ชวนเล่น!  Powerpoint Karaoke เกมฝึกพูดพรีเซนต์เพิ่มความมั่นใจและฝึกการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

น้องๆ ชาว Dek-D เคยประสบปัญหา “ไม่กล้าพูดหน้าชั้นเรียนกันมั้ยคะ” พอยืนอยู่ตรงหน้าห้อง ปากก็สั่นจนเสียงแทบไม่ได้ยิน เนื้อหาในหัวที่เตรียมมาก็โล่งไปหมด พี่ก็เคยเป็นเหมือนกัน แต่ยังไงก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้พี่อยากจะแนะนำเกม “Powerpoint Karaoke” เกมฝึกพรีเซนต์ที่ใครก็เล่นได้ ตามมาเลยค่ะ

ตัวอย่างสไลด์เกม powerpoint karaoke
ตัวอย่างสไลด์เกม powerpoint karaoke

Powerpoint Karaoke คืออะไร?

Powerpoint Karaoke คือ เกมที่ฝึกพูดพรีเซนต์สิ่งต่างๆ ในสไลด์โดยที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยที่ผู้พูดสามารถพูดได้อิสระตามรูปที่สไลด์ขึ้นให้ตามหัวข้อต่างๆ แต่ละคน แต่ละรอบจะได้หัวข้อที่ไม่เหมือนกัน น้องๆ ต้องด้นสด ใช้ไหวพริบ เพื่อให้การพรีเซนต์ไหลลื่น และสอดคล้องกับภาพบนหน้าจอด้วย

เกมนี้มีที่มาอย่างไร?

เกมนี้ถูกสร้างตั้งแต่ในปี 1995 โดยคณะอิมโพรฟที่รู้จักกันในชื่อ Senseless Death และเริ่มได้รับความนิยมในหมู่นักศึกษาในปี 2005 ในเมืองคาลส์รูเออในประเทศเยอรมันตอนนั้นนักศึกษาวิศวกรรมจะดาวน์โหลดชุดสไลด์แบบสุ่ม และนำเสนอในงานปาร์ตี้แห่งหนึ่งก็ทำให้เพื่อนๆ ร่วมคณะหลายๆ คนสนใจ จนทำให้เป็นคนดังประจำเมืองก็ว่าได้ ต่อมาเกมนี้ก็ได้รับความนิยมในหมู่นักเขียน และศิลปินในเบอร์ลิน โดยที่สมัยก่อนเกมนี้ไม่ได้ชื่อคาราโอเกะแบบปัจจุบัน แต่ใช้ชื่อเกมว่า "That Talk's Today"

เกมนี้ได้ทักษะอะไรบ้าง?

มี 4 ทักษะการแก้ไขเฉพาะหน้าที่น้องๆ จะได้จากการเล่นเกมนี้ ได้แก่

  • ทักษะการเชื่อมโยงข้อมูล พยายามจินตนาการ และเชื่อมโยงประสบการณ์ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย โดยหาประสบการณ์การร่วมระหว่างตัวเรา และผู้ฟัง
  • ทักษะการพูดในที่สาธารณะ การฝึกฝนบ่อยๆ โดยเริ่มจากกลุ่มคนน้อยๆ เพื่อนสนิทตัวเอง หรือการพูดคุยผ่านทางออนไลน์ ไปถึงการพูดที่สาธารณะที่มีผู้ฟัง 100 คน สามารถทำได้ถ้าเรามั่นใจ และฝึกฝนอย่างเพียงพอ
  • ช่วยเพิ่มพูนความรู้ในหมวดหมู่ต่างๆ ให้หลากหลายขึ้น ไม่เพียงแค่หัวข้อที่เราสนใจเท่านั้น แต่หัวข้องาน การเงิน สิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ อาจจะกลายเป็นสไลด์ของน้องๆ ก็ได้ ดังนั้นหลายคนที่ชื่นชอบเกมนี้ก็พยายามเอาความรู้ แนวคิดใหม่มาเสนอมากขึ้น
  • ทักษะการตอบโต้ และสังเกตผู้ชม ไม่ใช่แค่การพูดเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้เราพรีเซนต์เก่งได้ แต่ต้องคอยสังเกตรีแอคของผู้ชมด้วยว่า พวกเขารู้สึกยังไง เพื่อที่จะได้รู้ว่า ควรพูดขยายความต่อ หรือไปหัวข้อถัดไปเลย
www.pexels.com
www.pexels.com

