหกไปเรื่อยๆ และสุดท้ายตัวเราก็อาจจะเป็นคนที่รับผลที่ตามมาไม่ไหวเอง 

 

ข้อมูลอ้างอิงhttps://examples.yourdictionary.com/https://www.healthline.com/https://www.psychologytoday.com/
พี่ป่าน
พี่ป่าน - Columnist คอลัมนิสต์มือใหม่ที่ชอบดูอนิเมะและฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น