ถอดบทเรียนจาก TEDx Talk “พลังแห่งความอ่อนแอ” ที่ไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแออย่างที่คิด!

สวัสดีค่าชาว Dek-D ทุกคน เชื่อว่ามีหลายคนที่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอ่อนแอ อ่อนไหว หรือมีแต่ข้อเสีย แล้วคิดว่าความรู้สึกเหล่านั้นเป็นเรื่องไม่ดี ไม่อยากแสดงด้านที่อ่อนแอให้คนอื่นเห็น พี่กระถินเองก็เคยรู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน เลยอยากมาแชร์ให้เห็นอีกด้านหนึ่งของความอ่อนแอที่อาจมีข้อดีกว่าที่เราคิด ผ่านบทเรียนที่ได้จาก TEDx Talk หัวข้อ “The Power of Vulnerability” (พลังแห่งความอ่อนแอ) โดยคุณ Brené Brown ให้น้องๆ ได้อ่านกันค่ะ

Photo credit: https://brenebrown.com/about
Photo credit: https://brenebrown.com/about

Brené Brown เป็นศาสตราจารย์วิจัยประจำ University of Houston และเป็นศาสตราจารย์รับเชิญให้ Austin McCombs School of Business ที่ University of Texas เธอศึกษาเรื่องความกล้าหาญ (courage) ความอับอาย (shame) ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) และความอ่อนแอ (vulnerability) ในตัวมนุษย์ และยังมีผลงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ (ติด Best Selling อันดับ 1 โดย New York Times ถึง 6 เล่ม!) รายการพอดแคสต์ และการบรรยาย TED Talks 

สำหรับหัวข้อ “The Power of Vulnerability” ที่เอามาแบ่งปันในวันนี้ก็ติดอันดับ 1 ใน 10 TEDx Talks ยอดนิยมด้วยนะคะ เนื้อหาจะเป็นยังไง อ่านต่อข้างล่างได้เลยค่า

 

Photo by Kristina Tripkovic on Unsplash
Photo by Kristina Tripkovic on Unsplash

เพราะยังอยากสานสัมพันธ์ เราจึงอ่อนแอ

Brené เล่าว่าจุดเริ่มต้นของหัวข้อนี้เป็นผลลัพธ์จากการศึกษาและพูดคุยกับคนมากมาย ด้วยอาชีพนักวิจัยของ Brené ทำให้เธอรู้ว่า จุดเริ่มต้นของความรู้สึกอ่อนแอ (vulnerability) มาจากการสร้างสายสัมพันธ์ (connection) ระหว่างคนรอบตัว ซึ่งเป็นความรู้สึกพื้นฐานในตัวมนุษย์ทุกคน

เธอยกตัวอย่างจากงานสัมภาษณ์ที่ผ่านมาว่า “เมื่อขอให้ (คนที่ถูกสัมภาษณ์) เล่าเรื่องเกี่ยวกับความรัก พวกเขาจะเล่าเรื่องอกหัก ถ้าขอให้เล่าถึงการมีส่วนร่วม พวกเขาจะเล่าเหตุการณ์แสนเจ็บปวดที่พวกเขารู้สึกเป็นส่วนเกิน ดังนั้นเมื่อฉันขอให้เขาเล่าเรื่องสายสัมพันธ์ เรื่องส่วนใหญ่ที่พวกเขาบอกกับฉันจึงเกี่ยวกับการถูกตัดขาดจากความสัมพันธ์ (disconnection)”

ข้อสังเกตนี้ทำให้ Brené มองหาว่าอะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนมีปัญหา และเธอได้คำตอบว่าสิ่งนั้นคือ ความละอายใจ (shame) นั่นเองค่ะ

  “ความหมายของความละอายใจแบบง่ายๆ คือความกลัวว่าจะถูกตัดขาด: มีจุดไหนของฉันที่ให้คนอื่นรู้หรือเห็นเข้า แล้วจะทำให้ฉันไม่คู่ควรกับความสัมพันธ์ของเราไหม?

