อัปเดตสถานการณ์ “คลื่นความร้อน” วิกฤตทางอากาศที่ส่งผลกระทบทั่วโลก!

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคน ช่วงนี้อากาศก็ยังร้อนเหมือนเดิมเลยนะคะ แถมยังไม่ได้ร้อนแค่ที่ประเทศไทยด้วย และพี่เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเห็นข่าวเกี่ยวกับ ‘คลื่นความร้อน’ ผ่านตากันมาแล้ว ว่าแต่คลื่นความร้อนนี่มันคืออะไร แล้วมันร้ายแรงแค่ไหน วันนี้พี่กระถินจะมาสรุปเรื่องของคลื่นความร้อนให้เข้าใจกันง่ายๆ พร้อมพาส่องสถานการณ์ทั่วโลกตอนนี้กันค่ะ

// บอกเลยว่าใครที่มีแพลนจะไปเที่ยวหรือเรียนต่อต่างประเทศต้องอ่านเลยนะคะ จะได้เตรียมตัวได้ถูก!

Photo by Sarmad Mughal on Pexels
Photo by Sarmad Mughal on Pexels

คลื่นความร้อนคืออะไร? 

คลื่นความร้อน (Heat wave, Heatwave) คือปรากฏการณ์ที่เกิดจากมวลอากาศที่มีความกดอากาศสูงเคลื่อนตัวเข้ามาในพื้นที่หนึ่ง ทำให้อุณหภูมิในพื้นที่นั้นสูงขึ้นจากปกติ สภาพอากาศจึงร้อนและแห้งแล้งขึ้นกว่าเดิม โดยคลื่นความร้อนมักกินระยะเวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ **แต่ละประเทศจะใช้เกณฑ์ต่างกันว่าอุณหภูมิสูงขึ้นเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าเป็นคลื่นความร้อน

ส่องผลกระทบจากสถานการณ์คลื่นความร้อน 2022

ผลกระทบจากคลื่นความร้อนนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลยนะคะ โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีรายงานว่าหลายประเทศต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนลูกใหญ่เป็นประวัติการณ์ เดี๋ยวเราไปดูกันดีกว่าค่ะว่านอกจากความร้อนแล้ว เจ้า Heatwave นี้จะส่งผลกระทบอะไรกับโลกของเรายังไงอีกบ้าง

เริ่มจากทวีปยุโรปกันก่อน เพราะเป็นทวีปที่เจอคลื่นความร้อนเป็นประจำทุกปี และสำหรับปีนี้ในสหราชอาณาจักรกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนอย่างต่อเนื่อง โดยที่เขต Coningsby มณฑล Lincolnshire สามารถวัดอุณหภูมิสูงสุดถึง 40 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว! (สูงที่สุดนับตั้งแต่คลื่นความร้อนในปี 2019) เรียกว่าร้อนสุดๆ จนพื้นถนนและพื้นรันเวย์ละลาย ทำให้เครื่องบินไม่สามารถบินขึ้นหรือลงจอดได้ ทำเอาสนามบินหลายแห่งถึงขั้นต้องปิดทำการชั่วคราวเลยค่ะ!

Photo by Malachi Brooks on Unsplash
Photo by Malachi Brooks on Unsplash

นอกจากนี้คลื่นความร้อนยังก่อให้เกิดไฟป่าในหลายประเทศแถบยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน หรือโปรตุเกส ไม่เพียงป่าไม้เสียหายอย่างหนักเท่านั้น แต่ประชาชนนับหมื่นยังสูญเสียที่อยู่อาศัย และต้องใช้กำลังนักดับเพลิงจำนวนมากเพื่อควบคุมไม่ให้เพลิงลุกลามไปมากกว่านี้

แน่นอนว่าเมื่ออากาศร้อนขึ้น ความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดน้ำ ภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด และพอร้อนมากๆ บางคนเลยเลือกที่จะเล่นน้ำเพื่อคลายร้อน แต่ความร้อนของน้ำก็สู้กลับทำให้มีคนจมน้ำเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย โดยปีนี้มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุที่เกี่ยวกับความร้อนในทวีปยุโรปอย่างน้อย 1,500 รายแล้วค่ะ (อัปเดต ณ วันที่ 20 ก.ค. 65) 

ไปดูฝั่งทวีปเอเชียกันบ้างค่ะ อย่างที่ประเทศจีนตอนนี้ก็กำลังประสบปัญหาจากคลื่นความร้อนเช่นกัน ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจึงพุ่งสูงจนทางการจีนต้องออกมาขอให้ประชาชนประหยัดไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าค่ะ นอกจากนี้คลื่นความร้อนยังส่งผลต่อการผลิตธัญพืชต่างๆ ที่เป็นอาหารหมู ทำให้ราคาเนื้อหมูสูงขึ้นตามไปด้วย

ส่วนที่ประเทศญี่ปุ่น น้องๆ หลายคนอาจเคยเห็นทวีตกุ้งเครฟิชนอนตายในทุ่งนาที่กลายเป็นไวรัลเมื่อเดือนที่แล้ว นี่ก็เป็นผลกระทบจากคลื่นความร้อนเช่นกันกันค่ะ ถึงแม้ว่าอุณหภูมิของน้ำจะไม่สูงพอให้กุ้งโดนต้มจนสุก แต่ก็ร้อนมากจนกุ้งเครฟิชก็อยู่ไม่ได้เลยค่ะ น่ากลัวมากๆ เลย 

นอกจากนี้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเผชิญกับคลื่นความร้อนโดยมีอุณหภูมิสูงสุดที่ 35 องศาเซลเซียสติดต่อกันถึงสามวัน และมีประชาชนชาวโตเกียวมากกว่า 250 คนที่ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลด้วยภาวะฮีทสโตรก นับว่าเป็นสามวันในเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดที่ประเทศญี่ปุ่นเคยวัดได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1875 เลยค่ะ

ประเทศปากีสถานและอินเดียเองก็เจอกับอุณหภูมิที่สูงที่สุดในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา อย่างอุณหภูมิสูงสุดที่วัดได้ในแคว้นสินธ์​ (ปากีสถาน) ก็พุ่งไปถึง 49 องศาเซลเซียส เป็นตัวเลขที่น่าตกใจมากกกและยังนับเป็นอุณหภูมิในช่วงเดือนเมษาที่สูงที่สุงในโลกตั้งแต่มีการบันทึกเอาไว้ด้วย! แน่นอนว่าคลื่นความร้อนนี้ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย เกษตรกรจึงสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยเลยค่ะ

 

Photo by Tom PREJEANT on Unsplash
Photo by Tom PREJEANT on Unsplash

เช็กลิสต์เตรียมตัวรับมือคลื่นความร้อน

แล้วเราจะต้องทำอย่างไรถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีคลื่นความร้อน? สำหรับน้องๆ ที่กำลังจะไปเรียนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เกิดคลื่นความร้อน เตรียมจดไว้ได้เลยจะได้รับมือได้ถูกค่ะ 

  • ติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนเกี่ยวกับคลื่นความร้อนเป็นประจำ (บางประเทศมี notification คอยแจ้งเตือนอัปเดตเสมอ)
  • ดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและฮีทสโตรก และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์
  • เตรียมอาหาร น้ำดื่ม ยาประจำตัวที่จำเป็นให้พร้อม เผื่อร้านค้าหรือร้านขายยาปิดทำการในช่วงคลื่นความร้อน
  • ปิดหน้าต่างทุกบาน ติดตั้งมูลี่ ผ้าม่าน หรือแผ่นป้องกันความร้อน เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้าน
  • เปิดแอร์ในบ้าน หรือไปอยู่ตามพื้นที่สาธารณะที่เปิดเครื่องปรับอากาศ เช่น ห้างสรรพสินค้า ห้องสมุด หรือพื้นที่ทำความเย็นสาธารณะ (public cooling center) ใกล้บ้าน
  • วางถาดใส่น้ำและเตรียมพื้นที่ร่มให้สัตว์เลี้ยงและสัตว์เล็ก เช่น นกหรือแมลง น้องๆ จะได้รอดพ้นคลื่นความร้อนนี้ไปพร้อมกับเราค่ะ
  • นอกจากรักษาตัวให้ปลอดภัยจากคลื่นความร้อนแล้ว อย่าลืมดูแลจิตใจของตัวเองด้วยการหากิจกรรมคลายเครียด กินอาหารที่ชอบ หรือพูดคุยกับคนที่เรารักนะคะ ^^

ถึงคลื่นความร้อนจะอยู่ไกล แต่ภัยความร้อนอยู่ใกล้กว่าที่คิด?

Photo by Adam Navarro on Unsplash
Photo by Adam Navarro on Unsplash

สำหรับชาว Dek-D ที่อยู่ในประเทศไทยก็อาจจะสบายใจไปหนึ่งเปลาะ เพราะอาจยังไม่ได้รับผลกระทบแบบเห็นได้ชัด (ซึ่งปกติก็ร้อนอยู่แล้วทุกฤดู) แต่ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจกันนะคะ เพราะในวันที่อากาศร้อนมากๆ ก็ยังมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะขาดน้ำหรือภาวะฮีทสโตรกด้อยู่ดีค่ะ โดยความแตกต่างระหว่างทั้งสองอาการก็มีดังนี้ค่ะ

ภาวะขาดน้ำ (dehydration) 

  • เกิดจากร่างกายเสียน้ำมากกว่าปกติ จนไปดึงเอาแร่ธาตุที่จำเป็น (เช่นโซเดียมหรือโพแทสเซียม) ออกมากับน้ำด้วย
  • กลุ่มเสี่ยงคือเด็กและผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • อาการเบื้องต้นของภาวะขาดน้ำ ได้แก่ กระหายน้ำมาก วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยล้า ผิวแห้ง ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ชีพจรเต้นเร็ว

ภาวะฮีทสโตรก (heatstroke)

  • หรือ โรคลมแดด เกิดจากร่างกายไม่สามารถคงอุณภูมิร่างกายไว้ที่ระดับปกติได้ในสภาพอากาศร้อน ทำให้ร่างกายขาดน้ำและมีอุณหภูมิสูงขึ้น
  • อาการจะคล้ายกับภาวะขาดน้ำ แต่มีอาการเพิ่มขึ้นอย่างอาการมึนงง ตัวร้อนแต่ไม่มีเหงื่อ จนหมดสติในที่สุด

เราสามารถป้องกันทั้ง 2 อาการนี้ได้ด้วยการดื่มน้ำเยอะๆ งดออกไปข้างนอกในวันที่อากาศร้อน สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี แต่ถ้าน้องๆ เริ่มรู้สึกว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีอาการของฮีทสโตรก ต้องรีบพาตัวเข้าอยู่ในที่อากาศเย็นแล้วโทร. แจ้งโรงพยาบาลด่วนเลย เพราะฮีทสโตรกถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ถ้าไม่ได้รับการรักษาในทันทีอาจถึงชีวิตได้ค่ะ

Photo by Markus Spiske on Unsplash
Photo by Markus Spiske on Unsplash

ก่อนจะปิดท้ายกันไป นอกจากคลื่นความร้อนที่พี่นำข้อมูลมาอัปเดตในวันนี้ อีกหนึ่งภัยความร้อนที่ใกล้ตัวเรามากๆ และควรตระหนักไว้ก็คือ ‘ภาวะโลกรวน (Climate Change)’ ซึ่งมีสาเหตุหลักคือการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและปล่อยแก๊สเรือนกระจกในปริมาณมาก และเป็นสาเหตุทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องเจอกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงและยาวนานขึ้นในแต่ละปี แถมยังมีแนวโน้มว่าจะทวีคูณขึ้นไปอีกในปีถัดๆ ไปด้วย นี่จึงเป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยให้หลายประเทศหันมาตระหนักถึงผลกระทบจากวิกฤตนี้กันมากขึ้นด้วย!

เป็นยังไงกันบ้างคะน้องๆ ต้องบอกว่าคลื่นความร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย เพราะนอกจากเป็นสาเหตุของภัยพิบัติแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นเราในฐานะ global citizen จึงควรให้ความเข้าใจ ให้ความสำคัญ และร่วมมือกันเพื่อต้านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันนะคะ
 

Sources:https://www.britannica.com/science/heat-wave-meteorologyhttps://www.farmersalmanac.com/what-causes-a-heat-wave-10912https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/dehydration-and-heat-strokehttps://www.redcross.org/get-help/how-to-prepare-for-emergencies/types-of-emergencies/heat-wave-safety.htmlhttps://www.bbc.com/news/uk-62217282https://www.abc.net.au/news/2022-07-20/heatwave-in-uk-europe-kills-at-least-1500-authorities-say/101252988https://www.euronews.com/2022/07/18/heatwave-red-alert-as-temperatures-soar-to-extreme-highs-across-europehttps://www.cnbc.com/2022/07/18/europe-suffers-from-deadly-heat-wave-as-wildfires-displace-thousands.htmlhttps://edition.cnn.com/2022/07/13/economy/china-heat-wave-power-outages-food-inflation-intl-hnk/index.htmlhttps://www.aljazeera.com/news/2022/6/28/tokyo-swelters-in-worst-june-heatwave-in-japan-since-1875https://www.theguardian.com/world/2022/may/02/pakistan-india-heatwaves-water-electricity-shortageshttps://www.metoffice.gov.uk/about-us/press-office/news/weather-and-climate/2022/red-extreme-heat-warning-ud?fbclid=IwAR0Mksoez6WFI94jH8eg17uC4mAPkq9nOsmSyGNAvPROBJCwZO3ILcFkfMkhttps://unsplash.com/photos/WmAm83nFeeQhttps://unsplash.com/photos/-HVh7BRp3lshttps://www.pexels.com/photo/silhouette-of-buildings-under-cloudy-sky-397979/https://unsplash.com/photos/ZUCjTR-RO_4https://unsplash.com/photos/1AaRGN_vyq0
พี่กระถิน
พี่กระถิน - Columnist คนธรรมดาที่ชอบอ่านมังงะ ฟังเพลง วาดรูป และมองหาความพิเศษในชีวิตแต่ละวัน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น