‘สมาธิสั้น’ ควบคุมได้ แถมไม่ใช่โรคร้ายแรงอย่างที่คิด!

Spoil 

  • ภาวะของโรคสมาธิสั้น หรือ  ‘ADHD’ จะแสดงออกชัดเจนหลังอายุ 7 ปีเป็นต้นไป
  • อาการของโรคจะทำให้ไม่สามารถอยู่นิ่งได้  มีปัญหาการจัดงานให้เป็นระเบียบ
  • หนึ่งข้อดีของสมาธิสั้น คือ   ‘ความคิดสร้างสรรค์ คิดอะไรแปลกใหม่ได้ตลอด’
  • ภาวะสมาธิสั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีวิธีรักษาเพื่อควบคุมอาการ

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘สมาธิสั้น’ กันมาตั้งแต่เด็กจนโต และอาจคิดว่านี่ต้องเป็นโรคที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตมากแน่ ๆ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอาการของโรคนี้กันให้มากขึ้น และอยากจะบอกว่าจริง ๆ แล้ว โรคสมาธิสั้นก็มีข้อดีของมันอยู่เหมือนกันนะคะ!

โรคสมาธิสั้นคืออะไร?

ภาพจาก : freepik.com
ภาพจาก : freepik.com

ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) หรือที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า ‘โรคสมาธิสั้น’ คือ ภาวะผิดปกติทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ที่ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีภาวะโรคนี้ จะมีอาการซุกซน วอกแวกง่าย ไม่สามารถเก็บรายละเอียดของสิ่งที่ฟังได้ดีนัก

ซึ่งอาการของโรคสมาธิสั้นนี้ จะพบได้บ่อยในเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 3-7 ปี และอาการจะแสดงออกให้เห็นเด่นชัดในช่วงหลังอายุ 7 ปีเป็นต้นไป ยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่มาของโรคได้อย่างชัดเจน แต่ส่วนหนึ่งของสาเหตุนั้น เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่ส่งผลให้การควบคุมสมาธิทำงานได้น้อยกว่าปกติ

อาการของโรคสมาธิสั้น

  • ไม่มีสมาธิในการทำงาน
  • ไม่ฟังสิ่งที่คนอื่นกำลังพูดด้วย
  • มีปัญหาในการจัดการทำงานให้เป็นระบบระเบียบ
  • หลงลืมกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำ
  • อยู่ไม่สุข นั่งนิ่งไม่ได้ ชอบขยับมือและเท้าไปมา
  • ไม่ชอบการรอคอย หุนหันพลันแล่น

แต่จริง ๆ แล้ว โรคสมาธิสั้นก็มีข้อดีอยู่นะ!

ใช่ค่ะ! การเป็นคนสมาธิสั้นหรือการมีภาวะของโรคนี้อยู่ก็มีประโยชน์ และข้อดีต่อการใช้ชีวิตเหมือนกัน เพราะบางครั้งอาการของโรคก็แสดงแต่เฉพาะด้านดี ที่เอื้อให้เราสามาถดึงศักยภาพที่ดีของตัวเองออกมาใช้ได้ด้วย หลายคนจึงไม่ได้กังวลหรือคิดหาวิธีการรักษาแต่อย่างใด ก็เพราะว่าอาการของโรคไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของพวกเขานั่นเอง

ภาพจาก : freepik.com
ภาพจาก : freepik.com

ความสามารถรอบด้าน

คนที่มีภาวะของโรคสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีพละกำลังเยอะมาก! ด้วยความที่อาการของโรคอาจมีส่วนที่ทำให้เขากลายเป็นคนไม่อยู่นิ่ง ไม่อยู่เฉย ก็เลยเป็นผลที่ทำให้เขาต้องคิดอะไรอยู่ในหัวตลอดเวลา แถมส่วนใหญ่ก็ชอบหางานอดิเรกมากกว่า 1 อย่างทำในเวลาว่าง และพวกเขาสามารถทำมันได้ดีมากด้วยนะ

