เอาความชอบมาเป็นอาชีพ กับ ‘นักพากย์ร้อยเสียง’ แยม-วรรญา ไชยโย

spoil

  • วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับพี่แยม วรรญา ไชยโย นักพากย์อิสระ และเจ้าของชาแนล Tiktok @wanyayam ที่มีผู้ติดตามแล้วกว่า 2.4M Followers
  • โดยพี่แยมมีผลงานเด่น ๆ อย่างคลิปพากย์คาแรคเตอร์การ์ตูน 100 เสียง และวอเอ๊ะ ๆ เวอร์ชันชินจังที่กลายเป็นไวรัล
  • กว่าจะมาถึงวันนี้พี่แยมใช้การฝึกฝนและลองทำไปเรื่อย ๆ ว่าตัวเองนั้นชอบอะไรและจะไปถึงเป้าหมายได้ยังไง

สวัสดีน้อง ๆ ชาว Dek-D ทุกคนนะคะ เอ…มีใครรู้จักอาชีพนักพากย์กันไหมเอ่ย ที่ไม่ว่าจะดูหนัง ดูการ์ตูนจะมีเสียงพากย์เป็นภาษาไทยคอยให้เราเข้าใจ ซึ่งเสียงเหล่านั้นก็ไม่ใช่แค่สื่อสารแต่ยังเต็มไปด้วยลูกเล่นที่สร้างความสนุกของการดูมากขึ้น

วันนี้บอกเลยตื่นเต้นมาก! เพราะเรามีนัดกับพี่แยม วรรญา ไชยโย นักพากย์อิสระ และเจ้าของชาแนล Tiktok ชื่อ @wanyayam ที่มีผู้ติดตามแล้วกว่า 2.4M Followers ที่หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นเสียงจากคลิปพากย์ร้อยเสียง และวอเอ๊ะ ๆ เวอร์ชันชินจังที่ดังสุด ๆ 

กว่าจะมาเป็นพี่แยมร้อยเสียงได้ในวันนี้ก็ต้องบอกว่ามันไม่ใช่ทั้งเรื่องง่าย และก็ไม่ใช่เรื่องยากสักทีเดียว ที่สำคัญมาจากการฝึกและพยายามล้วน ๆ เพื่อตามล่าความชอบและความฝันและได้ลงมือทำจนเป็นอาชีพหลัก

เอาล่ะ! อย่ารอช้ากันดีกว่า เราไปคุยกับพี่แยมถึงเรื่องเรื่องราวเส้นทางการทำอาชีพนักพากย์กันดีกว่าว่าจะราบรื่นและสนุกเหมือนกับเสียงพากย์ที่ทำออกมาอยู่ตลอดหรือเปล่า

จุดเริ่มต้นที่ทําให้ชื่นชอบและมาทํางานด้านนี้เป็นยังไงอยากให้ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยค่ะ

ต้องเล่าก่อนว่าแยมเป็นเด็กต่างจังหวัด คุณพ่อคุณแม่ไปทำงานไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกันเท่าไหร่ เขาก็จะคอยซื้อซีดีการ์ตูน หนังจีนนู่นนี่ส่งกลับมาฝากให้ตลอด เราก็เลยชอบมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เรียนคณะนิเทศศาสตร์ ม.พะเยา ก็มีวิชาหนึ่งเป็นวิชาเลือกเล็ก ๆ คือเป็นเสี้ยวในวิชาเลือกอีกทีหนึ่งเกี่ยวกับการพูดเพื่อการสื่อสาร เขาก็จะมีให้นักศึกษาได้ลองออกเสียงต่าง ๆ แบบเป็นเสียงพากย์เสียงอะไร ตอนที่ได้เรียนเหมือนมันทำให้ความชอบสมัยเด็กผุดกลับขึ้นมาอีกครั้ง เหมือนเราได้ย้อนกลับไปเล่นกับเพื่อนในจินตนาการ ทำเสียงการ์ตูนเล่นกับตะเกียบกับช้อน

ณ ช่วงนั้นคือชอบทางนี้แล้วแหละ บวกกับคาบเกี่ยวช่วงทำโปรเจกต์จบอยู่พอดี ก็เลยอยากทำมันจริงจังขึ้นมา เลยเลือกทำโปรเจกต์เป็นนิทานเสียง มานั่งคิดว่ากลุ่มเป้าหมายไหนที่จะตอบโจทย์ฟังนิทานเสียงของเราแล้วเกิดประโยชน์มากที่สุด เลยตัดสินใจทำนิทานเสียงเพื่อเด็กพิการทางสายตา เราก็เอานิทานมาอัดเสียงเป็นตัวนู้นตัวนี้ แล้วเอาไปเปิดให้เด็ก ๆ ฟัง ปรากฏว่าเด็กชอบมาก แล้วด้วยความที่นิทานเป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปร่างรูปทรงด้วย มันเลยสามารถนำไปต่ยอดการเรียนคณิตศาสตร์ให้กับเขาได้อีกต่อหนึ่ง 

อันนี้แหละคือจุดเริ่มต้นจริง ๆ ที่ทําให้แยมรู้สึกว่าเสียงของเรามันไม่ใช่แค่การพูดออกไปนะ แต่มันยังสามารถต่อยอดให้กับเด็กคนอื่น ๆ อีกจํานวนหนึ่ง ซึ่งเหตุผลนี้แหละที่ยังทำให้เราทำงานอยู่ตรงนี้  

หลังจากที่ทําโปรเจกต์จบเสร็จ เราก้าวเข้ามาทำงานเกี่ยวกับการพากย์เลยไหม

หลังส่งโปรเจกต์จบ ก็มีโครงการส่งประกวดเกี่ยวกับการเล่านิทานค่ะ ด้วยความที่เรามีผลงานอยู่แล้ว ก็ไม่เสียหายอะไรเลยลองส่งไปดู ปรากฏว่าเข้ารอบก็เลยมีโอกาสได้ทํางานเป็นผู้ผลิตนิทานเต็มตัว

เท่ากับว่าเดิมไม่มีพื้นฐานเรื่องการพากย์เสียงเลย คิดว่าอะไรทำให้เรามาถึงจุดนี้ได้

ด้วยความที่เราไม่มีพรสวรรค์อะไรเลย ก็เลือกฝึกด้วยตัวเองจากสิ่งรอบตัวก่อน นึกย้อนไปสมัยเด็กที่เอาช้อนกับตะเกียบมาเล่นด้วยกันแล้วพากย์เสียงนู่นนี่

ก็ใช้การออกแบบตัวละคร คาแรคเตอร์ของศาสตร์การแสดง บวกกับวาทะวิทยาการพูดการสื่อสาร ว่าเราควรใช้น้ำเสียงยังไง แล้วก็จะมีศาสตร์อื่น ๆ ยิบย่อย ที่เราถอดออกมาเป็นองค์ความรู้ อย่างก่อนหน้านี้เราทำนิทานก็จะหนักตรงการออกแบบตัวละคร คือนิทานหนึ่งเรื่องจะไม่มีหน้าตาอะไรเลย มีแต่ตัวหนังสือ ซึ่งตัวละครก็ต้องอยู่ในสมองของเราก่อน มันต่างจากหนังหรือการ์ตูนมากนะ เพราะหนังกับการ์ตูนเขามีหน้าตาให้เห็น เราดูแล้วค่อยพากย์ทับ แต่นิทานคือแอควานซ์กว่านั้น เราจะต้องออกแบบเอง ต้องคิดเองว่าตัวละครในนั้นเขาเป็นยังไง

มันจะมีหลักง่าย ๆ ที่แยมถอดออกมา คือหนึ่งถอดตามอายุ สองถอดตามขนาดของตัวละคร อย่างเช่นช้างควรจะมีเสียงยังไง หนูควรเป็นเสียงยังไง สามคือเพศ สี่คือคาแรคเตอร์ว่าเขาเป็นคนดุดันไหม ดูเจ้าชู้หรือเปล่า เรียบร้อยหรือขี้อาย 

สมมติว่าเป็นนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า เราอ่านไป กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เจ้ากระต่ายตัวหนึ่งเดินมาหาเจ้าเต่า สมองเราก็ต้องกลั่นกรองออกมาว่าเจ้ากระต่ายมีคาแรคเตอร์เป็นยังไง อายุประมาณไหน ส่วนนี้ก็จะยากเหมือนกัน 

หลายคนอาจจะคิดว่าพี่แยมมีพรสวรรค์ด้านนี้อยู่แล้ว?

หลายคนชอบบอกว่า แยมมีพรสวรรค์เรื่องเสียงก็เลยสามารถทําได้ ในใจคือ ไม่ได้มีพรสวรรค์อะไรเลย พ่อแม่แยมก็ไม่ได้เป็นคนกล้าแสดงออก ที่บ้านก็ไม่มีใครมาสายนี้สักคน ทุกคนก็ทำงานรับจ้างทั่วไป 

แยมรู้สึกว่า ถ้าเราเชื่อว่าเราทำได้ มันจะทำได้ อย่างตอนนั้นที่ได้รับโจทย์เป็นผู้ผลิตรายการนิทานใหม่ ๆ เราก็มึนไปชั่วครู่เหมือนกันนะว่าจะทำได้จริงเหรอ ซึ่งก็ทำมาเรื่อย ๆ เกือบ 4-5 ปีแหนะ คิดดูว่านิทานต้องออนแอร์ทุกวัน วันละหนึ่งชั่วโมง ถ้าคิดก็เกิน 4,000-5,000 เรื่องไปแล้ว ซึ่งแบบ โห เราจะไปหาเสียงตัวละครจากไหนเยอะแยะได้ขนาดนั้น จะหาใครมาพากย์ให้ ก็ต้องฝึกเอง หาวิธีเองจนมันสามารถทำได้

คือแยมมองว่าการพากย์เสียง มันเหมือนกับการที่เราเขียนมือขวามาทั้งชีวิตแล้วอยู่ ๆ ต้องดัดเปลี่ยนไปเขียนมือซ้าย ซึ่งมันเขียนไม่สวยอยู่แล้ว ทําไม่ได้ทันทีอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่ร่างกายเราไม่คุ้นเคยก็ต้องค่อย ๆ ฝึกให้เขาชินไปเรื่อย ๆ 

การฝึกพากย์เสียงมันก็คือการฝึกกล้ามเนื้อคออย่างหนึ่ง ขนาดนักกีฬาวิ่งเขายังต้องอาศัยการจับจุด จับเทคนิค ถึงจะวิ่งเร็วเลย การพากย์เสียงก็ไม่ต่างกัน

คือแยมไม่คิดว่ามันคือพรสวรรค์ที่ไม่อาจแตะต้องได้ มันเป็นความพยายามที่เราเชื่อว่าตัวเองสามารถทําได้ มันเกิดจากเราค่อย ๆ หาความรู้สะสมไปเรื่อย ๆ จับศาสตร์นู่นมาผสมศาสตร์นี่แล้วลองทำมันออกมา

เหมือนเราได้ทําตามความฝันที่เคยมีในตอนเด็ก ๆ 

จริง ๆ ไม่ใช่ความฝันตั้งต้นของแยมด้วยนะ ตอนเด็ก ๆ เราไม่ได้มีความฝันอะไรมากมาย แค่เรียนจบมีงานทําคือผลสําเร็จสูงสุดแล้ว แต่แยมโชคดีตรงที่เราเจอความชอบของตัวเองแล้วเอามาประยุกต์กับอาชีพได้

