13 เทคนิคเตรียมสอบจาก ‘อาลี อับดุล’ อดีตนักเรียนแพทย์มหา’ลัยเคมบริดจ์

Spoil

  • เทคนิคการเตรียมสอบจาก ‘อาลี อับดุล’ อดีตนักศึกษาแพทย์และยูทูบเบอร์ชื่อดัง
  • เราควรเริ่มอ่านเนื้อหาในเรื่องที่  ‘ตัวเองไม่ถนัด’ ก่อนเป็นอย่างแรก
  • ‘Interleaving’ คือวิธีการทบทวนเนื้อหาในหลายหัวข้อไปพร้อมกันรวดเดียว
  • สำหรับ ‘อาลี อับดุล’ การอ่านหนังสือพร้อมเพื่อนดีกว่าการนั่งอ่านคนเดียว

สวัสดีค่ะทุกคน ช่วงเวลาแห่งการสอบเริ่มใกล้เข้ามาทุกทีแล้วใช่ไหมคะ ใครยังไม่ได้เริ่มอ่านหนังสือ หรือไม่รู้ว่าจะเริ่มอ่านอะไรก่อน เพราะเนื้อหาที่เรียนมันมีเยอะแยะเต็มไปหมดกันบ้าง? งั้นวันนี้พี่มีเทคนิคการอ่านหนังสือเตรียมสอบดี ๆ จากอดีตนักเรียนแพทย์อย่าง ‘Ali Abdaal’ มาฝากค่ะ!

ทำความรู้จักกับ ‘อาลี อับดุล’ กันก่อน

ภาพจาก : instagram.com/aliabdaal
ภาพจาก : instagram.com/aliabdaal

‘Ali Abdaal’ หรือ ‘อาลี อับดุล’ เป็นอดีตนักศึกษาแพทย์และยูทูบเบอร์ชื่อดัง ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดตามมากกว่า 3.12 ล้านคน รวมถึงเขายังเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ทำคะแนนได้สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษอีกด้วย 

How I Ranked 1st at Cambridge University - 20 Study Tips

    นี่เป็นอีกหนึ่งวิดีโอในช่องของเขาที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวิดีโอที่เขามีการแนะนำ ‘20 เทคนิคการเรียนและการเตรียมสอบ’ ของตัวเอง เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ชมที่เข้าไปดู ซึ่ง 20 เทคนิคดังกล่าวก็ไม่ใช่เทคนิคที่มีไว้จำเพาะนักศึกษาแพทย์เท่านั้น แต่เป็น 20 เทคนิคการเรียนที่ไม่ว่าใคร หรือนักเรียนระดับการศึกษาไหนก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ค่ะ

    ซึ่ง 20 เทคนิคการเตรียมสอบนั้น สามารถรวมกันเป็น 13 เทคนิคหลัก ๆ ได้ดังนี้เลยค่ะ

13 เทคนิคการเตรียมสอบจาก ‘อาลี อับดุล’ 

ย่อหัวข้อของเนื้อหาทั้งหมดเสียก่อน

    เริ่มต้นด้วยการมองที่ภาพรวมของเนื้อหาที่เราจะต้องอ่านทั้งหมด จากนั้นจึงย่อเป็นหัวข้อใหญ่และแยกออกเป็นหัวข้อเล็ก ๆ ต่อไปเรื่อย  ๆ เช่น การย่อหัวข้อในรูปแบบของแผนภูมิต้นไม้ เพื่อให้เราสามารถมองเห็นองค์ประกอบของเนื้อหาทั้งหมด และเพื่อไม่ให้เนื้อหาตกหล่น หรือเสียเวลาไปกับการอ่านสิ่งที่ไม่สำคัญ

ใช้ปากกาหลายสีแยกหัวข้อ

    Ali แนะนำให้ใช้สีปากกาที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด นั่นก็คือ สีแดง สีเขียว และสีเหลือง โดยเราสามารถกำหนดได้เองว่า จะใช้สีอะไรแทนหัวข้อไหน เพราะเมื่อเรามีการใช้สีปากกาแต่ละสีกับแต่ละหัวข้อแบบนี้ จะทำให้เรามองออกและเข้าใจได้ตั้งแต่วินาทีแรกที่เห็นเลยว่า สีปากกาสีนี้ คือเนื้อหาของหัวข้อใด ซึ่งมันจะง่ายต่อการจดจำและนำไปสอบมากค่ะ