หาทางออกของปัญหาได้เสมอ

แน่นอนว่า บางครั้งอาการไม่อยู่นิ่ง หรือไม่อยู่เฉยอาจเป็นข้อเสีย และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต แต่มันไม่เสมอไปค่ะ! เพราะปกติแล้ว คนที่ไม่ได้มีภาวะโรคนี้ เมื่อเจอปัญหาในชีวิตซึ่งยากที่จะหาทางแก้ ก็มักจะคิดอะไรไม่ออก อีกทั้งยังจมปลักอยู่กับปัญหานานเลยดีเดียว แต่เพราะความคิดที่ไม่อยู่นิ่งของคนสมาธิสั้น พวกเขาจึงสามารถคิดหาทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ค่อนข้างง่าย และบางทางออกก็เป็นสิ่งที่คนทั่วไปคิดไม่ถึงด้วย

ภาพจาก : freepik.com
ภาพจาก : freepik.com

ความคิดสร้างสรรค์

ต่อเนื่องจากความไม่อยู่เฉยที่คนสมาธิสั้นเป็น ภาวะของโรคนี้ก็ทำให้พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์มากเชียวล่ะค่ะ โดยเฉพาะในงานศิลปะ  งานวาดรูป งานเขียน หรืองานอื่น ๆ ที่ต้องใช้ความคิดและความพยายามสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ตลอด คนที่มีสมาธิสั้นมักคิดอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น ซึ่งผลที่ออกมาจากงานนั้นส่วนใหญ่ก็มักสร้างความตื่นเต้นและแปลกตาให้กับคนอื่นด้วย

จดจ่อกับหลายสิ่งพร้อมกัน

อ่านแล้วอาจดูเหมือนเป็นข้อเสียใช่ไหมคะ? แต่แท้จริงแล้ว การที่คนสมาธิสั้นสามารถจดจ่อกับหลายสิ่งพร้อมกันถือเป็นข้อดีมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์รีบเร่งหรือเร่งด่วน งานที่ต้องอาศัยความเร็วคืองานที่เหมาะกับคนสมาธิสั้นมาก อีกทั้งพวกเขายังไม่รู้สึกว่า การรีบทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันเป็นเรื่องที่ยากลำบากด้วย และแน่นอนว่าส่วนใหญ่พวกเขาก็มักจะทำงานทั้งหลายนั้นออกมาได้ดี และแทบไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องเลยค่ะ

คนดังคนไหนมีภาวะโรคสมาธิสั้นบ้าง มาดูกัน!

Bill Gates

ภาพจาก : facebook.com/BillGates
ภาพจาก : facebook.com/BillGates

เริ่มกันที่คนแรก คงไม่ต้องอธิบายเยอะเลยใช่ไหมล่ะคะ ว่าการเป็นคนสมาธิสั้นนั้นถือเป็นข้อดีได้ยังไง เพราะผู้สร้าง ‘Microsoft’ อย่าง ‘Bill Gates’ ก็ถูกนับว่าเป็นคนหนึ่งที่มีภาวะของโรคนี้อยู่เหมือนกัน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของเขาเลยแม้แต่น้อย แถมตอนนี้เขาก็ยังเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จนมีเงินทองมหาศาลเลยด้วย

Justin Timberlake

ภาพจาก  : instagram.com/justintimberlake
ภาพจาก  : instagram.com/justintimberlake

การที่นักร้องชื่อดังอย่าง ‘Justin Timberlake’ อยู่ในกลุ่มผู้ที่มีภาวะสมาธิสั้นเหมือนกัน คงเป็นข้อสรุปของข้อดีข้างต้นได้เลยว่า การเป็นคนสมาธิสั้นจะสามารถทำงานด้านศิลปะได้ดีและจะมีความคิดสร้างสรรค์มาก เพราะ Justin นั้นเป็นนักร้องและนักแต่งเพลงชื่อดังที่คว้ารางวัลมาแล้วนับไม่ถ้วน และเขายังออกมาเปิดเผยอีกว่า เขาไม่ได้มีแค่ภาวะโรคสมาธิสั้นอย่างเดียวเท่านั้น เขามีภาวะของโรคทางจิตเวชที่เรียกว่า OCD (obsessive-compulsive disorder) หรือ โรคย้ำคิดย้ำทำอีกเหมือนกัน

