‘กินไปด้วย ดูยูทูบไปด้วย’ ช่วงเวลาความสุขที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ!

Spoil

  •  ‘การกินไปด้วย ดูทีวีหรือยูทูบไปด้วย’ ช่วยกระตุ้นการหลั่งของ ‘โดพามีน (Dopamine)’
  • การที่เราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ดู อาจทำให้ ‘เผลอกินเยอะ’ โดยไม่รู้ตัว!
  • คนเราจะไม่กินอาหารในปริมาณมากเกินไป หากมื้อนั้นมีคนอื่นนั่งร่วมโต๊ะอยู่ด้วย

เคยเป็นกันหรือเปล่าคะ? กว่าจะได้เริ่มกินข้าวแต่ละมื้อ ต้องเสียเวลากับการเลื่อนหาคลิปวิดีโอในยูทูบ หรือกดรีโมททีวีเพื่อเลือกซีรีส์ที่ถูกใจให้เจอเสียก่อน ถึงจะเริ่มกินอาหารที่อยู่ตรงหน้าได้ พอยิ่งได้ดูอะไรที่ถูกใจ อาหารที่กินอยู่ก็เหมือนว่าจะมีรสชาติที่ถูกปากมากยิ่งขึ้น จนวางช้อนไม่ได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ทุกคนรู้ไหมคะ ช่วงเวลาแห่งความสุขแบบนี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ด้วยนะ!

ทำไมเราถึงชอบ ‘กินไปด้วย ดูยูทูบไปด้วย’ จังนะ?

ภาพจาก : www.freepik.com
ภาพจาก : www.freepik.com

นักจิตวิทยาจาก Cleveland Clinic ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง Susan Albers ได้กล่าวไว้ว่า คนมักจะใช้เวลา โดยเฉพาะวันหยุดสุขหรรษาไปกับการนั่งบนโซฟาตัวโปรด เหยียดขาให้สบายที่สุด และเปิดคอมพิวเตอร์หรือทีวี พร้อมกับรับประทานอาหารไปด้วย ซึ่งเวลานี้ก็เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของใครหลายคนเลยทีเดียว

รวมถึงนักโภชนาการบำบัดอย่าง Alissa Rumsey ก็ได้ออกมาเผยว่า บุคคลที่อยู่ในการดูแลของเธอเฝ้ารอที่จะได้นั่งดูทีวี และทานอาหารไปด้วยในทุกช่วงเวลาตอนเย็น เพราะพวกเขาคิดว่า นี่คือวิธีที่จะทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายได้ดีที่สุด อีกทั้งนักจิตวิทยาคลินิกที่ชื่อว่า Sophie Mort ก็ได้ย้ำอีกว่า ‘การกินไปด้วย ดูทีวีหรือยูทูบไปด้วย’ ช่วยกระตุ้นให้ ‘โดพามีน (Dopamine)’ ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขหลั่งออกมาได้จริง

‘กินไปด้วย ดูยูทูบไปด้วย’ ส่งผลเสียต่อสุขภาพยังไง?

แต่ใช่ว่าพฤติกรรมและช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ จะส่งผลแค่ด้านดีเสมอไป เนื่องจากกิจกรรมสองอย่างนี้ ควรแยกกันทำเป็นกิจลักษณะ การที่เรากินไปด้วย หาอะไรดูไปด้วย จะทำให้สิ่งนี้กลายเป็นนิสัยที่เราทำจนชิน และส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนี้

ภาพจาก : www.freepik.com
ภาพจาก : www.freepik.com

เผลอกินเยอะจนเกินไป

แน่นอนล่ะ ยิ่งถ้าได้เจอหนังหรือซีรีส์ที่ถูกใจตอนกินข้าวแล้ว จิตใจเราก็จะยิ่งจดจ่ออยู่กับหน้าจอ จนไม่ได้สนใจเลยว่าเรากำลังกินอะไรอยู่ หรือเผลอกินเยอะไปแค่ไหนแล้ว มหาวิทยาลัยเบอร์บิงแฮมได้ย้ำชัดข้อเท็จจริงนี้ ด้วยผลการศึกษาที่ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างที่นั่งกินอาหารหน้าทีวี มีพฤติกรรมการกินที่มากกว่าอีกกลุ่ม ซึ่งกินอาหารโดยปราศจากสิ่งล่อใจใด ๆ

นั่นเป็นเพราะว่า สมองคนเราจะต้องการเวลา 15-20 นาที เพื่อประมวลผลว่าตอนนี้เรากินจนอิ่มหรือยัง แต่พฤติกรรมการกินอาหารหน้าทีวีนี้ จะส่งผลให้สมองประมวลผลถึงปริมาณอาหารที่ได้รับเข้าไปได้ยากกว่าเดิม

เสี่ยงโรคอ้วน

ผลวิจัยจาก Obesity Reviews Journal แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมกินไปด้วย หาอะไรดูไปด้วย ทำให้ทั้งเด็กและวัยรุ่นมีความเสี่ยงสูงมากต่อการเป็นโรคอ้วนและน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน เพราะพฤติกรรมนี้จะกลายเป็นนิสัยติดตัวไปตลอด แถมผลวิจัยยังพบอีกด้วยว่า เด็กมากกว่า 80,000 คน และวัยรุ่นกว่า 75% ของผู้เข้าร่วมการวิจัยทั้งหมด มีภาวะโรคอ้วน เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวด้วย

ระบบเผาผลาญแย่ลง

เพราะการที่เรากินอาหารพร้อมกับการดูยูทูบหรือดูทีวี จะทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ช้าลง รวมถึงระบบการเผาผลาญไขมันก็ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากไม่มีการขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะเอาแต่นั่งอยู่กับที่ ไม่ยอมลุกเดินไปไหน และสุดท้ายระบบการเผาผลาญก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ

5 วิธีที่ช่วยลดพฤติกรรม ‘กินไปดูไป’

ภาพจาก : www.freepik.com
ภาพจาก : www.freepik.com

ดื่มน้ำก่อนมื้ออาหาร

หากเราชินกับพฤติกรรมนี้ และปฏิบัติจนติดเป็นนิสัยไปแล้ว การดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนมื้ออาหารสัก 30 นาที จะช่วยลดความหิวลงไปได้บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การดื่มน้ำก่อนมื้ออาการไม่ได้ถือเป็นวิธีการลดความอ้วน หรือลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วนแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นวิธีที่จะช่วยให้เราไม่รู้สึกหิวมากตอนกินอาหารจริง ๆ จนเผลอกินอาหารในปริมาณมากเกินไปแบบไม่รู้ตัว

เริ่มกินอาหาร ก่อนเปิดคอมพิวเตอร์หรือทีวี

วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายมาก ถ้าไม่อยากเผลอกินเยอะตอนที่กินไปด้วย หาอะไรดูไปด้วย ก็เริ่มกินอาหารก่อนเอื้อมมือไปหยิบรีโมททีวี หรือเปิดคอมพิวเตอร์จะดีกว่า เพราะการที่เราจดจ่ออยู่กับอาหาร โดยไม่มีสิ่งบันเทิงใด ๆ ดึงดูดความสนใจ จะทำให้เรากินอาหารอย่างมีสติ และรับรู้ถึงรสชาติ กลิ่น สี และองค์ประกอบของอาหารจานนั้นได้ดีมากยิ่งขึ้น

เปลี่ยนที่นั่งกินข้าวบ้าง

หากมุมกินข้าวของเรายังเป็นมุมเดิม ๆ หรือเป็นโซฟาที่นั่งสบายจนไม่อยากลุกตัวเดิม ก็ลองเปลี่ยนมุมไปนั่งกินข้าวตรงอื่นบ้าง พยายามอยู่ให้ห่างจากโซฟา โดยเฉพาะในห้องนั่งเล่นที่มีทีวี คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์ให้มากที่สุด

ภาพจาก : www.freepik.com
ภาพจาก : www.freepik.com

จำกัดเวลา

จำกัดเวลาในที่นี้ หมายถึงจำกัดทั้งเวลาของมื้ออาหาร และเวลาดูทีวีหรือยูทูบด้วย การจำกัดเวลาเช่นนี้ ถือเป็นการบังคับและสร้างระเบียบวินัยในตัวเองไปด้วย เพราะถึงแม้เราจะนั่งกินข้าวอย่างเดียว โดยไม่มีการดูทีวี หรือนั่งดูทีวีอย่างเดียว แบบไม่ได้กินข้าวไปด้วย แต่หากเราทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลานานเกินไป ก็จะกลายเป็นพฤติกรรมที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของเราได้เหมือนกัน

นั่งกินข้าวพร้อมเพื่อนหรือครอบครัว

   Susan Albers ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาแนะนำว่า การกินข้าวพร้อมเพื่อนหรือครอบครัว ถือเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เป็นช่วงเวลาที่เหมาะต่อการพูดคุยและสนทนากันเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีผลการวิจัยออกมารองรับด้วยว่า คนเราจะไม่มีพฤติกรรมกินอาหารในปริมาณมากเกินไป หากมื้อนั้นเป็นการกินอาหารที่มีคนอื่นนั่งร่วมโต๊ะอยู่ด้วย

   ถ้าหากใครมีพฤติกรรม ‘กินไปดูไป’ และปฏิบัติจนชิน แบบที่เรียกว่าเป็นนิสัยแล้ว ก็อย่าลืมนำวิธีข้างบนไปปรับใช้ และคำนึงถึงสุขภาพของตัวเองให้มากยิ่งขึ้นนะคะ เพราะแท้จริงแล้ว พฤติกรรมที่เราทำจนเคยชิน และคิดว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพแบบที่เราคาดไม่ถึงได้เหมือนกัน

ที่มา :https://www.wellandgood.comhttps://wexnermedical.osu.eduhttps://simona-hos.medium.comhttps://health.clevelandclinic.orghttps://www.fitwatch.comhttps://parenting.firstcry.com
พี่พิ้งค์
พี่พิ้งค์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น