เห็นแบบนี้ก็มีผิดพลาดเหมือนกัน ตอนนั้นอยู่ช่วงกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย เราอยากเรียนอะไรที่ได้ออกแบบตัวละครที่เป็นตัวการ์ตูน ก็เลยตัดสินใจเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์เพื่อการออกแบบ ซึ่งหลังจากเข้าไปเรียนก็รู้ตัวว่า นอกจากวาดรูปไม่ค่อยเก่งแล้ว ยังไม่มีการสอนออกแบบตัวการ์ตูนหรือแอนิเมชั่นเหมือนที่เราคิดไว้อีกด้วย ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็ปีสองแล้ว เสียเวลาไปหนึ่งปีเต็ม ๆ เผอิญเห็นว่ามีคณะนิเทศศาสตร์ที่มีวิชาย่อยเรื่องการออกแบบสื่อ เราก็เลยตัดสินใจทำเรื่องย้ายคณะเลย

มันเป็นความผิดพลาด แต่อยากจะบอกน้อง ๆ ว่าคนเราพลาดกันได้นะ เราเป็นมนุษย์เราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ตลอด ไม่ต้องแบบฉันเลือกผิดชีวิตฉันจบแน่ จะไม่มีหนทางข้างหน้าแล้ว เราสามารถลองได้หลายอย่าง ลองไปจนถึงชีวิตวัยทํางานเลยก็ได้ คือวัยทํางาน ณ ตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าได้ลองอะไรใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ เสมอนะ

ช่วงที่ย้ายมาเรียนคณะนิเทศศาสตร์ อาจจะเพราะตอนนั้นเป็นคนเรียบร้อย ตั้งใจเรียน บุคลิกดูโตหน่อย เพราะเป็นรุ่นพี่ที่ซิ่วมา (หัวเราะ) อาจารย์ก็เลยอยากให้เราลองไปเป็นผู้ประกาศข่าวดู เราก็มีความพยายามอยู่นะ ช่วงนั้นก็ไปฝึกงานข่าว แล้วก็ได้รู้ว่ามันหนักมาก หนักจนแบบไม่ไหวจริง ๆ สมมติว่าเราต้องรายงานข่าวเกี่ยวกับสุนัขกัดเด็ก แล้วเราเผลออ่านผิด ก็จะรู้สึกแล้วว่าเราสื่อสารผิดพลาด เราทำได้ไม่ดี ยังทำได้ไม่ครบถ้วน คือมันก็จะมีกฎของเขาอยู่ บางคนอาจจะชอบก็ได้แต่สำหรับเราคือไม่ใช่เลย 

เราเลยกราบลางานทางสายข่าว เห็นไหมกว่าจะมาเจอว่าชอบอะไรจริง ๆ มันก็ต้องเลือกต้องลองไปเรื่อย ๆ

แล้วตอนนี้ที่เราเป็นนักพากย์อิสระแบบเต็มตัวแล้ว เป็นยังไงบ้างและเราได้รับ feedback ดีไหม

แยมเริ่มสายอาชีพนักพากย์จริง ๆ แบบเริ่มรับงานอิสระ ตั้งแต่รู้ว่าตัวเองสามารถพากย์ได้ในวิชายิบย่อยที่กล่าวไป

ตอนนั้นโชคดีหน่อยที่มีเว็บไซต์ฟรีแลนซ์เว็บหนึ่งที่เปิดรับสมัคร คนลงเสียง voiceover คือเราสามารถติดต่อกับลูกค้าโดยตรงเลย ลูกค้าก็สามารถด่าเราโดยตรงได้เหมือนกัน (หัวเราะ)  

ตอนนั้นมั่นใจมาก ไมค์ก็ไม่มี อุปกรณ์ก็ไม่มี มีแค่โทรศัพท์ใช้ในการอัดเสียง แล้วลูกค้าคือใจสู้มาก จะจ้าง ตอนนั้นก็ไม่เก่งด้วยนะ แต่เราเน้นทำจริงไปเรื่อย ๆ พอเริ่มจริงจังขึ้น เราก็ต้องฝึกมัน เพราะมันเป็นอาชีพของเราแล้ว เริ่มหาความรู้เพิ่มเติม ไปดูเทคนิคของนักพากย์ในห้องพากย์จริง ๆ ว่าเขาทำกันยังไง แต่คือเราก็ไม่ได้มีโอกาสได้เข้าไปพากย์ห้องพากย์แบบทีมพากย์นะคะ ก็ค่อย ๆ ศึกษาแบบครูพักลักจำ ทำมาเรื่อย ๆ ก็เป็นแยมในปัจจุบันนี่แหละค่ะ

ส่วน Tiktok ก็คือโอ้โห แยมโชคดีตรงที่ตอนนั้นมีกระแสเจนนู่นโบว์ แพร่หลายมากใน Tiktok ด้วยความที่ผลิตนิทานอยู่บ้าน ก็ไม่รู้จะทำอะไรดีเลยตั้งกล้องฝึกพากย์ไปเรื่อย ๆ เพื่อหาเสียงใหม่มาใช้ในคลังนิทานของเรา 

ก็มีหนึ่งคลิปซึ่งมันตลกมากว่าตอนนั้นมันไม่ใช่แนวตั้งด้วยนะ เป็นคลิปแนวนอนที่เราถ่ายจากกล้อง แล้วก็เอาไปลง Tiktok เวลาผ่านไปไม่ถึงวันมีคนเข้ามาดูเยอะมาก อาจจะเพราะเราดูแปลกที่พูดได้หลายเสียงจัง คนก็เลยเกิดความสงสัยแล้วก็หยุดดู 

หลังจากนั้นก็ทํามาเรื่อย ๆ ค่ะ เพราะคนขอเข้ามากันเยอะมาก ให้พากย์ตัวละครนั้นตัวละครนี้ แล้วคือเด็กสมัยนี้ การ์ตูนเขาเยอะมาก มันเลยเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ฝึกต่อไปเรื่อย ๆ ก็เลยทําควบคู่กันมาในตอนนั้นนะคะ

การฝึกฝนเท่ากับการพัฒนาตัวเอง

ใช่ค่ะ อย่างช่วงที่มาเล่น Tiktok อันนี้คือยิ่งทำให้เราได้พัฒนาตัวเองแบบทะยานขึ้นเร็วมาก

ก็จะมีเด็ก ๆ มาส่งคำขอให้พากย์เสียงตลอด บางทีเราทำ เขาก็จะไม่เห็นเหมือนเลย เหมือนตัวละครตัวนี้มากกว่า เราก็จะเอ่อจริงด้วย เดี๋ยวลองทำตัวละครตัวนี้ดีกว่า ก็ทำไปเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าเราพัฒนาตัวเองเร็วมาก อาจด้วยเพราะเมื่อก่อนนั่งฝึกอยู่หน้ากล้องคนเดียวมาตลอด ไม่เคยได้รับคอมเมนต์เลยว่าน้ำเสียงเป็นยังไง เสียงเหมือนหรือไม่เหมือน ไม่รู้ว่าควรแก้ไขอะไร พัฒนาตรงไหน เหมือนเป็นกระจกสะท้อนสิ่งที่เราพยายามฝึกมาตลอดว่ามันได้แล้วหรือยัง ก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แยมพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ ได้ดีมากค่ะ

ในปัจจุบันอาชีพนักพากย์ยังจำเป็นอยู่ไหม พี่แยมมีมุมมองยังไงกับเรื่องนี้บ้างคะ 

แยมรู้สึกว่าการพากย์เป็นชาแนลหนึ่งที่เปลี่ยนจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งเพื่อสื่อสารให้คนเข้าใจ คือนักพากย์เป็นตัวกลางในการสื่อความหมาย 

คราวนี้ถามว่ามันยังสําคัญอยู่มั้ย มันยังสําคัญอยู่นะ ถ้าคนไทยยังชื่นชอบในเรื่องของการพากย์ แม้ปัจจุบันคนจะหันไปดูภาษาต้นฉบับกันเยอะ แต่ก็มีเหมือนกันที่เราย้ายไปฟังต้นฉบับสักพักก็กลับมาพากย์ไทยอีก เหมือนพื้นฐานเราเป็นภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก บางครั้งก็เมื่อยตาไม่อยากอ่านซับ ก็แค่สวิตช์เป็นพากย์ไทย ดูเพลิน ๆ 

ยิ่งกลุ่มเด็ก ๆ ที่พิการทางสายตา ถ้าไม่มีเสียงไปช่วยเติมเต็ม โลกของเขาก็อาจจะมืดไปหมด ไม่เห็นอะไร

แยมรู้สึกว่าเสียงยังสำคัญ งานเสียงในสื่อก็ยังสำคัญเช่นเดียวกันตราบใดที่เรายังได้ยินนะ เพราะเสียงเราสามารถรับรู้ได้ตั้งแต่แรกเกิด เสียงมันขับเคลื่อนได้ทุกอย่าง อย่างตอนนี้แยมก็ใช้เสียงต่าง ๆ ทั้งเอาไปผสมกับเอนเตอร์เทนเมนต์ ทั้งเอาเสียงไปผสมกับงานที่เป็นทางการ มันก็สามารถทำได้หมดเลย 

นอกจากจะทําอาชีพเป็นนักพากย์อิสระแล้ว ตอนนี้เรามีโปรเจกต์อะไรที่จะทำอีกในอนาคตบ้าง

ในอนาคตแยมอยากจะเป็นคนแนะนําน้อง ๆ ที่สนใจด้านการพากย์เสียงไปเรื่อย ๆ อาจจะเป็นรูปแบบวิทยากร หรือคอยไปให้ความรู้เด็ก ๆ ต่างจังหวัด คือแยมอยากให้น้องรู้ว่าเขาสามารถทำได้นะ เพราะว่าพี่ก็ทำมาแล้ว ไม่ต้องมีพรสวรรค์อะไรก็สามารถมาทำเป็นอาชีพจริง ๆ จัง ๆ ได้ หรือน้องที่อยากเป็นงานพากย์จริง ๆ แล้วผิดหวังจากการแคสต์ก็อย่าเพิ่งท้อ มันยังมีอย่างอื่นเช่นการพากย์เกม ที่เราสามารถทําเป็นอาชีพได้เหมือนกัน

อยากจะเป็นเสี้ยวที่จุดประกายให้น้อง ๆ เหมือนกับแยมที่ได้เรียนวิชาเลือกในช่วงมหาวิทยาลัยแล้วมันทำให้เรามาเส้นทางสายนี้ 

อยากฝากให้กําลังใจน้อง ๆ ชาวเด็กดีที่กําลังตามหาความฝันและตัวตนของตัวเองอยู่หน่อยค่ะ

อยากจะบอกน้อง ๆ ว่าทําไปก่อน ถ้าเรารู้สึกว่าเราอาจจะชอบก็ลองทําไปก่อน ลองทําในสิ่งที่รู้สึกว่าใกล้เคียงกับสิ่งที่ชอบมากที่สุด

ส่วนน้อง ๆ คนไหนมีความฝันชัดเจนก็ลุยเลย แยมจะมีคํานี้เกิดขึ้นอยู่ในหัวตลอดว่า อนาคตเราอาจจะไม่มีโอกาสได้ทําตามฝันแบบนี้แล้วก็ได้ ถ้าวันนี้เรารู้ตัวว่ามีความฝันอะไรอะ เราลุยเลย แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่ามันจะผิดพลาด เพราะว่ามันมีพลาดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะทำยังไงให้ไปต่อได้ อันนี้คือจุดท้าทายมากที่สุดของคนเราเลย

ก็จบกันแล้วสำหรับการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ เป็นยังไงสนุกกันไหมเอ่ย? อย่าลืมคอมเมนต์บอกกันด้วยนะ  เอาเป็นว่าหากใครที่ยังไม่เคยติดตามพี่แยม ก็สามารถเข้าไปติดตามได้ 3 ช่องทางด้านล่างกันได้เลย!

พี่เอย
พี่เอย - Columnist คอลัมนิสต์ผู้หลงรักการกิน และอินซีรีส์เกาหลีมากถึงมากที่สุด

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น