ทำไมสอบ open book ที่เปิดหนังสือดูได้ ถึงได้คะแนนนิดเดียว

สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคนเคยสงสัยกันมั้ยว่า ทั้งๆ ที่เราสอบแบบ open book แล้วถึงมักได้คะแนนน้อยกว่าสอบแบบปกติ นั่นก็เพราะว่า หลายๆ วิชาที่ให้เปิดหนังสือได้มักจะเป็นการเขียนวิเคราะห์ต่างๆ ว่า เราคิดเห็นยังไงกันเรื่องนี้ หรือถึงแม้จะเป็นวิชาความจำก็ตาม แต่ก็มีเวลาจำกัดสั้นๆ จนเปิดหาคำตอบกันไม่ทันอยู่ดี แต่น้องๆ ไม่ต้องกังวลไปนะ วันนี้พี่มี 8 คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมาฝากกันค่ะ ไปดูกันเลย

www.pexels.com
www.pexels.com

การสอบแบบ Open Book อะไร

    การสอบแบบ open book คือการสอบที่น้องๆ สามารถนำหนังสือหรือเอกสารที่น้องๆ ใช้ในการเรียนเข้าไปในห้องสอบได้ ถ้าน้องๆ คนไหนยังไม่เคยสอบด้วยวิธีนี้ อาจจะคิดว่า แบบนี้ก็ง่ายเลย แค่เปิดดูคำตอบในห้องสอบก็ผ่านแล้ว แต่จริงๆ มันยากมาก เพราะอาจารย์จะออกข้อสอบแบบไม่ยั้ง และมักจะไม่ออกตรงตามหนังสือเป๊ะ แต่มักจะให้โจทย์แล้วให้เราคิดวิเคราะห์ตามเนื้อหาในหนังสือ นั่นหมายความว่า น้องๆ ต้องเข้าใจเนื้อหา สามารถคิดวิเคราะห์ และตีความสิ่งที่โจทย์ต้องการได้ รวมทั้งเรียบเรียงข้อมูลด้วยภาษาของตัวเอง 

   พออ่านถึงตอนนี้หลายคนน่าจะคิดว่า แบบนี้ยากเกินไปล่ะ เวลาก็จำกัด แล้วควรจะทำยังไงดี แต่ไม่เป็นไร วันนี้พี่ได้ข้อมูลและสรุปเป็น 8 เทคนิคเตรียมสอบแบบ open book รับรองทำแล้วผ่านชัวร์ 

8 เทคนิคทำแล้วผ่านชัวร์

1. ศึกษารายละเอียดและข้อกำหนดของข้อสอบ

ถ้าน้องๆ ต้องทำข้อสอบแบบ open book น้องๆ ควรลองเช็กตามลิสต์นี้ก่อนดูได้เลย

  • เอาอะไรเข้าห้องสอบได้บ้าง (บางที่กำหนดให้เข้าได้แค่โน้ต 1 หน้า และเหล่าเครื่องเขียนก็มี)
  • เวลาในการทำข้อสอบแต่ละพาร์ทมีกี่นาที (เน้นให้เวลากับส่วนที่เรามั่นใจที่สุด)
  • เนื้อหาที่จะออกสอบครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง ส่วนนี้ควรสอบถามอาจารย์ให้ชัดเจน เพราะบางท่านก็ออกเนื้อหานอกตำราเรียนด้วย
  • ลักษณะคำถามเป็นยังไง (ปรนัยอย่างเดียว, อัตนัยอย่างเดียว, มีทั้งปรนัยและอัตนัย)
  • ถ้าสอบแบบออนไลน์ ควรเขียนคำตอบเผื่อใน google doc ไว้กรณีถ้าคอมค้าง หรือเน็ตหลุดก่อนส่งคำตอบด้วย
www.pexels.com
www.pexels.com

2. ต้องอ่านตัวบทให้จบก่อนวันสอบ

อย่างแรกเลยน้องๆ ต้องอ่านเนื้อหาทั้งหมดให้จบก่อนวันสอบ แต่ไม่ใช่แบบ One Night Miracle นะ ควรอ่านจบอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนสอบ หรือถ้าแต่ละวิชาสอบไม่พร้อมกันก็ควรทำตารางการสอบให้ชัดเจนว่า “ต้องอ่านเนื้อหาแต่ละวิชาจบตอนไหน” ควรอ่านให้ละเอียด และทำความเข้าใจเนื้อหาไปพร้อมๆ กันเลย ถ้าไม่เข้าใจควรลองสอบถามอาจารย์รอบนอก หรือเรียนทางยูทูปให้เข้าใจอย่างท่องแท้ก่อนทุกครั้ง ไม่อย่างงั้น ถ้าน้องๆ ทำโน้ตสรุปผิดไปตั้งแต่แรกแล้ว โอกาสที่น้องๆ จะตอบผิดในห้องสอบก็จะสูงขึ้น เพราะว่า ความทรงจำของมนุษย์เรามักจะครั้งแรกได้ดีที่สุดเสมอ