Leonardo da Vinci

ภาพจาก : wikipedia.org
ภาพจาก : wikipedia.org

นอกจาก ‘Leonardo da Vinci’ จะเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงมากในประวัติศาสตร์แล้ว เขายังเป็นถึงนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร สถาปนิก และนักคณิตศาสตร์อีกต่างหาก โดยผลงานขึ้นชื่อของเขาก็อย่างเช่น The Mona Lisa และ The Last Supper นั่นเอง

Micheal Phelps

ภาพจาก : instagram.com/m_phelps00
ภาพจาก : instagram.com/m_phelps00

‘Micheal Phelps’ เป็นนักกีฬาระดับตำนานที่ได้รับการตรวจพบว่าเขามีภาวะโรคสมาธิสั้นตั้งแต่ยังเด็ก โดยอาการที่เกิดทำให้เขาไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่เรียนได้ดีเท่าไรนัก แต่ในทางกลับกัน เขาดันกลายเป็นนักกีฬาว่ายน้ำที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง สาเหตุส่วนหนึ่งคงมาจากพละกำลังที่มากของคนสมาธิสั้นนั่นแหละค่ะ ที่ทำให้เขามีแรงแข่งขันจนคว้าเหรียญทองมาไม่รู้กี่เหรียญแล้ว

มีภาวะสมาธิสั้นแบบนี้ จะทำอาชีพไหนได้ดี?

  • อาชีพด้านศิลปะ : นักดนตรี ศิลปิน นักออกแบบเสื้อผ้า สถาปนิก นักเต้น นักตกแต่งภายใน
  • อาชีพที่ท้าทาย : นักกีฬา นายหน้าซื้อขายหุ้น นักดำน้ำ นักบิน นักออกแบบโปรแกรม
  • อาชีพที่อาศัยความรวดเร็ว : พยาบาลประจำห้องผ่าตัด ผู้ช่วยทันตแพทย์ ศัลยแพทย์ พนักงานขาย
  • อาชีพที่มีความกดดัน : ตำรวจ นักสืบ ครูฝึกนักกีฬา นักดับเพลิง ผู้ปฏิบัติงานฉุกเฉิน

แล้วโรคสมาธิสั้นรักษาให้หายขาดได้ไหม มีวิธีการรักษายังไง?

เนื่องจากโรคสมาธิสั้นมีโอกาสหายเองได้น้อยมาก และส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การสังเกตการณ์ของตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อรู้สึกว่าอาการของโรคเริ่มส่งผลต่อการดำเนินชีวิต แบบที่ไม่สามารถควบคุมได้แล้ว ก็ควรเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่สุด

วิธีการรักษาโรคสมาธิสั้น

  1. การรักษาด้วยยา : ยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้น คือ ยาในกลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท มีทั้งแบบออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว ซึ่งแบบออกฤทธิ์ยาวจะกินเพียงครั้งเดียวในตอนเช้า จากนั้นยาจะสามารถควบคุมอาการได้ตลอดทั้งวัน ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยอาการของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ว่าคนไข้แต่ละคนควรได้รับยารักษาชนิดใด
  2. การปรับพฤติกรรม : วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ตรวจพบอาการตั้งแต่ยังเด็ก จึงต้องอาศัยการรักษาเบื้องต้นร่วมกับพ่อแม่ โดยการจัดทำตารางเวลาให้ชัดเจน ว่าแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง ใช้การสื่อสารระหว่างกันให้กระชับและตรงไปตรงมา หากมีพลังเยอะกว่าปกติก็ควรหากิจกรรมทำ เช่น การเล่นกีฬา

เห็นกันไหมคะทุกคน ว่าภาวะสมาธิสั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเสมอไป หากมีการดึงสิ่งที่ดีของอาการมาปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวัน และส่งเสริมให้เราสามารถทำแต่ละกิจกรรมได้ดีมากยิ่งขึ้น แต่หากเราเริ่มสังเกตว่าตัวเองมีภาวะของโรคสมาธิสั้น จนเกิดความลำบากในการใช้ชีวิต ก็ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาวิธีการรักษาต่อไปจะดีกว่านะคะ

ที่มา :https://www.healthline.comhttps://www.uopeople.eduhttps://www.millenniummedicalassociates.comhttps://www.bangkokhospital.comhttps://www.synphaet.co.thhttps://www.psychologytoday.comhttps://health.usnews.com

 

พี่พิ้งค์
พี่พิ้งค์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด