spoil

  • Productivity guilt คือ ความรู้สึกผิดจากการที่คิดว่าตัวเองเป็นคนไม่มีคุณภาพ ไม่ขยัน ซึ่งความรู้สึกผิดจะยิ่งหนักขึ้น ถ้าอยู่เฉย ๆ จึงพยายามตอบสนองด้วยการทำอยู่ตลอดแบบไม่หยุดพัก
  • สัญญาณของ Productivity guilt  มีได้หลายอย่างทั้งรู้สึกผิดเมื่อไม่ทำอะไร ชอบทำตัวยุ่ง มีปัญหาด้านการนอน เป็นต้น
  • แม้จะดูเป็นเรื่องยากในการรับมือความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น แต่ก็สามารถทำได้ด้วยการค่อย ๆ ปรับความคิด และพฤติกรรม เพื่อให้ทุกอย่างสมดุล

มีใครเป็นกันไหมเอ่ย? ตั้งใจทำงานออกมาดีที่สุดตามที่ได้รับมอบหมาย แต่พอหยุดทำ ความรู้สึกผิดก็พรั่งพรูมาจากไหนไม่รู้ ถาโถมทำให้หยุดคิดไม่ได้ จนต้องลุกมาทำต่อทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องรีบก็ได้ นี่อาจเป็นสัญญาณว่าเรากำลัง Productivity guilt อยู่! ว่าแต่ Productivity guilt คืออะไรกันนะ?

Productivity guilt คือ ความรู้สึกผิดจากการที่คิดว่าตัวเองเป็นคนไม่มีคุณภาพ ไม่ขยัน ไม่ทำงานหนัก ซึ่งความรู้สึกผิดจะยิ่งหนักขึ้นเรื่อย ๆ  ถ้าอยู่เฉย ๆ จึงพยายามตอบสนองด้วยการทำอยู่ตลอดเวลาแบบไม่หยุดพัก 

โดยคุณ Jennifer Teplin นักจิตบำบัดและนักสังคมสงเคราะห์คลินิก กล่าวว่า ความรู้สึกผิดจะรุนแรงขึ้นเมื่อผ่านช่วงเวลาที่ยุ่งสุด ๆ ไปแล้ว 

แน่นอนว่าการไม่ให้สมองได้พัก ย่อมส่งผลเสียโดยตรงต่อความเครียด ความเสี่ยงต่อโรคทางจิตเวช เผชิญกับภาวะหลับยาก รู้สึกอ่อนเพลียตลอดทั้งวัน

โดยสัญญาณว่าเราอาจกำลัง Productivity guilt อยู่ ได้แก่ 

  • รู้สึกผิดเมื่อไม่ได้ทำอะไร
  • ชอบทำตัวให้ยุ่งอยู่เสมอ
  • มีปัญหาด้านการนอนหลับยาก
  • ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา

การขยันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย เพียงแต่อะไรที่มากเกินพอดียังไงก็ไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ เพราะฉะนั้นหากใครสงสัยว่าตัวเองกำลัง productivity guilt อยู่และอยากจะหาวิธีรับมือ งั้นมาลองทำตามคำแนะนำด้านล่างกันเลยค่ะ 

ทำ To do list แบบพอดี

มาเริ่มด้วยการทำ To do list ในหนึ่งวันกันก่อนเลย เช่น วันนี้จะทำการบ้านให้เสร็จ อ่านหนังสือสักบท เป็นต้น ซึ่งสำคัญมากว่าการเขียนลิสต์จะต้องไม่ยัดทุกอย่างมากจนเกินไป เพราะแทนที่จะเป็นตัวช่วยให้เราจัดการอะไรง่ายขึ้น อาจกลายเป็นกดดันมากแทนได้

โดยคุณ Jennifer Teplin นักจิตบำบัดและนักสังคมสงเคราะห์คลินิก ก็ได้กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มักไม่ได้จดว่าในหนึ่งวันต้องทำอะไรให้เสร็จบ้าง หรือบางครั้งก็จดเยอะเกินไปแบบไม่เกลี่ยให้วันอื่นเลย พอย้อนดูก็ยิ่งทำให้รู้สึกผิดว่าทำไมทำไม่เสร็จ 

ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนนู้นคนนี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะกับคนที่ดูดีกว่า เช่น ทำไมเพื่อนตื่นเช้าได้ทุกวันแม้กระทั่งวันหยุด ทำไมเพื่อนคนนี้สามารถทำกิจกรรมได้ทั้งวันโดยไม่เหนื่อย แน่นอนว่าเทียบปั๊บก็จะรู้สึกผิดทันที คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่ดีเท่ากับคนอื่น

จริง ๆ แล้วการที่เราไม่เหมือนเพื่อนไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่ง เพียงแต่ทุกคนล้วนเกิดมามีจุดเด่น ความชอบ ความถนัด ไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่เป็นอะไรเลย หากเราจะทำไม่ได้เหมือนคนอื่น เพียงหมั่นโฟกัสสิ่งที่เราชอบ คอยพัฒนาไปเรื่อย ๆ ในแบบที่เรามีความสุข เพียงเท่านี้ก็ดีมากแล้วค่ะ 

ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบ

เคยเป็นบ้างไหม? เวลาทำอะไรผิดพลาด วันนั้นฟ้าแทบถล่ม รู้สึกแย่ไปหมด มีแต่คำว่าไม่เก่งเต็มสมองและความคิด โทษตัวเองไปเรื่อย ๆ ว่าเราขยันไม่พอ

สิ่งที่จะช่วยทำให้เราปล่อยวางความรู้สึกผิดที่ไม่รู้จบนั่นก็คือยอมรับว่าไม่มีใครเพอร์เฟคไปทุกเรื่อง ซึ่งนั่นคือเรื่องจริงมาก ๆ เลยนะคะ ทุกคนต่างมีข้อดีและข้อเด่นของตัวเอง เคยมีเรื่องที่ทำผิดพลาดและทำได้ดี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เราเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นอย่าได้กังวลกับความสมบูรณ์แบบที่มากเกินไปเลย 

โฟกัสที่กระบวนการมากกว่าเป้าหมาย

เวลาทำอะไรสักอย่างเป็นปกติที่เราจะโฟกัสไปที่ผลลัพธ์เป็นหลัก และหากเป้าหมายที่วางไว้ไม่ประสบความสำเร็จตามหวัง ก็ย่อมทำให้เรารู้สึกเฟลและโทษตัวเองในที่สุด 

ดอกเตอร์ Julie de Azevedo Hanks นักสังคมสงเคราะห์คลินิก และผู้ก่อตั้ง Wasatch Family Therapy กล่าวว่า กระบวนการที่ทำให้เราเติบโตไม่ใช่การทำสำเร็จและจบไป แต่เป็นระหว่างทางมากกว่าว่าเราได้เรียนรู้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใดเลยค่ะ  

เตือนตัวเองเสมอว่าไม่ได้ทำอะไรก็เรียกว่าทำ

อาจฟังดูแย้งกันไปสักนิด แต่จริง ๆ แล้วการไม่ทำอะไร นั่ง นอนอยู่เฉย ๆ ก็ถือว่าเรากำลัง Productive อยู่นะคะ

คุณ Peter Bregman ผู้บริหารชื่อดังของ Bregman Partners ได้เขียนประโยคหนึ่งในหนังสือ Four Seconds: All the Time You Need to Stop Counter-Productive Habits and Get the Results You Want ของเขาว่า

ไอเดียที่ดีที่สุดของฉันมักมาในตอนที่ไม่โปรดักทีฟใด ๆ อาจเป็นตอนกำลังวิ่ง อาบน้ำ นั่งอยู่เฉย ๆ กำลังรอใครสักคน หรือในตอนที่ฉันทิ้งตัวบนเตียงปล่อยใจล่องลอยและผล่อยหลับไป นี่คือช่วงเวลาที่ว่างเปล่า ไม่ได้มีอะไรสำคัญและพิเศษ แต่สิ่งเหล่านั้นกลับเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราจัดการความคิดจิตใจ ทำให้เข้าใจชีวิต มีเวลาพูดคุยและฟังตัวเอง”

เผชิญหน้ากับสิ่งที่ทำให้รู้สึกผิดบ้าง

คุณ Elizabeth Sullivan นักครอบครัวบำบัดจาก San Francisco ได้แนะนำให้เราลองเผชิญหน้ากับความรู้สึกผิดดังกล่าวไปเลย อาจจะเป็นพาตัวเองไปนั่งคาเฟ่กินขนมอร่อย ๆ สักชิ้น อ่านหนังสือสักเล่ม ฟังดูแล้วเป็นเรื่องธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วคนที่มีความรู้สึกผิดหนักมาก ๆ แค่นี้ก็อาจทำให้รู้สึกลำบากใจสุด ๆ แล้ว 

การเผชิญหน้ากับเรื่องรู้สึกผิดไม่ใช่เพียงแค่ท้าทายให้ตัวเองหลุดออกมาจากกรอบ แต่ยังช่วยทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายขึ้น สมองแล่นได้ดี เกิดความคิดสร้างสรรค์ และพลังงานที่พร้อมจะไปต่อได้อีกด้วย

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายในการจัดการความรู้สึกที่เกิดขึ้น แต่พี่เชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้ อาจจะเริ่มจากทีละเล็กทีละน้อยก่อน ค่อย ๆ ปรับกันไป เชื่อสิว่าทุกคนจะสามารถทำได้แน่นอน!

อ้างอิงจากhttps://www.lifehack.org/335662/how-avoid-productivity-guilt-and-become-more-productive-the-processhttps://psychcentral.com/blog/reducing-your-guilt-about-not-being-productive#4https://medium.com/mind-cafe/getting-through-the-icky-feelings-of-productivity-anxiety-c76993be3b77https://www.wellandgood.com/productivity-guilt/
พี่เอย
พี่เอย - Columnist คอลัมนิสต์ผู้หลงรักการกิน และอินซีรีส์เกาหลีมากถึงมากที่สุด

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น