มาเล่นกันเลย

1. จับฉลากหัวข้อ

ให้ผู้พูดจับฉลากหัวข้อเรื่องขึ้นมา 1 เรื่อง โดยจะพูดเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ประมาณ 3-5 นาที โดยที่มีข้อกำหนดว่า “เรื่องที่กำลังเล่านั้น ต้องเชื่อมโยงกับภาพใน Powerpoint ที่อยู่ข้างหลังเรา ทั้ง 5 ภาพด้วย เป็นรูปที่มาจากการสุ่ม ห้ามเตรียมมาก่อน

แนะนำว่า

  • สลับกันทำสไลด์ระหว่างผู้พูด และผู้ทำสไลด์ เช่น สัปดาห์แรก เอทำ 3 หัวข้อ บีและซีเป็นคนพูด
  • สไลด์สำเร็จรูปของเกมนี้ก็มีเหมือนกัน แต่มีเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น จากเว็บไซต์นี้ : https://slidelizard.com/en/blog/powerpoint-karaoke-rules-and-free-download หรือสุ่มรูปแบบสไลด์ใน www.canva.com ก็ได้

2. เริ่มพูดหัวข้อที่จับได้

การเริ่มต้นคือทุกอย่าง เราจึงต้องพูดเริ่มในเรื่องที่สามารถเล่าต่อได้ โดยส่วนมากผู้พูดจะเล่าถึงประสบการณ์ตัวเอง เช่น สไลด์ขึ้นรูปภาพ ‘เด็กวิ่งไล่กัน’ เราก็ต้องเล่าเรื่องจากภาพนั้น    

สิ่งที่คิดในหัว

ภาพเด็กเล่นกัน > เด็กๆ > กระโดด > การแข่งขัน > มิตรภาพ > กีฬา > ธรรมชาติ > ความสนุก > และอื่นๆ

คนแรก บอกว่า “ตอนเด็กสิ่งที่เราชอบมากที่สุดคือการได้เล่นวิ่งไล่กับเพื่อนๆ ตอนนั้นเล่นกันทุกวัน ไม่เบื่อเลย แถวนั้นมีป่าอยู่ก็มักจะวิ่งเล่นใกล้ๆ ไม่ลึกมาก เพราะจะได้ยินเสียงแม่เรียกเข้าบ้านได้ทันเวลา”

คนที่สอง บอกว่า “เด็กหลายคนชอบวิ่งเล่นเข้าไปเล่นกันในป่า แต่ตอนฉันเด็กๆ ชอบเล่นทำอาหารอยู่ดีบ้านมากกว่า เพราะปลอดภัย ไม่ต้องกลัว และไม่ถูกแม่ดุด้วย

คนที่สาม บอกว่า “สมัยก่อนยังไม่มีสมาร์ทโฟนแบบทุกวันนี้ เด็กๆ ในสมัยนั้นมักจะเล่นในป่าวิ่งไล่กัน กระโดดยาง ปืนต้นไม้ เราเล่นได้ทุกอย่างโดยไม่จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตแบบทุกวันนี้ก็อยู่ได้”

กิจกรรมนี้ช่วยสร้างให้เราขยายมุมมองต่อภาพๆ หนึ่งให้กว้างมากขึ้น ทั้งในแบบรูปธรรม และนามธรรม จะเห็นได้ว่าแต่ละคนพรีเซนต์ได้ต่างกัน แม้สไลด์จะอันเดียวกันก็ตาม แต่เพราะประสบการณ์ และความชอบที่ต่างกันเหล่านี้ เพราะคาดเดาไม่ได้นั่นเอง

www.pexels.com
www.pexels.com

3. เมื่อครบ 1 นาที จะต้องพูดสไลด์ต่อไปทันที 

เมื่อเวลาครบ 1 นาที ภาพบนจอจะเปลี่ยนไปทันที ผู้พูดต้องปรับคววามคิดให้ทัน ห้ามติดอยู่กับภาพเก่าเด็ดขาด และที่สำคัญเกมนี้ต้องพูดบรรยายแต่ละภาพให้ต่อเนื่องกันด้วย เช่น 

