spoil

  • การใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไปอาจส่งผลกระทบทั้งกายและใจ
  • ถ้ามีสัญญานว่าเราอาจใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป ก็สามารถทำ Social media detox หรือ การบำบัดการเสพติดเทคโนโลยีหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่มากเกินไปได้
  • การลองทำ  Social media detox จะทำให้เราใช้โซเชียลฯ อย่างพอดี ลดทอนผลกระทบร้าย ๆ ให้เบาบางลง

สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนนะคะ! ไหนมีใครชอบเล่นโซเชียลมีเดียเป็นชีวิตจิตใจกันบ้างไหมเอ่ย? แบบที่ไม่ว่าจะทำอะไร จะนอน จะกินข้าว จะอาบน้ำ ก็ต้องคอยเช็กข่าวสารบ้านเมือง เช็กยอดไลค์ ยอดแชร์อยู่ตลอดเวลา อะ…ไม่ต้องไปไกลพี่เองนี่แหละที่เป็นหนึ่งในนั้น แหะ ๆ 

ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ไปแล้วว่าโซเชียลมีเดียแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เพราะช่วยให้เราสื่อสารกับคนอื่นได้ ติดตามข่าวสารต่าง ๆ ได้ไว รวมถึงให้ความบันเทิงแก่เราได้ดีมากอีกด้วย

แม้จะช่วยเปิดโลกให้กว้างขึ้น แต่การใช้มากเกินไปก็อาจส่งผลเสียรุนแรงแบบคาดไม่ถึงเลยทีเดียว!

ภาพจาก pexels.com
ภาพจาก pexels.com

ปฏิสัมพันธ์ลดลง

มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่จำเป็นต้องพูดคุยแบบ face to face แม้โซเชียลมีเดีย จะทำให้เราสื่อสารกันง่ายและไวขึ้น แต่ยังไง๊ยังไงคุยกันแบบต่อหน้าก็ยังส่งผลดีมากกว่าอยู่ดี 

โดยงานวิจัยชื่อ Effect of social media use on learning, social interactions, and sleep duration พบว่านักเรียนวัยรุ่นกว่า 59% รู้สึกว่าการเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไปทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูงแย่ลง เพราะทุกคนเอาแต่ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ จนขาดปฏิสัมพันธ์ไม่ได้พูดคุยกันเท่าที่ควร

สุขภาพจิตเสีย

การเล่นโซเชียลมีเดียมากเกิน ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิตของเรา

โดยงานวิจัยจาก JAMA Psychiatry ได้ทำการศึกษาวัยรุ่นจำนวน 6,595 คน พบว่าวัยรุ่นที่มีการใช้โซเชียลฯ นานกว่า 3 ชั่วโมง มักมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าวัยรุ่นที่ใช้โซเชียลฯ น้อยกว่า

นอกจากนี้ The Lancet Child & Adolescent Health ก็ได้ทำการศึกษาเด็กวัยรุ่นมากกว่า 12,000 คน ที่มีช่วงอายุระหว่าง 13-16 ปี โดยผ่านการสัมภาษณ์ติดตามมากกว่า 3 ปี พบว่าวัยรุ่นชายและวัยรุ่นหญิงที่มักเช็กโซเชียลฯ มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

โดยวัยรุ่นหญิงจะรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขน้อยลง วิตกกังวลมากขึ้น มีปัญหาเรื่องการนอน ส่วนในเด็กผู้ชายปัญหาเหล่านี้จะเกิดน้อยกว่า 

อยากเป็นจุดสนใจอยู่เสมอ

ดร.เจฟฟ์ แมคโดนัลด์ นักจิตวิทยาจาก University of Toronto กล่าวว่า การได้รับความสนใจจากคนอื่น เป็นเรื่องสำคัญสำหรับสัตว์สังคม เปรียบเสมือนเครื่องมือยืนยันว่าเรามีตัวตน

ซึ่งก็ต้องบอกว่าโซเชียลมีเดียถูกคิดค้นและสร้างออกมาได้ตอบโจทย์ด้านนี้ของมนุษย์สุด ๆ เพราะสามารถโพสต์เรื่องราวของตัวเอง ก่อนที่คนอื่นจะมากดไลค์คอมเมนต์แสดงความสนใจกลับ

ปัญหาอยู่ตรงที่ ถ้ามันมากเกินไปก็อาจทำให้เราเสพติดอยากได้รับความสนใจอยู่ตลอดเวลา พยายามทำทุกวิถีทางให้คนคอมเมนต์ หรือถ้าไม่เป็นตามที่คาดหวังก็จะรู้สึกแย่ เครียด และวิตกกังวลได้

การนอนหลับที่ไม่ดี

นอกจากจะเสี่ยงทำให้สุขภาพจิตมีปัญหาแล้ว การเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไปยังส่งผลต่อคุณภาพการนอนด้วยเช่นกัน เพราะเทคโนโลยีที่สะดวกรวดเร็ว บวกกับข่าวสารดราม่าต่าง ๆ ทำให้เราเอาแต่โฟกัสไม่สนใจอย่างอื่น หันมาอีกที อ้าว นี่มันเช้าแล้ว!