อ่านเรื่องที่ตัวเองอ่อนที่สุดก่อน

    คนส่วนใหญ่อาจจะเริ่มอ่านหนังสือจากวิชาแรกที่ต้องสอบ หรือ วิชาที่ตัวเองพอเข้าใจบ้างอยู่แล้ว แต่นี่ไม่ใช่วิธีที่ Ali แนะนำ เราควรเริ่มอ่านในเรื่องที่เรารู้ว่า ‘ตัวเองไม่เก่งเอาเสียเลย’ ก่อน เช่น เราไม่ควรเสียเวลาไปกับการทบทวนเนื้อหาวิชาภาษาไทยที่เราเก่งอยู่แล้ว แต่เราควรเลือกโฟกัสไปที่วิชาภาษาอังกฤษที่เราไม่ถนัดจะดีกว่า เพื่อให้เรามีความรู้ครอบคลุมทุกวิชา และทำคะแนนทุกวิชาให้ออกมาดีที่สุด

กำหนดวันและเวลาอ่านหนังสือให้ชัดเจน

    ทำตารางการทบทวนเนื้อหาของเราให้เป็นกิจจะลักษณะไปเลยว่า วันไหนจะต้องอ่านเรื่องอะไรบ้าง มีเรื่องไหนที่เราต้องทบทวนซ้ำเป็นรอบที่สองไหม หรือมีวิชาไหนที่เรายังไม่เข้าใจหรือเปล่า การกำหนดตารางเวลาให้ชัดเจนจะทำให้เราไม่มัวแต่เอ้อละเอยลอยชายทและผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ ซึ่งนี่ถือเป็นการฝึกวินัยไปในตัวที่ดีเหมือนกัน

อย่าเสียเวลากับการจดโน้ต

    อาจจะงงกันเล็กน้อยว่า ‘อ่านหนังสือแต่ไม่จดโน้ต แล้วอ่านไปเพื่ออะไร?’  ซึ่งข้อนี้ Ali ได้อธิบายไว้ว่า ถึงแม้นักเรียนส่วนใหญ่จะชอบสรุปเนื้อหาที่ตัวเองเรียนด้วยการจดโน้ต และการจดโน้ตอาจเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับบางวิชา แต่ตัวเขาคิดว่า การจดจะทำให้เราไม่สามารถจำเนื้อหาได้ดีเท่าที่ควร เพราะเราจะมัวแต่ไปโฟกัสและอ่านสิ่งที่เราจด แทนที่จะใช้วิธีการจำ หรือทำความเข้าใจเนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อการสอบมากกว่า

ต้องเข้าใจเนื้อหาก่อน

    อย่างที่ได้บอกในข้อที่แล้ว ว่าการทำความเข้าใจเนื้อหาก่อน จะทำให้การทบทวนเนื้อหาของเรามีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะการจดและการจำอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เราสามารถทำข้อสอบได้ดี หากเมื่อเราต้องเจอโจทย์ที่อาศัยความเข้าใจของผู้เรียน มากกว่าแค่การจำและนำไปสอบเท่านั้น

ใช้เทคนิค ‘Interleaving’

‘Interleaving’ คือเทคนิคการทบทวนเนื้อหาเทคนิคหนึ่ง ที่ไม่ใช่การอ่านเนื้อหาไปทีละหัวข้อ แต่จะเป็นการทบทวนเนื้อหาของหลาย ๆ หัวข้อไปพร้อมกัน อธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ คือ ปกติเราจะใช้วิธีการเริ่มอ่านหัวข้อ A ก่อน จากนั้นจึงอ่านหัวข้อ B และ C ต่อไปเรื่อย ๆ ทีละหัวข้อ แต่ ‘interleaving’ คือการอ่านหัวข้อ A B และ C ไปพร้อมกันรวดเดียว ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราเห็นภาพความแตกต่างของเนื้อหาในแต่ละหัวข้อ แถมยังเป็นวิธีการทบทวนเนื้อหาที่ช่วยประหยัดเวลาอีกด้วย

ลองทำข้อสอบเสมือนจริง

    ‘แล้วการทำข้อสอบปกติกับการทำข้อสอบเสมือนจริงแตกต่างกันยังไง?’ เพราะการทำข้อสอบเสมือนจริง คือเราจะต้องจำลองว่า เรากำลังนั่งทำข้อสอบอยู่ในห้องสอบจริง ๆ ที่เต็มไปด้วยความกดดัน และยังต้องแข่งขันกับเวลานั่นเองค่ะ! ทุกครั้งที่เราลองทำข้อสอบเพื่อทดสอบความรู้และความเข้าใจของตัวเอง เราควรที่จะจับเวลาการทำข้อสอบนั้น ๆ ด้วย เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าตัวเองสามารถทำข้อสอบ และรับมือกับความกดดันได้ดีแค่ไหน เมื่อต้องไปเผชิญกับสถานการณ์จริงในวันข้างหน้า

อ่านหนังสือเป็นกลุ่มกับเพื่อน

    Ali แนะนำว่า เราควรจะจับกลุ่มช่วยกันติวหนังสือกับเพื่อน เพื่อให้การทบทวนเนื้อหาของเราไม่น่าเบื่อและเงียบเหงาจนเกินไป ซึ่งเราไม่ต้องอ่านเรื่องเดียวกับกันเพื่อนเสมอไปก็ได้ เพียงแต่การนั่งอ่านไปพร้อม ๆ กัน เป็นเหมือนเครื่องกระตุ้นว่า ‘เวลานี้เราต้องอ่านหนังสือนะ!’ ซึ่งตัวของ Ali ก็ยังบอกเล่าถึงช่วงที่เขาต้องเตรียมสอบอีกด้วยว่า การนั่งอ่านหนังสือกับเพื่อนมันเป็นเรื่องที่สนุกสำหรับเขา มากกว่าการนั่งอ่านหนังสือคนเดียวในห้องเยอะเลย

ทดสอบความรู้ด้วยกัน

    อีกข้อดีของการนั่งอ่านหนังสือกับเพื่อน ที่นอกเหนือจากความน่าเบื่อที่น้อยลงกว่าการนั่งอ่านคนเดียวแล้ว ก็คือ การได้แชร์และทดสอบสิ่งที่ตัวเองรู้ไปด้วยกันในกลุ่มนั่นเอง ซึ่ง Ali เรียกวิธีนี้ว่า ‘Filling the gap’ ที่หมายถึงการช่วยกันเติมความรู้และเนื้อหาที่แต่ละคนเข้าใจ เพื่อให้ทุกคนในกลุ่มสามารถเรียนรู้ไปได้พร้อมกัน และแน่นอนว่า วิธีนี้มันดีกว่าการพยายามนั่งจำเนื้อหาอยู่คนเดียวแน่ ๆ

หาสถานที่ที่เหมาะกับการอ่านหนังสือ

    จากความพยายามที่จะอ่านหนังสือในห้องนอนของ Ali แต่ไม่เคยสำเร็จ เขาก็ได้ค้นพบแล้วว่า ‘ห้องสมุด’ คือสถานที่ที่เหมาะแก่การอ่านหนังสือเป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเรามีสถานที่ที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเอง ที่จะสามารถทำให้เราโฟกัสกับการอ่านหนังสือ และไม่วอกวอกเพราะสิ่งรอบข้าง สถานที่ที่เหมาะแก่การเตรียมสอบ ก็ขึ้นอยู่กับความชอบ และความสะดวกของแต่ละคนเลยค่ะ

อย่าลืมหาเวลาพักผ่อนให้ตัวเองด้วย

    หลังจากอ่านหนังสือมาอย่างหนักหน่วงแล้ว ก็อย่าลืมหาเวลาพักผ่อนให้กับตัวเองด้วย อย่าลืมว่าเวลาพักผ่อนก็เป็นสิ่งสำคัญไปไม่น้อยกว่าการอ่านหนังสือและการสอบเลย จะมีประโยชน์อะไร ถ้าหากเรามัวแต่นั่งท่องหนังสือทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้หลับไม่ได้นอน จนเกิดอาการอ่อนเพลีย สมองทำงานได้ไม่ดีเท่าทีควร และร่างกายไม่พร้อมสำหรับการสอบจริง ถ้าไม่อยากให้สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดเสียเปล่า ก็อย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอ และหาเวลาผ่อนคลายตัวเองกันด้วยนะคะ

อย่าคาดหวังกับผลลัพธ์มากเกินไป

สาเหตุที่ทำให้เราต้องนั่งอ่านหนังสือและทบทวนเนื้อหาเตรียมสอบ หลัก ๆ แล้วก็เพื่อคะแนนสอบและผลลัพธ์ที่ดีใช่ไหมล่ะคะ แต่ Ali แนะนำว่า เราไม่ควรคาดหวังกับผลลัพธ์มากจนเกินไป แต่อยากให้เราเอ็นจอยด์ไปกับทุกช่วงของการอ่านหนังสือจะดีกว่า เพราะถึงแม้สุดท้ายแล้ว หากคะแนนมันไม่ได้ออกมาอย่างที่เราคาดหวัง แต่เราก็ได้ทำเต็มที่และใช้เวลาให้เป็นประโยชน์อย่างมากที่สุด ไปกับการเพิ่มเติมความรู้ให้กับตัวเองแล้ว

เป็นยังไงบ้างคะ สำหรับ ‘13 เทคนิคเตรียมสอบจากอาลี อับดุล’ ที่ได้นำมาฝากกันในวันนี้ หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์กันไปบ้างไม่มากก็น้อย สำหรับการสอบที่กำลังจะมาถึงในครั้งนี้ ก็อย่าลืมทั้ง 13 เทคนิคนี้ไปปรับใช้ ตั้งใจอ่านหนังสือ ทำทุกอย่างให้เต็มที่ และหาเวลาพักผ่อนให้กับตัวเองกันด้วยนะคะ

ที่มา :https://www.youtube.com
พี่พิ้งค์
พี่พิ้งค์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น