  • ภาพที่ 1 วันนี้ฉันไปกินแฮมเบอร์เกอร์ที่บ้านเพื่อน เพราะเป็นวันเกิดของคุณยายของเพื่อนฉันซึ่งจัดอยู่โรงแรมหรูแห่งหนึ่ง
  • ภาพที่ 2 แต่ความจริงกลายเป็นมา คุณยายไม่ใช่ยายแท้ๆ ของเพื่อน แต่ปิดบังความจริงมาตลอด เพราะรักเพื่อนของเราเหมือนลูกหลานของตัวเอง
  • ภาพที่ 3 คุณยายเพิ่งรู้ว่า หลานแท้ของตนเองคือใคร และคิดว่าจะแบ่งมรดกให้ด้วย
  • ภาพที่ 4 เป็นเงิน 10 ล้าน พร้อมที่ดิน 500 ไร่ โดยแบ่งให้ทั้งสองฝ่ายคนละเท่าๆ กัน
  • ภาพที่ 5 ฉันที่เพิ่งรู้ความจริงว่า ตัวเองเป็นหลานแท้ๆ เลยได้รับมรดกคนละครึ่งกับเพื่อน 

*แต่ละภาพ ถ้าสมมติผู้พูดพูดจบก่อน 1 นาทีสามารถกดเลื่อนสไลด์เองได้

เกณฑ์การตัดสิน

หนึ่งในวิธีที่จะตัดสินที่ได้รับความนิยมก็คือ เสียงปรบมือ หลังจากที่ผู้พูดแต่ละคนพรีเซนต์จบ หรือการเขียนหย่อนรายชื่อของผู้พูด เพื่อโหวตหาผู้ชนะก็นิยมทำเช่นกัน 

ตัดสินจากอะไร

  • ความมั่นใจ
  • ความไหลลื่น
  • การตอบสนองของผู้ชม

Tips

  • เริ่มจากการฝึกพูดหน้ากระจก คอยสังเกตสีหน้าตัวเองให้มีบุคลิกที่มั่นใจในตัวเองอยู่เสมอ
  • อัดเสียงขณะที่พูดว่า “เราพูดช้า หรือเร็วเกินไปมั้ย” “พูดควบกล้ำชัดมั้ย” และไม่ควรเสียงโมโนโทนทั้งการบรรยาย
  • ไม่ต้องกลัวพูดผิด พยายามพูดเรื่องที่เรามั่นใจ เรื่องที่เรามีประสบการณ์ร่วมมาก่อนก็ได้
  • ควรพูดพร้อมกับแสดงท่าทางประกอบด้วย เสียงดัง ฟังชัด และใช้คำพูดได้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชม
  • สังเกตรีแอคจากผู้ชม พยายามปรับคำพูดตามรีแอคว่า ควรเปลี่ยนสไลด์เลย หรือควรเสริมต่ออีกนิด วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่เล่นมาอย่างต่ำ 2-3 เดือน เพราะผู้เล่นใหม่จะกังวลกับรูปภาพแล้ว ถ้าเพิ่มความกังวลจากผู้ชม อาจจะท้อจนไม่อยากเล่นอีกได้

วันนี้น้องๆ ชาว Dek-D ได้รู้จักกับ PowerPoint Karaoke กันมากขึ้นแล้วว่า เกมนี้ช่วยให้น้องๆ สามารถพรีเซนต์หน้าห้อง หรือที่อื่นๆ ได้โดยไม่ต้องกลัวการพูดสาธารณะอีกต่อไป และยังช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพให้ดูดีขึ้นด้วย พี่เชื่อว่า ถ้าน้องได้ลองเล่นเกมนี้สักครั้ง น้องๆ จะติดใจจนกลายเป็นเกมโปรดในช่วงพักเที่ยงอีกเกมหนึ่งเลย

น้องๆ ชาว Dek-D คิดเห็นยังไงกันบ้างก็ช่วยคอมเมนต์กันข้างล่างได้เลยนะ

 

อ้างอิงข้อมูลจากhttps://www.powerpointkaraoke.com/how-to-playhttps://www.youtube.com/watch?v=Sd7Fg3wAd7Y&t=90shttps://slidelizard.com/en/blog/powerpoint-karaoke-rules-and-free-downlo
พี่เชอร์รี่
พี่เชอร์รี่ - Columnist อย่ากลัวผิดหวัง ถ้ายังไม่ลงมือทำ" คนที่มองหา passion จากสิ่งใหม่ๆ เสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น