ภาพจาก pexels.com
ภาพจาก pexels.com

เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เสมอ

น้อง ๆ เคยสังเกตไหมคะ? ว่าคนบนโลกโซเชียลฯ มักโพสต์แต่อะไรที่ดี๊ดีไปหมด ไม่ว่าจะหน้าที่การงาน ชีวิตส่วนตัว ความสัมพันธ์ ที่พาลให้เราอดอิจฉาลึก ๆ ไม่ได้ 

จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องปกติมากที่ผู้คนจะโพสต์แต่ด้านดี ๆ ของตนเอง เทียบง่าย ๆ หากให้เราเลือกระหว่างโพสต์เรื่องน่าอายกับโพสต์เรื่องภูมิใจ เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงจะเลือกโพสต์เรื่องที่ภูมิใจมากกว่าอยู่แล้ว

งานวิจัยชื่อ Social comparison, social media, and self-esteem ได้ทำการศึกษาผู้เล่นเฟซบุ๊กพบว่า คนที่เล่นโซเชียลมีเดียเยอะมีแนวโน้ม Self-esteem ต่ำกว่าคนที่เล่นน้อย อีกทั้งยังชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เสมออีกด้วย

รับพลังงานลบจาก Cyber Bully 

เห็นหน้าไม่รู้ใจ ไม่เห็นอะไรเลยยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะการพิมพ์คอมเมนต์แบบไม่นึกถึงใจกันและกัน อ่านทีเฟลค้างไปเป็นเดือน 

แน่นอนค่ะ เราอาจจะไม่ได้เป็นคนพิมพ์คอมเมนต์แย่ ๆ หรืออยู่ในสมรภูมิรบเหล่านั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการท่องโลกอินเทอร์เน็ตทำให้เราเจอกับความคิดที่แสนท็อกซิกมากมายเต็มไปหมด ต่อให้ไม่เกี่ยวแต่แค่อ่านก็รู้สึกแย่ขึ้นมาแล้ว

เห็นไหมคะว่าการเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไปสามารถส่งผลกระทบให้เราไม่น้อยเลย ว่าแต่แบบไหนถึงจะเรียกว่า ‘มากเกินไป’ หรือแบบไหนที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเราอาจเสพติดการเล่นโซเชียลฯ หนักเกินไปแล้ว! 

สัญญาณที่บอกว่ากำลังติดโซเชียลมีเดียมากเกิน ได้แก่

- รู้สึกมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง

- เล่นโซเชียลมีเดียในเวลาที่ไม่ควร เช่น ขณะเรียน ขณะขับรถ ขณะทำงาน

- มีปัญหาความสัมพันธ์จากการเล่นโซเชียลมีเดีย

- ไม่ทำกิจกรรมอื่นนอกจากเล่นโซเชียลมีเดีย

- รู้สึกกังวลใจเมื่อไม่ได้เช็กโซเชียลมีเดีย

- หลอนว่าได้ยินเสียงมือถือเตือน แต่ไม่ใช่

- คิดวางแผนทั้งวันว่าจะโพสต์อะไร

แล้วเราจะลดการใช้โซเชียลมีเดียได้ยังไงบ้าง เพราะแค่เห็นก็แทบอดใจไม่ไหว แต่ก็รู้สึกว่าท็อกซิกไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว งั้นเราลองทำ ‘Social media detox’ กันดีไหมคะ 

Social media detox  คือ การบำบัดการเสพติดเทคโนโลยีหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่มากเกินไป เพื่อช่วยลดผลร้ายต่าง ๆ ให้เบาบางลง สร้างสมดุลให้ร่างกายและจิตใจมากขึ้น

ภาพจาก pexels.com
ภาพจาก pexels.com

เอาล่ะ เราลองไปดูกันเลยดีกว่า ว่าเจ้า Social media detox จะมีวิธีการทำยังไง อย่างไรบ้าง จะยากจะง่ายยังไง ไปดูกันเล้ย

กำหนดเวลา

ถึงเวลาพักผ่อนก็ยังไม่วายเปิดโซเชียลฯ ไถฟีดแล้วไถฟีดอีก ก็แหม่มันอดไม่ได้จริง ๆ 

การจะทำให้สมองได้พัก สายตาได้พัก คือการกำหนดให้ชัดเจนไปเลย ว่าเราจะพักกี่นาที พักกี่ชั่วโมง เช่น เลิกเล่น 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน ไม่เล่นขณะกินข้าว หรือถ้าเป็นไปได้จะกำหนดชั่วโมงเล่นต่อวันก็ยิ่งดีเยี่ยม 

