Teen Coach EP.68 : คิดก่อนทำ! Public Shaming การทำให้อับอายในที่สาธารณะ

Spoil

  • Public Shaming คือการทำให้ผู้คนอับอายต่อหน้าสาธารณะชน
  • ในโลกโซเชียลที่ไม่มีการระบุตัวตน ยิ่งทำให้การด่าทอ ประจาน การแฉต่างๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
  • สิ่งนี้อาจจะไม่ใช่การทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่ส่งผลกระทบต่อจิตใจค่อนข้างมาก

 ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคปัจจุบันนั้นโลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม การถ่ายทอดเรื่องราวหรือคำพูดบางอย่างลงบนอินเตอร์เน็ต ก็เปรียบเสมือนการทิ้งร่องรอย (Digital Footprint) เอาไว้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อตัวเองหรือผู้อื่นในภายภาคหน้าได้  

จริง ๆ แล้ว Public Shaming การทำให้ผู้คนอับอาย อาจจะไม่ได้เกิดเพียงแค่ในโซเชียล แต่ยังรวมไปถึงการด่าประจานต่อหน้าบุคคลอื่น เช่น หัวหน้าด่าลูกน้องต่อหน้าพนักงานคนอื่น การให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือแม้แต่ผู้ที่กระทำความผิดโดนเสียบประจานกลางถนน ให้ประชาชนรุมด่าหรือรุมปาข้าวของ แต่การเข้ามามีบทบาทของโลกออนไลน์ ที่ไม่ระบุตัวตนว่าใครเป็นใคร ยิ่งทำให้ Public Shaming หรือการประจานในที่สาธารณะมีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก  ไม่ว่าจะเป็น การโพสต์ข้อความ ภาพ หรือคลิป การแคปแชตมาประจาน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเปิดท่ารถให้ทัวร์มาลง สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่การทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่กลับส่งผลกระทบต่อจิตใจค่อนข้างมาก 

น้อง ๆ หลายคนน่าจะเคยเห็นเหตุการณ์ที่ใครสักคน แคปแชตมาแฉในโซเชียล หรือบางครั้งก็มาเป็นคลิป บางครั้งเราก็อาจจะสงสารคนที่ถูกแคปมา หรือไม่เห็นด้วย หรือบางครั้งเราอาจจะมีอารมณ์ร่วมไปกับสิ่งนั้น โกรธแค้น ร่วมต่อว่า หรือตัดสินไปแล้ว โดยที่เรายังไม่รู้เรื่องราวทั้งหมด รับรู้เพียงแค่สถานการณ์ที่ผู้โพสต์อยากให้รู้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน เช่น การแขวนในทวิตเตอร์ การประจานแอคเคาท์ต่าง ๆ อย่างไรก็ถาม เรื่องราวเหล่านั้นก็เป็นเหมือนกับ Digital Footprint ที่จะเป็นเหมือนร่องรอยที่คอยย้ำว่าเราเคยโพสต์ข้อความอะไรไปบ้าง

ในทางกลับกัน บางทีการแขวนประจานอาจจะเป็นเรื่องราวที่ดีในกรณีที่คนผิดจริง ๆ ไม่ได้รับโทษอย่างที่สมควรจะรับ เช่น ผู้ที่มีคดีทางกฎหมาย แต่ได้รับโทษเบา บุคคลนั้นอาจจะสมควรได้รับการทำให้อับอาย แต่อย่างไรก็ตาม การเป็นศาลเตี้ยตัดสินใครสักคนก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไป บางครั้งอาจเกิดตราบาปไปชั่วชีวิต  

การแขวนประจานในบางครั้งก็ช่วยให้เราทันสถานการณ์มากขึ้น เป็นหลักฐานว่ามีการทำร้ายกันเกิดขึ้นจริง บางครั้งชาวเน็ตยังคงช่วยกันสืบหาคนผิด เช่น ข่าวการเสียชีวิตที่ผิดปกติของนางเอกท่านหนึ่ง แต่ในบางครั้งก็กลายเป็นกรณีที่สร้างความรุนแรงและบาดแผลเช่นกัน อาจเกิดเหตุการณ์ที่บุคคลไม่พอใจการบริการอย่างหนึ่ง แล้วโพสต์ลงโซเชียล บ่นการให้บริการที่ไม่ถูกใจของร้านนั้น ชาวเน็ตเห็น เข้าไปแชร์ จนเกิดการแบนร้านนั้นไปเลย ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็เป็นการสร้างผลกระทบในทางลบได้ หากร้านนั้นออกมาขอโทษและปรับปรุงให้ดีขึ้นในภายภาคหน้า ก็อาจจะไม่ได้รับโอกาสเป็นครั้งที่ 2 

นอกจากนี้การแขวนประจานบนโลกออนไลน์ยังทำให้ผู้คนขาดความเห็นอกเห็นใจ (empathy) มีอารมณ์ร่วม แสดงความคิดเห็นโดยไม่เกรงกลัวอะไร คิดแค่ว่าตอนนั้น นาทีนั้น มีอารมณ์โมโหเกิดขึ้น พอได้ระบายก็จบ แต่ข้อความที่ทิ้งไว้ก็สามารถทำร้ายคนเห็นได้ไปตลอดกาล ทำให้เขาอับอาย ไม่มีที่ยืนในสังคม ได้รับผลเกินกว่าที่เขาควรจะได้รับนั่นเอง เราอาจจะเห็นได้บ่อย ๆ เวลาที่เกิดเหตุการณ์แขวนประจานกันบนโลกออนไลน์ หากผู้ถูกประจานต้องการจะเคลียร์ ออกมายอมรับผิด ขอโทษ และปรับปรุงตัว เมื่อมาขอโทษกลับไม่เป็นที่สนใจเท่า คนมองข้ามและตัดสินเขาจากสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วนั่นเอง

การทำให้อับอาย เปรียบได้กับเป็นอาวุธในการกระตุ้นอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งความอับอายที่เกิดขึ้น มักจะทำให้ผู้กระทำรู้สึกชนะ ได้ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกกระทำ รับผิดชอบ ชดใช้ หรือแม้แต่เป็นการกลั่นแกล้งก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีผู้ชนะ ไม่มีผู้แพ้ แต่มีเพียงผู้ที่ได้รับผลจากการกระทำเหล่านี้นั่นเอง บุคคลมักใช้อารมณ์เหล่านี้ในการโจมตีอีกฝ่าย โกรธ กลัว กังวล แต่ผลที่ตามมามักจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี  

สิ่งสำคัญก็คือการคิดไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะโพสท์ข้อความพาดพิงคนอื่นลงบนโซเชียล หรือตัดสินผู้อื่นจากสถานการณ์บางส่วนที่เราได้รับรู้ แม้ว่าจะเห็นใจ จะโกรธ แต่หากเราไม่ได้เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ ผู้มีส่วนร่วม ผู้ถูกกระทำ มันก็อาจจะไม่เป็นอย่างที่เราเห็นเสมอไป ถึงแม้จะเป็นเรื่องของเราเองก็ตาม  ถ้าตัดสินใจจะโพสต์เป็นอุทาหรณ์ ก็จำเป็นต้องเรียบเรียงคำพูดถ่ายทอดออกมาให้ดี เพียงเพราะคำพูดที่ใช้ ก็สามารถกระตุ้นให้คนอ่านเกิดอารมณ์ร่วมไปกับเราได้ หากเราใช้ถ้อยคำรุนแรง ต่อว่า โกรธ ผู้มาเห็นก็อาจจะรับรู้ และตัดสินไปในทางลบ มาช่วยร่วมต่อว่า ซึ่งจะส่งแต่ผลเสียทั้งต่อตัวเราและบุคคลที่เราพูดถึง แต่หากใจเย็นขึ้น ตัดสินใจและพิจารณาถึงสิ่งที่จะตามมาแล้ว เราค่อยโพสต์ด้วยความรู้สึกนั้นก็ยังไม่สายนั่นเอง 

 ซึ่งหากมองในหลาย ๆ มุม การ Public Shaming ก็เป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่อย่างไรก็ตามเราควรมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่ไม่ใช่มีอารมณ์ร่วมทุกอย่างในสถานการณ์ที่เราไม่ได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมด การตีตราตัดสินผู้อื่น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก อาจจะต้องดูบริบท ดูสถานการณ์ และไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะโพสต์ข้อความใดๆ  ชาว Dek-D มีวิธีตั้งสติในการเล่นโซเชียลอย่างไรบ้าง มาแชร์กัน!

 

รายการอ้างอิงhttps://www.aaronbalick.com/news/the-psychology-of-stranger-shaming/
โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น