เพราะอยากจะสร้างสายสัมพันธ์ให้อยู่ต่อไปนานๆ คนเราจึงกลัวว่าตัวเองจะไม่ดีพอหรือมองว่าตัวเองมีแต่ข้อเสีย ซึ่งความกลัวตรงนี้เนี่ยแหละค่ะ คือที่มาของความรู้สึกอ่อนแอ รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอหรือไม่มีค่า และยิ่งทำให้เราไม่กล้าจะสานสัมพันธ์กับใคร เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควรกับความสัมพันธ์นั้น

Brené เสริมว่าความอ่อนแอไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร และเป็นความรู้สึกที่มนุษย์ทุกคนมีด้วยซ้ำค่ะ ไม่มีใครปราศจากความรู้สึกอ่อนแอหรือละอายใจในตัวเอง เพียงแค่ไม่มีใครกล้าพูดว่าตัวเองอ่อนแอเท่านั้นเองค่ะ แต่ถ้าหากมนุษย์ต้องการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคนสำคัญรอบข้างเอาไว้ เราก็ต้องกล้าที่จะเปิดใจและปล่อยให้คนอื่นมองเห็นด้านที่อ่อนแอของเราด้วย 

 

Photo by Tim Mossholder on Unsplash
Photo by Tim Mossholder on Unsplash

กล้าที่จะเป็นคนอ่อนแอ

หลังจากการสัมภาษณ์และรับฟังเรื่องราวคนนับร้อยเพื่อศึกษาความรู้สึกละอายใจเป็นเวลาถึง 6 ปี  Brené ค้นพบว่าเธอสามารถแบ่งคนที่เธอได้คุยด้วยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ คนที่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า (worthiness) คนกลุ่มนี้รู้ว่าเขามีค่าพอที่จะถูกรัก และรู้สึกเป็นที่ต้องการของคนอื่น (sense of love and belonging) ส่วนคนอีกกลุ่มคือคนที่มีปัญหาในการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง พวกเขาไม่มั่นใจว่าตัวเองดีพอที่จะถูกรัก ซึ่งเธอบอกว่าความแตกต่างระหว่างคนสองกลุ่มนี้ก็คือ คนกลุ่มแรกเชื่อว่าตัวเองมีคุณค่านั่นเองค่ะ

Brené นำบทสัมภาษณ์ของคนกลุ่มแรกมาวิเคราะห์ และได้ข้อสรุปว่าสิ่งที่คนกลุ่มนี้มีเหมือนกันคือ ความกล้า (courage) ที่จะเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ พวกเขาใจดีกับตัวเอง และที่สำคัญคือมีความกล้าที่จะโอบรับความอ่อนแอของตัวเอง พวกเขาเชื่อว่าความอ่อนแอเป็นสิ่งที่สวยงามและจำเป็นต่อชีวิต ถึงแม้ทำให้เกิดความรู้สึกละอายใจหรือกลัวถูกทอดทิ้ง แต่ในขณะเดียวกัน ความอ่อนแอก็ทำให้เรากล้าที่จะเปิดใจให้คนอื่น กล้าที่จะลงมือทำบางอย่างที่อาจไม่ได้รับผลตอบแทนเหมือนที่คาดไว้ กล้าที่จะบอกรักใครสักคน และกล้าที่จะยอมรับตัวเองในแบบที่เป็น

แม้แต่ตัว Brené เองก็ประสบปัญหากับความรู้สึกอ่อนแอเหมือนกันค่ะ เธอเคยคิดว่าความอ่อนแอเป็นสิ่งที่ต้องจัดการ เธอต่อสู้กับความอ่อนแอของตัวเอง แต่ความอ่อนแอก็สู้กลับ สุดท้ายเธอก็เรียนรู้จากการพูดคุยกับนักจิตวิทยาว่า ความอ่อนแอไม่ใช่สิ่งที่ควรกำจัด แต่ควรโอบรับมันมากกว่า

“I lost the fight, but probably won my life back.”

“ฉันสู้ (กับความอ่อนแอ) แล้วแพ้ แต่ฉันก็ได้ชีวิตของตัวเองกลับคืนมา”

 

Photo by Jackson David on Unsplash
Photo by Jackson David on Unsplash

ยิ่งปิดกั้นความอ่อนแอ ยิ่งรู้สึกว่างเปล่า

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ยอมรับว่าตัวเองอ่อนแอล่ะ? Brené อธิบายว่าคนเราไม่สามารถเลือกปิดกั้นความรู้สึกได้เพียงความรู้สึกเดียว ถ้าเราไม่ยอมรับความรู้สึกอ่อนแอ ก็เท่ากับว่าเราปิดกั้นความรู้สึกอื่นทั้งหมดไปด้วย เมื่อเราไม่รับรู้ทั้งความรู้สึกดีและไม่ดี เราก็จะรู้สึกว่างเปล่า ไร้หนทาง และรู้สึกอ่อนแอกว่าเดิมด้วยซ้ำ สุดท้ายก็จบด้วยการเติมเต็มตัวเองด้วยความสุขจากภายนอก กลายเป็นติดในวังวนของความอ่อนแอและว่างเปล่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Brené เล่าว่าสังคมปัจจุบันให้ความสำคัญกับความสมบูรณ์แบบและความแน่นอนมากเกินไป คนเราจึงเลือกที่จะปิดกั้นความอ่อนแอไม่ให้ใครเห็น แล้วหันไปหาความสุขชั่วคราวจากสิ่งรอบตัวแทน อีกทั้งยังส่งต่อความคิดแบบนี้ให้กับรุ่นลูกหลานด้วย 

เธอจึงทิ้งท้ายว่า แทนที่จะกดดันให้คนรุ่นใหม่ต้องเป็นคนสมบูรณ์แบบ ต้องเรียนเก่งที่สุด หรือเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้ พวกเราควรจะฝึกทั้งตัวเองและเด็กๆ ให้ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง เพราะไม่ว่าเราจะเพอร์เฟ็กต์หรือไม่ ทุกคนที่เกิดมาล้วนแต่มีคุณค่าในตัวเองและมีค่าพอจะได้รับความรัก 

ความอ่อนแอจึงไม่ใช่เรื่องไม่ดี เพราะเมื่อเราสามารถยอมรับได้ว่าตัวเองอ่อนแอ สิ่งที่ตามมาคือเราจะยอมรับได้ว่าตัวเองมีคุณค่ามากพอที่จะมีชีวิตอยู่ มีค่ามากพอที่จะรักใครสักคน มีความกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงเรียนรู้ที่จะใจดีกับตัวเองและคนรอบตัวมากขึ้นด้วยค่ะ

.........................

เห็นไหมคะว่าการที่เราคิดว่าตัวเองอ่อนแอไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรเลย แถมยังทำให้เรารักตัวเองได้มากกว่าเดิมด้วย ถ้าน้องๆ มีใครสักคน (อาจเป็นเพื่อน คนในครอบครัว หรือแฟน) ที่เราสามารถเปิดใจ และเป็นตัวเองในเวอร์ชันอ่อนแอกับเขาได้ หรือเขาเป็นฝ่ายเปิดใจให้เรา น้องๆ ยิ่งต้องใจดีกับเขา และรักษาความสัมพันธ์นี้เอาไว้นานๆ นะคะ หวังว่าน้องๆ ที่เข้ามาอ่านจะรู้สึกมีพลังใจมากขึ้นนะ พี่กระถินเป็นกำลังใจให้ทุกคนค่า  ^_^


Sources:
https://www.youtube.com/watch?v=iCvmsMzlF7ohttps://www.ted.com/talks/brene_brown_the_power_of_vulnerability/transcript?referrer=playlist-a_better_you&autoplay=truehttps://brenebrown.com/about/https://www.ted.com/playlists/180/the_10_most_popular_tedx_talkshttps://unsplash.com/photos/nwWUBsW6ud4https://unsplash.com/photos/SR8ByN6xY3khttps://unsplash.com/photos/SrunqRT0A34
พี่กระถิน
พี่กระถิน - Columnist คนธรรมดาที่ชอบอ่านมังงะ ฟังเพลง วาดรูป และมองหาความพิเศษในชีวิตแต่ละวัน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น