www.pexels.com
www.pexels.com

3. สรุปเอง อ่านเอง ไม่ต้องเน้นสวยงาม แต่เน้นความเข้าใจ

ตอนนี้มีหลายเว็บ หลายวิชาให้น้องๆ สามารถเลือกอ่านสรุปวิชาอะไรก็ได้ ของใครก็ได้ แบบฟรีๆ แต่อย่าลืมว่า ถึงจะเป็นวิชาเดียวกัน หนังสือเล่มเดียวกัน แต่อาจารย์ที่สอนและออกสอบให้เราเป็นคนละคนกัน แถมสรุปของบางคนถึงจะดูอ่านง่ายสบายตาก็ตาม แต่จดแบบเป็นตัวย่อที่คนทำสรุปเข้าใจได้คนเดียว หรือจดสรุปแบบเพื่อนที่เรียนพิเศษที่เดียวกันเท่านั้นที่เข้าใจได้ก็มีเหมือนกัน

จึงควรทำอ่านเนื้อหา เรียบเรียง และทำเป็นสรุปด้วยตัวเอง อย่างพี่เอง แต่ละวิชาพี่จะมีสรุป 2 เล่มก็คือ เล่มแรกคือเนื้อที่จำได้แล้ว เล่มนี้จะเป็น mind map ความคิดที่พี่สรุปหลังจากอ่านบทเรียนแต่ละบทจบ ส่วนอีกเล่มจะเป็นเนื้อหาที่เน้นย้ำในเรื่องในส่วนที่ไม่ว่าจะท่องจำยังไงก็จำไม่ได้สักที เพื่อจะได้แบ่งเวลาอ่านตามสรุปแต่ละเล่มได้เหมาะสม เช่น เล่มแรกพี่จะอ่านตอนช่วงเวลาพักสั้นๆ อย่างตอนพักกลางวัน หรือตอนรอรถกลับบ้าน ส่วนอีกเล่มพี่จะอ่าน 1 ชั่วโมงก่อนนอน เพียงแค่นี้น้องๆ ก็ไม่ต้องเสียเวลาอ่านจำแบบเยอะๆ ในทีเดียวเลย

สรุปแบบที่ 1
สรุปแบบที่ 1
สรุปแบบที่ 2
สรุปแบบที่ 2

4. ฝึกเก็งข้อสอบ และลองจำลองการสอบแบบจับเวลา 

วิธีที่ดีที่สุดของการเตรียมสอบแบบ open book ก็คือ การจำลองทำข้อสอบ เวลาที่อาจารย์บอกว่าจะออกส่วนไหน ประเด็นไหนบ้าง ให้จดไว้ทั้งหมด หรือไม่ก็ลองขออนุญาตอัดเสียงของอาจารย์ดู ตั้งใจฟังสิ่งที่อาจารย์มักจะบอกบ่อยๆ ตรงนั้นละคือ key words ที่ทำให้เราตอบคำถามได้ถูกใจอาจารย์ ถ้าพอมีเวลาประมาณ 1 เดือนก่อนสอบ ลองไปหาข้อสอบในอินเทอร์เน็ตทำดู บางทีอาจจะมีคำถามที่คล้ายๆ ข้อสอบของเราอยู่ในนั้นก็ได้ หรือถ้าหายังไงก็ไม่เจอเนี่ย ลองคิดกลับกันว่า ถ้าน้องๆ เป็นอาจารย์อยากถามคำถามประมาณไหน สมมติในกลุ่มมี 3 คน แบ่งหัวข้อกันไปตั้งคนละ 5 คำถาม รวมทั้งทำเฉลยแนวคำตอบด้วย แล้วก็แลกเปลี่ยนกันดู บางทีหนึ่งในนั้นอาจจะมีคำตอบที่ช่วยให้เราสอบผ่านก็ได้นะ (แต่อย่าตอบเหมือนกันเป๊ะๆ ล่ะ ควรตอบโดยใส่ความคิดเห็นของตัวเองที่สนับสนุนคำตอบนั้นด้วย)

www.pexels.com
www.pexels.com

5. ทำสารบัญแยกสำหรับเนื้อหาสำคัญ

เมื่อเราอ่านเนื้อหาทั้งหมดจบแล้ว ให้ทำสารบัญแยกแต่ละเนื้อหา โดยเรียงจากสิ่งที่เราไม่ถนัดที่สุดไปที่ถนัดสุด หรือเรียงสลับกันก็ได้ตามที่ชอบเลย เช่น หน้า 6-10 เป็นประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา หรือถ้าอยากเน้นย้ำตรงไหนก็ทำสารบัญเพิ่มเป็นสิ่งที่ต้องจำก็ได้ เช่น ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ปกครองแบบใด สมัยนั้นแต่ละคนมีผลงานอะไรบ้างก็ได้ วิธีนี้จะช่วยให้สมองเราจัดการได้เป็นระบบ และช่วยประหยัดเวลาระหว่างทำข้อสอบด้วย

6. ทำ flash cards คลังข้อสอบ

flash cards เดี๋ยวนี้สามารถหาซื้อได้ร้านเครื่องเขียนทั่วไป หรือทำบน app Quizlet ก็ได้ โดยการแบ่งเป็นบทที่ต้องจำ 

  • คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ใส่สูตรต่างๆ ที่ต้องใช้ตอนทำข้อสอบ
  • ภาษาต่างประเทศต่างๆ ก็ใส่พวกไวยากรณ์ที่มักผิดบ่อย และคำศัพท์ที่จำยังไงก็จำไม่ได้
  • สังคม และประวัติศาสตร์ต่างๆ ก็ใส่ keywords สำคัญของแต่ละประเด็นเข้าไป

นอกจากจะได้ความสนุกได้แข่งขันกับเพื่อนซี้แล้ว เรายังคำตอบได้ง่ายขึ้น เพราะความรู้สึกตื่นเต้นตอบที่กำลังตอบคำถามนั้นว่า ถูกหรือไม่ มันทำให้เราสามารถจดจำได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

7. ควบคุมเวลาการเปิดหนังสือ

อย่างที่เรารู้กันว่า ถ้าไม่กำหนดเวลาในการทำแต่ละข้อ เราอาจจะไปเสียเวลากับข้อยากๆ ที่เราไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าตอบถูกมั้ย แถมยังไม่มีเวลาทำข้อที่เหลืออีกด้วย นอกจากนี้บางวิชายังชอบแบบออนไลน์อยู่ ถ้าอยู่ดีๆ ไฟเกิดดับ หรือที่บ้านลืมจ่ายค่าเน็ตขึ้นมาละก็เราส่งข้อสอบไม่ทันแน่นอน แถมบางวิชาก็ไม่ยอมรับคำตอบด้วย ดังนั้นแนะนำให้ทุกคนกำหนดเวลาในการทำแต่ละข้อให้ดี โดยการตั้งนาฬิกาจับเวลาอยู่เสมอ และถ้าเหลือแค่ 5 นาทีก่อนหมดเวลาแล้วละก็ให้รีบเช็กแบบรวดเร็วว่า เราตอบครบทุกข้อมั้ย และรีบส่งทันที อย่าไปรอส่งตอนใกล้หมดเวลาเด็ดขาดเลยนะ 

8. ควรเหลือเวลาสำหรับทบทวนคำตอบด้วย

หลายคนมักเจอข้อที่ไม่ว่าจะหาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ ยิ่งเรารีบๆ ก็ยิ่งลน จนไม่มีเวลาทำให้ข้อสอบให้เสร็จทันเวลา ถ้าเป็นข้อสอบแบบข้อเขียนทั้งหมดมักจะคำถามแค่ไม่กี่ข้อ ให้เราอ่านโจทย์ และอ่านเงื่อนไขให้ดี แล้วทำสัญลักษณ์ข้อที่คิดว่าเราทำได้เป็น O ข้อที่ไม่แน่ใจเป็น และข้อที่คิดว่าทำไม่ได้ หรือไม่ได้อ่านมาเลยเป็น X โดยเริ่มจากการทำข้อที่ง่ายไปยาก เพื่อที่จะได้มั่นใจว่าเราจะได้คะแนนส่วนนี้แน่ๆ เผื่อทำไม่ทันเวลาด้วย 10-15 นาทีก่อนหมดเวลาควรทบทวนคำตอบอีกรอบก่อนส่ง ถ้ายังไม่เสร็จให้รีบตอบเท่าที่ทำได้ไปก่อน 5 นาทีสุดท้ายให้เช็กว่าตอบครบทุกข้อแล้วใช่มั้ย ถ้าครบแล้วก็กดส่งได้เลย

เป็นยังไงกันบ้างคะน้องๆ ชาว Dek-D กับ 8 เทคนิคการรับมือกับข้อสอบ open book ที่พี่ได้รวบรวมไจากผู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของตัวเอง น้องๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมเลยนะ บางคนอาจจะลองไปทำตามทั้งหมด หรือทำตามแค่บางข้อก็ได้ แต่พี่อยากให้น้องๆ ลองตั้งใจทำดูสักครั้งก่อนว่า “เราทำไม่ได้จริงๆ หรือแค่เตรียมตัวผิดจุดกันแน่” พี่เป็นกำลังใจให้นะ ขอให้สอบครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึงคะแนนดีทุกคนเลย 

น้องๆ ชาว Dek-D ตอนสอบ open book ทำข้อสอบกันทันไหมมั้ยคะ ลองมาแชร์กันได้ที่คอมเมนต์เลยนะ

 

 

อ้างอิงข้อมูลจากhttps://www.educationcorner.com/openbook-tests.htmlhttps://www.trentu.ca/academicskills/how-guides/how-study/p
พี่เชอร์รี่
พี่เชอร์รี่ - Columnist อย่ากลัวผิดหวัง ถ้ายังไม่ลงมือทำ" คนที่มองหา passion จากสิ่งใหม่ๆ เสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น