เพราะงานวิจัยจาก University of Pennsylvania ระบุว่า การลดใช้โซเชียลมีเดียเหลือเพียง 30 นาทีต่อวัน สามารถช่วยลดอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า ปัญหาการนอนหลับ และอาการ FOMO ได้เยอะมาก ที่สำคัญยังเพิ่มพูนสมาธิ ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้นอีกด้วย 

เริ่มต้นเช้าวันใหม่แบบไม่จับมือถือ

เป็นกันไหมเอ่ย? ตื่นปุ๊บ หยิบมือถือปั๊บ เช็กก่อนเลยว่ามีใครคอมเมนต์ มีใครกดไลค์บ้าง ซึ่งใช่ค่ะ มันไม่ดีเท่าไหร่ที่จะเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการจ้องจอเป็นอย่างแรก

วิธีแก้คือให้เปลี่ยนจากตั้งนาฬิกาปลุกด้วยมือถือเป็นนาฬิกาปลุกจริง ๆ ยืดเส้นยืดสาย รับแสงแดดอ่อน ๆ จิบชา จิบกาแฟ หรือนมอุ่น ๆ สักแก้ว เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นมอร์นิ่งรูทีนที่ดีต่อกายและใจแล้ว

ให้เวลากับกิจกรรมอย่างอื่นมากขึ้น

ถือเป็นช่วงนาทีทองเลยก็ว่าได้นะคะ ที่จะทำให้เราได้สำรวจกิจกรรมใหม่ ๆ ในชีวิตดู อาจเป็นการทำอาหาร ออกกำลังกาย เรียนวาดรูป หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่อยากทำมานานแต่ไม่มีโอกาส ไม่แน่นะ เราอาจจะค้นพบความสามารถหรือมุมมองใหม่ ๆ จากการได้ลองทำครั้งนี้ก็ได้

ภาพจาก pexels.com
ภาพจาก pexels.com

เลิกติดตามคนอื่นลงบ้าง

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น โลกโซเชียลฯ มักทำให้เราเผลอเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่บ่อย ๆ และแน่นอนว่าตามธรรมชาติ เรามักเลือกเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ดูเหนือกว่า จนบั่นทอนใจว่าทำไมถึงไม่ดีเหมือนเขา

เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งแรกที่ควรทำคือการเลิกส่อง เลิกดู เลิกติดตามไปก่อนสักระยะหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเขาทำผิดอะไรนะคะ เพียงแต่เป็นการพักกาย พักใจ หยุดคิดเปรียบเทียบ หันมาใส่ใจคุณค่าที่แท้จริงของตัวเองบ้าง

ลบแอปพลิเคชัน

การลบแอปพลิเคชันถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากบ่วงโซเชียลมีเดียได้ดีที่สุด เป็นเหมือนการทะลายตัวต้นเหตุโดยตรง แม้ว่าจะยากสักหน่อย แต่เชื่อสิ ถ้าทำได้จะรู้สึกสบายใจมาก ๆ มีเวลาให้ทำอย่างอื่นเยอะขึ้น 

คิดแง่บวกกับตัวเองเสมอ

ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ที่จู่ ๆ จะเลิกทำอะไรสักอย่างที่ทำมานาน เพราะฉะนั้นเราจะต้องใจดีกับตัวเองให้มาก ๆ ปลอบโยนตัวเองอยู่เสมอ คอยคิดย้อนว่าการทำแบบนี้มีผลดียังไง ทำให้เราหยุดคิดมากแค่ไหน และในอนาคตคิดว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการทำสิ่งนี้เพิ่มบ้าง 

สุดท้ายนี้พี่ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนที่อาจกำลังเจอปัญหาจากการติดโซเชีลยมีเดียมากเกินไป หรือแม้แต่คนที่กำลังพยายามลดละเลิกให้น้อยลงอยู่ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อสิว่าทุกคนทำได้ สำหรับวันนี้ไปก่อนนะคะ บ้ายบาย

อ้างอิงจากhttps://www.makeuseof.com/tag/negative-effects-social-media/https://www.nbcnews.com/health/health-news/social-media-use-linked-depression-adults-rcna6445https://www.lifehack.org/articles/technology/you-should-aware-these-10-effects-social-media-you.htmlhttps://www.helpguide.org/articles/mental-health/social-media-and-mental-health.htm#:~:text=Using%20social%20media%20more%20often,depression%2C%20anxiety%2C%20and%20stress.https://www.medicalnewstoday.com/articles/does-social-media-impact-mental-health-what-we-really-know#Caution-when-interpreting-researchhttps://www.itstimetologoff.com/2020/07/14/7-signs-of-social-media-addiction/
พี่เอย
พี่เอย - Columnist คอลัมนิสต์ผู้หลงรักการกิน และอินซีรีส์เกาหลีมากถึงมากที่สุด

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด